Latest

จับผู้ชายฉีดวัคซีน HPV กลัวผู้ชายเอาเชื้อมาปล่อยให้ซ้ำซาก

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกใช้กับผู้ชายได้หรือไม่คะ ถ้าใช้ไม่ได้ เราจะป้องกันไม่ให้ผู้ชายทำตัวเป็นพาหะคอยนำเชื้อ HPV มาปล่อยใส่เราครั้งแล้วครั้งเล่า หลังจากที่ร่างกายเราเคลียร์เชื้อครั้งก่อนออกไปแล้วได้อย่างไร

ตอบครับ

ประเด็นที่ 1. วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีน HPV ใช้กับผู้ชายได้ไหม ตอบว่าใช้ได้ครับ งานวิจัยการฉีดวัคซีนนี้ในผู้ชายใช้วิธีฉีดเหมือนในผู้หญิงคือฉีด 3 เข็ม ในช่วงเวลา 6 เดือน ในแง่ของความปลอดภัยของวัคซีนนี้ในคนเพศชายนั้น งานวิจัยที่ทำไปในผู้ชายอายุระหว่าง 9-26 ปี จำนวน 4,000 คนพบว่าวัคซีนนี้มีความปลอดภัยดีใกล้เคียงกับในผู้หญิง จัดเป็นวัคซีนที่มีความเสี่ยงต่ำ

ประเด็นที่ 2. ประโยชน์ของการใช้วัคซีน HPV ในผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 9-26 ปี ที่มีหลักฐานแน่ชัดแล้วคือ (1) ป้องกันการเป็นหงอนไก่ (2) ป้องกันมะเร็งต่างๆในตัวผู้ชายเองที่มีเชื้อเอ็ชพีวี.เป็นสาเหตุ เช่น มะเร็งอวัยวะเพศชาย (Ca penis) มะเร็งที่รอบรูทวารหนัก (Ca rectum) มะเร็งของหลอดคอและช่องปาก

ประเด็นที่ 3. ถ้าให้ผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ชายที่ชอบซุกซน ฉีดวัคซีน HPV จะมีผลลดอุบัติการณ์เป็นมะเร็งปากมดลูกของภรรยาได้หรือไม่ อันนี้ยังไม่มีใครทราบ เพราะยังไม่มีข้อมูลงานวิจัยมายืนยันครับ

ประเด็นที่ 4. ผู้ชาย ควรฉีดวัคซีน HPV หรือไม่ โดยเฉพาะผู้ชายที่อายุ 9-26 ปี ตอบว่าต้องเป็นการตัดสินใจของผู้ป่วยหรือผู้ปกครองเองครับ เพราะองค์กรวิชาชีพแพทย์ที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้กำหนดคำแนะนำในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ถ้าแพทย์เชียร์ออกนอกหน้าคนเขาก็จะนินทาว่ามีเอี่ยวกับบริษัทขายวัคซีน

ประเด็นที่ 5. จะป้องกันไม่ให้ผู้ชายทำตัวเป็นพาหะคอยนำเชื้อ HPV มาปล่อยใส่เราครั้งแล้วครั้งเล่าได้อย่างไร ตอบว่า ก็อย่าไปยุ่งกับผู้ชายเขาสิครับ แหะ..แหะ พูดเล่นนะครับ แต่ว่า..เป็นความจริง วิธีอื่นเช่นใช้ถุงยางอนามัย (condom) ก็ป้องกันไม่ได้ 100% เพราะไวรัส HPV ติดต่อจากผิวหนังที่สัมผัสกับผิวหนังนอกถุงยางอนามัยได้ ต้องถอยร่นไปป้องกันชั้นใน คือเมื่อได้รับเชื้อแล้วให้เรามีภูมิต้านทานเชื้อและเคลียร์เชื้อได้หมด นั่นก็คือตัวเราซึ่งเป็นผู้หญิงก็ควรฉีดวัคซีน HPV เสียให้เป็นเรื่องเป็นราว งานวิจัยวัคซีนนี้ทำในผู้หญิงอายุ 9-26 ปี สำหรับผู้หญิงที่อายุมากกว่า 26 ปี ถึงองค์กรวิชาชีพแพทย์จะไม่มีคำแนะนำอย่างเป็นทางการเพราะยังไม่มีข้อมูลวิจัยรองรับ แต่กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามคนอายุเกิน 26 ปีไม่ให้ฉีดวัคซีนนะครับ ฉีดได้ สบายมาก ส่วนคำถามที่ว่าเอ๊ะ ก็นอนกับเขามาตั้งนานแล้วป่านนี้ไม่ติดเชื้องอมไปแล้วเรอะ สมัยนี้ไปตรวจดูได้นะครับ เวลาไปตรวจภายในก็ให้เขาตรวจหาเชื้อ HPV ด้วย โดยให้เจาะจงใช้วิธีตรวจจำแนกสายพันธ์ (HPV PCR test with genotyping) ซึ่งเป็นวิธีตรวจแบบใหม่ ก็จะรู้ว่าเรามีเชื้อ HPV อยู่ในตัวหรือเปล่า ถ้ามีมีกี่สายพันธ์ มีสายพันธ์ที่มีความเสี่ยงสูง (16 และ 18) ครบทั้งสองสายพันธ์เลยหรือเปล่า ถ้ามีครบแล้วพร้อมหน้าพร้อมตา ก็คงจะสายเกินไปสำหรับการฉีดวัคซีนแล้วละครับ แต่ถ้ายังไม่มีไวรัสสายพันธ์เสี่ยงสูงเลย หรือมีสายพันธ์เดียวอีกสายพันธ์ยังไม่มี ก็ฉีดวัคซีนได้ สำหรับคนที่ไม่ชอบเรื่องมาก จะไม่ตรวจให้มันวุ่นวาย แต่จะฉีดวัคซีน HPV เลยก็ได้ เพราะวัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่ปลอดภัยมาก อย่าไปเสียดายเงินเลยครับ องค์การอนามัยโลกมีมอตโตว่า การลงทุนฉีดวัคซีน เป็นการลงทุนด้านสุขภาพที่คุ้มค่าที่สุดรองลงมาจากการลงทุนหาน้ำสะอาดไว้ดื่ม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Block SL, Brown DR, Chatterjee A, Gold MA, Sings HL, Meibohm A, Dana A, Haupt RM, Barr E, Tamms GM, Zhou H, Reisinger KS. Clinical trial and post-licensure safety profile of a prophylactic human papillomavirus (types 6, 11, 16, and 18) l1 virus-like particle vaccine. Pediatr Infect Dis J. 2010 Feb;29(2):95-101.

2. Petaja T, Keranen H, Karppa T, Kawa A, Lantela S, Siitari-Mattila M, et al. Immunogenicity and safety of human papillomavirus (HPV)-16/18 AS04-adjuvanted vaccine in healthy boys aged 10-18 years. J Adolesc Health 2009;44:33-40.

3. Block SL, Nolan T, Sattler C, Barr E, Giacoletti KE, Marchant CD, et al. Comparison of the immunogenicity and reactogenicity of a prophylactic quadrivalent human papillomavirus (types 6, 11, 16, and 18) L1 virus-like particle vaccine in male and female adolescents and young adult women. Pediatrics 2006;118:2135-45.