Latest

ตรวจ CA125 ได้ผลบวก จะวิเคราะห์โอกาสเป็นมะเร็งรังไข่อย่างไร

เรียนคุณหมอ
ดิฉันอ่านเรื่องราวใน Blog ของคุณหมอให้ความรู้มากค่ะ ขออนุญาตเรียนปรึกษาค่ะ คุณแม่อายุ 73 ปี ตรวจเลือด CA 125 สูง 160 U/ml(ตรวจซ้ำแล้วค่ะ)เทคนิคการแพทย์แนะนำให้ตรวจ LDH มีค่าในเกณฑ์ปกติ 181 ตรวจอัลตราซาวน์ช่องท้อง คุณหมอบอกว่าไม่พบก้อนอะไร ไม่ทราบว่า จากผลเลือดไม่ทราบเป็นอะไรคะ ความสัมพันธ์ของค่าเลือดเป็นอะไรได้บ้างคะ
และต้องทำอย่างไรต่อไป
ขอบคุณค่ะ
อลิสรา
(อยู่ต่างจังหวัดค่ะ)

ตอบครับ

CA125 สูง ทำอุลตร้าซาวด์ช่องท้องแล้วปกติ เป็นอะไรไหม ตอบว่าไม่เป็นอะไรครับ นอกจากเป็นโรคประสาทชนิดวิตกกังวลจากการได้ทราบค่า CA125

คือในบรรดาสิ่งที่เราเรียกว่าสารชี้บ่งมะเร็ง (tumor markers) ทั้งหลาย ซึ่งนิยมตรวจกันเพื่อคัดกรองมะเร็ง อันได้แก่ AFP (มะเร็งตับ), CA199 (มะเร็งตับอ่อน), CEA (มะเร็งลำไส้), CA125 (มะเร็งรังไข่), PSA (มะเร็งต่อมลูกหมาก), และขอแถมอีกอันหนึ่งคือการเอ็กซเรย์ปอดประจำปีเพื่อคัดกรองมะเร็งปอดและวัณโรค ทั้งหมดนี้ไม่มีตัวไหนช่วยคัดกรองมะเร็งหรือโรคต่างๆที่ว่าได้จริงๆซักกะตัวเดียว

ยกตัวอย่าง CA125 ของคุณแม่คุณนี้ก็ได้ ค่าปกติของ CA125 คือต่ำกว่า 35 IU/ลิตร สถาบันสุขภาพอเมริกัน (NIH) ได้สรุปจากงานวิจัยหลายรายงานว่าการตรวจหามะเร็งรังไข่ด้วย CA125 มีความไว (sensitivity) ประมาณ 80% หมายความว่าถ้าแกล้งเอาคนที่รู้แน่ชัดแล้วว่าเป็นมะเร็งรังไข่มา 100 คน มาแกล้งลองตรวจหาสาร CA125 ดู จะพบว่าคนที่ผลการตรวจ CA125 ได้ผลบวกมีอยู่ 80 คน ส่วนอีก 20 คนนั้นตรวจได้ผลลบ ทั้งๆที่ทุกคนต่างก็เป็นมะเร็งเหมือนกันหมด ซึ่งก็ถือว่าการตรวจชนิดนี้เป็นการตรวจที่มีความไวค่อนข้างต่ำ คือเป็นแล้วตรวจไม่พบตั้ง 20%

ขณะเดียวกัน CA125 มีความจำเพาะ (specificity) ประมาณ 80% เช่นกัน หมายความว่าถ้าเอาคนที่รู้แน่ชัดแล้วว่าไม่ได้เป็นมะเร็งรังไข่เลยมา 100 คน มาแกล้งตรวจหาสาร CA125 ดู คนที่ตรวจได้ผลลบจะมี 80 คน ที่เหลืออีก 20 คนตรวจได้ผลบวก ทั้งๆที่ไม่มีใครเป็นมะเร็งเลยสักคน ซึ่งถือว่าการตรวจชนิดนี้มีความจำเพาะต่ำเช่นกัน เพราะตรวจได้ผลปกติแต่ยังเป็นมะเร็งได้ตั้ง 20%
ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นคือมะเร็งชนิดนี้มีอุบัติการณ์ต่ำ คือประชากรหนึ่งแสนคน จะมีคนเป็นมะเร็งชนิดนี้อย่างมาก 50 คนเท่านั้น ทำให้คนที่ตรวจได้ผลบวกอย่างคุณแม่ของคุณนี้ มีโอกาสจะเป็นโรคจริง (positive predictive value) ต่ำกว่า 1% คือต่ำประมาณ 0.2% เท่านั้นเอง

ไหนๆก็ไหนๆแล้วขอเจาะลึกการวิเคราะห์สถิติทางการแพทย์หน่อยนะ มันร้อนวิชา ถ้าคุณเห็นว่าลึกเกินไปปวดหัวจะข้ามไปไม่อ่านเสียก็ได้ เพราะเรื่องนี้อย่าว่าแต่คนไข้ไม่เข้าใจเลย หมอจำนวนมากก็ยังไม่เข้าใจ คือไปเข้าใจผิดว่าก็ในเมื่อการตรวจนี้มีความไว (sensitivity) 80% ก็หมายความว่าใครที่ตรวจได้ผลบวก มีโอกาสเป็นโรค 80% สิ ไม่..ไม่ใช่อย่างนั้น ความไวหมายความว่าถ้าเราเป็นโรคอยู่แล้ว จะมีโอกาสตรวจได้ผลบวกกี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนการจะตอบคำถามว่าถ้าตรวจได้ผลบวกแล้ว อยากรู้ว่าเราจะเป็นโรคหรือไม่ หรือเรามีโอกาสเป็นโรคกี่เปอร์เซ็นต์ มันต้องคิดสองก๊อก

ก๊อกแรกต้องไปตั้งต้นที่สนามหลวง ขอโทษ พูดเล่น มันต้องไปตั้งต้นที่ความจำเพาะ (specificity) การตรวจ CA125 มีความจำเพาะ 80% หมายความว่าเอาคนไม่เป็นมะเร็งมา 100 คน จะตรวจได้ผลบวก 20 คน

ก๊อกที่สองต้องไปคำนวณกับอุบัติการเป็นโรคในชีวิตจริง ข้อมูลของอเมริกาคนหนึ่งแสนคนเป็นโรคนี้เสีย 50 คน ก็เท่ากันว่าในหนึ่งแสนคนมีคนไม่เป็นโรคอยู่ 99,950 คน ถูกแมะ ถ้าเอาคนเก้าหมื่นกว่าซึ่งไม่ได้เป็นมะเร็งนี้มาตรวจ CA125 จะตรวจได้ผลบวก 20% ก็คือจะได้ผลบวก 19,990 คน ถูกแมะ ทำนองเดียวกันถ้าเอา 50 คนที่เป็นมะเร็งจริงๆแล้วไปตรวจก็จะได้ผลบวก 80% ก็คือได้ผลบวก 40 คน ก็เท่ากับว่าในหนึ่งแสนคนนี้ตรวจได้ผลบวก = 19,990 + 40 = 20,030 คน แต่มีคนเป็นมะเร็งจริง 50 คน ก็เท่ากับว่าโอกาสที่คนตรวจได้ผลบวกจะเป็นมะเร็งจริงมี = (50 x 100) / 20,030 = 0.2%

นั่นก็คือคุณแม่ของคุณ ซึ่งตรวจ CA125 ได้ผลบวก มีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ 0.2% จิ๊บจ๊อยจนไม่มีความหมายอะไรเลย ใช่ไหมครับ

คุณอาจจะกังขาว่า ก็ถ้ามันไม่มีประโยชน์อะไรแล้วทำไมหมอตรวจให้ละ อ้าว..ก็สิทธิผู้ป่วยไงคุณ ยุคนี้หมอมีหน้าที่ให้ข้อมูล บอกความเสี่ยง บอกประโยชน์ ส่วนหน้าที่ตัดสินใจเป็นของคนไข้ นี่ผมไม่ได้ว่าเองนะ เป็นคำพิพากษาของศาลไทยนี่แหละในคดีหมอฟ้องคนไข้คดีหนึ่งไม่นานมานี้ ดังนั้นคุณตัดสินใจเองนะ อย่ามาโทษผม ผมมีหน้าที่ขาย เอ๊ย..ไม่ใช่ ผมมีหน้าที่ให้ข้อมูล