Latest

ขอให้คุณหมอช่วยวิเคราห์ผลตรวจโรคไวรัสตับอักเสบบี.เรื้อรัง

เรียน คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์
ผมเจอบทความของคุณหมอที่visitdrsant.blogspot.com รู้สึกดีใจ จึงอยากขอคำแนะนำ และขอความช่วยเหลือ จากคุณหมอ ตามเอกสารแนบมาครับ ขอบพระคุณครับ
ขอแสดงความนับถือ
บุญลือ
HBsAg = positive
Anti HBs = negative
Anti HBc = positive
HBeAg = negative
AntiHBe = positive
AST = 25
ALT = 43

ตอบ

กรณีของคุณ

HBsAg = positive หมายความว่ามีเชื้อไวรัสอยู่ในตัว พูดง่ายๆว่าป่วยเป็นตับอักเสบจากไวรัสบี. ส่วนระยะไหนค่อยว่ากัน
Anti HBs = negative หมายความว่าไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเปลือกของไวรัส (ซึ่งปกติได้จากวัคซีน)
Anti HBc = positive หมายความว่ามีภูมิคุ้มกันต่อแกนของไวรัส ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันธรรมชาติ แต่ว่ายังไม่มากพอที่จะเคลียร์ไวรัสให้หมดจากตัวได้
HBeAg = negative หมายความว่าไม่มีไวรัสระยะที่กำลังแบ่งตัวออกลูกออกหลานอย่างดุเดือดในร่างกาย
AntiHBe = positive หมายความว่ามีภูมิคุ้มกันต่อยีนไวรัสซึ่งป้องกันไม่ให้ไวรัสแบ่งตัวในร่างกายอยู่แล้ว
AST/ALT = 25/43 หมายความว่าเอ็นไซม์ของตับเป็นปกติ ไม่มีภาวะตับอักเสบดุเดือดในขณะนี้

ข้อมูลทั้งหมดบ่งบอกว่าคุณป่วยเป็นโรคตับอักเสบไวรัสบีเรื้อรัง ในระยะสงบแต่มีเชื้ออยู่ในตัวเรื้อรัง (Inactive chronic carrier phase)

เพื่อให้เข้าใจเรื่องง่ายขึ้น ผมขอเท้าความหน่อยว่าวงจรชีวิตของโรคตับอักเสบจากไวรัสบีนี้เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะแบ่งเป็นสามระยะคือ

ระยะที่ 1. ภูมิคุ้มกันยังไม่ทันรู้ตัว (immune tolerance phase)
ระยะนี้ถ้าเป็นการติดเชื้อตอนเป็นผู้ใหญ่ ก็กินเวลาเพียง 2-4 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นการรับเชื้อจากมารดาตั้งแต่สมัยเป็นทารก ระยะนี้จะกินเวลาได้นานหลายสิบปี ในระยะนี้ไวรัสจะแบ่งตัวในร่างกายอย่างคึกคัก โดยที่ไม่มีอาการป่วยหรือไม่มีความเสียหายใดๆต่อตับ

ระยะที่ 2. ภูมิคุ้มกันแอคทีฟ (immune active หรือ immune clearance phase)
เป็นระยะที่ร่างกายเริ่มรู้จักไวรัส และเม็ดเลือดขาวจับกินไวรัส ขณะเดียวกันไวรัสส่วนหนึ่งก็อาศัยเม็ดเลือดขาวเป็นสถานที่ก๊อปปี้เพิ่มจำนวนตัวเอง เอ็นไซม์ของตับจะสูงขึ้น และเมื่อตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อตับออกมาตรวจก็จะพบว่ามีปฏิกิริยาอักเสบชัดเจน

ระยะที่ 3. ภูมิคุ้มกันไม่แอคทีฟและเป็นพาหะ (inactive chronic carrier phase)
ในระยะนี้เมื่อตรวจเลือดจะยังพบว่ามีตัวไวรัสคือ HBsAg ได้ผลบวกอยู่ แต่ 80% ของผู้ป่วยจะมี HBeAg เปลี่ยนจากผลบวกมาเป็นผลลบ ขณะที่ anti-HBe เปลี่ยนจากผลลบมาเป็นผลบวก เรียกว่าได้เกิด seroconversion แล้ว ผลเอ็นไซม์ของตับกลับมาปกติ ผู้ป่วยกลับมาสู่ระยะภูมิคุ้มกันไม่แอคทีฟแล้วแต่ยังเป็นพาหะของโรคอยู่
คำแนะนำสำหรับการรักษาในระยะนี้คือ

(1) ควรอย่างยิ่งที่จะไปฝากชีวิตไว้กับหมอโรคตับ (hepatologist) คนใดคนหนึ่งไว้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เพราะความรู้ในการรักษาโรคนี้เปลี่ยนเร็วเสียจนหมอที่ไม่ทำเรื่องนี้มากๆจะตามไม่ทัน คำว่าหมอโรคตับหรือ hepatologist นี้หมายถึงหมอที่จบแพทย์แล้ว ไปเรียนต่อสามปีเป็นผู้เชี่ยวชาญอายุรศาสตร์ (Medicine) แล้วไปเรียนต่ออีกสองปีเป็นผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหาร (Gastro Intestinal specialist) แล้วไปเรียนต่ออีกปีหรือสองปีเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคตับ (hepatologist) แล้วกลับมาทำมาหากินกับตับอย่างเดียว ต้องมนุษย์พันธ์นี้เท่านั้นจึงจะช่วยคุณได้ดีที่สุด

(2) คุณต้องได้รับการเจาะเลือดดูเอ็นไซม์ของตับ + ตรวจอุลตร้าซาวด์ตับ + ตรวจสารชี้บ่งมะเร็งตับ (AFP) ทุกหกเดือน เพราะแม้จะอยู่ในระยะนี้แล้วก็ยังจัดเป็นผู้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งตับอยู่

(3) ในกรณีที่คุณมีปัจจัยเสี่ยงมากเป็นพิเศษ อันได้แก่ (1) เป็นผู้ชาย (ซึ่งคุณน่าจะเป็นอยู่แล้ว) (2) อายุเกิน 45 ปี (3) เป็นตับแข็งด้วย (4) มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ หมอโรคตับอาจเจาะดูจำนวนไวรัส (HBV-DNA) หรืออาจเจาะดูดเนื้อตับไปตรวจ ถ้าพบว่ายังมีไวรัสอยู่ในตัวเป็นจำนวนมาก หรือมีการอักเสบของตับอยู่ หมออาจแนะนำให้ใช้ยาต้านไวรัส ซึ่งสมัยนี้เป็นยากิน ได้ผลดี แต่ราคาแพง (วันละ 800 บาท และจะต้องกินไปอีกนานเท่าไรก็ยังไม่รู้อนาคต)

(4) ลงทุนสร้างภูมิคุ้มกันธรรมชาติให้ตัวเอง ด้วยการออกกำลังกายให้ได้ระดับมาตรฐาน ทุกวัน นอนให้พอ กินอาหารผักผลไม้ให้มาก เพราะในการสู้กับเชื้อโรคหรือมะเร็ง ไม่มีอะไรทดแทนภูมิคุ้มกันของร่างกายได้

(5) อย่าลืมเอาลูกเมียและคนที่คลุกเคล้าใกล้ชิดกับคุณทุกคนไปเจาะเลือดดูว่ามีเชื้อไวรัสบีและมีภูมิคุ้มกันหรือยัง ถ้าไม่มีก็บังคับฉีดวัคซีนให้หมดทุกคน เพราะการป้องกันโรคนี้เป็นการลงทุนคุ้มค่ามาก

แนะนำแยะไปไหมครับ ทำให้หมดด้วยก็แล้วกัน

สันต์

บรรณานุกรม

1. Blumberg BS. Australia antigen and the biology of hepatitis B. Science. Jul 1 1977;197(4298):17-25.

2. Norder H, Courouce AM, Magnius LO. Complete genomes, phylogenetic relatedness, and structural proteins of six strains of the hepatitis B virus, four of which represent two new genotypes. Virology. Feb 1994;198(2):489-503.

3. Keeffe EB, Dieterich DT, Han SH, et al. A treatment algorithm for the management of chronic hepatitis B virus infection in the United States: an update. Clin Gastroenterol Hepatol. Aug 2006;4(8):936-62.

4. Lok AS, McMahon BJ. AASLD Practice Guidelines: Chronic hepatitis B. Hepatology. Feb 2007;45(2):507-39.

5. Lok AS, McMahon BJ; Practice Guidelines Committee, American Association for the Study of Liver Diseases (AASLD). Chronic hepatitis B: update of recommendations. Hepatology. 2004;39:857-61.