Latest

หมอสันต์ด่าคนรุ่น Gen Y

ใช่อาจารย์หมอรายการ เดอร์ ซิมท่อม หรือเปล่าค่ะ
ถ้าใช่หนูชื่นชมอาจารย์มาก เพราะทำให้รู้อะไรหลาย ๆ อย่าง ที่ไม่เขียนชื่อภาษาอังกฤษเพราะเขียนไม่ถูกค่ะ หนูคิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่าไม่แน่ใจ มันหดหู่ไม่อยากทำอะไร ตอนนี้ก็ลาออกจากงานมาแล้ว เหมือนไม่อยากอยู่อีกต่อไป ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกัน อยากนอน เฉย ๆ ไม่ต้องคิดอะไร แต่หนูไม่ได้อดข้าวหรืออะไรนะคะ กินได้ตามปกติ จะเป็นเฉพาะเวลาอยู่คนเดียว
อาจารย์หมอช่วยหนูด้วย
……………………………………..
ตอบครับ
มาอีกละ เด็ก Gen Y คนรุ่นใหม่ แหม ถ้าอยู่ใกล้ๆมือจะขอเขกสักโป๊กได้ไหมเนี่ย (อุ๊บ ขอโทษ ลืมตัวไปว่าตัวเองเป็นหมอนะ) มาตอบคำถามแบบหมอตอบคนไข้ก่อนดีกว่า จะดุด่าว่ากล่าวอะไรกันค่อยเอาไว้ตอนท้ายนะ ถ้ายังมีเวลา (ยังไม่ลืมหรอก)
       1.. ถามว่าหนูเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ตอบว่า “เป็นครับ” โดยทั่วไปโรคซึมเศร้าในวัยรุ่นมักวินิจฉัยยากเพราะอารมณ์ของวัยรุ่นนั้นขึ้นๆลงๆอยู่แล้ว แต่อาการอย่างคุณนี้ออกแนวคลาสสิก แบบว่ามีมุมมองต่อสิ่งรอบตัวผิดไปจากเดิม และมองอะไรเป็นลบไปหมด จินตนาการทางออกของชีวิตไม่ได้เอาเลย อาการอย่างเช่น ตั้งสติไม่ได้ ตัดสินใจไม่ถูก เปลี้ยล้า หงุดหงิด รู้สึกตัวเองไร้ค่าและเกลียดตัวเอง หมดความสนใจในทุกเรื่องแม้ในเรื่องที่เคยสนุก มีแต่ความสิ้นหวัง เศร้า คิดถึงแต่ความตาย เหล่านี้แหละครับ คืออาการโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น นอกจากนี้การวินิจฉัยก็ดูเอาจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปด้วย เช่น ไม่รับผิดชอบการงานหรือการเรียน หลบหน้าผู้คน อย่างคุณนี้แหละ หรืออีกแบบหนึ่งก็คือออกแนวท้าทายกฎระเบียบทำอะไรผิดกฎหมาย เสพย์แอลกอฮอล์หรือยาเสพย์ติดไปโน่นเลย
2.. การรักษาโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น แพทย์จะโฟกัสอยู่สี่เรื่องคือ
2.1 การใช้ยา(antidepressant) การใช้ยาต้านซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่นนั้นต้องอยู่ในความดูแลของจิตแพทย์อย่างเคร่งครัดเพราะยาต้านซึมเศร้าบางตัวเช่น SSRI เพิ่มอัตราการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นได้ และยาต้านซึมเศร้ายอดนิยมบางตัวเช่นยาในกลุ่ม tricyclic antidepressant ก็ไม่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในวัยรุ่น ดังนั้นคุณจึงควรไปพบจิตแพทย์แน่นอน ไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้
2.2 การรักษาด้วยการพูด (talk therapy) ซึ่งแบ่งออกเป็นวิธีย่อยๆได้หลายวิธีเช่น

2.2.1 การสอนให้คิดใหม่ทำใหม่ (Cognitive-behavioral therapy) คือสอนให้รู้จักต่อสู้กับความคิดลบ สอนให้รู้จักอาการของโรคนี้ และให้รู้ว่าอะไรทำให้โรคนี้แย่ลง อะไรทำให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็สอนทักษะการแก้ไขปัญหาในชีวิตไปด้วย

2.2.1        ครอบครัวบำบัด (family therapy) หมายความว่าเอาคนทั้งครอบครัวมานั่งคุยกัน ซึ่งจะมีประโยชน์กรณีโรคมีพื้นฐานจากความขัดแย้งในครอบครัว วิธีนี้เป็นการดึงเอาสมาชิกครอบครัวมาช่วยรักษา ซึ่งหลักการเดียวกันนี้ก็ดึงเอาครูและเพื่อนที่โรงเรียนมาช่วยรักษาได้เช่นกัน

2.2.2        จิตวิทยาบำบัด (psychotherapy) เป็นการใช้คำพูดโอ้โลมพยุงทางใจชี้ให้เห็นประเด็นที่เป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรม ความคิด อารมณ์ ที่ผิดปกติ

2.2.3        กลุ่มบำบัด (group therapy) ก็คือจับเอาวัยรุ่นหัวอกเดียวกันมานั่งคุยกัน ซึ่งจะเกิดการแชร์ความรู้สึก เรียนรู้ทางออกจากกันและกัน และเกิดพลังร่วม

2.3 การสนับสนุนให้วัยรุ่นที่ซึมเศร้าได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อหวังให้สารเอ็นดอร์ฟินที่เกิดจากการออกกำลังกายรักษาช่วยอาการซึมเศร้าไปด้วย

2.4 การสนับสนุนให้วัยรุ่นมีคนที่ไว้ใจและที่รักและหวังดีต่อตัวเองไว้เป็นที่พึ่งพาพูดคุยเวลาที่เจอทางตัน เพื่อลดอุบัติการณ์ฆ่าตัวตายในระหว่างการรักษา

     ทั้งหมดนั่นเป็นหลักวิชาแพทย์ในการแก้ปัญหาโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น ซึ่งผมจาระไนให้ครบแล้ว ถือว่าหมดหน้าที่ของหมอสันต์แล้ว ที่นี้ขอผมในฐานะ “ลุงสันต์” หน่อยนะ ขอทำ talk therapy ในสูตรของผมเองบ้างนะ ไม่มีในตำราแพทย์ดอก จะเรียกว่าขอ “ด่า” สักหน่อยก็คงไม่ผิดเพราะมันคันปากมานานแล้ว

     คือวัยรุ่นสมัยนี้หรือ Generation Y นี่ เขาเป็นอะไรของเขานะ เอะอะก็จะซึมเศร้าไม่เอาถ่านกันท่าเดียว แต่ละคนก็ใช่ว่าจะยากไร้หรือพิกลพิการอะไร เปล่าเลย ทุกคนมีมือเท้าและอวัยวะครบสามสิบสอง เรียนหนังสือก็มาก ส่วนใหญ่ก็หล่อๆสวยๆเป็นลูกผู้ดีเศรษฐีมีเงิน จริงอยู่ที่พ่อแม่มีฐานะธรรมดาหรือมาจากครอบครัวที่แตกแยกก็มีไม่น้อย แต่ทุกคนก็มีข้าวกินไม่เคยได้อดอยากสักครึ่งสักหนึ่งของผมสมัยที่ตัวผมเป็นวัยรุ่นด้วยซ้ำ นี่มันเหมือนกับที่มีใครบางคนพูดไว้เปี๊ยะเลยว่า

     “..ส่วนที่ขาดทางร่างกายไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะพิการ แต่จิตที่ไม่สู้  ใจที่ไม่เอางานต่างหาก ที่เป็นความพิการของชีวิต คนตาบอดยังพอมีโอกาสเห็นแสงแห่งชีวิต ส่วนคนจิตบอดจะไม่มีโอกาสเห็นแสงอะไรเลย แม้อยู่ใกล้ทางออกของชีวิต ก็ยังหาไม่เจอ เพราะจิตที่มืดมน ทำให้ใจต้องมืดมัว..”

     ประเด็นที่ผมจะยกรุ่นด่าเลยก็คือ “ความฝันอันยิ่งใหญ่ จิตใจที่ต่อสู้” ของคนรุ่น Gen Y มันหายไปไหน ทำไมเกิดมาเป็นคนไม่มีไฟไม่มีฝันเสียตั้งแต่ยังไม่ทันได้ทำอะไรตอบแทนบุญคุณของโลกหรือของผู้คนที่ชุบเลี้ยงตนเองมาจนได้เป็นผู้เป็นคนซะอย่างนี้ จิตใจที่สูงส่งของความเป็นมนุษย์ หรือ ความกตัญญูอันเป็นเครื่องหมายของคนดีของพวกคุณมีไหม ไม่อายหรืออย่างไรที่คิดแต่จะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางแล้วเรียกร้องให้ใครต่อใครมาแก้ปัญหาให้ด้วยการประท้วงทำลายตัวเองหรือทรมานคนที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าเขารักตัวเรามากให้เขาเจ็บปวด อย่างนี้เรียกว่ากตัญญูหรือเนรคุณ โลกนี้แย่ลงทุกวันเพราะคนเลวมีมากขึ้น ขณะที่คนที่คิดว่าตัวเองเป็นคนดีก็หลบไปอยู่ในร่มเงาของโรคซึมเศร้า เคยไหมที่คุณจะถามตัวเองสักคำว่าจะทำอย่างไรจึงจะได้รับใช้มนุษยชาติ เคยถามตนเองไหมว่าตัวเองมีพรสวรรค์อะไร ชอบทำอะไร เพื่อจะได้เอาสิ่งนั้นไปทำประโยชน์แก่ผู้คนหรือแก่โลก

          เลิกท้อแท้กับชีวิตเสียทีเถอะ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเราในวันนี้ ความเป็นจริงก็คือมันเป็นสิ่งที่เราทำมันขึ้นมาเอง แม้คุณจะแย้งว่าหนูอยู่เฉยๆไม่ได้ทำอะไร ก็การอยู่เฉยๆนั่นแหละที่ทำให้คุณต้องป่วยอยู่นี่ไง เพราะการไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือไม่ทำอะไรนั่นแหละคือเหตุของปัญหา เปลี่ยนตัวเองเสียทีสิครับ ทำไมต้องใช้เวลาเป็นปี เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น เพราะใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีก็เปลี่ยนได้แล้ว เพราะใจของเรานั้นเปลี่ยนได้ทุกเสี้ยววินาที สำคัญที่ว่าคุณมีไฟมีฝันไหม ใจของคุณพร้อมที่จะเปลี่ยนหรือยัง จิตของคุณเข้มแข็งพอหรือไม่ เท่านั้น

     อย่าโทษสถานการณ์รอบตัว เพราะสถานการณ์ที่เลวร้ายมิอาจทำอะไรกับคนที่มีความตั้งใจมุ่งมั่นจะทำดีได้ ความคิดที่เลวร้ายต่างหากที่ทำร้ายตัวเราเอง จำไว้เลยว่า

     คิดลบ จะทำให้พบกับปัญหาอยู่ร่ำไป”

     อย่าโทษว่าตัวเราไม่มีพรสวรรค์ หรือไม่สามารถ เพียงแค่เราไม่เก่งเรื่องภาษาอังกฤษ ใช่ว่าเราจะฉลาดไม่ได้ เพียงแค่เราไม่เก่งคณิตศาสตร์หรือการคิดคำนวณ ใช่ว่าเราจะสร้างสรรค์สิ่งดีๆไม่ได้ คนเก่งคือคนที่รู้จักเลือกกลั่นเอาความรักชอบส่วนตัวจากประสบการณ์ในอดีต มาผสมคลุกเคล้ากับการเรียนรู้ในปัจจุบัน แล้วสร้างเป็นความฝัน หรือ passion ที่บันดาลใจตัวเองให้มุ่งมันไปให้ถึงทำให้สำเร็จเพื่อฝากผลงานดีๆที่ทำด้วยใจและด้วยฝีมือเราไว้ให้กับโลกนี้ อย่าโทษว่าสิ่งดีๆที่คุณรู้ว่าคุณมีเป็นสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ ทำไมเราต้องไปทุ่มเทมากมายกับวิชาหรือการงานที่มันไม่ใช่ตัวเรา แล้วปล่อยให้สมองด้านที่ใช่ตัวเรามันไม่ได้ใช้งาน คุณต้องทุ่มเทให้กับสิ่งทีใช่ตัวเรา ที่เราชอบและมีความสุขที่ได้ทำ เพื่อสรรสร้างชีวิตใหม่ให้ดีกว่า เพราะความสามารถพิเศษของแต่ละคน ย่อมจะมีความต้องการใช้ประโยชน์เชิงสร้างสรรค์จากมัน ณ ที่ใดที่หนึ่งบนโลกนี้เสมออย่ามองตัวเองว่าเป็นคนไม่มีใครเอา แต่จงมองตัวเองว่าคุณเป็นคนพิเศษ คุณเกิดมาเพื่อทำเป้าหมายบางอย่างให้บรรลุ มีบางอย่างที่คุณเท่านั้นที่ทำได้ดีกว่าใครๆในโลก

     ลุกขึ้นมาสิ ทำอะไรก็ได้ที่คุณชอบ อย่าไปเชื่อคนที่ไม่เคยประสบความสำเร็จในชีวิตของเขาเองที่คอยจะบอกคุณว่าถ้าคุณทำในสิ่งที่คุณชอบแต่ไม่อยู่ในแนวนิยมของสังคมแล้วคุณจะไปไม่รอด คนที่พูดอย่างนั้นเขาก็ไปไหนไม่รอดเพราะการไม่กล้าทำอะไร เมื่อคุณมีฝัน คุณต้องเกาะติดฝันนั้นและทำฝันนั้นให้เป็นความจริง ถ้าคุณไม่มีฝัน คุณต้องค้นหาฝันของคุณให้พบ ค้นหาไปในอดีต สอบถามตัวเองไปทีละอย่างทีละประเด็น แล้วคุณก็จะพบมัน คนเราอนาคตจะดีถ้ามีฝัน คนไม่มีฝันจะขาดไฟในการดำเนินชีวิต คนอย่างนั้นอันตราย คุณอย่าเป็นคนอย่างนั้น และอย่าเข้าไปใกล้คนอย่างนั้นเชียวนะ เพราะจะพาลถูกดูดพลังชีวิตให้ดับมอดไปด้วย

     แฮ่ก แฮ่ก แฮ่ก ได้ด่าคนรุ่น Gen Y สมใจแล้ว ค่อยรู้สึกดีขึ้นหน่อย ตบหัวแล้วอดไม่ได้ที่จะลูบหลังหน่อยนะ ทั้งหมดที่พูดมาเนี่ย อย่าถือโทษโกรธคนแก่เลย เพราะพูดด้วยรักและเห็นคุณค่าเชิงสร้างสรรค์ของคุณ อีกอย่างหนึ่งผมพูดไปก็เพื่อตัวเองด้วย เพราะวันหนึ่งผมก็ต้องแก่หง่อม นอนงอก่องอขิงอยู่ในอ้อมแขนของคนรุ่นคุณ ถ้าคนรุ่นคุณพากันไปฝังตัวเองอยู่ในกระดองเต่าตราโรคซึมเศร้าหรือไปฆ่าตัวตายกันเสียหมด แล้ววันนั้นใครจะมาดูแลผมละครับ
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์    

บรรณานุกรม  
1.      US Preventive Services Task Force. Screening and treatment for major depressive disorder in children and adolescents: US Preventive Services Task Force Recommendation Statement. Pediatrics. 2009;123:1223-1228.
2.      Cheung AH, Zuckerbrot RA, Jenson PS, Ghalib K. Treatment and ongoing management guidelines for adolescent depression in primary care. Pediatrics. 2007;120:e1313-e1326.
3.      Antidepressant Medications for Children and Adolescents: Information for Parents and Caregivers. National Institute of Mental Health (NIMH). January 13, 2010. Accessed March 25, 2012.