Latest

เป็นลูกบังเกิดเกล้า แต่เอาพ่อกับแม่ไม่อยู่

สวัสดีค่าอาจารย์
        ขอแนะนำตัวนะคะ
หนูอายุ 30 ปี (ไม่รู้จะใช้

สรรพนามตัวเองว่าอะไรดีขอใช้
แบบที่คุ้นเคยแล้วกันค่ะ)
เรียนจบแพทย์เฉพาะทางแล้ว (x ray) ปัญหาที่เผชิญตอนนี้คือ
1 เวลาพ่อแม่ในบ้านไม่สบายอะไรมั
กเชื่อคนอื่นที่ไม่ใช่หมอมากกว่าลูก
เพื่อนบ้านเอย แม่ค้าในตลาดเอย หนังสือพิมพ์รายวันเอย เป็นต้น
แล้วเอามาเถียงกับลูกสาวเป็
นประจำ ยังกะประชุมรัฐสภา
2 ยาสมุนไพร บำรุงสุขภาพต่างๆก็ชอบแอบหามากิ

จับได้แต่ละทีก็ทิ้งกันเป็นพักๆ แล้วก็เปลี่ยนตัวไปเรื่อยๆ

       จึงขอปรึกษาอาจารย์ว่าหนู
ควรจะทำตัวอย่างไรดีคะเพราะบางอย่างที่พ่อกะแม่ทำมันดูอันตรายต่อสุขภาพ
หรือตัวหนู strick กะพ่อแม่เกินไปหรือเปล่า

                                                           ขอบพระคุณค่ะอาจารย์

……………………………………………………….
ตอบครับ

      1.. ความจริงที่คนเขารู้กันทั่ว มีแต่คนในอาชีพแพทย์เท่านั้นที่ไม่รู้ ก็คือความจริงที่ว่าคนทั่วไปเขาไม่ได้เชื่อหมอแพทย์แผนปัจจุบันกันสักเท่าไหร่หรอก ถ้าเอาคนที่เขาเชื่อมาเรียงลำดับกัน ตั้งแต่ หมอแพทย์, หมอดู, พระ, คนข้างบ้าน, วิทยุ, ทีวี. (โดยเฉพาะทีวีจานดำ), ป้าเช็ง, คนแปลกหน้าที่พบกันที่ตลาด ฯลฯ ผมรับประกันด้วย gut feeling ของผมว่าแพทย์จะได้คะแนนอยู่ท้ายๆ คุณพ่อคุณแม่ของคุณก็เป็นคนทั่วไป จึงไม่มีข้อยกเว้น แม้จะมีลูกสาวประกอบอาชีพที่ไม่น่าเชื่อถือหนึ่งคน ก็ไม่อาจเปลี่ยนทัศนคติของท่านให้แตกต่างจากคนทั่วไปได้

     2.. ถามว่าคุณ strick กับพ่อแม่เกินไปหรือเปล่า ตอบว่าไม่ใช่แค่ strick หรอกครับ แต่คุณเป็นคนบ้าอำนาจ เข้าไปบงการชีวิตพ่อแม่ด้วยคอนเซ็พท์ “กูแน่” นี่ยังดีนะที่คุณเป็นลูกสาวที่ท่านรัก ท่านจึงต้องทน ถ้าเป็นหมออื่นที่เปิดคลินิกอยู่ปากซอย รับประกันป่านนี้ท่านทิ้งซองยา บึนปากใส่ แล้วไม่กลับไปหาอีกเลย

     3.. ถามว่าคุณควรจะทำตัวอย่างไรต่อไปดี ตอบว่าลองศึกษาทฤษฏีขั้นตอนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของโพรเชสก้าดูหน่อยสิครับ โพรเชสก้าสรุปขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมาจากการวิจัยในงานสอนให้คนไข้เลิกสูบบุหรี่  เขาสรุปว่าการจะเปลี่ยนพฤติกรรม คนเราจะผ่านขั้นตอนต่างๆไปทีละขั้น แต่ละขั้นต้องการตัวช่วยเฉพาะที่เหมาะสม หากใส่ตัวช่วย (process) ที่ไม่เหมาะสม ก็จะติดแหง็กอยู่ตรงนั้น ไม่อาจก้าวผ่านขั้นนั้นไปได้ รายละเอียดในแต่ละขั้นมีดังนี้
      ขั้นที่ (1) ขั้นยังไม่สนใจ (Precontemplate) พูดง่ายๆว่าไม่เชื่อ หูไม่กระดิก คำว่าไม่เชื่อนี้อาจไปถึงขั้นไม่เชื่อตัวเองด้วย ว่าฉันไม่มีน้ำยามากขนาดนั้นหรอก ทำนองนั้น ตัวช่วยที่เหมาะสมในขั้นนี้คือการเปิดเผยให้เห็นความจริง อย่าไปดุด่าบังคับหากเขาไม่เชื่อยังไงก็ไม่เวอร์ค ต้องเปิดเผยให้เห็นความจริงลูกเดียว วิธี “เปิดเผย” เนี่ยยากนะคุณ เอาง่ายๆอย่างพวกหมอที่ถือว่าเรียนกันมามากพูดภาษาคนรู้เรื่องแล้ว ขณะที่สมัยนี้ในวงการแพทย์ทั่วโลกกำลังรณรงค์การใช้หลักฐานมาแบ็คอัพการรักษา (evidence based) แต่คุณมองไปรอบๆตัวคุณสิ มีเพื่อนแพทย์สักกี่คนที่เชื่อหลักฐานแล้วเอามาใช้จริงๆ ไม่นับพวกที่ยอมฝืนใจทำตาม CPG เพราะกลัวถูกฟ้องนะ นี่คุณพ่อคุณแม่ของคุณท่านไม่ได้เรียนมามากมายอย่างหมอด้วย จึงยิ่งยาก ดังนั้นเทคนิคการเปิดเผยความจริงนี้มีเรื่องแยะมากคงพูดในที่นี้ไม่หมด ถ้าคุณซีเรียสคุณไปลงทะเบียนเรียนตามวิทยาลัยครูเอาเองก็แล้วกัน
     ขั้นที่ (2) ชักสนใจแต่รอไปก่อน (Contemplate) คือมีอาการเอะใจว่า เออ ที่อีหนูว่ามันน่าจะจริงแฮะ แต่พฤติกรรมเดิมก็ยังไม่เปลี่ยน ในขั้นนี้ตัวช่วยที่ควรใช้คือการจูงใจ (motivation) คือชี้ให้เห็นสิ่งดีๆที่จะเกิดขึ้นตามมาหากเปลี่ยนแปลง เช่นถ้าแม่ทำอย่างนี้พ่อเขาจะอายุยืนอยู่กับเราได้นานขึ้นนะ การจูงใจอาจหมายความรวมถึงลูกอ้อนด้วย เช่น ตรงนี้หนูอยากได้มา แม่ทำเพื่อหนูได้ไหมคะ เป็นต้น กระบวนการจูงใจนี้มีร้อยแปด รวมไปถึงการให้รางวัลในรูปแบบที่เหมาะสมด้วย พวกที่เก่งเรื่องการจูงใจนี้คือพวกนักการตลาด ซึ่งพวกหมอเราควรจะเรียนรู้จากพวกเขา  
     ขั้นที่ (3) ขั้นตัดสินใจทำ (Preparation) คือตั้งใจเอาจริงแน่นอน วางแผนเป็นตุเป็นตะแล้ว ประมาณว่าไม่เกินหนึ่งเดือนข้างหน้าที่คงได้ลงมือทำจริง มาถึงขั้นนี้ตัวช่วยคือเปิดให้ท่านมีทางเลือก เช่น ว้าว.. คุณพ่อจะเริ่มออกกำลังกายเหรอคะ เราไปที่ฟิตเนสเซ็นทรัลดีไหม หรือจะไปสวนสมเด็จที่ปากเกร็ดแทน หรือจะไปใช้สนามโรงเรียนดี พ่อเลือกหน่อยสิ เพราะโดยธรรมชาติของการตัดสินใจ หากมีทางเลือก ก็จะเกิดการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น 
     ขั้นที่ (4) ขั้นลงมือทำ (Action) คือลงมือทำไปแล้ว แต่ยังไม่ยืด มาถึงขั้นนี้ตัวช่วยมีสี่อย่างคือ แผนที่ดี, วินัยต่อตนเอง, วินัยกลุ่ม และ กัลยาณมิตร คุณต้องทำตัวเป็นกัลยาณมิตรของการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ผู้บ้าอำนาจ กัลยาณมิตรนี้นอกจากคนแล้วยังนับรวมไปถึงสัตว์เลี้ยงเช่นหมาแมวด้วย เพราะบางคนไปออกกำลังกายเพราะหมามันอยากไป
     ขั้นที่ (5) ทำได้ (Maintenance) คือทำได้นานเกิน 6 เดือน มาถึงขั้นนี้คุณก็สบายแล้ว แค่ตามช่วยห่างๆก็พอ

     4.. อีกประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญแต่ไม่เห็นในวงการแพทย์พูดถึงกันเลยก็คือประเด็นที่ว่าแพทย์จะต้องทำตัวเป็นแม่แบบ  (role model) ในเรื่องสุขภาพ ไม่ต้องพูดถึงแพทย์คนอื่น เอาตัวคุณผู้ทรงอำนาจเนี่ยแหละ คุณเป็นแม่แบบในการมีสุขภาพดีให้คุณพ่อคุณแม่เห็นแล้วหรือยัง ทุกวันนี้คุณออกกำลังกายถึงระดับมาตรฐานที่งานวิจัยทางการแพทย์แนะนำไว้หรือเปล่า หมายถึงว่าการออกกำลังการให้ถึงระดับหนักพอควรจนหอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้นานอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 วันควบกับการฝึกกล้ามเนื้ออีกสัปดาห์ละอย่างน้อย 2 วัน แล้วอาหารการกินของคุณมันถูกต้องดีแล้วหรือยัง คุณกินผักและผลไม้ในสัดส่วนสูงไม่น้อยกว่าวันละ 5 เสริฟวิ่งหรือยัง ถ้าคุณยังไม่ได้ทำ มีแต่อำนาจ คุณก็จะกลายเป็นแม่ปูในเรื่องสุขภาพ แบบว่า

“…ปูมีขามากมาย
แต่ทำไมหัวปูมันไม่มี
ปูมีตาข้างตัว
แต่ทำไมหัวปูมันไม่มี..”

แหะ..แหะ..ล้อเล่น อย่าโกรธนะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.Prochaska JO, Velicer WF. The transtheoretical model of health behavior change. Am J Health Promot 1997 Sep-Oct;12(1):38-48.