Latest

Panic disorder

คุณหมอครับ

ผมรักษาโรคความดันโลหิตสูงที่ร.พ.พญาไท 2 มาประมาณ 1 ปีแล้ว แต่เมื่อประมาณเดือนที่แล้วต้องเข้าไป admission กลางดึกเพราะมีอาการนอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว ซึ้งหลังจากตรวจคลื่นหัวใจ กับ x-ray หัวใจและตรวจเลืดแล้ว ไม่พบอาการโรคหัวใจ แต่ความดันคืนนั้นขึ้นสูงมาก คุณหมอให้ทานยา Sanax เพื่อให้นอนหลับ ก็อาการดีขึ้นหลังจากได้นอนหลับ กลังจากกลีบจากโรงพยาบาลก็พยายามไม่ทานยา sanax แต่มีอาการบางครั้งเหมือนกับอาการในบทความของโรค Panic Disorder ทุกอย่าง คือใจสั่น เหงื่อแตก หายใจขัด เหมือนอะไรติดคอ ซึ่งผมมีอาการแบบนี้มาประมาณเกือบปีแล้ว ไม่ใช่หลังจากออกจากโรงพยาบาลเมื่อเดือนที่แล้ว เพียงแต่ไม่เคยทราบว่าเป็นอะไร และจะเป็นบ่อยเวลาขับรถกลับบ้าน ซึ่งอยู่ ๆ ก็จะเป็ยขึ้นมาเฉย ๆ อยากทราบว่าผมเป็น Panic Disorder หรือเปล่า เพราะดู ๆ แล้วอาการเหมือนกันทุกอย่าง และไม่ทราบว่ายา sanax ที่คุณหมอให้มาใช้รักษาได้หรือเปล่า แต่กลัวว่าจะง่วงเวลากินหลังจากมีอาการ หรือควรจะเป็นยาตัวอื่นๆ และไมทราบว่าที่ร.พ.พญาไท 2 มีคลีนิครักษาโรคนี้หรือเปล่าครับ

Watana

ตอบครับ

1. การวินิจฉัยโรคกลัวเกินเหตุ หรือ Panic disorder วินิจฉัยเอาจากอาการ ไม่มีการตรวจทางแล็บยืนยัน ดังนั้นถ้ามีอาการครบเกณฑ์โดยที่รู้แน่ชัดแล้วว่าไม่ได้เป็นโรคอื่น ก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ได้เลยครับ เกณฑ์วินิจฉัย (DSM-IV) นิยามโรคนี้ว่าอยู่ๆก็กลัวอะไรขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย กลัวแบบสุดขีด (intense fear) ขึ้นถึงขีดสุดในเวลาไม่เกิน 10 นาที และต้องมีอาการร่วมคือ (1) กังวลว่าจะกลับเป็นอีก (2) กังวลว่ากลับเป็นแล้วจะมีผลเสียตามมา (3) มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปเพราะความกลัวนั้น ทั้งนี้อาการเหล่านี้ต้องไม่เกิดจากยา หรือการเจ็บป่วยอื่นใด และต้องเป็นอยู่นานเกินหนึ่งเดือน โดยต้องมีอาการอย่างน้อย 4 อย่างใน 13 อย่างต่อไปนี้
1.1 ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
1.2 เหงือแตก
1.3 ตัวสั่นหรือสะทกสะท้าน
1.4 หายใจสั้นๆขัดๆ
1.5 รู้สึกอะไรติดคอ หายใจไม่ได้
1.6 เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก
1.7 คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง
1.8 เวียนหัว หรือเป็นลม
1.9 เหมือนไม่เป็นตัวของตัวเอง คล้ายๆกับผีเข้า
1.10 กลัวคุมสติไม่อยู่ กลัวจะเป็นบ้า
1.11 กลัวตาย
1.12 รู้สึกชาๆตื้อๆหรือเหมือนมีแมลงไต่ที่ผิวหนัง
1.13 หนาวสั่นหรือร้อนวูบวาบ

2. เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่วงการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุ ยาที่ใช้จึงเป็นยาบรรเทาอาการ ยา Alprazolam (Xanax) ที่คุณได้รับมานั้นก็เป็นยายอดนิยมตัวหนึ่งในการรักษาโรคนี้ ยานี้ทำให้ง่วงได้ แต่ไม่มีอันตรายอย่างอื่น ไม่เสพย์ติด เพียงแต่อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าต้องพึ่งยาจึงจะอยู่ได้ (psychological dependence) เคยมีคนไข้เขียนมาที่นี่แล้วเล่าให้ผมฟังว่าเป็นโรคนี้และกินยานี้ไปนับได้ถึง 3,000 เม็ด ซึ่งช่วยยืนยันว่าถึงไม่เสพย์ติด แต่ก็ทำให้กินกันจนลืมได้เหมือนกัน

3. ที่รพ.พญาไท 2 มีคลินิกจิตเวชซึ่งรักษาโรคนี้โดยตรงครับ เปิดทุกวัน ทั้งนี้คุณต้องทำใจก่อนนะว่าการรักษาทางจิตเวชในเมืองไทยเรานี้จะใช้ยาเป็นวิธีหลักแทบจะวิธีเดียวเลยหละ การรักษาร่วมอย่างอื่นเช่นการสอนให้คิดใหม่ (Cognitive therapy) หรือการทำพฤติกรรมบำบัด (behavioral therapy) เช่นการพาคนไข้กลับไปเจอกับสิ่งที่ทำให้กลัวซ้ำๆหลายๆครั้งจนดื้อด้านต่อความกลัวไปเองนั้น จะไม่ทำกัน เข้าใจว่าเพราะเสียเวลามาก หมอจึงไม่มีเวลาทำ ดังนั้นคุณมารพ.จะได้แต่ยา ส่วนการรักษาร่วมแบบอื่นคุณต้องทำเอง

4. ผมแนะนำเพิ่มเติมแบบหลังไมค์หน่อยนะ คืออยากให้คุณทำความเข้าใจกับ “จิตใจ” หรือ mind ของเราให้ถ่องแท้ คือใจนี้ประกอบด้วยกิจกรรมหรือพฤติกรรมทางจิตสามอย่างคือ (1) ความคิด หรือ though (2) ความรู้สึก หรือ feeling (3) ความรู้ตัวหรือ self awareness พฤติกรรมทั้งสามอย่างนี้จะเกิดได้ทีละอย่าง จะเกิดพร้อมกันไม่ได้ เช่นเมื่อกำลังคิด หรือกำลังกลัว เราจะไม่มีความรู้ตัว แต่อาจจะสลับกันเกิดวูบวาบวูบวาบได้ ความคิด จะก่อตัวแล้วพอกพูนกันเองขึ้นเป็นความคิดใหม่ๆ ต่อยอดกันไปเรื่อยๆ (mental formation) รวมทั้งต่อยอดไปเป็น feeling เช่นความกลัว ตัว feeling นี้เป็นการผสมโรงกันระหว่างส่วนของใจกับอาการทางร่างกาย เช่นถ้ากลัวก็จะมีใจสั่น เป็นต้น เรื่องนี้มีสองประเด็น ประเด็นที่ 1. คือต้องสร้างความรู้ตัวให้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะความรู้ตัวจะเป็นตัวแทนที่หรือบล็อคความคิดและความรู้สึกโดยอัตโนมัติ ประเด็นที่ 2. คือการบล็อคความคิดและความรู้สึกจะใช้วิธีห้ามใจนั้นไม่ได้ ต้องใช้วิธีใช้ความรู้ตัวเฝ้ามองมันเฉยๆ (bare attention) นี่เป็นสุดยอดวิชาของเรื่องนี้ คุณลองเอาไปทำดูนะครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. American Psychiatric Association. Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fourth Edition, Text Revision. Washington, DC: American Psychiatric Press; 2000.
2. American Psychiatric Association. Practice guideline for the treatment of patients with panic disorder. Work Group on Panic Disorder. American Psychiatric Association. Am J Psychiatry. May 1998;155(5 Suppl):1-34.