Latest

จะไปตรวจภายในกับหุ่นยนต์ 20 ล้านแห่งเดียวในเมืองไทยดีไหม

คุณหมอสันต์คะ

ดิฉันได้อ่านข่าวว่าสถาบันมะเร็งซื้อหุ่นยนต์ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกราคา 20 ล้านบาทมาเป็นตัวแรกตัวเดียวของเมืองไทย และออกข่าวว่าตรวจได้แม่นกว่าวิธีธรรมดามาก ดิฉันจะไปตรวจกับหุ่นยนต์จะดีกว่าตรวจกับสูตินรีแพทย์ธรรมดาไหม

(สงวนนาม)

……………………….

ตอบครับ

เครื่องตรวจที่ว่านั้น มีชื่อการค้าว่า ThinPrep Imaging System เรียกย่อว่าเครื่อง TIS มันเป็นอุปกรณ์ใช้งานในห้องแล็บ ไม่ใช่หุ่นยนต์ตรวจภายในที่จะมายืนจังก้าตรวจคนไข้แทนหมอ คือมันเป็นกล้องจุลทรรศน์สำหรับส่องตรวจแผ่นสไลด์เพื่อหาเซลปกติคล้ายกล้องจุลทรรศน์ที่ใช้ในห้องแล็บทั่วไป แต่ต่างจากกล้องจุลทรรศน์ทั่วไปตรงที่มันมีโปรแกรมช่วยอ่านเซลด้วย เมื่อมันอ่านแล้วเห็นว่าตรงไหนน่าจะมีเซลผิดปกติอยู่ มันก็จะเขียนกรอบคร่อมไว้เพื่อให้สะดุดตาเท็คนิเชียน เวลาเทคนิเชียนมาตรวจสไลด์ก็จะได้ตั้งใจดูในกรอบนั้นให้ละเอียดว่ามีเซลผิดปกติอยู่จริงหรือเปล่า เป็นการช่วยให้เทคนิเชียนทำงานได้เร็วขึ้น

ประเด็นสำคัญคือการมีเครื่องนี้มาช่วยอ่าน เพิ่มความไวของการตรวจพบเซลผิดปกติจริงหรือไม่ เรื่องนี้ได้มีงานวิจัยพิสูจน์ไว้แล้ว ดังนี้

งานวิจัยหนึ่ง ทำโดยเอาผลการอ่านสไลด์ก่อนมีเครื่อง TIS ใช้ กับหลังจากมีเครื่อง TIS ใช้แล้ว ประมาณอย่างละ 1 แสน แผ่น มาดูอัตราการตรวจพบเซลผิดปกติระดับที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ (ASC-US) ว่าระหว่างยุคมีเครื่องกับยุคไม่มีเครื่อง ยุคไหนจะตรวจพบได้มากกว่ากัน ผลปรากฏว่าตรวจพบมากได้พอๆกัน ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

อีกงานวิจัยหนึ่งทำในสถาบันที่มีการตรวจทั้งแบบใช้เครื่อง TIS ช่วยและแบบไม่ใช้เครื่อง TIS ช่วยเลย เขาวิจัยโดยใช้วิธีสุ่มเอาสไลด์ที่ได้วินิจฉัยว่าเป็นความผิดปกติระดับที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ (ASC-US) มาจำนวน 23,103 แผ่น แล้วเอามาแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ตรวจโดยมีเครื่อง TIS ช่วย กลับกลุ่มที่ตรวจโดยไม่มีเครื่อง TIS ช่วย ก็พบว่าอัตราการตรวจพบเซลผิดปกติ ASC-US ไม่แตกต่างกัน และเมื่อตามไปดูผลการตรวจหาภูมิคุ้มกันไวรัสเอ็ชไอวี.ก็พบว่ามีความผิดปกติไม่ต่างกัน และเมื่อตามไปดูจนถึงผลการตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกมาตรวจ ก็พบว่าอัตราการพบมะเร็งก็ไม่ต่างกันอีก

โดยสรุปงานวิจัยพบว่าการมีเครื่อง TIS นี้ไม่ได้ทำให้อัตราการตรวจพบเซลผิดปกติมากขึ้นกว่าการตรวจโดยเท็คนิเชียนแบบดั้งเดิมโดยไม่มีเครื่องช่วย แปลไทยให้เป็นไทยได้ว่าสำหรับคนไข้แล้วรพ.จะมีหรือไม่มีเครื่อง TIS ผลการตรวจก็แม่นยำเท่าเดิม

คุณอาจจะว่า เฮ้ย.. อย่างนี้ก็หลอกกันสิ หลังจากได้อ่านคำถามของคุณแล้วตัวผมเองก็สงสัยเหมือนกัน จึงไปค้นดูในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งเป็นต้นตอข่าว เขาให้ข่าวไว้แยกเป็นเรื่องๆได้ดังนี้

1. “…รุกหน้าด้านเทคโนโลยีการตรวจค้นหาความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกอย่างต่อเนื่อง สำหรับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ นำโดย นพ….ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ที่เตรียมเปิดตัว “โรบอตเทคโนโลยีสุดล้ำ ระบบการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่สมบูรณ์แบบ (ThinPrep Imager system) เครื่องแรกในประเทศไทย..ตัวเครื่องมีราคาถึง 20 ล้านบาท.. ” ตรงนี้เขาก็ไม่ได้หลอกอะไรนะครับ เขาเรียกชื่อเครื่องนี้ว่าโรบอต ซึ่งก็เป็นเรื่องของชื่อ เขาจะเรียกยังไงก็ได้ และเขาบอกว่าเขาเป็นเจ้าแรกที่ซื้อเครื่องนี้เข้ามา ซึ่งก็จริง ราคาเท่าไรเขาก็คงไม่โกหกหรอก

2. “…มะเร็งปากมดลูก ยังเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ของผู้ป่วยใหม่ รองจาก มะเร็งเต้านม และมีจำนวนผู้ป่วยใหม่ 1 หมื่นคนต่อปี การตรวจด้วยเทคนิคเซลล์วิทยาจะช่วยให้พบความผิดปกติระยะก่อนเป็นมะเร็งได้ถึง 50% อีกทั้งการตรวจที่แม่นยำจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องมาตรวจซ้ำเป็นประจำทุกปี หรือ 5 ปี ครั้ง สำหรับสตรีที่แต่งงานแล้ว และอายุ 30 ปีขึ้นไป..” อันนี้ก็เป็นความจริง เพียงแต่ว่ามันไม่เกี่ยวอะไรกับการมีหรือไม่มีเครื่อง TIS (จะมีที่ผมติงนิดหนึ่งก็คือว่าการตรวจคัดกรองที่ว่าควรทำห่างออกไปนั้น มาตรฐานปัจจุบันยอมรับกันที่ทุก 3 ปี ยังไม่ห่างไปถึงทุก 5 ปี แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นซีเรียส)

3. “……ทั้งนี้ นอกจากเทคนิคการตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูก ด้วยเครื่องตินเพร็พ อิมเมเจอร์ แล้ว ในทางการแพทย์ยังได้พัฒนาเครื่องมือช่วยตรวจหามะเร็งปากมดลูกจากไวรัสเอสพีวี ซึ่งมีความจำเพาะต่อโรคมากกว่า โดยเทคโนโลยีใหม่สามารถตรวจหาได้ละเอียดถึงระดับเซลล์ในตำแหน่งที่ 16 และ 18 ของเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่ก่อมะเร็งได้สูงถึง 70%..” อันนี้ก็จริงอีก คือวงการแพทย์พัฒนาการตรวจ HPV co test ขึ้นมาซึ่งช่วยเพิ่มความไวของการค้นหามะเร็งปากมดลูกได้ (ซึ่งเป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวกับเครื่อง TIS ราคา 20 ล้าน)

จะเห็นว่าสาระสำคัญของข่าวนี้คือเขาบอกว่าเขาซื้อกล้องจุลทรรศน์ TIS ราคายี่สิบล้านมาใช้ในห้องแล็บเท่านั้นเอง ไม่มีตอนไหนเลยที่เขาบอกว่าเครื่อง TIS นี้จะทำให้การตรวจคัดกรองมะเร็งแม่นยำขึ้น แต่คุณในฐานะผู้บริโภคบังเอิญเข้าใจไม่ถูกต้องเอง

ส่วนประเด็นที่คุณถามผมว่าควรจะไปตรวจที่นั่นหรือไม่ อันนี้อยู่ที่ดุลพินิจของคุณก็แล้วกันนะครับ ผมทำหน้าที่ให้ข้อมูลเท่านั้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Miller FS, Nagel LE, Kenny-Moynihan MB. Implementation of the ThinPrep Imaging System in a high volume metropolitan laboratory. Diag Cytopath. 2007;35:213-7.
2. Thrall MJ, Russell DK, Bonfiglio TA, Hoda RS. Use of the ThinPrep(R) Imaging System does not alter the frequency of interpreting Papanicolaou tests as atypical squamous cells of undetermined significance. CytoJournal 2008;5:10
3. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 18:36. ไอที-นวัตกรรม : วิทยาศาสตร์ โชวฺหุ่นยนต์ตรวจมะเร็งปากมดลูก http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/science/20110207/375930/