Latest

เรื่องหมู่เลือดกับอาหาร..(โลกนี้แม้แต่ “ขี้” ก็ขายได้)

คุณหมอสันต์ครับ
ผมอายุ 34 ปี เป็นคนที่ป่วยบ่อย เป็นหวัดบ่อย จนทำงานได้ไม่เต็มที่ ผมทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเอาหนังสือชื่อ …. เขียนโดย… ซึ่งมีสาระว่าคนเราควรกินอาหารตามหมู่เลือด เช่นคนเลือดหมู่
A ควรกินมังสะวิรัติ
B ควรหลีกเลี่ยงถั่วลิสง ข้าวโพด มะเขือเทศ
O ควรงดพวกนม กลูเต็น และธัญพืช
ผมมีเลือดหมู่ A แต่ตัวผมนั้นเป็นคนชอบทานเนื้อสัตว์ ซึ่งก็ไม่เข้ากับหมู่เลือดของตัวเอง ญาติเขาก็แนะนำให้เปลี่ยนอาหารตามหนังสือนี้ เพราะในหนังสือก็เล่าว่ามีคนทดลองปฏิบัติและได้ผลดีมาแล้ว ผมก็อยากจะมีสุขภาพดี แต่ก็ไม่แน่ใจว่าคำแนะนำในหนังสือนี้จะเชื่อถือได้หรือเปล่า จึงอยากขอคำแนะนำจากคุณหมอครับ
……………………………………………..
ตอบครับ
     เอ พักนี้ไม่รู้เป็นไร มีแต่คนเอาหนังสือเล่มโน้นเล่มนี้มาถามว่าจริงไหม ถ้าขยันถามกันแบบนี้รับประกันว่าวันหนึ่งผมต้องเสียสุขภาพเพราะศีรษะโดนของแข็งกระทบเป็นแน่
     เรื่องการกินอาหารตามหมู่เลือดนี้โคตรเหง้าศักราชมันมาจากฝรั่งชื่อนาย Peter D’ Adamo เขียนเป็นหนังสือขึ้นชื่อ กินอย่างไรให้เหมาะกับหมู่เลือดของคุณ หรือ Eat Rigth 4 Your Type ซึ่งเป็นหนังสือขายดิบขายดี คือขายได้ถึงมากกว่าเจ็ดล้านเล่ม วงการแพทย์ก็มองตาปริบๆโดยไม่มีใครว่าอะไร ได้แต่พากันงงว่า เออ
     “..เฮ้ย โลกนี้ แม้แต่ ขี้ก็ขายดิบขายดีนะโว้ย”
     จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้มีหมอกลุ่มหนึ่งทิ่อิสานของยุโรป (คำว่าอิสานของยุโรปนี้ เป็นคำพูดที่ผมคุยสนุกๆกับเพื่อนหมอที่มาจากยุโรปสมัยที่ทำงานอยู่กับ American Heart ด้วยกัน คือเป็นคำที่ผมใช้เรียกชื่อประเทศเบลเยี่ยมสมัยนั้น โดยเรียกตามคำบอกเล่าของเพื่อนหมอชาวเบลเยี่ยม คือเทียบว่ายุโรปแบบปารีสลอนดอนมิวนิคเขาเจริญหรูเลิศอลังการ์แบบกรุงเทพสะแมนแตน เบลเยี่ยมก็ประมาณอิสานของเราเนี่ยแหละ แต่ว่าเดี๋ยวนี้ตำแหน่งนึ้คงถูกยุโรปตะวันออกแย่งไปเสียแล้ว) กลับเข้าเรื่องดีกว่า พวกหมอกลุ่มหนึ่งที่เบลเยี่ยม ได้ยอมเสียเวลาตัวเองมาเล่นขี้ คือได้รวมกันทำการวิจัยแบบทบทวนงานวิจัยย้อนหลังที่เคยมีมาทั้งหมดในโลกนี้ เกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหมู่เลือดกับอาหารที่กินต่อสุขภาพในระยะยาว ว่ามันมีความสัมพันธ์กันจริงหรือไม่ แล้วตีพิมพ์ผลวิจัยไว้ในวารสารโภชนาการคลินิกอเมริกัน (American Journal of Clinical Nutrition) โดยรวมรวมรายงานวิจัยเรื่องนี้ได้ 1,415 รายการ แล้วไล่เข้าตามระดับชั้นของหลักฐานวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ
ชั้นสูงสุด: วิจัยแบบแบ่งกลุ่มคนเปรียบเทียบ 2 กลุ่ม โดยสุ่มตัวอย่าง
ชั้นต่ำลงมา: วิจัยแบบแบ่งกลุ่มคนเปรียบเทียบ 2 กลุ่มโดยไม่ได้สุ่มตัวอย่าง
ชั้นต่ำลงมา:  วิจัยผลในกลุ่มคนหนึ่ง 1 กลุ่มโดยไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบ
ชั้นต่ำลงมา: งานวิจัยในสัตว์ทดลองหรือในห้องทดลอง โดยไม่ได้ทำในคน
ชั้นต่ำสุด: เรื่องเล่า หรือเรื่องที่คิดขึ้นมาเอง (anecdotal)
     ในการทบทวนงานวิจัยครั้งนี้ เมื่อไล่ทั้งพันกว่ารายการเข้ากลุ่มแล้ว ปรากฏว่าที่เป็นหลักฐานระดับแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบด้วยการสุ่มตัวอย่างเพียง 1 รายการเท่านั้น ที่เหลือเป็นหลักฐานระดับเชื่อถือไม่ได้ทั้งหมด
     และเมื่อทีมหมอเบลเยี่ยมเอางานวิจัยที่เจ๋งสุดหนึ่งเดียวนี้มาวิเคราะห์แล้วก็สรุปว่าใช้ไม่ได้แล้วโยนลงตะกร้าทิ้งไป แล้วรายงานผลการวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหมู่เลือดกับอาหารในครั้งนี้ว่า 

“เป็นเรื่องยกเมฆที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนเลย”
     ผมอ่านดูแล้วรู้สึกว่าอะไรกันว่ะ งานวิจัยตั้ง 1,415 ชิ้น ใช้ไม่ได้สักชิ้นเดียวเลยเหรอ อะไรมันจะโหดยิ่งกว่าสมัยก่อนที่พ่อของเพื่อนผมซึ่งเป็นจ่าตำรวจไปสอบเป็นนายร้อยเสียอีก  (สมัยโน้นนายดาบยังไม่มี) กล่าวคือสมัยนั้นมีจ่าสมัครเข้าสอบเป็นนายร้อยสามพันกว่าคน ผ่านข้อเขียน 6 คน พอสอบสัมภาษณ์…ตกหมด
ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น
     ด้วยความงืด ผมยอมเสียเวลาตามไปอ่านรายละเอียดของงานวิจัยที่ทีมหมอเบลเยี่ยมเอาทิ้งถังขยะไปแล้ว ก็พบว่างานวิจัยนั้นมีความบกพร่องสามประเด็นคือ

     1.. ใช้ตัววัดผลที่ไม่ตรงกับเป้าหมายของการวิจัย หมายความว่าการวิจัยมีเป้าหมายจะดูว่าใครจะมีสุขภาพดีกว่ากัน แต่ไปใช้ ไขมัน LDL เป็นตัวชี้วัด คือ LDL นี้ไม่ใช่ตัวชี้วัดสุขภาพที่ดี ในคนที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสูง การมี LDL สูงก็ไม่ดี ถ้าต่ำก็ดี แต่ในคนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคขาดอาหาร การมี LDL ต่ำกลับไม่ดี คือพูดง่ายว่าเป็นตัววัดผลที่ตีความได้หลายแง่หลายง่าม

     2.. อาสาสมัครที่เข้าร่วมงานวิจัยรู้ข้อมูลที่ตั้งใจจะปิดบังด้วยการสุ่มตัวอย่างก่อนแล้ว หมายความว่าเป็นการสุ่มตัวอย่างเก๊ คือเกือบทุกคนรู้หมู่เลือดของตัวเองก่อนแล้ว พอรู้ความลับก่อน ก็ลำเอียงได้ ก็มีผลเหมือนไม่ได้สุ่มตัวอย่าง

     3.. กลุ่มตัวอย่างเล็กเกินไป อันนี้เป็นหลักสถิติทั่วไป ว่าต้องใช้กลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่มากพอจึงจะเห็นนัยสำคัญของความแตกต่างได้

     จาก 3 เหตุผลนี้ ผมเองก็เห็นด้วยว่าว่างานวิจัยชิ้นนี้ใช้ไม่ได้ สมควรทิ้งถังขยะจริงๆ
    และสำหรับท่านผู้อ่านที่ยังงงว่าวงการแพทย์เนี่ยมันทำอะไรกันว่ะ ทำไมตั้งหน้าตั้งตาผลิตผลงานวิจัยที่ใช้การอะไรไม่ได้ออกมากันมากมายอย่างนี้ แหะ แหะ ผมก็งงเหมือนกัน ผมจะเล่าเรื่องจริงให้ฟัง สมัยหนึ่งผมทำงานเป็นอนุกรรมการคัดเลือกหลักฐานมาประกอบการทำคำแนะนำการช่วยชีวิตนานาชาติให้สมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) โดยทุกหกเดือนเรานัดนั่งประชุมกันที่เมืองดัลลัส ทำอยู่นานสองปี เฉพาะหัวเรื่องการใช้ยาอดรินาลินฉีดแก้ไขภาวะหัวใจหยุดเต้น มีคนส่งหลักฐานเข้ามาสามพันกว่ารายการ แต่เป็นงานวิจัยที่เชื่อได้จริงๆ 2 รายการเท่านั้น ที่เหลือเป็นขี้ ..นี่ มันเป็นยังงี้ซะด้วยซิคะท่านสารวัตร
     กล่าวโดยสรุป เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหมู่เลือดกับอาหารนี้ เป็นเรื่องที่กุขึ้นโดยผู้เขียนหนังสือเพียงคนเดียว ไม่มีหลักฐานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ใดๆสนับสนุนเลยแม้แต่ชิ้นเดียว
     ถามว่าแล้วคนไข้ของหมอสันต์มีบ้างไหมที่เชื่อและกินอาหารตามหมู่เลือด
    ตอบว่ามีสิครับ มี หลายคนด้วย
     ถามว่าแล้วหมอสันต์แนะนำคนไข้เหล่านั้นว่าอย่างไรบ้าง
     ตอบว่าถ้าเขาหรือเธอไม่ถาม ผมก็ไม่แนะนำอะไร เพราะในฐานะแพทย์ประจำครอบครัว ผมมีหน้าที่เพียงทำความเข้าใจกับความเชื่อ และความคาดหวัง ของคนไข้เท่านั้น ไม่มีหน้าที่ไปลบล้างความเชื่อนั้น ยกตัวอย่างเช่นคุณเป็นคนกลัวผี (สมมุติ) แล้วผมบอกว่าไม่มีหลักฐานทางการแพทย์สักชิ้นเดียวที่บอกว่าผีมีจริง คุณอย่ากลัวผีเลย แล้วคุณเชื่อผมแมะ.. คุณก็ไม่เชื่อ ใช่ม้า
     คนไข้ของผมก็เหมือนกับคนส่วนใหญ่ทั่วโลกนะแหละครับ คือมีแนวโน้มจะเชื่อโทรทัศน์ เชื่อหนังสือ และเชื่ออินเตอร์เน็ท มิไยว่ามันจะเป็นเพียงแค่ขี้วัว (bullshit) ก็ตาม
      ดังนั้นคุณจะหันไปกินมังสะวิรัติเพราะเกิดเป็นคนเลือดหมู่เอ.หรือไม่ นั่นเป็นเรื่องของคุณ ผมไม่เกี่ยว ผมมีหน้าที่แค่แสดงหลักฐานประกอบการตัดสินใจให้คุณดูเท่านั้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม

1.      CusackL, BuckED, CompernolleV, and VandekerckhoveP. Blood type diets lack supporting evidence: a systematic review. Am J Clin Nutr May 22, 2013, doi:10.3945/​ajcn.113.058693(ajcn.058693)    .