Latest

ทำอย่างไรจะไม่แก่ (Anti-aging กับ telomere)

สวัสดีค่ะ คุณหมอสันต์ ดิฉันเป็นคนเกษียณแล้วเหมือนกันค่ะ ได้ดูคุณหมอสันต์ในรายการโทรทัศน์วันอาทิตย์ที่แนชั่นแชนแนล เห็นว่าคุณหมอสันต์แม้จะเกษียณแล้วแต่ก็ยังดูหนุ่ม ยังเคลื่อนไหวคล่องแคล่ว ตัวดิฉันเองตั้งแต่เกษียณมาแล้วเห็นชัดว่าตัวเองแก่ลงมาก ช้าลงมาก ขี้หลงขี้ลืมเป็นที่หนึ่ง วันไหนไม่ได้แต่งหน้าไม่อยากมองหน้าตัวเองในกระจกเพราะเหมือนแก่ล่วงหน้าไปแล้วสักสิบปี วันๆมันรู้สึกไม่อยากออกไปไหน แต่ก็ต้องพยายามออก เพราะเบื่อคุณสามีที่ชอบบังคับให้อยู่เป็นเพื่อนและเอ่ยปากขอให้หาโน่นหานี่ให้ทานเหมือนสมัยที่เขายังทำงานอยู่ ทั้งๆที่ตอนนี้เกษียณแล้วน่าจะหัดทำอะไรเองบ้าง แต่ว่าออกจากบ้านแล้วก็ไม่ค่อยมีที่ไป เพราะเพื่อนๆก็ห่างหายกันไปหมดเพราะเราเอาแต่ดูแลลูกและสามีอยู่หลายสิบปีไม่ได้ติดต่อกับใครจึงไม่ได้ข่าวคราวของคนอื่น อยากให้คุณหมอสันต์แนะนำว่าทำอย่างไรจึงจะไม่แก่อย่างคุณหมอสันต์บ้าง คุณหมอทานอย่างไร อยู่อย่างไร ทานวิตามินหรืออาหารเสริมอะไรอยู่บ้าง คุณหมอสันต์ฉีดสะเต็มเซลหรือเปล่า คืออยากรู้ว่าในเรื่อง anti-aging นี้ อะไรเป็นจริง อะไรหลอก ขอบคุณค่ะ (ชื่อ..) ดิฉันต้องขอโทษด้วยที่เขียนติดกันหมดเพราะทำย่อหน้าไม่เป็น เพิ่งหัดส่งอีเมล ยังไม่ถนัด 
……………………………….
ตอบครับ
ผมหายศีรษะไปหลายวัน เพราะไปทำแค้มป์สุขภาพให้กับคณะผู้เกษียณอายุจำนวนราว 50 คน ขององค์กรใหญ่แห่งหนึ่ง ผมพาท่านเหล่านั้นไปกินไปนอนอยู่ในรีสอร์ทแห่งหนึ่งที่นครนายกสามสี่วัน เพื่อเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้เกษียณ เพิ่งกลับมาวันนี้ จึงหยิบจดหมายฉบับนี้ขึ้นมาตอบเพราะยังอยู่ในอารมณ์ของ “ผู้เกษียณ” อุ่นๆอยู่เลย
1.. ประเด็นอะไรจริงอะไรหลอก ตัวหมอสันต์ในทีวีที่ดูหนุ่มเป็นของหลอก แต่ตัวจริงที่แก่เหลาเหย่แล้วเป็นของจริง หิ..หิ

2.. ประเด็นส่องกระจกแล้วไม่อยากมองหน้าตัวเอง ผมว่าทางแก้ที่ชะงัดที่สุดน่าจะเป็นศัลยกรรมตกแต่งนะครับ (อะจ๊าก..ก พูดเล่น)

3.. ถามว่าทุกวันนี้ผมกินวิตามินอาหารเสริมอะไรบ้าง ตอบว่ากินแต่น้ำมันปลาวันละ 1 เม็ด (1 กรัม) ครับ อย่างอื่นไม่ได้กินอะไร เคยพยายามจะกินเบบี้แอสไพรินวันละเม็ดเพื่อลดการเป็นมะเร็งกับเขาบ้าง แต่ก็ไปไม่รอดเพราะกินแล้วปวดท้อง ส่วนวิตามินรวมซิลเวอร์เซ็นทรัม แต่ก่อนก็เคยกินวันละเม็ด แต่พอหลักฐานวิจัยสุขภาพแพทย์ (Physician Health Study) ได้ผลออกมาแล้วว่าไม่มีประโยชน์ ผมก็เลิกกิน

4. ถามว่าผมเคยฉีดสะเต็มเซลหรือเปล่า ตอบว่า ไม่เคยครับ โธ่ ผมจะหาเรื่องเจ็บตัวไปทำพรื้อ..อ เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับเลยแม้แต่น้อยนิด ยกเว้นกรณีสำหรับคนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเท่านั้น อีกอย่างหนึ่ง หุ..หุ.. คุณรู้จัก ผบ. ทบ. ของผมน้อยไปเสียแล้ว เธอไม่มีวันอนุมัติงบประมาณให้กับเรื่องเหลวไหลอย่างนั้นหรอก

5. ถามว่าในเรื่อง anti-aging นี้มีอะไรได้ผลจริงจังบ้าง ตอบว่า คือหลักฐานวิทยาศาสตร์เรื่อง anti-aging (ในคน) ทุกวันนี้มีน้อย เพราะตัวชี้วัดที่เชื่อถือได้ไม่มี หากจะเอาความยืนยาวของชีวิตเป็นตัวชี้วัด งานวิจัยก็ต้องทำกันนานถึง 20 – 40 ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่ง ณ วันนี้ยังไม่มีใครทำงานวิจัยแบบนี้สักชิ้นเดียว
    ในบรรดาตัวชี้วัด anti-aging ที่พอใช้ได้ทุกวันนี้ วงการแพทย์ดูจะยอมรับการยืดหรือหดตัวของทีลอเมียร์ (telomere) ว่าเป็นอะไรที่มีความสัมพันธ์กับการแก่ช้าหรือเร็วมากที่สุด ทีลอเมียร์ก็คือส่วนปลายของเส้นโมเลกุลของโครโมโซม ซึ่งเป็นแหล่งรวมระหัสพันธุกรรมที่เรียกว่า “ยีน (gene)” ตัวยีนเป็นระหัสพันธุกรรมที่ควบคุมหรือบ่งชี้ว่าเซลลูกที่เกิดจากการแบ่งตัวจากเซลแม่จะมีหน้าตาและความสามารถในการทำงานอย่างไร พูดง่ายว่ายีนคือผู้บงการชะตาชีวิตของเซลร่างกายเรา ส่วนเทลอเมียร์มีหน้าที่คุ้มกันยีนไม่ให้หลุดลุ่ยเสียหายจากการแบ่งตัวของเซลซ้ำๆซากๆ เปรียบเหมือนตรงปลายของเชือกผูกรองเท้าจะมีปลอกพลาสติกหรือปลอกเหล็กเล็กๆรัดไว้ไม่ให้ปลายเชือกผูกรองเท้าลุ่ย ทีลอเมียร์ก็มีหน้าที่เช่นเดียวกัน ประเด็นก็คือเมื่อเซลแบ่งตัวรุ่นแล้วรุ่นเล่า ทีลอเมียร์จะหดสั้นลงจนหมดเกลี้ยงในที่สุด เมื่อทีลอเมียร์หมดเกลี้ยง ยีนจะเริ่มหลุดลุ่ยเสียหาย ทำให้เซลรุ่นต่อไปจะออกอาการผิดเพี้ยน เหลาเหย่ เป็นมะเร็ง หรือหมดอายุ พูดง่ายๆว่าความแก่มาเยือน
บรรทัดนี้ผมขอหยุดหนึ่งนาทีเพื่อคารวะต่อนักศึกษาป.โทสาวชาวออสซี่คนหนึ่งชื่อ แครอล กรีเดอร์ (Carol W. Greider) ซึ่งเป็นผู้ค้นพบเอ็นไซม์ทีลอเมียเรส (telormerase) ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการหดสั้นของทีลอเมียร์ ขณะทำวิทยานิพนธ์ป.โทของเธอ และผลงานนี้ส่งผลให้เธอได้รับรางวัลโนเบลร่วมในสาขาชีวะโมเลกุล

มีงานวิจัยที่สรุปผลได้ว่าความเครียดเรื้อรังทำให้ความแอคทีฟของเอ็นไซม์ทีลอเมียเรสลดลง ทำให้ทีลอเมียร์หดสั้นเร็วกว่าปกติ จึงอาจมีผลให้อายุสั้นลงด้วย
แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคืองานวิจัยที่แคลิฟอร์เนีย ทำโดยกลุ่มคนที่เชื่อถือได้รวมทั้งผู้ที่ได้รางวัลโนเบลในเรื่องทีลอเมียร์ด้วย ในงานวิจัยนี้เขาเอาคนอายุมากตัวเป็นๆมา 30 คน มาวัดกิจกรรมของเอ็นไซม์ทีลอเมียเรสและความยาวของทีลอเมียร์ไว้หมด แล้วให้เข้าโปรแกรมปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงเป็นเวลานาน 3 เดือน โดยไปเริ่มต้นกันที่รีสอร์ทแห่งหนึ่ง ซึ่งในโปรแกรมนี้ทุกคนจะต้องทำสิ่งต่อไปนี้ คือ
1.. เปลี่ยนอาหารที่เคยกิน ไปกินอาหารแคลอรี่ต่ำ ไขมันต่ำ (มีแคลอรี่จากไขมันไม่เกิน 10%) เป็นอาหารออกแนวมังสะวิรัติ (plant based) มีผักผลไม้มากๆ ถั่วต่างๆมาก กินธัญพืชไม่ขัดสีแทนแป้งและคาร์โบไฮเดรตจากธัญพืชขัดสี และบังคับให้กินเต้าหู้และน้ำมันปลาทุกวันทุกคน โดยมีนักโภชนาการคอยจัดอาหารและคุมอาหารให้
2.. ออกกำลังกายแบบแอโรบิกด้วยวิธีเดินเร็วจนถึงระดับหนักพอควร (หอบจนร้องเพลงไม่ได้) อยู่นานอย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง สัปดาห์ละ 6 ครั้ง
3.. จัดการความเครียดโดยใช้เวลาวันละ 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 6 วัน ด้วยวิธีต่างๆเช่น โยคะแบบผ่อนคลาย หรือฝึกสติตามดูลมหายใจ (breathing meditation) หรือฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
4.. เข้าพบปะกันในกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน สัปดาห์ละอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ทุกสัปดาห์
ทำอยู่อย่างนี้นาน 3 เดือน แล้ววัดดูตัวชี้วัดต่างๆรวมทั้งกิจกรรมของทีลอเมียเรสและความยาวของทีลอเมียร์ พบว่าทุกคน นอกจากจะได้รับผลดีที่ตัวชี้วัดสุขภาพพื้นฐานดีขึ้น เช่นดัชนีมวลกายที่สูงเกินปกติลดลง ไขมันเลวในเลือดที่สูงลดลง ความดันเลือดที่สูงลดลง น้ำตาลในเลือดและการใช้ยาเบาหวานลดลงแล้ว ยังพบว่าทุกคนมีกิจกรรมของทีลอเมียเรสเพิ่มขึ้น และความยาวของทีลอเมียร์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

     แม้ว่าความรู้เรื่องทีลอเมียร์ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ยังมีประเด็นถกเถียงค้างคากันอยู่บ้าง แต่งานวิจัยนี้เป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าอย่างน้อยก็มีอยู่หนึ่งสิ่ง ที่สัมพันธ์กับการเพิ่มกิจกรรมของเอ็นไซม์ทีลอเมียเรสและความยาวของทีลอเมียร์ซึ่งเป็นสภาวะของยีนที่พบร่วมกับการมีอายุยืนหรือการแก่ช้า สิ่งนั้นก็คือการปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงในสี่ประเด็นข้างต้นนั่นเอง
     ดังนั้น ถ้าคุณเชื่อหลักฐานวิทยาศาสตร์หนึ่งเดียวที่มีอยู่ในเรื่องนี้ ทางเลือกสำหรับคุณนอกจากศัลยกรรมตกแต่งแล้ว ก็คือ “การปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง” ไงครับ แบบว่า 1, 2, 3, 4 ข้างต้นนั่นแหละ
5.. ถามว่าตัวผมเองใช้ชีวิตอย่างไรทุกวันนี้ ตอบว่าผมก็พยายามทำตามหลักการปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงทั้ง 1, 2, 3, 4 เหย็งๆอยู่นี่ไงครับ ตอนนี้ข้อ 1, 2 ทำได้แล้วพอควร แต่ข้อ 3, 4 ยังทำไม่ได้ แต่ก็กำลังพยายามอยู่ ความยากอยู่ที่เวลาไม่พอใช้ จะให้จัดเวลาโยคะหรือนั่งสมาธิตามดูลมวันละหนึ่งชั่วโมง โห.. จะตัดกิจกรรมในชีวิตตรงไหนออกไปดีละ ทุกเรื่องก็ต้องทำหมด จึงยังตัดไม่ขาด แหะ..แหะ แบบว่าป่วยเป็นโรคคลาสสิก “กลุ่มอาการเวลาไม่พอใช้” หรือ “Not Enough Time Syndrome” เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องตัดใจโช้ะ จึงจะรักษาให้หายได้ แต่ตอนนี้ยังตัดใจไม่ขาด เอาไว้รอให้รายการทีวี.หมดซีซั่นก่อนนะ คราวนี้จะ..โช้ะ ปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง  เอาให้หายขาดแน่  
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม

1.      OrnishD, LinJ, DaubenmierJ, WeidnerG, EpelE, KempC,  Magbanua MJW, MarlinR,  Yglecias R, CarrollPR, BlackburnEH. Increased telomerase activity and comprehensive lifestyle changes: a pilot study. The Lancet Oncology 2008;  9 (11): 1048 – 1057. doi:10.1016/S1470-2045(08)70234-1http://www.thelancet.com/images/clear.gif