Latest

บิ๊กอายคอนแทคเลนส์ ยอมบอด ไม่ยอมเฉิ่ม


เนื่องจากวัยรุ่นไทยนิยมใส่คอนเทคเลนส์ แบบบิ๊กอาย เป็นจำนวนมากจึงทำให้เกิดโรคที่มากับวัยรุ่น ??
ดิฉันจึงอยากจะสอบถามโรคที่มากับการใส่คอนเทคเลนส์ และวิธีดูแลรักษาโรค
ขอให้คุณหมอช่วยตอบแบบละเอียดหน่อยนะคะ

ขอบพระคุณคุณหมอมากคะ
………………………………………………………………

ตอบครับ

ภาวะแทรกซ้อนจากคอนแทคเลนส์เกิดได้หลายอย่าง ดังนี้

1. คอนแทคเลนส์ทำให้เกิดความผิดปกติต่อองค์ประกอบของฟิลม์น้ำตาที่เคลือบแก้วตา (tear film) ซึ่งเป็นตัวให้ความชื้น ให้ออกซิเจน และขนส่งโปรตีนภูมิคุ้มกันการติดเชื้อมาให้แก่เซลบุแก้วตา เมื่อองค์ประกอบของฟิลม์น้ำตานี้เสียไป เยื่อบุแก้วตาก็ขาดออกซิเจนง่าย บาดเจ็บ และติดเชื้อง่าย การติดเชื้อบักเตรีที่แก้วตา (keratitis) เกิดได้ 1 ใน 2,500 คนที่ใส่คอนแทคตอนกลางวัน และเกิด 1 ใน 500 คนที่ใส่คอนแทคนอนหลับด้วย อาการติดเชื้อมักเป็นทันที เมื่อเกิดแล้วเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเชื้อแรงๆเช่น Pseudomonas aeruginosa มีอาการปวดตา แพ้แสง ตาแดง ตามัว อาจจบลงด้วยแก้วตาขุ่น เสียแก้วตา ตาบอด หากการติดเชื้อลุกลามมาก อาจจบลงด้วยการต้องควักลูกตา

2. การติดเชื้อที่รุนแรงอีกกรณีหนึ่งคือติดเชื้ออะมีบา (acanthamoeba keratitis) ซึ่งอยู่ตามพื้นดินหรือที่สกปรก แล้วมาสู่คอนแทคเลนส์ผ่านทางน้ำก๊อก มักค่อยๆมีอาการน้อยๆก่อนแล้วแรงขึ้นๆ ดังรูปที่ผมเอาลงให้ดูนี้ รักษายากมาก ต้องรักษานานหลายเดือน บางทีก็ไม่หาย ทำให้ต้องผ่าตัดเอาส่วนที่ติดเชื้อออก ซึ่งอาจหมายถึงการควักลูกตาทั้งอันเช่นกัน

3. คอนแทคเลนส์ทำให้เกิดเยื่อใต้หนังตาอักเสบ (giant papillary conjunctivitis) เนื่องจากเลนส์เป็นสิ่งแปลกปลอมที่ระคายเคืองเนื้อเยื่อรอบๆ

4. ทำให้หนังตาตกหรือหนังตาหรุบเนื่องจากตัวเลนส์เองขวางการขยับหนังตา หรือจากเกิดพังผืดขึ้นที่หนังตา

5. ทำให้เกิดอักเสบจากการแพ้ (contact dermatitis) ขึ้นกับตาขาว ซึ่งเป็น 1-3% ของผู้ใช้คอนแทคเลนส์ บางครั้งก็เกิดการอักเสบที่ขอบแก้วตา เรียกว่า contact lens induced superior limbic keratoconjunctivitis (CL-SLK) ทำให้แสบ แพ้แสง การมองเห็นพร่า สารเคมีที่ใช้กับคอนแทคเลนส์เองก็อาจกัดกร่อนเซลบุแก้วตา ทำให้เกิดการอักเสบได้

6. ตัวเลนส์อาจขีดข่วนเยื่อบุแก้วตา ทำให้แก้วตาถลอก (cornea abrasion) ซึ่งเป็นต้นเหตุอีกอย่างหนึ่งของการติดเชื้อที่อาจลุกลามรุนแรง

จะเห็นว่าคอนแทคเลนส์นี้อันที่จริงแล้วมีปัญหามาก สถิติในอเมริการะบุว่าการติดเชื้อผ่านคอนแทคเลนส์เพิ่มจำนวนมากขึ้นใน 5 ปีที่ผ่านมา งานวิจัยพบว่าประมาณ 25% ของผู้ใช้คอนแทคเลนส์ไม่ได้ล้างมือก่อนจับเลนส์ทุกครั้ง และ 12% ไม่เคยล้างมือก่อนจับเลนส์เลย อีกประมาณ 40-80% ของผู้ใช้ไม่ได้ใส่ใจทำตามคำแนะนำของการใช้คอนแทคเลนส์อย่างถูกต้องทุกประเด็น บางคนใช้คอนแทคมานานหลายปีเมื่อไม่เห็นมีปัญหาอะไรก็ย่ามใจไม่สนใจเรื่องความสะอาดแล้วจบลงด้วยการสูญเสียการมองเห็นในที่สุด คนที่รู้จริงมักกลัวคอนแทคเลนส์ เพื่อนผมคนหนึ่งเป็นจักษุแพทย์ เขามาบ่นกลุ้มอกกลุ้มใจให้ผมฟังเมื่อลูกสาวซึ่งสายตาสั้นใส่แว่นหนาเตอะรบจะใส่คอนแทคเลนส์ให้ได้เเพราะอายเพื่อน คือหมอตาเองนั้นกลัวคอนแทคเลนส์กันเป็นส่วนใหญ่ แต่เด็กสาวๆจำนวนมากที่ไม่ได้สายตาสั้นอะไรกับเขาเลยกลับไปเสาะหาคอนแทคเลนส์เกาหลีราคาถูกอันละสองสามร้อยมาใส่เพื่อให้ตาโตโดยไม่เห็นกลัวอะไรเลย การให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตัวเองมากกว่ากลัวตาบอดของเด็กสาวสมัยนี้ที่ผมได้ยินมากับหูคือลูกสาวของเพื่อนอีกคนหนึ่ง เธอใส่คอนแทคเลนส์แล้ววันหนึ่งเกิดตาอักเสบ แสบตา แต่ว่าเย็นนั้นต้องไปงานปาร์ตี้ คุณแม่ก็บอกว่าให้ใส่แว่นแทนเถอะเพราะตากำลังอักเสบอย่าใส่คอนแทคเลย แต่เธอก็ไม่ยอม งานนี้งานสำคัญยังไงต้องใส่คอนแทคไปให้ได้ เรียกว่าเอาเท่ไว้ก่อน บอดได้เป็นบอด..เอากับเธอสิ

สำหรับเด็กสาวที่ยอมบอดไม่ยอมเฉิ่มอย่างนี้ คำแนะนำการใช้คอนแทคเลนส์ต่อไปนี้อาจจะมีประโยชน์สำหรับพวกเธอบ้าง

1. ล้างมือทั้งสองข้างด้วยสบู่และน้ำอุ่นแล้วเช็ดมือให้แห้งทุกครั้งก่อนจับคอนแทคเลนส์ เพราะสบู่หรือสารเคมีที่ติดมือหากติดไปถึงคอนแทคเลนส์จะทำให้ระคายเคือง ปวด และตาพร่าได้ เวลาล้างให้วางคอนแทคเลนส์บนอุ้งมือแล้วใช้นิ้วชี้ถูเอาคราบลื่นๆที่เกาะอยู่ออกจากเลนส์จนเกลี้ยง

2. สวมและถอดคอนแทคเลนส์ตามเวลาที่แพทย์สั่ง ในกรณีที่ซื้อมาใส่เองเพื่อความสวยงาม ไม่ควรใส่ติดต่อกันนานหลายชั่วโมง และห้ามใส่นอนหลับเด็ดขาด เว้นเสียแต่ว่าหมอจะอนุญาตให้ใช้เลนส์ชนิด extended wear เท่านั้น เพราะช่วงหลับตาน้ำตาจะหยุดไหลเคลือบแก้วตาทำให้เลนส์แห้งและติดแน่นกับผิวแก้วตา แก้วตาถลอกได้

3. ตลับเก็บคอนแทคเลนส์ก็ต้องทำความสะอาดตามคำแนะนำของผู้ผลิตด้วยน้ำยาที่ผู้ผลิตให้อย่างเข้มงวด แล้วปล่อยให้แห้งก่อนใช้ทุกครั้ง

4. ห้ามใช้น้ำก๊อกล้างคอนแทคเลนส์เด็ดขาด เพราะเชื้ออะมีบาจะมากับน้ำก๊อกได้ ทั้งความเป็นกรดของน้ำประปาจะทำให้ผิวเลนส์เสียหาย น้ำธรรมดาแม้จะสะอาดก็ใช้ไม่ได้ ให้ใช้ได้แต่น้ำยาที่ผู้ผลิตคอนแทคเลนส์แนะนำให้ใช้เท่านั้น

5. เมื่อใดก็ตามที่มีอาการผิดปกติทางตา เช่นแสบตา ตาแดง แพ้แสง น้ำตาไหลมาก ตาพร่า ให้เอาคอนแทคเลนส์ออกแล้วไปให้หมอตาตรวจตาดูทันที

6. อย่าแลกใส่คอนแทกเลนส์กับเพื่อน เพราะวิธีนั้นเป็นวิธีแพร่เชื่อระหว่างคนที่ดีที่สุด

7. คนใส่คอนแทคเลนส์ต้องมีแว่นกันแดดเพื่อลดอาการแพ้แสง และต้องมีน้ำตาเทียมหรือน้ำเกลือคอยหล่อลื่นไม่ให้ตาแห้ง

8. ใส่คอนแทคเลนส์ให้เรียบร้อยก่อนแต่งหน้า เพื่อป้องกันแป้งทาหน้าติดไปกับผิวเลนส์ตอนใส่เลนส์

9. ต้องระวังไม่ให้ปากขวดใส่น้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ไปสัมผัสกับอะไรอย่างอื่นรวมทั้งมือของเราเอง เพราะจะทำให้ปากขวดติดเชื้อแล้วเชื้อลามลงไปถึงน้ำยาแช่เลนส์ได้

10. ถ้าจะซื้อคอนแทคเลนส์เพื่อความสวยงาม (บิ๊กอาย) ต้องเลือกซื้อของผู้ผลิตที่ไว้ใจได้ อย่าสักแต่พอโฆษณาว่าเป็นบิ๊กอายเกาหลีก็เอาหมด ดูวันหมดอายุด้วย อย่าใช้เลนส์ที่แห้งหรือแข็งเสียรูปทรง เลนส์ราคาถูกมักเคลือบสารเคมีรวมทั้งสารกันบูดไว้ด้วย ก่อนใช้ต้องนำมาแช่ในน้ำยาทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วล้างให้สะอาด

11. อย่าไว้เล็บยาวหรือต่อเล็บ เพราะในการใส่และถอด เลนส์จะมีโอกาสเสียหายหรือมีรอยขีดข่วนจากเล็บมือได้ง่าย ยังไม่นับ “ขี้เล็บ” จะเป็นที่สะสมของเชื้อโรคที่จะแพร่ไปสู่คอนแทคเลนส์

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Sorbara L, Jones L, Williams-Lyn D. Contact lens induced papillary conjunctivitis with silicone hydrogel lenses. Cont Lens Anterior Eye. Apr 2009;32(2):93-6.
2. Joslin CE, Tu EY, McMahon TT, et al. Epidemiological characteristics of a Chicago-area Acanthamoeba keratitis outbreak. Am J Ophthalmol. Aug 2006;142(2):212-7.
3. Ebrahimi KB, Green WR, Grebe R, Jun AS. Acanthamoeba sclerokeratitis. Graefes Arch Clin Exp Ophthalmol. Feb 2009;247(2):283-6.
4. Macsai MS, Varley GA, Krachmer JH. Development of keratoconus after contact lens wear. Patient characteristics. Arch Ophthalmol. Apr 1990;108(4):534-8.
5. Alfonso E, Mandelbaum S, Fox MJ, Forster RK. Ulcerative keratitis associated with contact lens wear. Am J Ophthalmol. Apr 15 1986;101(4):429-33.
6. Allansmith MR, Korb DR, Greiner JV. Giant papillary conjunctivitis induced by hard or soft contact lens wear: quantitative histology. Ophthalmology. Aug 1978;85(8):766-78.
7. Cheng KH, Leung SL, Hoekman HW, et al. Incidence of contact-lens-associated microbial keratitis and its related morbidity. Lancet. Jul 17 1999;354(9174):181-5