Latest

คลอรีน เพชรแท้ยุคน้ำท่วม

น้ำท่วม ก็ต้องตามมาด้วยโรค นี่เป็นสัจจธรรม โรคที่มากับน้ำท่วมแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. เชื้อโรคมาจากน้ำที่ท่วม (water-borne) โดยเชื้ออาจจะมาจากมูลหรือปัสสาวะของสัตว์เช่น โรคฉี่หนู (เล็พโตสไปโรซีส) หรือมาจากอุจจาระปัสสาวะของคน เช่น โรคไทฟอยด์ โรคตับอักเสบจากไวรัสเอ. โรคอหิวาห์ โรคบิดไม่มีตัว (ชิเกลโลซีส) โรคท้องร่วงจากบักเตรีอื่นๆเช่นอี.โคไล เป็นต้น เชื้อเหล่านี้นอกจากจะปนเปื้อนอยู่กับน้ำโดยตรงแล้ว ยังปนเปื้อนกับสัตว์น้ำและพืชผักที่ถูกน้ำท่วมแล้วคนนำมาเป็นอาหารด้วย

2. โรคที่มาจากพาหะ (vector-borne) ที่เพิ่มจำนวนขึ้นระหว่างน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุง เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย เป็นต้น

3. โรคที่เกิดจากการสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อนในน้ำที่ท่วม เช่น ราน้ำกัดเท้า ผิวหนังอักเสบ ตาแดง

4. โรคจากอุบัติเหตุ เช่น ไฟฟ้าดูด บาดแผล แผลอักเสบ บาดทะยัก

5. โรคทางใจ เช่นโรคเครียด โรคซึมเศร้า

ทุกครั้งที่ไปออกหน่วยช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมกับโครงการรวมไทยอาสา ผมต้อง “ทำใจ” ลดมาตรฐานสุขอนามัยในใจลงหลายอย่าง เช่น การต้องลุยเข้าไปในน้ำซึ่งเน่าเสีย นี่ก็ต้องทำใจอย่างหนึ่งละ แต่ก็ยังพอทำเนา เพราะพอขึ้นจากน้ำเราก็รีบล้างทำความสะอาดตัวเอง มีบาดแผลเล็กน้อยก็รีบจัดการตัวเองซะ แต่ที่ผมทำใจไม่ค่อยได้คือกระบวนการที่ผู้ประสบภัยเขารวมตัวกันผลิตอาหารเลี้ยงดูกันเอง ที่ว่าทำใจไม่ค่อยได้ไม่ใช่เรื่องน้ำใจที่คนไทยมีต่อกันนะครับ นั่นมันของดีสุดยอดอยู่แล้ว แต่ความสะอาดของกระบวนการผลิตเนี่ยสิครับที่เป็นประเด็น คุณลองหลับตานึกนะ ว่าถ้าต้องไปเอาโฟมกล่องที่ใส่อาหารจากถังขยะมาล้างใส่อาหารแจกกันใหม่อีกรอบๆๆ นึกถึงแค่นี้ก็ชักเสียวแล้วใช่ไหมละครับ

ในที่สุดพวกเราที่เป็นอาสาสมัครก็มาหารือกันว่าต้องทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับสุขาภิบาลน้ำและอาหารสำหรับผู้ประสบภัยแล้วหละ คุยกันไปคุยกันมา หวยก็มาออกที่..คลอรีน (chlorine)

ในบรรดาโรคติดเชื้อที่มาจากน้ำโดยตรงที่สำคัญทุกโรคนี้ 99.99% สามารถกำจัดเชื้อได้โดยคลอรีน ไม่ว่าจะเป็นโรคฉี่หนู ไทฟอยด์ อหิวาต์ บิดไม่มีตัว ไวรัสตับอักเสบเอ. เชื้ออี.โคไล เป็นต้น คลอรีนกำจัดได้หมด (มีข้อยกเว้นคือเชื้อคริปโตสปอริเดียม โอโอซีสต์ ซึ่งเป็นเชื้อโปรโตซัวขนาดใหญ่ระดับ 5 ไมครอน ที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่คลอรีนกำจัดไม่ได้) ในภาพรวมคลอรีนจึงน่าจะเป็นทางออกในการสร้างความสะอาดให้กับอาหารและน้ำใช้หรือแม้กระทั่งน้ำดื่มหากจำเป็น

เมื่ออาสาสมัครไปช่วยกันสืบค้นข้อมูลดู ก็พบว่าคลอรีนเป็นสารกำจัดเชื้อโรคหลังน้ำท่วมที่นิยมใช้แพร่หลายทั่วโลก สามารถฆ่าเชื้อได้ดีแม้ในความเข้มข้นต่ำๆระดับ 0.2-0.5 ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม.) ถ้าได้สัมผัสเชื้อ 30 นาทีขึ้นไป คลอรีนที่ค้างอยู่ในน้ำยังช่วยฆ่าเชื้อที่จะเข้ามาในน้ำภายหลังได้อีก ตัวคลอรีนอยู่ในสองสถานะคือเป็นได้ทั้งของเหลวและแก้สปนกัน ในสถานะแก้สจะหนักกว่าอากาศ 2.5 เท่า ไม่ใช่สารไวไฟ มีกลิ่นฉุน และมีอันตรายเมื่อสัมผัสเยื่อเมือกหรือระคายเคืองเยื่อปอดหากสูดดมเข้าไป ในสถานะของเหลวจะมีสีอำพัน คลอรีนไม่กัดกร่อนโลหะธรรมดา เช่น เหล็ก ทองแดง เหล็กไร้สนิท ตะกั่ว ยกเว้นในภาวะที่มีความชื้นอยู่ด้วย คลอรีนที่เก็บในภาชนะปิดจะมีความดันสูงขึ้นถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น เนื่องจากส่วนที่เป็นของเหลวจะกลายสภาพเป็นแก๊ส เช่นหากเพิ่มอุณหภูมิของภาชนะเก็บจาก 35 องศาซี.ไปเป็น 65 องศาซี.ความดันภายในภาชนะจะเพิ่มจาก 10 บาร์ ไปเป็น 20 บาร์ ซึ่งอาจทำให้ภาชนะระเบิดได้ จึงควรเก็บคลอรีนไว้ในที่ร่มและเย็น คลอรีนที่มีจำหน่ายทั่วไป อยู่ในสภาพสารประกอบ มี 3 ชนิด คือ

ชนิดที่ 1. แคลเซียมไฮโปคลอไรท์ หรือ Ca(OCl)2 อยู่ในสภาพผง มีคลอรีนอยู่ 60-70% โดยน้ำหนัก ใช้ในงานประปาทั่วไป มีความเสถียร ใช้งานง่าย

ชนิดที่ 2. โซเดียมไฮโปคลอไรท์ หรือ NaOCl อยู่ในสภาพของเหลวสีเขียวอมเหลือง มีคลอรีนอยู่ 16% โดยน้ำหนัก มีความเสถียรน้อยกว่า เสื่อมสภาพเร็วกว่าชนิดผง หากเก็บในที่มืดที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาซี.จะเสื่อมช้าลง แต่ก็ไม่ควรเก็บนานเกิน 90 วัน ตัวอย่างของคลอรีนชนิดนี้เช่นน้ำยากัดผ้าขาวไฮเตอร์

ชนิดที่ 3. ผงปูนคลอไรด์ หรือผงฟอกสี หรือ CaOCl2 มีเนื้อคลอรีนประมาณ 35% โดยน้ำหนัก

พวกเราทดลองเอาคลอรีนมาเจือจางที่ระดับต่างๆ แล้วทดลองใช้มันฆ่าเชื้อในน้ำเน่าที่ตักมาจากบางใหญ่บ้าง จากรังสิตบ้าง ทดลองใช้มันฆ่าเชื้อต่างๆที่เราเลี้ยงไว้ในห้องแล็บบ้าง ในที่สุดก็มาสรุปได้ว่าที่ความเข้มข้น 1 พีพีเอ็ม.เนี่ยแหละ ฆ่าเชื้อตัวเบ้งๆ ที่มากับน้ำท่วมได้เรียบวุธ ไม่ว่าจะเป็นโรคฉี่หนู โรคไทฟอยด์ อหิวาต์ ชิเกลลา อี.โคไล ได้หมด แล้วทดลองหารูปแบบที่จะทำคลอรีนว่าจะเป็นคลอรีนชนิดไหน ในที่สุดก็มาลงที่รูปแบบเป็นน้ำในขวดเล็กๆที่ฝาจุกคลายออกมาแล้วบีบหยดเอาคลอรีนออกมาได้ เราทำคลอรีนน้ำที่มีความเข้มข้น 2% ทดลองวัดขนาดของหยดได้หยดละ 0.05 ซีซี. เท่ากับว่าหนึ่งหยดให้คลอรีน 1 มก. ถ้าใส่ในน้ำ 1 ลิตร ก็จะได้ความเข้มข้น 1 พีพีเอ็ม.พอดีซึ่งเหลือเฟือที่จะฆ่าเชื้อโรคได้ แต่ว่าคลอรีนนี้จะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อน้ำนั้นใส คือต้องมีความขุ่น (turbidity) ไม่เกิน 10 เอ็นทียู. หรือใสระดับที่มองทะลุไม่เห็นตะกอนเลย หากมีตะกอนขุ่น คลอรีนจำนวนหนึ่งจะไปจับกับตะกอนทำให้ออกฤทธิ์ไม่ได้ น้องคนหนึ่งไปทดสอบแล้วสรุปว่าการจะทำน้ำให้ใสระดับนี้ได้อย่างน้อยก็ต้องมีการเอาน้ำมาแกว่งสารส้มแล้วกรองผ้าขาวบาง นั่นหมายความว่าหากจะทำฟรีคลอรีนออกไปแจกผู้ประสบภัยเวลาออกหน่วย ต้องมีสารส้มไปด้วย เพียงแค่คิดเท่านั้นแหละ ยังไม่ทันเอ่ยปากอะไรกับใครเลยจริงๆ ก็มีคนไข้ของผมท่านหนึ่งโทรศัพท์มาบอกผู้ช่วยของผมว่าจะส่งสารส้มกับคลอรีนเป็นจำนวนมากมาบริจาคให้..แหม ชีวิตเนี่ย บางทีมันก็เป็นจังหวะจะโคนดีเกินจริงยิ่งกว่าลิเกน้ำเน่าในทีวีเสียอีก

คลอรีนชนิดหยด แจกฟรี

แอ่น..แอ๊น..น ในที่สุดโครงการรวมไทยอาสาก็ผลิต “คลอรีน” ชนิดหยด ซึ่งมีความเข้มข้นของคลอรีน 2% บรรจุในขวดจิ๋วน่ารักพร้อมฝาปิดมีที่บีบหยด ติ๋ง ติ๊ง ออกมาได้เรียบร้อย เมื่อห่อรวมกับสารส้ม ก็กลายเป็นของชำร่วยแบบใหม่ น่าร้าก ไปอีกแบบ จากนี้อาสาสมัครที่เราสอนไว้แล้วนับพันคนก็จะเอาของชำร่วยนี้ติดมือไปแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยตอนออกหน่วยทำงานช่วยน้ำท่วม เพื่อให้ใช้หยดใส่ในน้ำที่ใช้ล้างพืชผักและสัตว์น้ำที่นำมาเป็นอาหาร และล้างภาชนะใส่อาหารเช่นโฟมที่นำกลับมาใช้ใหม่ ในกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด หมายถึงกรณีที่ไม่มีน้ำดื่มบรรจุขวด และไม่สามารถต้มน้ำได้ น้ำที่ฆ่าเชื้อโรคด้วยฟรีคลอรีนนี้ก็สามารถใช้ดื่มได้ ซึ่งดีกว่าน้ำที่ไม่ได้ผ่านการบำบัดหรือฆ่าเชื้อโรคใดๆเลยเป็นไหนๆ

วิธีใช้คลอรีนชนิดหยดนี้ ท่านว่าจะต้องทำน้ำให้ใสด้วยการแกว่งสารส้มก่อน พูดก็พูดเถอะแม้จะเป็นชาวบ้านตาดำๆแต่บางท่านผมไปคุยด้วยมาแล้วพบว่าตั้งแต่เกิดมายังแกว่งสารส้มไม่เป็นเลย จึงต้องสอนวิธีแกว่งสารส้มด้วย คือให้ตักน้ำใส่กระแป๋ง เอามือถือก้อนสารส้มลงไปแกว่งในกระแป๋งนับให้ได้สัก 100 รอบ หรือใช้เวลาแกว่งสัก 10-15 นาที แล้วทิ้งให้ตกตะกอนก่อน ถ้าจะให้ดีกรองด้วยผ้าขาวบางสักหนึ่งครั้ง ก็จะได้น้ำที่ใส แต่ไม่บริสุทธิ์เพราะมีเชื้อโรคจากน้ำท่วมอยู่ด้วย จากนั้นจึงเอาน้ำนั้นมา หยดฟรีคลอรีน หนึ่งหยด (0.05 ml) ต่อน้ำที่ใสแล้วหนึ่งลิตร ถ้ามีน้ำครึ่งกระแป๋งหรือประมาณสิบลิตร ก็ต้องใช้สิบหยด แล้วก็เอาน้ำนั้นไปแช่ผักหรือภาชนะที่ต้องการฆ่าเชื้อโรคได้ โดยต้องแช่ไว้ในน้ำนั้นนานอย่างน้อย 30 นาที อย่างที่บอกแล้ว การใช้ในสัดส่วนหนึ่งหยดต่อหนึ่งลิตรนี้ จะได้ความเข้มข้นของคลอรีน 1 พีพีเอ็ม. ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้น้ำที่ขุ่นก็ต้องเพิ่มความเข้มข้นของคลอรีนขึ้นไปอีกสองหรือสามเท่าตัว

น้ำที่ฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนนี้สามารถนำไปใช้ได้ทุกชนิด เช่น ใช้ล้างผัก ผลไม้ กุ้งหอยปูปลา ล้างอุปกรณ์ทำครัวเช่นเขียงทำอาหาร ล้างพื้นบ้านที่ถูกน้ำท่วม ล้างอาคารสถานที่ ใช้ล้างมือก็ดี ใช้อาบก็ได้ หรือในกรณีที่หาน้ำบรรจุขวดหรือน้ำต้มไม่ได้จริงๆ ใช้ดื่มก็ยังได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. WHO Technical guidelines; Flooding and communicable diseases risk assessment and preventive measures. WHO 2011, accessed on November 1, 2011 at http://www.who.int/hac/techguidance/ems/flood_cds/en/index1.html