โรคหัวใจ

เท้าบวม ขาบวม

สวัสดีครับคุณหมอ

ผมมีอาการเท้าซ้ายบวมมา 1 เดือนแล้ว ตอนกลางคืนอาการจะเห็นชัดเจน รู้สึกร้อนหลังเท้า แผ่นหลังเท้าตึง ผมนอนยกขาสูง ตอนเช้าอาการจะทุเลาลงขนาดของเท้าซ้ายจะใหญ่กว่าเท้าขวาเล็กน้อย หากไม่สังเกตุจะไม่เห็นความแตกต่างมากนัก ได้รับการตรวจความดันของขาและแขนทั้งสองข้าง ไม่พบสิ่งผิดปรกติ ได้รับการทำ Echo ที่ขาทั้งสองข้าง ก็ไม่พบอาการของเส้นเลือดอุดตัน ผลการตรวจเลือดก็ไม่พบสิ่งผิดปรกติกับไต แพทย์สันนิษฐานว่าอาการขาบวมอาจมาจากการทำงานของลิ้นหลอดเลือดดำที่บกพร่อง ตอนนี้หมอสั่งยา Plavix เพื่อป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด แต่ผมยังไม่มั่นใจว่าจะทานดีหรือไม่ เพราะอ่านบทความในอินเตอร์เน็ตพบว่าอาจมีอาการข้างเคียงหลายอย่าง ผมอายุ 53 ปี สูง 176 ซม. น้ำหนัก 79 กก ปัจจุบันทานยาลดไขมันในเลือด Crestor วันละ 5 มก

ขอเรียนถามว่ามีวิธีที่จะรักษาอาการเท้าบวมให้หายขาดได้หรือไม่ครับ

ขอบคุณมากครับ

……………………………

ตอบครับ

1. ปัญหาก็คือยังไม่รู้ว่าเท้าซ้ายบวมจากอะไรนะสิครับ จึงตอบคำถามที่ว่าจะรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ยังไม่ได้ การทำ echo ที่ขาแล้วไม่พบลิ่มเลือดอุดตันทำให้สบายใจไปได้อย่างหนึ่งว่าไม่มีอะไรที่ต้องรีบแก้ไขแบบเร่งด่วน

2. ในภาพรวมการวินิจฉัยแยกปัญหาเท้าบวมต้องคิดไปถึงหลายเรื่อง รวมถึง

2.1 ปัญหาของระบบหัวใจและการไหลเวียน ได้แก่ (1) หัวใจซีกขวาล้มเหลว (2) เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแบบหดรัดตัว (3) ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว (4) ความดันในปอดสูง (5) ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ ซึ่งคุณได้รับการตรวจด้วย echo ไปแล้ว ตัวช่วยตรวจว่ามีภาวะนี้อยู่หรือเปล่าคือการเจาะเลือดหา D-dimer ซึ่งจะสูงขึ้นถ้ามีลิ่มเลือดเกิดขึ้น

2.2 ปัญหาทั่วร่างกายที่ไม่เกี่ยวกับหัวใจ เช่น (1) อัลบูมินในเลือดต่ำ (เช่น ขาดอาหาร เป็นโรคตับแข็ง เป็นโรคไตรั่วหรือโรคไตเนโฟรติก เป็นต้น) (2) มีภาวะอุดตันท่อน้ำเหลือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีเนื้องอกในอุ้งเชิงกราน (3) เกิดจากยา เช่นยาลดความดันซึ่งเป็นยาขยายหลอดเลือด (amlodipine หรือ Norvasc) ยาแก้ปวดแก้อักเสบพวก NSAID ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้โซเดียมคั่ง เช่น diclofenac หรือ Voltaren) (4) เป็นโรคฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ต่ำถึงขนาด (myxedema)

2.3 ส่วนใหญ่อาการเท้าบวมจะหาสาเหตุไม่ได้ หมอจึงมักวินิจฉัยว่าเป็นภาวการณ์ไหลเวียนในหลอดเลือดดำไม่ดี (venous insufficiency) เหมือนอย่างที่เขาวินิจฉัยคุณเนี่ยแหละ ภาวะนี้หมายถึงลิ้นบังคับให้เลือดเดินทางเดียวในหลอดเลือดดำมันไม่เวอร์ค ทำให้เลือดดำไหลย้อนได้ ความดันในหลอดเลือดดำจึงสูง บวม เป็นหลอดเลือดขอดง่าย และถ้าปัญหารุนแรงก็จะเกิดแผลเรื้อรังที่เท้าได้

กล่าวโดยสรุป การจะวินิจฉัยว่าคุณเป็นอะไรแน่ ต้องไปให้หมอตรวจอย่างละเอียดเท่านั้น จะวินิจฉัยทางอินเตอร์เน็ทไม่ได้

3. ยา clopidogrel (Plavix) เป็นยาต้านเกร็ดเลือด ทำให้เลือดจับตัวเป็นก้อนยากขึ้น มีฤทธิ์ข้างเคียงคือทำให้เลือดออกง่าย แพทย์จะใช้ก็ต่อเมื่อมีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดมากกว่าปกติ เช่น เป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งในระยะปลาย หรือเคยเป็นอัมพาตอัมพฤกษ์ซึ่งแสดงว่ามีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งที่สมองแล้ว แต่ในกรณีของคุณนี้คุณหมอท่านอาจจะมีหลักฐานเหล่านั้นโดยที่คุณไม่ได้เล่าให้ผมฟังก็ได้ แต่ถ้าหากไม่มี หมายความว่ามีแค่ปัญหาขาบวมที่หาสาเหตุไม่พบอย่างเดียว ผมก็เห็นด้วยว่าประโยชน์จากการกินยา clopidogrel อาจไม่คุ้มกับโทษของยาครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นย่อมขึ้นกับดุลพินิจของคุณเองว่าจะกินหรือไม่กิน

4. วิธีรักษาตัวเองเมื่อขาบวมโดยหมอหาสาเหตุอะไรไม่ได้ ผมแนะนำให้ทำดังนี้

4.1 ออกกำลังกายอย่างเป็นกิจจะลักษณะทุกวัน

4.2 ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวทั้งวัน อย่านั่งนิ่งๆหรือยืนนิ่งๆนานๆ ถ้าจำเป็นต้องนั่งเช่นต้องเดินทางไกล ให้หมั่นขยับแข้งขากระดกเท้าบ่อยๆอย่างน้อยทุกครึ่งชั่วโมง ถ้าต้องยืนนานก็ต้องหาเวลานั่งหรือนอนยกขาสูงสลับฉากบ้าง

4.3 ลดน้ำหนัก กรณีของคุณนี้สูง 176 ซม. หนัก 79 กก. ดัชนีมวลกายเท่ากับ 25.8 จัดว่าน้ำหนักมากเกินไป ถ้าลดน้ำหนักเหลือสัก 72 กก. (BMI 23) ก็จะกำลังดี

4.4 นั่งหรือนอนยกขาสูงกว่าระดับหัวใจตัวเองบ่อยๆ เป็นการไล่เลือดไม่ให้คั่งที่ขา

4.5 สวมถุงน่องรัด (compression stocking) ถ้าบวมมาก

4.6 ดูแลผิวหนังให้ดีเหมือนคนรักรถดูแลยางรถยนต์ รักษาความชื้น ทาน้ำมัน และระวังอย่าให้เป็นแผลเพราะจะหายยาก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์