Latest

EM แก้น้ำเน่า ข้อโต้แย้ง และหลักฐานสนับสนุน

วันนี้ขออนุญาตตอบคำถามที่นอกเรื่องไปจากเรื่องสุขภาพหน่อยนะครับ คือได้มีคนรู้จักส่งบทความมาให้ผมสองบท โดยขอความเห็นของผมเกี่ยวกับเนื้อหาของบทความทั้งสองบทนี้

บทความแรก (1) ชื่อ “แนวทางการเติมอากาศเพื่อป้องกันปัญหาน้ำเน่าเสียจากเหตุการณ์น้ำท่วม” มีสาระสำคัญว่าการเกิดน้ำเน่าเป็นเพราะบักเตรีย่อยสลายสารอินทรีย์ที่มีอยู่มากเกินไปในน้ำ ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง การเติมออกซิเจนให้กับน้ำเป็นการแก้ปัญหาน้ำเน่าที่ตรงจุดที่สุด เพราะจะทั้งช่วยการย่อยสลายสารอินทรีย์ของบักเตรีชนิดที่ใช้ออกซิเจน และทั้งเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้น้ำในระยะยาว ส่วนการสนับสนุนให้มีการย่อยสลายโดยวิธีไม่ใช้ออกซิเจนเป็นวิธีที่ไม่ควรทำกับแหล่งน้ำทั่วไป เพราะสัตว์น้ำจะตายและน้ำจะส่งกลิ่นเหม็นเน่าเสีย

บทความที่สอง (2) ชื่อ “EM และน้ำหมักชีวภาพแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียได้จริงหรือ” มีสาระสำคัญว่าดัชนีสำคัญในการบอกคุณภาพน้ำคือปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (DO) การแก้น้ำเน่าโดยใช้ EM กลับจะทำให้น้ำเน่ามากขึ้น เพราะ EM ไม่ได้ช่วยสร้างออกซิเจน และสารอินทรีย์ที่ใช้เป็นตัวพาหรือตัวเลี้ยง EM ที่ต้องใส่เข้าไปในน้ำด้วยจะทำให้น้ำเน่ามากขึ้น ตัว EM และน้ำหมักชีวภาพเองอาจเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และแถมตั้งข้อสังเกตด้วยว่าในการกำจัดน้ำเน่าของรัฐบาลญี่ปุ่นหลังเกิดซึนามิก็ไม่ได้ใช้ EM

ก่อนที่ผมจะตอบเรื่องนี้ ขออธิบายสำหรับท่านที่ไม่รู้จักกับผมเป็นการส่วนตัวซึ่งอาจจะกังขาว่าแล้ว “หมอสันต์” ซึ่งเป็นหมอผ่าตัดหัวใจมาเกี่ยวอะไรกับ EM กับเขาด้วย เรื่องของเรื่องก็คือว่างานอดิเรกของผมคือทำไร่ เป็นไร่แบบเกษตรอินทรีย์ ไร่ของผมซึ่งมีชื่อว่า “ไร่หมอสันต์ เกษตรอินทรีย์” ตอนที่แอคทีฟอยู่นั้นไร่ของผมได้รับการรับรองจากองค์การ IFOAM ซึ่งเป็นองค์การเกษตรอินทรีย์นานาชาติเชียวนะครับ การทำงานอดิเรกนี้ทำให้ผมได้มีโอกาสศึกษาและใช้งาน EM บ้างพอควร เคยได้เข้าเรียนในหลักสูตรของเกษตรธรรมชาติคิวเซกับเขาด้วย เรียกว่าเป็นลูกศิษย์สายตรงของ Higa เลยหละ และได้ทำงานวิจัยส่วนตัวเกี่ยวกับจุลินทรีย์ในดินมากพอควรโดยซุ่มอาศัยห้องแล็บของโรงพยาบาลทำอยู่หลายปี ถ้าจะไล่คุณวุฒิทางเกษตรผมก็พอมีกับเขาบ้างเหมือนกันนะ คือก่อนมาเรียนหมอผมเรียนจบแม่โจ้มา เอาเป็นว่าขออนุญาตให้ผมพูดเรื่อง EM เหอะน่า..นะครับ

บทความของผมจะเอาแต่เนื้อๆที่เป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ล้วนๆ ส่วนกะพี้เช่นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นใช้หรือไม่ใช้ EM ผมไม่นับนะครับ เพราะว่าคนที่มีเพื่อนเป็นญี่ปุ่นจะซึ้งดีว่าญี่ปุ่นนี่มีการเมืองมากไปเสียทุกเรื่อง เรื่องยาคุมกำเนิดก็มีการเมือง (ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ยาคุมกำเนิดห้ามขายเสรี) เรื่องบักเตรีก็ไม่เว้นต้องมีการเมืองเหมือนกัน ดังนั้นเราเอาแต่เนื้อๆที่เป็นวิทยาศาสตร์ก็แล้วกัน

ประเด็นที่ 1. EM ประกอบด้วยอะไรบ้าง เอาแค่นี้ก็เกือบจะจอดซะแล้ว เพราะไม่มีใครรู้ว่า EM ประกอบด้วยอะไรบ้าง คือมันเป็นความลับ แม้แต่เจ้าอื่นๆที่ผลิตอะไรที่คล้ายๆ EM ออกมาขายก็ไม่ยอมบอกว่าของตัวเองมีบักเตรีชนิดไหนบ้าง แม้แต่ “สารเร่ง พด. 6” ที่กรมพัฒนาที่ดินเอามาแจกเกษตรกรก็ไม่ยอมบอกว่ามีบักเตรีอะไรบ้าง เข้าใจว่ากรมพัฒนาที่ดินเองก็ไม่รู้เพราะคนทำบักเตรีไม่ยอมบอก ในเอกสารทางการของ EMRO (3) ซึ่งเป็นเจ้าของ EM ก็บอกว่าเพียงแต่ว่าของเขามีบักเตรี อยู่ 5 กลุ่มคือ แลคโตบาซิลลัส, ยีสต์, ราแอคติโนไมเซตีส, บักเตรีที่สังเคราะห์แสงได้ และราที่ทำให้เกิดการหมักได้ แต่ว่าเท่าที่มีคนเคยเอา EM มาวิเคราะห์ดูจริงๆพบว่ามันไม่ได้มีบักเตรีตรงเพะตามที่ว่านี้สักครั้งเดียว ผมเองเคยวิเคราะห์ตัวอย่าง EM ที่ได้จากโรงเรียนเกษตรธรรมชาติคิวเซในแล็บของโรงพยาบาลพบว่ามีแต่แล็คโตบาซิลลัส ยีสต์ และราแอคติโนไมเซตีส เท่านั้น งานวิจัยของไซแมนสกี้ (4) พบว่ามี แล็คโตบาซิลลัส ยีสต์ และบักเตรีโรโดสูโดโมนาส กล่าวโดยสรุป เมื่อเราพูดว่า EM มันไม่ได้หมายถึงสิ่งเดียวกันเสมอไป แต่มันหมายถึงจุลชีพที่มีแล็คโตบาซิลลัสและยีสต์เป็นพื้นแต่มีองค์ประกอบอื่นๆแตกต่างกันไป ดังนั้นเป็น EM เหมือนกัน ก็อาจจะมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน

ประเด็นที่ 2. หลักฐานวิทยาศาสตร์ระดับการสุ่มตัวอย่างศึกษาเปรียบเทียบเกี่ยวกับผลของ EM ในแง่ต่างๆที่ตีพิมพ์ไว้อย่างเป็นกิจจะลักษณะนั้นไม่มี มีก็แต่ผลวิจัยแบบไม่ได้สุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ และให้ผลสะเปะสะปะ ไปคนละทิศคนละทาง ไม่สามารถสรุปเป็นหลักฐานมั่นคงได้ว่า EM ได้เรื่องหรือไม่ได้เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นหลักฐานระดับเรื่องเล่า ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ถือว่าเชื่อถือไม่ได้ ดังนั้น ณ วันนี้ ถ้าพูดถึง EM จะอ้างหลักฐานวิทยาศาสตร์ยากเพราะหลักฐานดีๆไม่มี ถ้าอ้างหลักฐานที่ไม่ดี ก็จะนำไปสู่การถกเถียงกันแบบไม่ตกฟากและไม่จบ

ประเด็นที่ 3. เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่า EM ประกอบด้วยบักเตรีอะไรบ้าง กี่ตัว แต่ละตัวมีกลไกการทำงานอย่างไร มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร จึงไม่มีประโยชน์ที่จะคาดการณ์ว่าใส่ EM แล้วออกซิเจนจะลดลงไหม น้ำจะเน่ายิ่งขึ้นไหม ฯลฯ เพราะยังไม่รู้ว่าเป็นบักเตรีตัวไหนบ้างกี่ตัว แล้วจะไปคาดการณ์ว่ามันจะตีกันอย่างโน้นแล้วจะเกิดอย่างนี้ขึ้น คงไม่ได้หรอกครับ บักเตรีที่เป็นองค์ประกอบของมันเราก็ยังไม่รู้ หลักฐานผลการใช้งานระดับเชื่อถือได้ที่ตีพิมพ์ไว้ก็ยังไม่มี เหลือทางเดียวที่จะประเมินผลการใช้ EM ก็คือต้องทำการวิจัยเปรียบเทียบตอนที่เกิดน้ำเน่านี่แหละแล้วตีพิมพ์ผลวิจัยไว้ให้เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งผมอยากจะให้มีคนทำจริง จริ๊ง ถ้าใครทำ ผมจะยกมือไหว้ท่วมหัวสาธุในคุณความดีเลยละครับ

ประเด็นที่ 4. ในระหว่างที่ยังไม่มีใครทำวิจัยอะไรนี้ วันพรุ่งนี้เขาก็ชวนกันไปปั้นลูกบอล EM เพื่อขว้างลงน้ำกันอยู่แล้ว จะเอาด้วยดี หรือไม่เอาด้วยดี ขอคำตอบวันนี้เลยได้ไหม ผมตอบให้ก็ได้ครับ แต่เป็นการตอบบนหลักฐานระดับเรื่องเล่านะ คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อไม่ว่ากัน คือ

4.1 ประเด็นที่เกรงว่าใส่ EM แล้วน้ำจะเน่ามากขึ้นนั้น จากการที่ผมเคยใช้งานจริงในสระน้ำเน่าซึ่งมีขนาดความจุประมาณ 800 ลบม. เมื่อใส่แล้วในวันสองวันแรก น้ำจะออกอาการเหมือนเน่ามากขึ้นจริง กล่าวคือมีฝาคราบไขมันแบบเละๆเป็นฟองลอยฟ่องเต็มผิวน้ำไปหมด แต่หลังจากนั้นวันสองวันคราบเหล่านี้จะหายไปอย่างรวดเร็วและน้ำจะใสขึ้นกว่าเดิมทันตา ดังนั้นถ้าเราจะเอาปลายทางคือให้น้ำเน่ากลายเป็นน้ำใสในเวลาไม่กี่วัน ผมมีความเห็นว่าไม่ต้องกลัวน้ำเน่ามากขึ้นในวันสองวันแรกครับ

4.2 ประเด็นที่เกรงว่ายังไม่เคยมีการใช้ EM ในสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่เช่นน้ำท่วมใหญ่ ถ้าไปใช้เข้าจะเสียหาย อันนี้ความจริงมีการใช้มาแล้วหลายครั้งนะครับ โรงเรียนเกษตรธรรมชาติคิวเซเองก็เคยร่วมกับทหารแก้น้ำเน่าในลำคลองหลายโครงการ เคยร่วมกับโรงงานน้ำตาลแก้น้ำในแม่น้ำเน่าจากกากน้ำตาล ผมทราบเรื่องทั้งหมดนี้เพราะตอนผมไปเรียนที่เกษตรคิวเซเขาฉายสไลด์ก่อนและหลังทำให้ดู ซึ่งใช้แล้วหลังจากนั้นหลายวันน้ำเน่าก็ดีขึ้น อย่างน้อยที่เขาถ่ายรูปมาให้ดูมันก็ดีขึ้นจริงๆ ส่วนจะมีโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้แล้วมันไม่ดีขึ้นจะมีหรือเปล่า อันนั้นผมไม่ทราบ เพราะเวลาผมใช้งานจริง มันมีเหมือนกันที่บางครั้ง EM ไม่เวอร์ค จะเป็นเพราะ EM มันเดี้ยง หมายถึงเชื้อมันตายไปหมดแล้วหรืออย่างไรไม่ทราบ หรือว่าเป็นเพราะมีเงื่อนไขอย่างอื่นเช่น pH ของน้ำ อุณหภูมิ ร่มเงา ฯลฯ มาเกี่ยวข้อง ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะไม่มีเวลาวิจัยในประเด็นเหล่านี้

4.3 ประเด็นที่กังวลว่าตัว EM เองจะกลายเป็นบักเตรีที่กลายเป็นเชื้อโรคอันตรายตกค้างในสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นข้อกังวลที่มากเกินไป ข้อมูลปัจจุบันบ่งชี้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะผมเคยเอา EM มาวิเคราะห์หาบักเตรีก่อโรคอย่างละเอียดในห้องแล็บของโรงพยาบาลแล้ว ไม่พบมีบักเตรีก่อโรคอะไรที่วงการแพทย์รู้จักอยู่เลย มีแต่ แลคโตบาซิลลัส ยีสต์ และราแอคติโนไมเซตีส ซึ่งไม่ใช่จุลชีพก่อโรคในคนทั่วไป สองตัวแรกเป็นส่วนประกอบของอาหารหรือเครื่องดื่มด้วยซ้ำไป อีกทั้งเมืองไทยนี้มีการใช้ EM มานานแล้ว ยังไม่เคยมีรายงานทางการแพทย์ว่ามีคนไข้ป่วยเพราะเชื้อจาก EM แม้แต่รายเดียว

4.4 ประเด็นที่กังวลว่าอินทรียวัตถุที่ใส่ไปพร้อมกัน EM จะเป็นเชื้อทำให้น้ำเน่ามากขึ้น เท่าที่ผมใช้งานด้วยตัวเอง อันนี้ก็เป็นจริงเฉพาะวันสองวันแรกอย่างที่เล่าไปแล้ว หลังจากนั้นน้ำจะกลับใสและเหล่าอินทรียวัตถุทั้งของเก่าและของใหม่จะหายไปแบบอะเมซซิ่ง ในประเด็นนี้ผมก็เห็นว่าควรยอมวันสองวันแรกเพื่อเอาผลดีในบั้นปลายครับ

4.5 ประเด็นที่คาดการณ์ว่าการใช้ EM ในสภาพที่มีอินทรีย์วัตถุมากจะทำให้สัตว์น้ำตาย อันนี้ไม่เป็นความจริงหากประเมินจากการใช้ EM ในงานเลี้ยงสัตว์น้ำที่ทำกันมาแล้วอย่างกว้างขวาง ผมเองก็ใช้ EM ในบ่อเลี้ยงปลาดุกในสภาพที่น้ำเน่า ก็ไม่พบว่า EM เพิ่มอัตราตายของปลาดุกแต่อย่างใด

กล่าวโดยสรุป ผมเสนอให้ท่านผู้มีกึ๋นถือโอกาสทำวิจัยสุ่มเปรียบเทียบผลของ EM ต่อการแก้น้ำเน่าหลังน้ำท่วมครั้งนี้ซะเลยแล้วตีพิมพ์ผลไว้เป็นวิทยาทานให้คนทั่วโลกเอาผลไปใช้ประโยชน์ในวันหน้าครับ ในระหว่างที่ยังไม่มีผลวิจัยที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายนี้ ผมเสนอว่าเราควรใช้ EM แก้น้ำเน่าไปก่อน เพราะข้อมูลเท่าที่มีอยู่ตอนนี้ (แม้จะจำกัด) บ่งชี้ไปทางว่าการใช้ EM หากยอมให้น้ำเน่ามากขึ้นในวันสองวันแรกหลังจากนั้นน้ำก็จะใสกว่าก่อนใช้ และข้อมูลการใช้งานที่ผ่านมาบ่งชี้ไปทางว่า EM ปลอดภัย ไม่มีเชื้อโรคตกค้างที่เป็นอันตราย และไม่มีอินทรียวัตถุตกค้างให้เกิดการเน่าเสียมากขึ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. กลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. แนวทางการเติมอากาศเพื่อป้องกันปัญหาน้ำเน่าเสียจากเหตุการณ์น้ำท่วม. Available on November 5, 2011 at http://www.eng.chula.ac.th/?q=node/3881

2. กลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. EM และน้ำหมักชีวภาพ แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียได้จริงหรือ ? Available on November 5, 2011 at http://www.eng.chula.ac.th/?q=node/3915

3. Effective Micro-organism Limited. What is EM? Available on November 5, 2011 AT http://www.effectivemicro-organisms.co.uk/

4. Szymanski, N.; Patterson, R.A. Effective Microorganisms (EM) and Wastewater Systems in Future Directions for On-site Systems: Best Management Practice.”. In R.A. and Jones, M.J. (Eds). Proceedings of On-site 2003 Conference. Armidale, NSW, Australia: Lanfax Laboratories. pp. 347–354. ISBN 0-9579438-1-4.