Latest

ช่วยด้วย เป็นไวรัสตับอักเสบซี. (Hepatitis C)

ช่วยด้วยค่ะ ไปบริจาคเลือดมา และได้ทราบถึงผลเลือดว่าได้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี อยากทราบว่าจะต้องเข้ารับการรักษาอย่างไร และต้องฉีดวัคซีนป้องกันได้หรือไม่

…………………………………………………………..

ตอบครับ

คำถามของคุณ ทำให้ผมหวนคิดถึงใครคนหนึ่งในอดีต ซึ่งเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควรด้วยโรคตับอักเสบไวรัสซี. เธอเป็นทั้งครูแพทย์ผู้ปราดเปรื่อง และเป็นทั้งพี่สาวที่แสนดีของผม ยังจำได้ที่เจ้าหนุ่มน้องชายผู้ไม่เอาไหนแกล้งพี่โดยไปดักรออยู่ในที่แสงสว่างไม่พอแล้วยื่นฟิลม์เอ็กซเรย์ให้ช่วยรีบอ่านโดยอำว่าด่วนมาก เพื่อที่จะให้คุณพี่ผู้ปราดเปรื่องหลวมตัวอ่านฟิลม์เอ็กซเรย์ผิดจะๆให้เห็นสักครั้ง พอพี่เขาอ่านผิดสมใจก็ร้องขึ้นด้วยความดีใจที่แกล้งพี่ได้สำเร็จ คิดถึงวันชื่นคืนสุขครั้งก่อนมาแล้วก็น้ำตาไหล ฮือ.. ฮือ

“..เฮ้ ลุ้ง…ง ตื่นเถอะ ใจลอยแล้ว”

ขอโทษ ขอโทษ มันเผลอไปนะ มาตอบคำถามของคุณดีกว่า

ประเด็นที่ 1. ที่กาชาดเขาบอกว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี.นั้น เพราะเขาเจาะเลือดดูภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบซี. (anti-HCV) แล้วได้ผลบวก ซึ่งมีความหมายว่าคุณเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี.มา และตามสถิติแล้วคนที่ anti-HCV ได้ผลบวกเช่นคุณนี้ ประมาณสามคนในสี่คน หรือ 75% จะยังคงมีเชื้อไวรัสตับอักเสบซี.ตัวเป็นๆอยู่ในร่างกายด้วย

ประเด็นที่ 2. จะฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบไวรัสซี.ได้ไหม ตอบว่ายังไม่ได้ครับ เพราะปัจจุบันนี้โลกยังไม่มีวัคซีนชนิดนี้

ประเด็นที่ 3. จะต้องทำอย่างไรต่อไปดี ตอบว่าก็ต้องไปที่โรงพยาบาล ไปขอตรวจเลือด โดยเจาะจงตรวจตามรายการต่อไปนี้ให้ครบคือ
3.1 ตรวจดูตัวไวรัสซี. (HCV DNA) ว่ายังมีไวรัสตัวเป็นๆอยู่ในร่างกายหรือเปล่า ถ้าโชคดีเป็นคนหนึ่งในสี่ที่ร่างกายเคลียร์ไวรัสทิ้งได้หมดแล้ว หมายความว่า HCV DNA ได้ผลลบ ก็จบเลย ไม่ต้องทำอะไรต่อ แต่ถ้าตรวจพบไวรัสซี.ในตัวก็ไม่จบ ต้องตรวจต่อไปอีก
3.2 ตรวจเอ็นไซม์ของตับ SGPT หรือ SGOT ถ้าสูงผิดปกติก็แสดงว่ามีภาวะตับอักเสบเรื้อรังอยู่ นั่นหมายถึงว่าแพทย์อาจจะจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นตับแข็ง อันจะนำไปสู่มะเร็งตับซึ่งต่อคิวรออยู่ไม่ไกลหลังจากเป็นตับแข็งแล้ว
3.3 ในกรณีทั่วไปควรตรวจสถานการติดเชื้อของไวรัสเอ. (anti HAV) และไวรัสบี. (HBsAb, HBsAg) ด้วย เพราะแค่โดนซีตัวเดียวก็อ่วมแล้ว หากยังไม่มีภูมิคุ้มกันเอ.และบี.จะได้ฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อน นอกจากนี้ยังควรตรวจเอดส์ (HIV) ด้วย เพราะไวรัสซี.มาสู่ตัวเราโดยวิธีคล้ายๆกับเอดส์ คือมากับเลือดบ้าง มากับเพศสัมพันธ์บ้าง บางทีมันก็มาแบบทูอินวัน คือติดทีเดียวพร้อมกันสองตัว ในกรณีของคุณนี้ตอนไปบริจาคเลือดกาชาดเขาตรวจไวรัสบี. (HBsAg) และเอดส์ (HIV) ให้แล้ว การที่เขาไม่พูดอะไรก็แสดงว่าไม่มีเชื้อ ก็รอดตัวไปหนึ่งเปลาะ ไม่ต้องตรวจสองตัวนี้ซ้ำ
3.4 ถ้าผลการตรวจพบไวรัสซีอยู่ในตัวเพียบแต่เอ็นไซม์ของตับยังปกติ หมออาจจะไม่แน่ใจว่ามีภาวะตับอักเสบเรื้อรังอยู่หรือเปล่า อาจจะขอเอาเข็มจิ้มตับเอาเนื้อตับออกมาตรวจ (biopsy) ก็ให้เขาทำไปเถอะ จะได้ตัดสินใจได้ว่าควรใช้ยาต้านไวรัสหรือไม่

ประเด็นที่ 4. เมื่อไรจะใช้ยาต้านไวรัส ซึ่งสมัยนี้ก็คือการใช้ยาชุด PEG-interpheron alpha 2b + Ribavirin คำตอบก็คือหากคุณอายุเกิน 18 ปี ถ้าตรวจพบว่ามีไวรัสในตัว ร่วมกับมีตับอักเสบ ต้องใช้ยาแน่นอน แต่ถ้ามีไวรัสแต่ไม่มีตับอักเสบ อันนี้ก็แล้วแต่ว่าหมอโรคตับที่ดูแลคุณอยู่จะห้าวแค่ไหน คือภาษาหมอเรียกว่ามันยังเป็นข้อโต้แย้งกันอยู่ (controversy) ว่าจะใช้ยาหรือไม่ใช้ดี จึงขึ้นกับดุลพินิจของหมอแต่ละคน ยานี้เป็นยาแรง ต้องใช้โดยหมอโรคตับ (hepatologist) หรืออย่างน้อยก็ควรเป็นหมอโรคทางเดินอาหาร (gastroenterologist) เท่านั้น เป้าหมายของการใช้ยาก็คือ (1) เพื่อกำจัดเชื้อไวรัสให้เกลี้ยงไปนานอย่างน้อย 6 เดือน ภาษาหมอเรียกว่าเพื่อให้ได้ sustained virologic response หรือ SVR (2) เพื่อป้องกันตับแข็งซึ่งก็คือการป้องกันมะเร็งตับนั่นเอง

ประเด็นที่ 5. ในแง่ของการป้องกันโรคนี้ ตัวคุณเองแม้จะป้องกันการติดเชื้อไม่ได้แล้วแต่ป้องกันไม่ให้โรคเป็นมากได้โดย(1) งดแอลกอฮอล์เด็ดขาด เพราะคนเป็นโรคนี้หากดื่มแอลกอฮอล์จะยิ่งเกิดตับแข็งมากขึ้น (2) แต่คุณป้องกันการแพร่โรคนี้ไปยังคนใกล้ชิดเช่นสามี (ถ้ามี) โดยเอาพวกเขามาตรวจเลือด ถ้ายังไม่เคยติดเชื้อก็ป้องกันเหมือนกับการป้องกันเอดส์ คือจะมีพสพ.ก็ใช้ถย.อนม. (ถุงยางอนามัย ผมย่อแก้เซ็งเท่านั้นเอง ไม่มีอะไร) และหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ที่จะแพร่เชื้อทางเลือดเช่นกรรไกรตัดเล็บ ใบมีดโกน แปรงสีฟัน ร่วมกัน

ประเด็นที่ 6. สำหรับคนทั่วไปที่จำเป็นตัองถ่ายเลือด ไม่ต้องกลัวติดเชื้อไวรัสซี.จนอึขึ้นสมอง เพราะนับตั้งแต่มีการคัดกรองผู้บริจาคเลือดด้วยการตรวจ anti HCV โอกาสติดเชื้อนี้จากการถ่ายเลือดลดลงต่ำมากเหลือเพียง 1 ใน 103,000 ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ต่ำมาก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Boyer JL, Chang EB, Collyar DE, et al, for the NIH Consensus Development Panel. NIH consensus statement on management of hepatitis C: 2002. NIH Consens State Sci Statements. Jun 10-12 2002;19(3):1-46.
2. Stramer SL, Glynn SA, Kleinman SH, Strong DM, Caglioti S, Wright DJ, et al. Detection of HIV-1 and HCV infections among antibody-negative blood donors by nucleic acid-amplification testing. N Engl J Med. Aug 19 2004;351(8):760-8.
3. Rumi MG, Aghemo A, Prati GM, et al. Randomized study of peginterferon-alpha2a plus ribavirin vs peginterferon-alpha2b plus ribavirin in chronic hepatitis C. Gastroenterology. Jan 2010;138(1):108-15.