Latest

ตรวจคัดกรองก่อนแต่งงาน หรือก่อนมีบุตร

รบกวนสอบถามอาจารย์เรื่องการเตรียมตัวมีบุตรครับ
ตอนนี้ผมกับภรรยา วางแผนไว้ว่าจะมีบุตรและคลอดประมาณเดือน มกราคม – กุมภาพันธ์ 2557 
1. ตอนนี้ผมกับภรรยาสามารถไปพบสูตินารีแพทย์ได้หรือยังครับ (ไม่ได้มีภาวะมีบุตรยากครับ)
2. ขอทราบรายการ lab ที่ทั้งผมและภรรยา ต้องตรวจคัดกรองก่อนมีบุตรครับ ผมวางแผนไว้ว่าจะไปตรวจเองก่อนแล้วนำผลการตรวจเลือดไปพบสูตินารีแพทย์ครับ
3. วัคซีนที่จำเป็นต้องได้รับครับ
ขอบคุณอาจารย์มากครับ
……………………………………………
ตอบครับ

     แหม.. นี่ชัวร์ถึงกับกำหนดวันคลอดล่วงหน้าเลยนะเนี่ย เข้าทำนองยังไม่เห็นน้ำรีบตัดกระบอก ยังไม่เห็นกระรอกรีบโก่งหน้าไม้ซะแล้ว การมีบุตรสมัยนี้เนี่ย มันไม่ได้ง่ายเหมือนเสิร์ชหาข้อมูลจากกูเกิ้ลแล้วกดเอ็นเตอร์นะตัวเอง ไม่งั้นเพื่อนผมที่หากินทางทำเด็กหลอดแก้วคงไม่อู้ฟู่ซู่ซ่าหรอก หิ..หิ ช่างเป็นเด็กน้อยที่มองโลกในแง่ดีซะจริงจริ๊ง

     พูดถึงการมองโลกในแง่ดี วันหนึ่งผมไปงานแต่งงานครูสอนเปียโนของลูกชาย เธอเป็นลูกสาวของครอบครัวนักดนตรี และเล่นดนตรีเพลงนี้ให้ฟังด้วย เพราะมาก

 “…เมื่อดวงใจมีรัก
มอบแด่ใครสักคน หมดทุกห้องหัวใจ
ขอให้คุณมั่นใจรักจริง  ฉันจะยอมมอบกายพักพิง
แอบแนบอิงนิรันดร์…

     อย่างไรก็ตาม ผมเห็นด้วยนะที่คุณเป็นคนมองโลกในแง่ดี ยิ่งไปกว่านั้นคุณนับเป็นคนไข้ของผมคู่แรกของปีนี้นะครับเนี่ย ที่ “วางแผน” การมีบุตรแบบล่วงหน้า ต่างจากคู่อื่นที่ล้วนมาตาลีตาเหลือกเอาเมื่อประจำเดือนไม่มา แบบหลังนี้เมลมากันชนิดหัวกะไดไม่เคยแห้งจนต้องคอยลบทิ้งเป็นพักๆ แถมคุณยังคิดจะตรวจคัดกรองสุขภาพฉีดวัคซีนที่จำเป็นก่อนการมีบุตรซะด้วย เยี่ยม.. ผมยกให้เป็นคู่แต่งงานตัวอย่างแห่งปี 2012 ประจำบล็อกหมอสันต์เลยครับ
     คราวนี้ มาตอบคำถามของคุณกันนะ

     1.. การตรวจเลือดก่อนมีบุตร อย่างน้อยควรครอบคลุมประเด็นต่อไปนี้

1.1  ตรวจคัดกรองโรคเอดส์ (anti HIV) เพราะหากกรณีแม่ติดเชื้อเอดส์มาก่อน ก็จะได้ชะงักไตร่ตรองนิดหนึ่งว่าจะมีลูกดีหรือไม่มีดี หากยืนยันจะมีลูก หมอเขามีวิธีลดโอกาสที่ลูกจะติดเชื้อเอดส์จากแม่ได้ กรณีฝ่ายชายติดเชื้อเอดส์มาก่อนโดยฝ่ายหญิงไม่ได้ติดเชื้อ ก็จะได้พิถีพันป้องกันไม่ให้ฝ่ายหญิงได้รับเชื้อจากฝ่ายชาย ซึ่งสมัยนี้การป้องกันทำได้ง่ายๆและได้ผลดีระดับเกือบ 100%

1.2  ตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิส (VDRL) เพราะโรคซิฟิลิสนำไปสู่ความพิการของทารกได้ ถ้าพบว่าไม่ว่าฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงเป็นโรคนี้ ก็จะได้รักษาเสียก่อน แล้วค่อยมีบุตร เพราะโรคนี้สมัยนี้รักษาได้ไม่ยากเลย

1.3  ตรวจสถานะภูมิคุ้มกันของตับอักเสบไวรัสบี. คือตรวจทั้งว่ามีไวรัสอยู่ในตัวแบบเป็นพาหะ (HBsAg) หรือไม่ และตรวจว่ามีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสบี. (HBsAb) หรือไม่ ถ้าพบว่าแม่เป็นพาหะของโรคนี้ หมอเขาก็จะได้วางมาตรการป้องกันลูกไม่ให้ติดเชื้อจากแม่ ถ้าพบว่าสามีเป็นพาหะ หมอเขาก็จะได้แนะนำวิธีป้องกันไม่ให้โรคติดมาถึงภรรยา ถ้าพบว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายไม่ได้เป็นพาหะแต่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันโรคนี้ ก็จะได้จับฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้เสียก่อน อนึ่ง พึงเข้าใจนะว่าโรคนี้เป็นโรคสำคัญ เป็นปากทางที่นำไปสู่ตับอักเสบเรื้อรังแล้วกลายเป็นมะเร็งตับ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยทุกวันนี้

1.4  ตรวจสถานะภูมิคุ้มกันของหัดเยอรมัน (Rubella IgG, IgM) เพราะหัดเยอรมันนี้ถ้าไปเป็นเอาตอนตั้งครรภ์อาจได้ลูกที่พิการตาบอดแขนด้วนได้ ถ้าตรวจแม่แล้วพบว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน ก็ควรจะชลอการตั้งครรภ์ออกไปสักสามเดือนเพื่อฉีดวัคซีนก่อน ส่วนฝ่ายชายนั้นไม่ต้องตรวจหาภูมิคุ้มกันก็ได้ ใช้วิธีจับฉีดวัคซีน MMR แบบรูดมหาราชไปเลย อันที่จริงตามทฤษฏีก็ต้องตรวจสอบประวัติว่าในวัยเด็กเคยได้วัคซีน MMR มาหรือยัง แต่ตามปฏิบัติคนไข้ก็จะตอบหมอว่าโฮ้ย พ่อแม่ผมรวย วัคซีนอะไรดีๆสมัยเด็กๆผมได้มาหมดแล้วแหละ แต่พอถามหาหลักฐานเช่นสมุดวัคซีนก็จะพบว่าร้อยทั้งร้อย..ไม่มี ครั้นจะไปตามดูที่โรงพยาบาลก็ขอโทษ โรงพยาบาลในเมืองไทยเรานี้แสนดีหนักหนา อย่าว่าแต่หลักฐานการฉีดวัคซีนเมื่อยี่สิบปี่ก่อนเลยครับ ผมเคยเห็นศาลเรียกหาหลักฐานการใช้ยาที่เพิ่งใช้กันไปหลัดๆไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เอง คำตอบที่ได้จากรพ.แห่งนั้นก็คือ.. 

     “…เวชระเบียนหาย”

      ขำตายแหละ ข้าแต่ศาลที่เคารพ แหะ..แหะ ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

1.5  ตรวจคัดกรองโรคเลือดจางทาลาสซีเมีย (Hb typing และ Alpha gene PCR test) คือโรคทาลาสซีเมียนี้เป็นโรควิบากของคนไทย ผมเคยตอบคำถามเรื่องโรคนี้ไปแล้วหลายครั้งหลายหนซึ่งผู้สนใจพลิกหาอ่านเอาได้ กล่าวโดยสรุปก็คือมันเป็นโรคที่ส่งต่อมาทางพันธุกรรมผ่านยีนจากพ่อแม่ ซึ่งมีทั้งแบบยีนโต้งๆคือเป็นโรคให้เห็นเห็นๆ หรือยีนแฝงหรือพาหะซึ่งไม่มีอาการป่วยให้เห็นแต่มียีนของโรคนี้ส่งต่อมาให้ลูก ถ้าพ่อก็มียีนแฝง แม่ก็มียีนแฝง ก็มีโอกาสที่ลูกคนที่แจ๊คพอตยีนแฝงสองข้างมาจ๊ะกันจะเป็นโรคทาลาสซีเมียแบบโจ๋งครึ่มได้ การตรวจคัดกรองยีนโรคนี้ก่อนแต่งงานมีประโยชน์กรณีที่ทั้งพ่อทั้งแม่ต่างมียีนแฝง จะได้วางแผนเรื่องการมีบุตรได้ เช่นว่ามีโอกาสที่จะได้ลูกเป็นโรคกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าลูกคนที่ซวยเป็นโรคขึ้นมา จะเป็นโรคทาลาสซีเมียชนิดไหน รุนแรงหรือไม่รุนแรง ซึ่งก็จะนำไปสู่การตัดสินใจสุดท้ายว่า สำหรับคนที่แต่งมาแล้วอย่างคุณนี้ก็คือการตัดสินใจว่าจะมีลูกดีหรือไม่มีดี สำหรับคนที่กำลังจะแต่งก็คือการตัดสินใจว่าจะถือโอกาสนี้เป็นการประกาศอิสรภาพจากกันและกันซะเลยดีไหม 
          ประเด็นสำคัญที่ผมขอย้ำไว้ตรงนี้เพราะคนส่วนใหญ่ รวมทั้งหมอส่วนหนึ่ง ยังไม่เข้าใจ ก็คือว่าการตรวจคัดกรองยีนทาลาสซีเมียต้องตรวจคัดกรองทั้งยีนที่ควบคุมสายเบต้า และยีนที่ควบคุมสายอัลฟา การตรวจก่อนแต่งงานที่รพ.ส่วนใหญ่จัดให้ใช้วิธีตรวจวิเคราะห์ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin typing) ซึ่งเป็นการตรวจหาเฉพาะยีนที่ควบคุมสายเบต้าเท่านั้น จึงมีกรณีที่ตรวจได้ผลปกติแล้วแต่ได้ลูกออกมาเป็นทาลาสซีเมีย ที่ถูกคือควรจะต้องตรวจวิเคราะห์ยีนสายอัลฟ่าควบไปด้วย (Alpha gene PCR test) ซึ่งการตรวจอย่างหลังนี้รพ.ส่วนใหญ่ยังทำไม่ได้ ต้องส่งเลือดไปให้รพ.ที่มีแล็บระดับซับซ้อนกว่าทำให้

1.6  ตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ซึ่งทำได้สองวิธีคือตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (FBS) หรือตรวจน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือดโดยไม่ต้องอดอาหาร (HbA1c) จะตรวจวิธีไหนก็ได้ผลเท่ากัน การคัดกรองเบาหวานก่อนตั้งครรภ์มีความจำเป็น เพราะการตั้งครรภ์ขณะเป็นเบาหวานเรียกว่าเป็นการตั้งครรภ์ชนิดความเสี่ยงสูง หมอสูติเขาจะมีวิธีรับมือมากกว่าคนธรรมดาเป็นพิเศษ

1.7  เอ็กซเรย์ปอด (CXR) เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานเผื่อต้องทำการผ่าตัดระหว่างตั้งครรภ์หรือตอนคลอด หมายความว่าการเอ็กซเรย์ปอดคนปกติที่ไม่มีอาการไอปัจจุบันนี้ไม่มีประโยชน์อะไรในแง่การคัดกรองโรค ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองวัณโรคหรือมะเร็งปอด แต่สำหรับคนที่จะต้องท้องมันมีประโยชน์ในแง่ของการเป็นข้อมูลพื้นฐานไว้เปรียบเทียบเผื่อเจ็บป่วยหรือต้องผ่าตัดขณะตั้งครรภ์ เพราะเราไม่ต้องการไปเอ็กซเรย์ขณะตั้งครรภ์ อย่างเช่นถ้าจะผ่าตัดอะไรขณะที่ตั้งครรภ์ หมอดมยาก็อยากดูภาพเอ็กซเรย์ปอดเพื่อประเมินปัญหาของการดมยาสลบ แต่หมอสูติก็ไม่อยากให้ทำเพราะกลัวทารกในครรภ์ได้รังสีเอ็กซเรย์ การเอ็กซเรย์ไว้ก่อนการตั้งครรภ์จึงมีประโยชน์ฉะนี้
2. วัคซีนที่จำเป็นต้องได้รับก่อนการตั้งครรภ์และมีบุตร คือ
2.1 วัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี. (Hepatitis B) ในกรณีที่ยังไม่มีภูมิต้านทาน

2.2 วัคซีนหัดเยอรมัน ซึ่งมัดรวมในเข็มเดียวชื่อวัคซีน MMRในกรณีที่ยังไม่มีภูมิต้านทาน

2.3 วัคซีนไข้หวัดใหญ่(Influenza)

2.4 วัคซีนอีกตัวหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องฉีดซ้ำ แต่หมอสูติก็ต้องบังคับให้ฉีดซ้ำ ทั้งนี้เนื่องจากมันเป็นกรรมเวรของคนไทยที่ถูกสาปมาให้โดนฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก (Tetanus) รอบละสามเข็มแบบเบิ้ลแล้วเบิ้ลอีกตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งๆที่ในความเป็นจริงฉีดซ้ำเข็มเดียวทุกสิบปีก็เหลือแหล่แล้ว ที่ว่าเป็นกรรมเวรของคนไทยก็คือเนื่องจากชาติไทยไม่ใช่นักบันทึก ในชีวิตหนึ่งคุณเคยถูกฉีดวัคซีนอะไรที่ไหนมาบ้างไม่มีใครเก็บบันทึกไว้ดอก ไม่ต้องไปหา พอตกมอเตอร์ไซค์ได้รับบาดเจ็บทีหนึ่ง หรือจะออกลูกทีหนึ่ง หมอก็จับฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักแบบสามเข็มครบคอร์ส ทุกคราวไป มีใยที่คุณจะบอกว่าเคยฉีดมาแล้วหมอก็ไม่ฟัง เพราะเวลาคนได้รับบาดเจ็บหรือออกลูกเป็นบาดทะยักตายแล้วญาติไปฟ้องศาล ถ้าหมอให้การว่าข้าน้อยถามคนไข้แล้วเขาบอกว่าเคยได้วัคซีนมา ศาลก็ไม่เชื่อหมอ เพราะศาลไม่เคยเชื่อลมปากหมอมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เชื่อแต่หลักฐานบันทึก เมื่อไม่มีหลักฐานบันทึก ก็แปลว่าหมอผิด สรุปคือหมอต้องจับคนไข้ฉีดบาดทะยักใหม่ตะพึดง่ายสุด อย่างนี้เรียกว่าเป็นกรรมมั้ยละ

3.. ที่ถามว่าเวลาไหนเป็นเวลาที่เหมาะจะไปพบหมอสูติ ตอบว่าที่คุณวางแผนว่าจะไปตรวจต่างๆให้ครบก่อนแล้วเอาผลไปพบหมอสูตินั่นก็เป็นแผนที่เหมาะแล้วครับ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์