Latest

ถ้าเป็นวัณโรคระยะแฝง จะแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ไหม

เรียน อาจารย์สันต์
จากโจทย์ก่อนหน้านี้ หนูสงสัยว่า หากเราติดเชื้อ TBไปแล้วแต่ร่างกายเราแข็งแรงดี มันไม่แสดงอาการ
แต่เมื่อเราอ่อนแอลงแล้วอาการจึงจะเกิดขึ้น แต่เราจะเป็นคนที่แพร่กระจายเชื้อตั้งแต่เราได้รับเชื้อหรือเปล่าคะ
เข้าใจถูกต้องหรือไม่คะ
ขอบคุณค่ะ
(สงวนนาม)

ตอบครับ

เข้าใจไม่ถูกต้องครับ
ธรรมเนียมปฏิบัติของการติดเชื้อแบบ latent infection ตามที่ CDC ได้รวบรวมผลวิจัยไว้ เป็นดังนี้

1. ตั้งต้นด้วยต้องมีคนเป็นวัณโรคปอดหรือกล่องเสียงแบบจ๋าๆ (ไม่ใช่แบบ latent) หมายความว่ามีโพรงอยู่ที่ปอด ไอแล้วมีเชื้อออกมาในเสมหะ ย้อมเชื้อขึ้น แถมไม่ได้รับการรักษาใดๆอีกต่างหาก คนเป็นวัณโรคที่อื่นเช่นต่อมน้ำเหลือง หรือกระดูก ไม่เกี่ยว

2. คนเป็นวัณโรคจ๋าๆในข้อ 1 ไอ หรือจาม หรือฝอย(พูด)น้ำลายกระเซ็น หรือร้องเพลงคาราโอเกะ แบบว่าเสียงไม่ถึงก็โก่งคออยู่นั่นแล้ว เชื้อโรค TB ในปอดหรือกล่องเสียงจะเกาะออกมากับอนุภาค (particle) ของเสมหะ ซึ่งมีขนาดเล็กมากระดับ 1-5 um อันเป็นขนาดเล็กเสียจนเบาหวิวและลอยละล่องไปไกลแสนไกลในอากาศได้นานแสนนาน ผ่านประตูห้อง วิ่งไปตามเฉลียง จากห้องนี้ ไปยังห้องโน้น ณ ขั้นตอนนี้ งานวิจัยบอกว่าโอกาสที่จะแพร่เชื่อจะมากขึ้นถ้า (1) ในบรรยากาศมีความหนาแน่นของอนุภาคที่มีเชื้อโรคขี่มาด้วยอยู่มาก (2) คนป่วยไอหรือจามออกมาแรงได้ที่ (3) แม้ว่าจะเป็นหมอ แต่เวลาไอท่านไม่เคยทำท่าแดร๊คคูล่ายกข้อศอกขึ้นปิดปากจมูกตามหลักวิชาเลยใช่ไหม (4) เป็นวัณโรคแล้วไม่รู้ว่าเป็น ไม่ได้รับยา หรือได้แต่ไม่ครบ (5) มีปฏิบัติการแหย่ให้ฟุ้ง (aerosolization) เช่นไชคอดูดเสมหะ ส่องกล้องตรวจหลอดลม (6) เหตุเกิดในห้องแคบๆอึบๆทึบๆ (7) ระบบระบายอากาศซึ่งเป็นกลไกเจือจางอนุภาค ไม่ดี

3. แล้วก็ผู้มีรับเชื้อ ผู้ซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เดินมาสูดเอาอนุภาคเอาอนุภาคนี้เข้าไป ฟืด..ด…ด เนื่องจากอนุภาคนี้เล็กมากจึงผ่านฉลุยจากจมูก คอ หลอดลม ลงไปถึงถุงลมเล็กๆในปอด (alveoli) ไปจอดอยู่ที่ผิวของถุงลม

4. เมื่อมีใครมาถึงเรือนชาน เจ้าบ้านก็ต้องออกมาต้อนรับ พลตำรวจ macrophage ทำหน้าที่ออกมาต้อนรับ งับเอาเชื้อวัณโรคเข้าไปไว้ในตัว แล้วตัวพลตำรวจท่านก็กลับเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อลาดตระเวนต่อไป ตระเวนไปทั่วร่างกายตามหน้าที่ปกติของเขา

5. ณ ขั้นตอนนี้เหตุการณ์อาจจะแปรผันไปเป็นแบบใดแบบหนึ่งในสามแบบคือ

แบบที่ 1. ระหว่างที่รอส่งฟ้องศาลตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งใช้เวลา 2-10 สัปดาห์ พลตำรวจ macrophage ซ้อมผู้ต้องหาตายคาห้องขัง ตัดตอนกันไปแล้วเรียบร้อย หมายความว่าร่างกายกำจัดเชื้อได้หมดเกลี้ยง เสร็จภารกิจ จบกันไป หายจากโรคเด็ดขาด ไม่มีโอกาสได้แพร่เชื้อให้ใคร

แบบที่ 2. พลตำรวจ อาจเหมือนใครสักคนในหมู่พวกเรา คือขี้ลืมขนาด ก็เลยขังลืมผู้ต้องหา แต่ผู้ต้องหายังอยู่ในเซล macrophage ยังไม่ตาย แต่ออกไปอาละวาดที่ไหนไม่ได้ แบบนี้เรียกว่า latent TB infection ซึ่งกินเวลานานได้หลายปี หรือหลายสิบปี ไม่มีอาการอะไร แพร่เชื้อให้ใครไม่ได้ เพราะเชื้ออยู่ในห้องขัง อยู่ในเซลร่างกาย ไม่ได้อยู่ที่เสมหะ ถ้าตรวจ PPD (tuberculin skin test) จะได้ผลบวกเพราะร่างกายรู้จักเชื้อแล้ว

แบบที่ 3. คือกรณีผู้รับเชื้อมีร่างกายอ่อนแอ แบบตำรวจติดยา ไม่มีแรงซ้อมผู้ต้องหา ห้องขังก็ไม่แข็งแรง ผู้ต้องหาก็แหกกรงออกมาอาละวาด ฆ่าตำรวจตาย หมายถึงเซล macrophage แตก ส่งตำรวจมาอีก ตายอีกจนศพกองพะเนิน เปื่อยสลายกลายเป็นฝีในปอด เทศบาลเข้ามาทำความสะอาดเอาหนองออกไป เหลือเป็นโพรง (cavitation) อยู่ในปอด แต่พื้นที่ถูกเสื้อแดง เอ๊ย..ไม่ใช่ ถูกเชื้อโรคยึดไว้หมดแล้วจะส่งตำรวจเข้าไปก็ไม่ได้เพราะตำรวจไม่ถนัดเดิน ต้องอาศัยรถ คือกระแสเลือดพาไป แต่บริเวณนี้เลือดเข้าไม่ได้ เพราะเป็นโพรง ร่างกายหันไปขับไล่เชื้อด้วยวิธีไอและจาม ซึ่งก็ได้ผล เชื้อส่วนหนึ่งถูกขับออกมาพร้อมกับอนุภาคเสมหะ ลอยไปในอากาศ เพื่อไปติดคนอื่นต่อไป เพราะฉะนั้นแบบที่สามนี้เป็นแบบเดียวที่ปล่อยเชื้อให้คนอื่นได้

สันต์

บรรณานุกรม
1. Centers for Disease Control and Prevention. Guidelines for preventing the transmission of Mycobacterium tuberculosis in health-care facilities, 1994. MMWR 1994; 43: 40-41.