Latest

Honeymoon Cystitis

สวัสดีค่ะคุณหมอ

มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์และอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบค่ะ เรื่องมีอยู่ว่า ดิฉันแต่งงานแล้ว และมีบุตรจำนวน 2 คน ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีปัญหาอะไร แต่มาเมื่อประมาณเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ก็มีทำการบ้านกับสามีตามปกติค่ะ แต่พอหลังจากนั้นประมาณ 2-3 ดิฉันก็รู้สึกปัสสาวะขัดและมีเลือดออกจึงไปหาหมอที่ รพ. คุณหมอบอกว่าเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบแล้วให้ยามาทานประมาณ 3 วัน ก็หายค่ะ ซึ่งตอนนี้ก็ไม่ได้เอะใจหรือระแวงว่ามีสาเหตุมาจากการทำการบ้านของเรา เพราะปกติดิฉันก็ดื่มน้ำน้อยเลยไม่ได้สงสัยอะไร แต่พอเดือน มิ.ย. เราก็ทำการบ้านกันอีกครั้ง คราวนี้แค่วันเดียวเองค่ะก็มีอาการปัสสาวะขัด และปวดท้องน้อยร่วมด้วย และบางครั้งมีอาการขัดที่สะโพกด้วยค่ะ (ไม่รุว่าเกี่ยวกันหรือเปล่า) ก็ได้กลับไปรักษาเหมือนเดิม แต่ก็ยังไม่ได้เล่าให้คุณหมอฟังว่าเกิดหลังจากวันที่ทำการบ้านกัน พอมาครั้งล่าสุด กลางเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ก็เป็นเหมือนเดิมค่ะ จะรบกวนถามคุณหมอว่าจะรักษาอย่างไรให้หายขาดดีค่ะ แล้วมันเกิดจากอะไรถึงเป็นแบบนี้ จนปัจจุบันทำให้ดิฉันไม่อยากทำการบ้านกับสามีเลยค่ะ เพราะกัวจะเป็นอีก อ้อ….ลืมบอกคุณหมอไปค่ะว่าทุกครั้งก่อนและหลังทำการบ้านดิฉันจะปัสสาวะและล้างทุกครั้งที่เสร็จกิจค่ะ

……………………..

ตอบครับ

โรคของคุณนี้ทางหมอนิยมเรียกเล่นๆว่า Honeymoon cystitis หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบสืบเนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ ผมแนะนำ ดังนี้

1. ควรแอบทำความสะอาดตัวเราเองก่อนมีเพศสัมพันธ์ ล้างและฟอกด้วยสบู่เสียก่อน เป็นการป้องกันเชื้อที่อาจจะหมักหมมมาทั้งวันย้อนท่อปัสสาวะขึ้นไป ถ้าเราทำความสะอาดข้างเดียวแล้วยังไม่เวอร์ค ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องชวนสามีทำความสะอาดส่วนของเขาด้วย

2. ก่อนมีเพศสัมพันธ์ ต้องมีการหล่อลื่นให้เพียงพอก่อน จะด้วยการโหมโรง (foreplay)ให้นานๆพอ หรือในกรณีที่อายุมากแล้วและสารหล่อลื่นตามธรรมชาติมันลดลงก็ต้องใช้สารหล่อลื่นเช่น K-Y Jelly ช่วยแบบให้หล่อลื่นเหลือเฟือ หากการหล่อลื่นไม่พอ จะทำให้เกิดการบาดเจ็บ ซึ่งเป็นปฐมเหตุของการติดเชื้อ

3. หลีกเลี่ยงเพศสัมพันธ์ที่รุนแรงและทำให้เกิดการบาดเจ็บ เช่นการที่ฝ่ายชายใช้นิ้วมือกระตุ้น clitoris ของฝ่ายหญิงเพื่อช่วยให้ฝ่ายหญิงบรรลุ orgasm ผู้ชายมักจะเผลอทำรุนแรงจนเกิดการบาดเจ็บขึ้นได้

4. ถ้าใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยเจลฆ่าอสุจิ (spermicide) หรือใช้แผ่นไดอาแฟรมปิดปากมดลูก ต้องเลิกใช้ เปลี่ยนไปใช้วิธีอื่น เพราะการคุมกำเนิดสองวิธีนี้ทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบมากขึ้น

5. ดื่มน้ำให้มากเป็นอาจิณ (วันละสองลิตร) และปัสสาวะทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ เพื่อล้างท่อปัสสาวะเอาเชื้อที่อาจเล็ดลอดเข้าไปออกมา

6. ถ้าทำทั้งห้าข้อข้างต้นแล้วยังเป็นอีก คงต้องไปหาหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคอื่น ซึ่งอาจมาแสดงอาการหลอกว่าเป็นโรคนี้ ได้แก่

6.1 นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

6.2 ปัสสาวะไหลย้อน (vesicoureteric reflux)

6.3 โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อ (interstitial cystitis)

6.4 การอักเสบเรื้อรังของช่องคลอดด้วยเหตุต่างๆ เช่นเชื้อรา (candida vaginitis)

6.5 คุณอาจะเป็นผู้หญิงที่มีบัคเตรีออกมาในปัสสาวะเป็นอาจิณอยู่แล้ว (asymptomatic bacteriuria) ซึ่งทำให้เกิดโรคนี้ง่ายขึ้น

7. ถ้าตรวจอย่างละเอียดแล้ว ไม่มีโรคอื่นใดเลย และใช้มาตรการป้องกันแล้วก็ยังไม่หาย ก็ยังมีทางเลือกอีกทางคือกินยาปฏิชีวนะป้องกันก่อนมีเพศสัมพันธ์ วิธีนี้คุณต้องปรึกษาแพทย์ที่ดูแลคุณอยู่ก่อน และใช้ยาตามที่เขาสั่งให้เท่านั้น

8. แถมให้อีกข้อหนึ่ง เรื่องการกินยาปฏิชีวนะรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ คือกินยาฆ่าเชื้อจะช่วยลดระยะเวลาป่วยจาก 4-9 วันเหลือ 3-8 วัน คือลดได้วันเดียวเท่านั้น พูดง่ายๆว่ามันหายเองได้ ลองไม่กินยา 48 ชม.ดูก่อนก็ยังได้ ซึ่งคนที่เป็นบ่อยก็เลือกวิธีนี้ เพราะไม่อยากกินยามาก แต่ในระหว่างที่ลองไม่กินยาต้องอมปรอทวัดไข้ดูทุกวัน ถ้ามีไข้แสดงว่าคงจะไม่หายเอง ก็ต้องรีบกินยา

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Stamatiou C, Bovis C, Panagopoulos P, et al; Sex-induced cystitis–patient burden and other epidemiological features. Clin Exp Obstet Gynecol. 2005;32(3):180-2.

2. Foxman B, Frerichs RR; Epidemiology of urinary tract infection: I. Diaphragm use and sexual intercourse. Am J Public Health. 1985 Nov;75(11):1308-13.

3. Hooton TM, Scholes D, Stapleton AE, et al; A prospective study of asymptomatic bacteriuria in sexually active young women. N Engl J Med. 2000 Oct 5;343(14):992-7.

4. Moore EE, Hawes SE, Scholes D, et al; Sexual intercourse and risk of symptomatic urinary tract infection in J Gen Intern Med. 2008 May;23(5):595-9. Epub 2008 Feb 12.

5. Little P, Moore MV, Turner S, et al; Effectiveness of five different approaches in management of urinary tract BMJ. 2010 Feb 5;340:c199. doi: 10.1136/bmj.c199.