Latest

ผมเป็นนักศึกษาแพทย์หญิงครับ

กราบสวัสดีครับ อาจารย์หมอ
ก่อนอื่นผมต้องขอแนะนำตัวก่อนนะครับ ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ครับ อยู่ที่ …. ผมเป็นเพศหญิงนะครับ แต่ขออนุญาตใช้สรรพนามแทนตนว่าผมและคำลงท้ายว่าครับแล้วกันนะครับ 
ที่ผมอีเมล์มารบกวนอาจารย์ในครั้งนี้ คือผมมีเรื่องที่ติดในใจอยู่เรื่องนึงมานานพอสมควรอยู่ครับ ผมรู้สึกว่าตัวผมไม่ใช่ผู้หญิงมาตั้งแต่จำความได้แล้ว ทีนี้ มันก็ไม่ได้เกิดปัญหาอะไรเป็นพิเศษหนักหนาหรอกครับ ชีวิตที่ผ่านมาก็เรื่อยเปื่อย มีคนแปลกหน้าทักผิดบ้างว่าเป็นผู้ชาย เช่น ตอนผมเดินเข้าห้องน้ำหญิงในห้างบางครั้งคนก็มองแปลกๆ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ถึงขนาดสะกิดผมแล้วบอกประมานว่าผมเข้าผิดห้อ, ผมเคยอยู่หอใน ซึ่งแบ่งหญิงชาย บางครั้งยามจำหน้าไม่ได้ก็ถึงกับทักท้วงไม่ให้ผมเข้าไปเพราะคิดว่าเป็นผู้ชาย, มีวันนึงผม คุณแม่ และน้องสาว ไปร้านสังฆภัณฑ์เพื่อจะซื้อของทำบุญวันเกิด คนขายบอกแม่ผมว่า เอาผ้าไตรชุดเต็มนี้เลยมั้ย ชุดนี้ดีนะเนี่ย เวลาลูกชายบวชก็ใช้ชุดนี้ได้เลย (น้องสาวผม เป็นผู้หญิงนะครับ และภายนอก ก็เป็นสาวน้อยปกติ) วันนั้นคุณแม่แผ่รังสีอำมหิตใส่ผมเกือบทั้งวันเลยครับ ล่าสุด ผมไปงานหนังสือ (ผมตัดผมสั้น แต่ไม่ได้เกรียนรองทรงอะไรนะครับ ก็ธรรมดา เหมือนสาวห้าวบางคน บางคนยังสั้นกว่าผมอีก แล้วก็แต่งกายลำลอง เสื้อยืดกางเกงยีนส์) ผมได้เดินไปถามแม่บ้านว่า ห้องน้ำไปทางไหนคะ แต่สงสัยจะไม่ได้ยินคำว่าคะ แม่บ้านตอบผมด้วยสีหน้าท่าทางที่เมตตาและยิ้มแย้มว่า เดินตรงไปสุดซ้ายมือเลยจ้า ห้องน้ำชายอยู่ตรงนั้น ผมก็ เออะ! แล้วก็ขอบคุณค่ะ เบาๆ 
เล่ามาตั้งยืดยาวชักเกรงใจอาจารย์แล้วครับ เอาเป็นว่า
1.ผมไม่ได้มีความภาคภูมิใจอะไรเลยครับ ที่มีคนมองผมว่าเหมือนผู้ชาย เพราะกายผมยังคงเป็นผู้หญิง 
2.ผมคิดว่า ผมเป็นผู้ชายครับ ผมรู้สึกไม่ดีมาตลอดกับการที่มีหน้าอก และมีอวัยวะที่เป็นหญิง ผมไม่ได้อยากเป็นทอม เหมือนที่คนรอบข้างบางคนชอบเรียกผม คือ ผมมองทอมคนอื่น ผมยังรู้สึกไม่ค่อยชอบเลยครับ รู้สึกแปลกๆ (แบบนี้ผมเป็นอะไรอะครับ ผมก็สงสัยตัวเองอยู่)
3.ผมมีความคิดมานานแสนนานเหลือเกินแล้วครับ ตั้งแต่ประถมปลาย ว่าอยากแปลงเพศให้เป็นผู้ชายไปเลยครับ จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังมีความคิดนี้และมุ่งมั่นว่าอยากจะทำให้สำเร็จครับ
4.ผมได้มีโอกาสเปิดใจกับคุณแม่ไปเมื่อไม่นานมานี้เองครับ ว่าผมไม่ใช่ผู้หญิง ผมชอบผู้หญิง คิดว่าตัวเองเป็นผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง เรื่องนี้จบลงที่แม่ผมโอเคดีครับ ถือว่าผมโล่งใจมากกับเรื่องนี้ที่อัดอั้นมาเนิ่นนาน
5.ผม เคยมีแฟนคนนึงเป็นผู้หญิงครับ แต่เพิ่งเลิกกันไป ผมชอบผู้หญิงมาตลอด ไม่เคยชอบผู้ชายครับ แต่ไม่ได้เกลียดผู้ชายนะครับ เพื่อนผู้ชายของผมก็มีอยู่และก็สนิทกันมากด้วยซ้ำไป
ทีนี้ คำถามครับ คือว่า
1.ถ้าผมเรียนจบปี 6 แล้ว คือ ยังไงตัวผมก็จะเรียนต่ออยู่แล้วอะครับ ซึ่งก็ต้องออกไปใช้ทุนอย่างน้อย 1 ปีก่อน ทีนี้ผมอยากเรียนถามอาจารย์ว่า ถ้าผมจะกระทำการใดๆที่เปลี่ยนแปลงเพศตัวเองไป มันจะมีผลกระทบในวงการอาชีพแพทย์ไหมครับ เช่น กายเป็นชาย แต่บัตรประชาชนดันเป็นนางสาว เค้าจะรับผมเรียนต่อมั้ยครับ
2.การเลือกเรียนสาขาไหน จะมีผลไม่รับบุคคลแปลงเพศเป็นพิเศษมั้ยครับในความคิดของอาจารย์หมอ
3.แล้วถ้าการเรียนไม่มีปัญหา การทำงานของผมในอนาคต จะมีปัญหาจากเรื่องแปลงเพศมั้ยครับ ทั้งราชการและเอกชนอะครับ การเข้ารับราชการ ผมจะมีสิทธิเหมือนคนทั่วไปมั้ยครับ
4.เช่นนั้นแล้ว ผมควรจะเปลี่ยนตัวเองเมื่อไหร่ถึงจะสมควรที่สุดครับ ก่อนเรียนต่อ ขณะเรียนต่อ หรือหลังเรียนจบทำงานเป็นจริงเป็นจังไปแล้วครับ
ทั้งหมดที่ผมเล่าและถาม เป็นสิ่งที่ผมอัดอั้นตันใจมานานครับ ผมทราบดีว่าขั้นตอนการแปลงเพศนั้นยาก ซับซ้อน ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการพบแพทย์หลายขั้นตอน ผมจึงค่อยๆศึกษาไปเรื่อยๆครับ เพราะผมรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างและทุกขั้นตอนมีความเสี่ยง แต่เรื่องทางวิทยาศาสตร์แบบนี้มันศึกษาได้ครับ แต่เรื่องทางสังคมดังที่ผมได้เรียนถามอาจารย์ไป ผมไม่รู้และไม่กล้าที่จะไปถามใครจริงๆครับ ขอให้อาจารย์หมอตอบผมในฐานะที่อาจารย์เป็นแพทย์อาวุโส ในฐานะที่เป็นคนไข้ที่จะมีหมอที่แปลงเพศมานั่งตรวจ และในฐานะที่เห็นผมเป็นลูกเป็นหลานคนนึงนะครับ อาจารย์หมอจะมีความคิดเห็นอย่างไร อยากแนะนำ ว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอนอย่างไรผมยินดีรับไว้ทุกคำทุกประการครับ
ด้วยความเคารพอย่างสูงครับ
………………………………………………………..
ตอบครับ
     เป็นนักศึกษาแพทย์ยังเรียนไม่จบ แต่ผมขอเรียกว่า “คุณหมอ” ก็แล้วกันนะ เพราะเป็นการเรียกตามธรรมเนียมเพื่อให้นักศึกษาแพทย์มีจิตสำนึกว่าตัวเองกำลังมีภาระกิจใหญ่ของความเป็นแพทย์รออยู่เบื้องหน้า

     ปัญหาของคุณหมอคือตัวเป็นหญิง แต่ใจเป็นชาย คือเพศที่เราปักใจเป็น ไม่ตรงกับกายวิภาคของเรา จึงเกิดความทุกข์ใจในเรื่องเพศของตัวเอง (gender dysphoria) หากถือตามการจำแนกโรคทางจิต (DSM-IV-TR) ถือว่าตัวคุณหมอป่วยเป็นโรค ความผิดปกติในความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเพศใด (gender identity disorder หรือ transexualism)” ความทุกข์นี้เป็นตัวนำไปสู่การเสาะหาการผ่าตัดแปลงเพศ และการเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเองในสังคม แนวทางการรักษาคนเป็นโรคนี้มุ่งไปที่การรับฟังความเชื่อและเจตคติของเขาแล้วนำมากำหนดแนวทางช่วยเขาลดความทุกข์ (suffering) และช่วยให้เขาอยู่ในสังคมได้โดยยังปล่อยให้เขาสามารถธำรงความเชื่อ ความชื่นชอบ และความฝักใฝ่ในเรื่องการเป็นเพศใดของเขาไว้

     โรคของคุณหมอนี้ เป็นคนละเรื่องกับการที่ใครสักคนจะมีความรู้สึกชอบหรือจะ อินหรือจะ ซึ้งหรืออยากจะมีเซ็กซ์กับใคร ซึ่งอย่างหลังนี้เป็นประเด็น gender orientation และเป็นที่มาของคำเรียกเกย์ (ชายชอบชาย) เลสเบี้ยน (หญิงชอบหญิง) ไบเซ็กช่วล เป็นต้น อย่างหลังนี้คือก็คือรักร่วมเพศ หรือ homosexualism ซึ่งหลักวิชาแพทย์ไม่ได้ถือว่าเป็นโรค คือไม่ใช่ทั้งโรคทางกายและไม่ใช่ทั้งโรคทางจิต เพราะการรักร่วมเพศ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีทั้งในคนและในสัตว์  ความสับสนระหว่างสองเรื่องนี้ (transexualism กับ homosexuality) คนทั่วไปหรือแม้แต่หมอส่วนหนึ่งก็ยังไม่เข้าใจ ทำให้คุณพ่อคุณแม่หรือหมอบางท่านไปพยายามจับลูกที่เป็นเกย์หรือเป็นเลสเบี้ยนมารักษา ซึ่งเป็นการเข้าใจชีวิตผิดไปอย่างสิ้นเชิง

     คราวนี้มาตอบคำถามของคุณหมอนะ

1. ถามว่าถ้าคุณหมอเรียนจบปี 6แล้วทำผ่าตัดแปลงเพศจะมีผลต่องานอาชีพไหม ตอบว่าขอแบ่งเป็นสองส่วนนะ คือ

1.1 ชีวิตในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ และข้อราชการ จะต้องมีปัญหาแน่นอน เพราะกฎหมายไทยไม่ยอมรับว่ามีการผ่าตัดแปลงเพศอยู่ในโลกนี้ เมื่อคุณถูกตีทะเบียนเป็นเพศใดไปแล้ว กฎหมายจะถือว่าคุณเป็นเพศนั้นไปจนตาย ไม่ว่าคุณจะใส่กระโปรงหรือกางเกง คุณก็ยังเป็นนางสาวอยู่นั่นเอง

1.2 ชีวิตในส่วนของการทำงานเป็นแพทย์ ไม่มีปัญหาอะไรหรอกครับ เพราะในหมู่หมอด้วยกันไม่มีใครรังเกียจใคร ในหมู่คนไข้ ถ้าเป็นคนไข้รุ่นเก่าก็จะมีอยู่บ้างที่ตั้งข้อรังเกียจหมอที่ออกแนวเกย์หรือเลสเบียน หรือหมอรักร่วมเพศ แต่ว่าคนไข้แบบนั้นก็กำลังจะสูญพันธุ์ไปแล้ว เพราะหาหมอแมนจริงๆเลดี้แท้ๆที่ตรงสะเป๊คมารักษาตัวเองได้ยากยิ่งขึ้นทุกวัน
2. ถามว่าผ่าตัดแปลงเพศแล้วในการเข้าเรียนแพทย์ประจำบ้านจะเข้าเรียนแบบเพศชายได้ไหม ตอบว่าไม่ได้หรอกครับ เพราะกระบวนการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต้องทำผ่านแพทยสภา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ ถ้าคุณจะเข้าเรียน คุณต้องเข้าแบบเป็นผู้หญิงเท่านั้น ส่วนการแต่งกายคุณจะแต่งตัวเป็นผู้ชายเข้าห้องน้ำชายนั้น ในโรงเรียนแพทย์ทุกแห่ง ไม่มีใครว่าอะไรหรอกครับ
3. ถามว่าสาขาวิชาเฉพาะสาขาไหน มีอัตราตั้งข้อรังเกียจคนเป็น transexuality หรือ homolsexualism มากน้อยต่างกันอย่างไร อันนี้ในเมืองไทยผมไม่มีข้อมูลเลยครับ แต่มีข้อมูลของในต่างประเทศ ว่าส่วนใหญ่เกิน 90% รับเข้าเรียนได้โดยไม่รังเกียจ ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยสอบถามผู้อำนวยการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวทั่วอเมริกาพบว่า 67% ยินดีรับ 25% รับได้ มีเพียง 8% ที่ไม่อยากรับคนเป็น transsexual หรือ homosexual เข้าฝึกอบรม
4. ถามว่าฝึกอบรมจบแล้ว อนาคตในฐานะแพทย์ที่ผ่าตัดแปลงเพศมาแล้ว จะไปรอดไหม ตอบว่าไปรอดแน่นอน แต่ว่าในบัตรประจำตัวคุณต้องเป็นหญิงนะ ถ้ารังเกียจคำนำหน้าที่ป้ายหน้าอกว่า พญ. คุณก็เขียนว่า แพทย์ คำเดียวสิครับ แต่อย่างน้อยคุณก็ใส่กางเกงได้ ตัดผมสั้นได้ ใส่เสื้อกาวน์สั้นได้ เข้าห้องน้ำแพทย์ชายได้ แนะนำตัวเองได้ว่า “..ผม หมอเท่ระเบิด ครับ “ กับคนไข้ได้ และอาจจะได้แต่งงานกับผู้หญิงด้วย ถ้าคุณหาคู่ที่มีเป้าหมายการแต่งงานว่าไม่ได้แต่งเพื่อทำลูกเจอ กรณีรับราชการ คุณก็จะมีสิทธิ์โดยสมบูรณ์เท่าที่ข้าราชการหญิงคนหนึ่งจะพึงมี รวมทั้งสิทธิลาคลอดบุตรและเลี้ยงลูกด้วย
  
5. ถามว่าควรจะผ่าตัดแปลงเพศเมื่อไหร่จึงจะดีที่สุด ตอบว่าอย่างน้อยที่สุดต้องรอให้เข้ารับราชการได้เรียบร้อย ใช้ทุนให้เสร็จ และให้เขารับเข้าฝึกอบรมแพทย์ประจำให้ได้ก่อน อย่าผ่าตัดแปลงเพศก่อนที่ยังเข้าไปในระบบไม่ได้เป็นอันขาด เพราะระบบของเรานี้ ถ้ามีอะไรแปลกๆมาจะถูกส่งไปตีความ เพียงแค่รพ.ต้นสังกัดเขาส่งเรื่องของคุณไปให้กรมอัยการตีความหรือให้นิยามคำว่า “เพศ” ของคนที่ผ่าตัดแปลงเพศมา คำเดียวเนี่ย คุณอาจจะต้องรอผลการตีความและหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนานถึง 100 ปี กว่าจะได้เข้ารับราชการ แต่เมื่อคุณเข้าไปในระบบได้แล้ว คราวนี้คุณจะเอาหัวเดินต่างตีนก็ได้ไม่มีใครว่า คุณจะผ่าตัดแปลงเพศขณะเรียนแพทย์ประจำบ้านก็ได้ถ้าใจร้อน ไม่ต้องรอให้เรียนจบหรอก แต่ต้องเข้าไปให้ได้ก่อน ผมรับประกันว่าเมื่อเข้าไปได้แล้ว คุณจะไม่ถูกไล่ออกกลางคันเพราะการผ่าตัดแปลงเพศแน่นอน เนื่องจากกฎหมายและระเบียบไทยถือว่าการผ่าตัดแปลงเพศยังไม่มีอยู่ในโลกนี้ ดังนั้นพวกเขาไม่มีข้อกฎหมายหรือข้อระเบียบข้อใดจะมาเอาเรื่องคุณได้หรอก อีกอย่างหนึ่งในวงการนี้ ผมว่า คุณมี “แนวร่วม” แยะนะ (อุ๊บ.. ขอโทษ ปากเสีย ชอบแนะแหน)    
6. ท่านผู้อ่านทั่วไปที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ลึกซึ้งอาจนึกตำหนิผมว่าหมอสันต์ทำไมไปส่งเสริมให้หมอรุ่นใหม่ทำอะไรวิตถารแบบผ่าตัดแปลงเพศแทนที่จะช่วยยับยั้งชักจูงให้อยู่ในจารีตประเพณีอันดีงาม ทำอย่างนี้จะไม่เป็นการเร่งให้วงการของตัวเองตกต่ำหรือ ตอบว่า 

หากจะถือตามหลักกฎหมายและหลักจริยธรรม ร่างกายของใคร เป็นสิทธิของเขาคนนั้น เขาจะทำอะไรกับร่างกายของเขา คนอื่นห้าม ส. (ใส่เกือก

หากจะถือตามหลักวิชาชีพแพทย์ คุณหมอท่านนี้ป่วยเป็นโรค transexualism ซึ่งมาตรฐานวิชาแพทย์มีแนวทางการรักษาว่าให้มุ่งไปที่การรับฟังความเชื่อและเจตคติของเธอแล้วนำมากำหนดแนวทางช่วยเธอลดความทุกข์ (suffering) และช่วยให้เธออยู่ในสังคมได้โดยยังปล่อยให้เธอสามารถธำรงความเชื่อ ความชื่นชอบ และความฝักใฝ่ในเรื่องการเป็นเพศใดของเธอไว้  สมมุติว่า อย่าว่าแต่ผมเลยนะ ต่อให้เป็นผู้มีอิทธิพลสูงสุดต่อชีวิตของเธอเช่นพ่อแม่ของเธอ ห้ามเธอไม่ให้ผ่าตัดแปลงเพศ  แต่ใจเธอก็ยังอยากทำอยู่ดี ในที่สุดจะชักนำเธอไปสู่ความขัดแย้งในใจที่รุนแรง กลายเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ซึ่งเป็นอาการหลักของ transexualism อาการเหล่านี้รวมไปถึงการฆ่าตัวตาย และภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง กลายเป็นว่าเราก็จะได้คนไข้ที่เป็นภาระกับสังคมมาหนึ่งคน แทนที่จะได้แพทย์ที่มีพลังสร้างสรรค์สังคมมาหนึ่งคน คุณว่าอย่างไหนดีกว่ากันละครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Cabaj RP, Stein TS, eds. Textbook of Homosexuality and Mental Health. Washington, DC:. American Psychiatric Press;1996. 

2. American Psychiatric Association. Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fourth Edition, Text Revision (DSM-IV-TR). 4th ed. Washington, DC: American Psychiatric Association; 2000. 

3. Reiner R. To Be Male or Female–That is the Question. Arch Pediatr. Adolesc. Med.1997:151:225.

4. Oriel KAMadlon-Kay DJGovaker DMersy DJ. Gay and lesbian physicians in training: family practice program directors’ attitudes and students’ perceptions of bias. Fam Med. 1996;28(10):720-5.

…………………………………………

จดหมายจากผู้อ่าน
14 มิย. 56

  • อ.คะ ตอนนี้หนูเป็น extern อยู่ค่ะ จากที่เคยอ่านบทความของอ. เรื่อง sexual identity disorder ที่อ.บอกว่าเท่าที่ทราบ ไม่น่าจะเป็นปัญหากับการเรียนต่อ ถ้าหนูเจาะจงไปที่สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น อ.พอจะทราบมั้ยคะว่าเขาพิจารณาเรื่องเพศที่3ในการเข้าเรียนต่อไหม เพราะว่าจิตแพทย์เด็กที่เป็นเพศที่3อาจจะinduceให้เด็กเป็นตามได้หรือไม่คะ
    ตอบครับ

    1. ที่่ว่าหมอเด็กเป็นตุ๊ดเป็นทอมจะพาลให้เด็กเพี้ยนตามไป ด้วย อันนี้ไม่จริงหรอกครับ ไม่เคยมีหลักฐานแบบนี้เลย
    2. กฎระเบียบที่จะกันคุณไม่ให้เป็นแพทย์จิตเวชเด็กและวัยรุ่นไม่มีหรอกครับ แต่อาจจะมี “ด่าน” ในใจของอาจารย์ผู้ทำการสัมภาษณ์ เหมือนความกลัวกำแพงเสียง (sound barrier) ที่อยู่ในใจของนักบินสมัยก่อน ทั้งที่กำแพงดังกล่าวไม่มีอยู่จริง ผมแนะนำวิธีแก้ไขว่า
    2.1 หาสถาบันที่อาจารย์เป็นคนรุ่นใหม่ใจกว้างหน่อย
    2.2 ตอนสัมภาษณ์เข้าก็ทำตัวกระมิดกระเมี้ยนหน่อยสิครับ การสอบสัมภาษณ์ก็เหมือนการสอบข้อเขียน คือต้องเดาใจกรรมการ จึงจะได้คะแนนดี

    สันต์ ใจยอดศิลป์