Latest

ความหวังมี แต่ชีวิตต้องบริหารความเสี่ยง

ผมหยุดงานกลางสัปดาห์ไปปลีกวิเวกอยู่ที่ไร่นานสามคืนสี่วัน เป็นการชิมลางว่าเกษียณแล้วชีวิตจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่าเป็นชีวิตที่ดีหลายแท้ สามสี่วันที่ไร่ผมทำโปรเจ็คเสร็จไปหลายโปรเจ็ค ได้แก่ ซ่อมประตูรั้ว (ทาสีขาวด้วยนะ) ติดพัดลมเพดานที่ห้องนอน หลังจากที่ซื้อมาซุกไว้ในห้องเก็บของนานราวสิบปีแล้วไปเปิดเจอโดยบังเอิญ แต่โปรเจ็คไฮไลท์สำหรับวันหยุดรอบนี้ก็คือ “สวนครัวลอยฟ้า 2500” นี่เป็นโปรเจ็คแบบว่าหวนคืนกำพืดตัวเอง (nostalgia) คือตอนที่ผมเป็นเด็กห้าหกขวบ  ที่หลังบ้านของเรา ชนบทบ้านนอก จังหวัดพะเยา มีบ่อน้ำก่ออิฐเป็นวงกลม รอบๆบ่อน้ำเป็นบริเวณที่ ชุ่มน้ำตะไคร่จับ ปลูกผักไว้กินได้ แต่การจะปลูกผักสวนครัวไว้กินก็จะไม่น่ากินเพราะผักจะอยู่ติดดินติดโคลน พ่อจึงใช้ไม้เก่า ลงเสา ทำแท่นขึ้นมาสูงแค่เอว ไว้ที่ข้างบ่อ เพื่อให้แม่ทำผักสวนครัวลอยฟ้า ซึ่งแม่ก็เอาปี๊บน้ำก๊าดเก่าสนิทเขรอะตัดครึ่ง กระแป๋งก้นรั่ว กะละมังเหล็กเคลือบสีขาวแต่ว่าสนิมขึ้นตามขอบ กระป๋องยาอมฮอลล์ที่ไม่ใช้แล้ว น้ำถุ้ง (ภาชนะตักน้ำทำจากไม้ไผ่สานเคลือบยางไม้) เก่าๆ มาวางระเกะระกะบนแท่น เอาดินใส่ แล้วปลูกผักสวนครัวประเภทโหระพา แมงลัก กระเพรา พริก สะระแหน่ ผักไผ่ (ภาษากลางเรียกอะไรไม่รู้ ) ผักชี กล่ำปลี ใบหอม ฯลฯ คือแท่นเล็กๆขนาดยาวสองเมตรกว่าแม่สามารถปลูกผักได้แยะมากกินกันไม่รู้จักหมด แถมบางทียังมีดอกไม้สีจัดจ้าน อย่างเช่นดาวกระจายขึ้นแซมบนแท่นให้ดูแก้เซ็งด้วย นับว่าเป็นสวนกระท่อม (cottage garden) ของคนจนที่เก๋ไก๋ตรึงใจผมไม่รู้ลืม วันหยุดรอบนี้มีเวลาผมจึงสร้างสวนลอยฟ้าตามแบบฉบับของแม่ขึ้นมาใหม่ที่ข้างสนามที่บ้านบนเขามวกเหล็ก เอาไม้เก่าสร้างแท่นขึ้นมา แล้วไปหาภาชนะเก่าในเมืองมวกเหล็ก กระแป๋งน้ำ และปี๊บเก่าๆหาไม่ยาก โดยไปซื้อที่ร้าน recycle ขยะหลังตลาด ซึ่งชั่งขายเป็นกิโล ผมได้กระป๋องยาอมฮอลล์มาด้วยหนึ่งอัน สวยงามมาก แต่พอผมถามหากะละมังเหล็กเคลือบสีขาว คุณยายที่คุมเครื่องชั่งเศษเหล็กมองหน้า เธอบอกว่า “สมัยนี้แล้วจะไปหาที่ไหนกันคู้น..น” เอาเถอะ ยังไงผมก็ได้กะละมังอะลูมิเนียมเก่ามาแทน มันไม่โรแมนติกเท่าเหล็กเคลือบสีขาว แต่ก็แก้คิดถึงอดีตได้พอควร ผมสร้างสวนลอยฟ้าย้อนยุคแบบของแม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว มันเท่มากจริงๆ บอกไม่ถูก จึงต้องถ่ายรูปมาให้ท่านผู้อ่านดูด้วยตาตัวเอง
ขอโทษ พล่ามนอกเรื่องไปแยะ แก่แล้วก็เงี้ยแหละ โปรดอย่าถือสา เอาละ หมดเวลาเล่นแล้ว เอาจริงเสียที ฝรั่งเรียกว่า get real คือมาตอบจดหมายของท่านผู้อ่านดีกว่า
…………………………………………………..
สวัสดีค่ะ อาจารย์
หนูชื่นชมและติดตามอาจารย์มาตั้งแต่ครอบครัวยังไม่มีใครเป็นมะเร็ง อาจารย์ให้คำแนะนำและกำลังใจที่ดีมาก ตอนนี้ครอบครัวหนูวิกฤต เนื่องจากหัวหน้าครอบครัว คือสามีหนูที่เพิ่มเเต่งงานกัน 5 ปี เรามีลูกอายุ 3 ขวบ กำลังน่ารัก เมื่อ 2 เดือนที่เเล้ว สามีน้ำหนักลด จึงไปตรวจพบเป็นมะเร็งตับขนาด 12*12*21 ค่า AFP 32,000 รอทำ TACE ที่รพ. จุฬา เมื่อวันที่ 31-5-13 พอไป Admid จุฬา ปรากฏไม่สามารถทำ TACE ได้ เพราะเส้นเลือดถูกก้อนอุดตัน หากทำจะตับวาย รพ จุฬาให้เรากลับไปทำ CT Scan ที่รพ เอกชนเเห่งหนึ่งในชลบุรี แล้วนัดใหม่ 13-6-13 หนูตัดสินใจกลับมาชลบุรีอีกครั้งเเละไปทำ CT scan มาเมื่อวาน พบข่าวร้ายมากค่ะ ก้อนมะเร็งขยายขนาด เป็น 14*14*25 อุดตันเส้นเลือดจริง และลามมาที่ปอดแล้วเบื้องต้น ค่า AFP สูงถึง 65,000 ซึ่งตกใจมาก หมอที่จังหวัดบอก หมดทางรักษาเเล้ว ให้เตรียมตัวเตรียมใจเเละรอคำแนะนำจากหมอที่จุฬาอีกที หนูเศร้ามาก อยากยืดเวลาอีกสักนิด เราพอมีหวังบ้างไม๊คะ ควรทำอย่างไรบ้าง 
ขอคำแนะนำจากอาจารย์ทีค่ะ
……………………………………………..
ตอบครับ
1.. แต่งงานกันมาได้ห้าปี มีลูกสามขวบ น่ารัก อ้าว แล้วเคยมองในอีกมุมหนึ่งบ้างไหม สิ่งที่เรามีอยู่เป็นอยู่ วันนี้ พ่อแม่ลูก มันเป็นอะไรที่วิเศษมาก ดีกว่าคนอีกไม่น้อยที่มีรักแล้วลุ้นตัวโก่ง แต่ท้ายที่สุดก็แห้วไม่ได้มาใช้ชีวิตร่วมกัน แบบที่ ชาย เมืองสิงห์ ว่า..
          “….. ชาติก่อนเราเพียง คู่เคียง เก็บดอกไม้ร่วมต้น
            แต่ว่าเราสองคน ไม่สนใจ ใส่บาตรร่วมขัน
            ชาตินี้ วันนี้ ชีวี จึงต้องโศกศัลย์
            รักกัน ชอบกัน ไม่ได้กัน บุญเรานั้น ฮื้อ หื่อ.. ไม่มี..”
แต่นี้เรามีวันนี้ที่สุขสมหวังมาแล้วอย่างบริบูรณ์ นี่คือมุมมองต่อชีวิตที่ถูกต้องนะ คือมองชีวิตในวันนี้ ไม่ใช่เมื่อวานนี้ หรือวันพรุ่งนี้
2.. สามีก็มาเป็นมะเร็งระยะที่รักษาไม่ได้เสียแล้ว ชีวิตนี้จะมีอะไรเหลือให้หวังไหม ตอบว่า ความหวังนั้นมีอยู่เสมอครับ เพราะเมื่อมีชีวิตก็ย่อมต้องมีความหวัง อย่าไปเชื่อที่ใครๆพูดว่าคราวนี้..เสร็จแน่ อยู่ได้อีกกี่วัน กี่เดือน บ้า ใครจะไปมีหูตาทิพย์อย่างนั้น ไม่มีหรอก ในทางการแพทย์ไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น อย่าสิ้นหวัง แม้ว่ามันดูเหมือนไม่มีอะไรเหลือให้หวังแล้ว แต่มันก็แค่ดูเหมือน ยังไม่ใช่ของจริง ของจริงต้องตามไปลุ้นกัน  

     ผมเรียนรู้ความหมายของคำว่า “อย่าสิ้นหวัง” นี้สมัยเมื่อทำงานเป็นผู้ช่วยของนายอยู่ที่นิวซีแลนด์ มีคนไข้หญิงสาวเข้ามาด้วยอาการช็อกจากหลอดเลือดใหญ่ที่ออกจากหัวใจปริแตก ต้องผ่าตัดฉุกเฉิน แต่คนไข้นับถือศาสนายะโฮวา วิทเนส ซึ่งครอบครัวห้ามการถ่ายเลือดหรือองค์ประกอบใดๆของเลือดจากคนอื่นนอกจากของตัวเองเด็ดขาด จากคนในครอบครัวก็ไม่ได้ ตายเป็นตาย ศาสนาเขาเป็นอย่างนั้น เราพาเธอเข้าห้องผ่าตัดแบบฉุกละหุกเพราะเธอวัดความดันไม่ได้แล้ว เมื่อผ่าเข้าไปในทรวงอกเลือดทะลักไหลนองจนเครื่องดูดสามตัวดูดไม่ทัน  สิ่งที่ทำได้ก็คือให้น้ำเกลือทดแทนจนเลือดใสอย่างกับน้ำ ผมบอกนายว่าให้เลือดไปเถอะ เราอธิบายกับแฟมิลี่เขาได้ นายพูดเสียงเขียวว่า “ไม่” ตามด้วยเสียงเขียวน้อยลงว่า “คุณต้องเคารพความเชื่อของพวกเขา” สักพักอธิบายให้ผมฟังสั้นๆเบาๆว่านายเคยให้เลือดคนไข้แบบนี้มาก่อน พอรอดตายไปคนไข้กลับเข้าสังคมของเขาไม่ได้ จนต้องจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตายในที่สุด
     การผ่าตัดต้องใช้เทคนิคลดอุณหภูมิร่างกายลงต่ำมากเพื่อให้สมองทนการขาดเลือดได้นานขึ้น แต่การผ่าตัดกลับยากกว่าที่คิด เราถูกผลักเข้าไปอยู่ในกระแสน้ำตกเป็นชั้นๆ ตกจากชั้นหนึ่ง สถานะการณ์บังคับเราลงไปอยู่อีกชั้นหนึ่ง เพื่อจะถูกพาไหลไปตกอีกชั้นหนึ่ง การผ่าตัดดำเนินไปถึงเกือบสิบชั่วโมง เลยเวลามาตรฐานการหยุดหัวใจที่ปลอดภัยคือ 2 ชั่วโมงมานานมาก  เลือดที่ไหลเวียนในร่างกายเธอใสราวกับน้ำประปา กลิ่นสาบหืนของไขมันตามขอบแผลที่ถูกเปิดไว้ถูกอากาศนานโชยไปทั่วห้องผ่าตัด มันเป็นกลิ่นสาบของความตายชัดๆ หัวใจที่ถูกทำให้หยุดไปแล้วหลายชั่วโมง ไม่ยอมกลับมาเต้นใหม่ รอยรั่วที่โคนหลอดเลือดใหญ่ไม่สามารถปิดได้สนิท มีเลือดรั่วออกมาตลอดเวลา มันเป็นสถานการณ์สิ้นหวังอย่างแท้จริง ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีอะไรจะมาแปรเปลี่ยนได้  ผมถามนายเป็นเชิงเสนอแนะว่าจะให้ผมออกไปแจ้งให้ครอบครัวทราบก่อนไหม นายตอบว่าไม่ต้อง เพราะพวกเขารู้อยู่แล้ว เงียบไปสักพักหนึ่ง นายก็พูดขึ้นเหมือนจะเดาใจผมได้ว่า
Don’t give up hope, where thing is hopeless is where you need the power of hope

“เอ็งอย่าสิ้นหวังง่ายๆสิวะ เมื่อใดที่ไม่มีอะไรเหลือให้หวัง เมื่อนั้นแหละที่พลังของความหวังมีค่ามากที่สุด”
     นายของผมนอกจากจะเป็นศัลยแพทย์หัวใจระดับโลกแล้ว ยังเป็นนักเปียโนเอก และเป็นนักกวีเจ้าบทเจ้ากลอนเจ้าสำนวนโวหาร แต่ ณ เวลาตีสี่ เกือบจะค่อนรุ่ง ในสภาพที่เรายืนผ่าตัดโต้รุ่งกันมาสิบชั่วโมง “เยิน” แล้วเต็มที่ และหัวใจของคนไข้ก็แน่นิ่งไม่ยอมกลับมาเต้นนานนับสิบชั่วโมงแล้ว คำพูดของนายผมไม่เก็ทหรอก
     เพื่อตัดเรื่องเล่าให้สั้นลง หลังจากนั้นสองชั่วโมงหัวใจผู้ป่วยก็กลับมาเต้น เราเอาเธอออกมาอยู่ในไอซียู.ได้ เธอนอนนิ่งอีกสามวันโดยไม่รู้ตัวเลย แต่ต่อมาก็ค่อยๆรู้ตัว และออกจากโรงพยาบาลหลังจากนั้นสามเดือน หลังจากนั้นเก้าเดือน แพทย์ประจำครอบครัวของเธอโทรศัพท์มาขอนัด วันที่เธอมา ผมเป็นคนรับหน้าเพราะนายไม่อยู่ไปเล็คเชอร์ทัวร์รอบโลก เธอมาในสภาพที่สวยพริ้ง เอาไวน์มาให้ผมหนึ่งขวด และปรึกษาผมเรื่องที่เธอจะแต่งงานและมีบุตร ขณะผมเอื้อมมือไปรับไวน์จากเธอ หูผมไม่ได้ยินหรอกว่าเธอพูดอะไร ตาผมก็มองอะไรไม่เห็นเพราะมันพร่า ใจผมคิดถึงแต่คำถามว่าทำไมสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แล้ว จึงกลับเป็นไปได้ ทำไมคนที่ตายอย่างแน่นอนแล้ว จึงกลับมีชีวิตได้ หรือว่าชีวิตมันยังมีอะไรที่หมอผ่าตัดหัวใจอายุสามสิบกว่าอย่างผมยังเข้าใจไม่เจนจบอยู่อีกหรือ
     เอ..ผมเล่าเรื่องนี้ให้คุณฟังทำไมนะ อ๋อ.. เพื่อจะให้คุณไม่ทิ้งความหวัง และใช้พลังจากความหวังให้คุณมีชีวิตในวันนี้อย่างดีที่สุด
     3.. แม้จะมีความหวัง แต่ชีวิตก็คือการบริหารความเสี่ยง ผมไม่รู้ว่าคุณเรียนหนังสือมาทางไหน ถ้าเผื่อคุณไม่ได้เรียนมาทางการบริหารธุรกิจหรือการเงินการบัญชี มันมีวิชาอยู่วิชาหนึ่งเรียกว่า การบริหารความเสี่ยง (risk management) คือในการทำธุรกิจ ไม่มีผู้ประกอบการคนไหนสามารถคุมเงื่อนไขต่างๆของธุรกิจได้หมด ธุรกิจจึงอาจเจออะไรก็ได้ที่คาดไม่ถึง ในการบริหารจึงต้องเอาความเป็นไปได้ที่จะเกิดกับธุรกิจทั้งหมดมากางดู แล้วเรียงตามลำดับความน่าจะเป็นจากมากไปหาน้อย แล้ววางแผนว่าถ้ามันออกมาเป็นอย่างนี้ เราจะทำแบบนี้ ถ้ามันออกมาเป็นแบบนั้น เราจะทำแบบนั้น ในการมองความเป็นไปได้ก็มองทั้งเชิงบวกสุดๆหรูเริดอลังการ์ (best case scenario) ไปจนถึงมองเชิงลบสุดๆแบบคนเป็นโรคจิตชนิดหวาดระแวง (worst case scenario) แผนทุกแผนที่ได้ก็เอามาคลุกเคล้ากันเป็นแผนธุรกิจตัวจริง ทำธุรกิจ ต้องรู้วิธีบริหารความเสี่ยง จึงจะรัดกุม การมีแต่แผนรองรับ best case โดยไม่สนใจ worst case เป็นการบริหารที่ไม่รอบคอบรัดกุม ชีวิตคนเราก็เหมือนกัน เมื่อไม่กี่วันมานี้ก็มีคนไข้มาหาผมคนหนึ่ง สามีของเธอเสียชีวิตกะทันหันจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ประเด็นก็คือเธอช็อกและสถานการณ์ของเธอก็กำลังแย่ เธอบอกว่าธุรกิจของครอบครัวคงจะต้องล้มละลายเพราะสามีถือ password และข้อมูลธุรกิจทุกอย่างไว้คนเดียว ไม่มีคนอื่นรู้เรื่องเลย นี่ก็เป็นตัวอย่างของการบริหารชีวิตโดยมีแต่แผนสำหรับ best case อย่างเดียว  ผมแนะนำให้คุณนำหลักการจัดการความเสี่ยงเข้ามาใช้กับชีวิตตั้งแต่นี้เป็นต้นไป  โดยวาดไว้ทั้ง best case และ worst case scenario การยอมรับเอาหลักบริหารความเสี่ยงมาใช้กับชีวิตส่วนตัว มันหมายถึงว่าเรายอมรับว่าอะไรๆในชีวิตเรานี้บันบ่อแน่ เราเองคุมได้ไม่หมด การใช้ชีวิตโดยเผื่อทุกความเป็นไปได้ไว้ จึงเป็นการใช้ชีวิตที่รอบคอบรัดกุม
     4.. คุณใช้คำว่า “เศร้า” ผมอยากจะเตือนอย่างหนึ่งนะ ว่าคุณกำลังอยู่ใน “วันนี้” นะ วันนี้คุณอยู่กันพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก แต่ความคิดถึงวันพรุ่งนี้ทำให้คุณเกิดความเศร้า ความเศร้าเป็นความคิดลบที่จะทำลายชีวิตในวันนี้ของคุณและครอบครัว และเมื่อเราพูดถึงชีวิต หรือการมีชีวิตอยู่เนี่ย อย่างที่ผมบอกแล้ว เราหมายถึงวันนี้เท่านั้นนะ เราไม่ได้หมายถึงเมื่อวานนี้หรือวันพรุ่งนี้เลย วันพรุ่งนี้มีใครชัวร์หรือ ว่าจะยังมีชีวิตอยู่ หรือได้ใช้ชีวิตหรือไม่ คุณมีวันนี้อยู่ในมือพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก แต่ไปเอาวันพรุ่งนี้ซึ่งเป็นเพียงอากาศธาตุมาทำลายวันนี้ซึ่งเป็นวันจริงๆชีวิตจริงๆเสีย มันไม่เข้าท่าเลยนะ ผมอยากจะแนะนำให้คุณทำความเข้าใจประเด็นนี้ให้กระจ่างก่อนที่จะเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไป กุญแจอันหนึ่งที่จะทำให้คุณแยกปัจจุบันออกจากอนาคตหรืออดีตได้ก็คือความรู้ตัว (self awareness)  คำว่าความรู้ตัวในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึงมี conscious หรือสัมปชัญญะดี หยิกตัวเองแล้วเจ็บ อะไรอย่างนั้นนะ แต่ผมหมายถึงการที่เราเหมือนกับว่าแยกตัวเป็นเราอีกคนหนึ่งคอยตามดูเราคนนี้ว่ากำลังคิดอะไร กำลังมีความรู้สึกอะไรอยู่ สมองของเราเป็นอวัยวะที่พิสดารมาก แม้จะมีสิ่งเร้าจากภายนอกเข้ามาพร้อมกันได้มากมาย แต่มันมีกลไกรับรู้ได้ทีละอย่างเดียวเท่านั้น แล้วมันมีระบบการจัดคิวที่แน่นอนด้วย คือมี priority ให้บางอย่างก่อน อย่างเช่นถ้าเราเจ็บกล้ามเนื้อด้วย และเรากำลังบีบนวดกล้ามเนื้อด้วย สมองจะรับความรู้สึกถูกบีบนวดก่อน ส่วนความรู้สึกเจ็บจะถูกเพิกเฉยไป เท่ากับว่าเมื่อนวดก็หายเจ็บ พอหยุดนวดก็เจ็บใหม่ ทางการแพทย์มีสมมุติฐานว่าสมองมีประตูคุมให้ความรู้สึกเข้าหาได้ทีละอัน (gate control theory) ประเด็นคือถ้าเราฝึกความรู้ตัว คือเราแยกใจเป็นเราอีกคนหนึ่งคอยตามเช็คดูเราคนนี้ ความรู้ตัวนี้โดยธรรมชาติมันได้ priority ก่อนความคิดหรือความรู้สึกอื่น ถ้าเรารู้ตัว ความรู้สึกอื่นจะถูกสมองเพิกเฉยไป ดังนั้น ความรู้ตัวชนะความรู้สึกลบทุกชนิด รวมทั้งความเศร้าด้วย งานวิจัยเรื่องประโยชน์ของความรู้ตัว (self awareness) ในการควบคุมอารมณ์ตัวเองนี้ เป็นงานวิจัยเชิงสังคมวิทยาที่มีเป้าหมายปรับนิสัยหรือวุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้บริหารธุรกิจ งานวิจัยนี้ทำกันที่ฮาร์วาร์ด คนทำวิจัยชื่อ แดเนียล โกลแมน  งานวิจัยของโกลแมนมีนัยยะบ่งบอกที่ลึกซึ้งไม่เฉพาะต่อการเอาชนะอารมณ์ที่เป็นลบ แต่ต่อการใช้ชีวิตด้วย การเข้าใจและยอมรับว่าชีวิตมีความเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เป็นหลักคิดพื้นฐาน (basic concept) สำหรับการจะมีชีวิตที่ดี แต่เพียงแค่มีหลักคิดพื้นฐานดียังไม่พอ มันยังต้องมีความรู้ตัวหรือ self awareness ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็น (essential skill) ที่จะทำให้คุณมีชีวิตที่ดีได้จริงๆ และอย่าลืม ย้ำครั้งที่สาม เมื่อเราพูดถึงการมีชีวิต เราพูดถึงวันนี้เท่านั้น
     5.. ถามว่ามะเร็งตับก้อนบะเล่งเท่ง จะฉีดคีโมเข้าหลอดเลือดแดงก็ไม่ได้ มีวิธีอื่นใดที่จะยืดชีวิตให้ยืนยาวออกไปสักหน่อยได้ไหม อันนี้ผมไม่มีข้อมูลจำเพาะของมะเร็งตับนะครับ แต่มีหลักฐานวิจัยจากมะเร็งในระยะแพร่กระจายแล้วชนิดอื่น ว่าการสร้างกำลังใจ เช่นการเข้ากลุ่มบำบัด นอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายดีขึ้นแล้ว ยังทำให้มีอายุยืนยาวกว่าผู้ไม่ได้เข้ากลุ่มบำบัดด้วย
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม
  1. Wall PD. The gate control theory of pain mechanisms. A re-examination and re-statement.Brain. 1978 Mar;101(1):1–18. [PubMed]
  2. Nathan PW. The gate-control theory of pain. A critical review. Brain. 1976 Mar;99(1):123–158.[PubMed]
3.      Spiegel D, Bloom JR, Kraemer HC, Gottheil E (1989) Effect of psychosocial treatment on survival of patients with metastatic breast cancer. Lancet 1989 ; 2 : 888–891

4.      Daniel Goleman. What makes a leader? Harvard Business Review. November-December 1998. Accessed on June 6, 2013 at https://iims.uthscsa.edu/sites/iims/files/Leadership-10.pdf

…………………………….

จดหมายจากผู้อ่าน
10 มิย. 56
เรียน อาจารย์ นพ.สันต์ ที่นับถือ
อาจารย์คะพอดีได้อ่านการตอบปัญหาของอาจารย์เรื่องสามีเป็นมะเร็งตับ พอดีหนูเคยอ่านหนังสือของ Dr.Tom Wu ชื่อหนังสือ ธรรมชาติช่วยชีวิต ฉบับโรคภัยหายได้จริง โดยคุณหมอ Tom Wu เขาว่าเขาเคยเป็นมะเร็งปอดแล้วหายก็เลยอยากแนะนำให้คนที่เป็นมะเร็งได้อ่านหนังสือเล่มนี้คะแต่ไม่ทราบจะติดต่อได้อย่างไร ตามความเห็นของหนูคิดว่าน่าจะลองปฏิบัติดูไม่น่ามีอะไรเสียหายค่ะ

……………………………..