Latest

กล้ามเนื้อสลายตัวจากยาลดไขมัน (rhabdomyolysis)

คุณ หมอสันต์ ครับ

น้าผมนอนรักษาตัวที่ เชียงใหม่ ในตอนนี้อาการค่อนข้างหนักครับ อาการกล้ามสลายครับ ค่ากล้ามเนื้อ เพิ่มขึ้นทุกวันครับ คือแย่ลงๆ ในตอนแรกแกรักษาโรคไต แล้วกินยาลดไขมันด้วยครับ (แต่ผมไม่แน่ใจว่าเป็นยาตัวไหน) ประมาณสัก 2 เดือนมานี้ครับ จากนั้นมีอาการอ่อนแรง จนต้องเข้าโรงพยาบาล แล้วนอนโรงพยาบาลได้ประมาณอาทิตย์กว่าแล้วครับ คุณหมอบอกว่า เป็นโรคกล้ามเนื้อละลาย แต่ตอนนี้คุณหมอที่รักษาไข้ เขายังหาสาเหตุไม่เจอครับ วันนี้ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจครับ แล้วทุกวันนี้ ฟอกไตเกือบทุกวันครับ เพื่อรักษาไตไว้ก่อนครับ คือผมไม่รู้จะช่วยน้ายังไงครับ ผมเลยเปิดรายการที่อาจารย์สันต์ เป็นพิธีกรคู่กับคุณสัญญา มีอยู่เทปหนึ่ง ตอนกล้ามเนื้อสลาย (อาจารย์ ดำรัส ตรีสุโกศล เป็นแขกรับเชิญ) กรณีคล้ายๆกับ case ของน้าผมมากครับ คืออาจารย์ดำรัสบอกว่า case แบบนี้เกิดน้อยมาก สุดท้ายนี้ ใคร่ขอความกรุณา คุณหมอช่วยแนะนำ หรือ แนะแนวทาง guideline เพื่อที่จะช่วยชีวิตน้าผม ด้วยน่ะครับ

ขอบพระคุณมากครับ

……………………………………………
ตอบครับ
     ก่อนอื่นต้องขอย้ำพันธกิจของบล็อกหมอสันต์ก่อนนะครับ ว่ามีไว้เพื่อให้ความรู้ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพียงแต่หยิบกรณีการเจ็บป่วยที่มีผู้ถามเข้ามาขึ้นมาเป็นตัวอย่างชักนำเข้าเนื้อเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค บล็อกหมอสันต์ไม่ใช่บล็อกรักษาโรคนะครับ การรักษาโรคมันต้องไปตามสูตรคือต้องพบหน้ากัน ดูโหงเฮ้ง ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจแล็บ ตรวจพิเศษ แล้ววินิจฉัยโรคให้ได้ก่อน แล้วจึงจะรักษา ซึ่งถ้าเป็นโรคใหญ่ๆก็ต้องรักษากันในโรงพยาบาล การตอบคำถามทางบล็อกนี้รักษาโรคไม่ได้นะครับ อย่าเข้าใจชีวิตผิดไป แล้วก็ไม่ต้องตะเกียกตะกายมาสืบหาหมอสันต์จนเจอตัวเป็นๆเพื่อมาให้หมอสันต์รักษาอย่างที่หลายท่านได้ทำไปแล้วนะครับ เพราะหมอสันต์ตอนนี้ปลดชราแล้ว ชีวิตที่เหลืออยู่ก็ไม่รับรักษาโรคแล้ว ทำแต่เรื่องส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และสอนคนให้ดูแลสุขภาพตัวเองเป็น และอาจจะทำงานอดิเรกอีกอย่างหนึ่งคือหาเรื่องทำอะไรแก้เหงาให้คนแก่ด้วยกันไป ตามประสาคนที่เจียมบอดี้ว่าตัวเองนั้นแก่แล้ว
“..เรื่องเมียน้อยน้องไม่ต้องพะวง
พี่บอกตรงตรงว่าไม่หลงบังอร
พี่ลืมเขาแล้วเมียจ๋าฟังก่อน
ไม่ขอย้อนไปอีกแล้วเมียแก้วคนดี
     จะอยู่กับน้องซื้อทองให้ใส่
จะช่วยไกวเปลเห่กล่อมลูกเสียที
เลิกแล้วเจ้าชู้พี่รู้ตัวดี
ขอสาปเสียที เพราะพี่มันแก่แล้วน้องเอย…
พี่มันแก่แล้วน้องเอ๊ย..
ตะแต๊ดตะแหร่ แต๊..แต..”
          แหะ..แหะ เนื้อเพลงนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับชีวิตจริงของหมอสันต์นะครับ รับประทานอย่าเข้าใจผิด ผมร้องเพลงนี้ขึ้นมาเพราะพอพูดถึงเจียมบอดี้ว่าแก่ก็เลยคิดถึงคุณพี่สุรพล สมบัติเจริญขึ้นมาเท่านั้นเอง
          กลับมาพูดถึงการที่คนไข้ชอบเข้าใจชีวิตผิดไปว่าหมอคนนั้นคนนี้เก่งเกินมนุษย์สามัญ ผมมีโจ๊กเรื่องหนึ่งจะเล่าให้ฟัง สมัยผมจบแพทย์ใหม่ๆ มีแพทย์รุ่นพี่ท่านหนึ่ง เอ่ยชื่อท่านก็คงได้เพราะไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย ท่านชื่อคุณหมอกระแส ท่านเล่าให้ผมฟังว่าสมัยจบแพทย์ใหม่ๆ (ประมาณ พ.ศ. 2510) ไปเป็นหมอบ้านนอกอยู่ที่เมืองพล จังหวัดขอนแก่น ท่านเป็นหมอขวัญใจคนจนที่มีชื่อเสียง คนไข้ล่ำลือกันไปว่าท่านเก่งสารพัด วันหนึ่งมีคนไข้จากตัวจังหวัด เป็นมะเร็ง อุตสาห์บากบั่นมาหาท่านที่เมืองพลซึ่งสมัยนั้นเป็นสุขศาลาระดับอำเภอ พอมีคนไข้มะเร็งมาท่านก็เห็นเป็นโอกาสดีจะได้อัดเทปวิธีซักประวัติคนไข้มะเร็งไว้สอนพวกพยาบาลที่ช่วยงานอยู่ จึงจัดแจงบอกคนไข้ว่าขออัดเทปไว้สอนนะ ว่าแล้วก็ทำการซักประวัติเป็นขั้นตอนไปตามหลักวิชา คนไข้ก็ร่วมมือตอบคำถามอย่างดี พอซักไปได้สักหน่อยคุณหมอกระแสก็กรอเทปกลับแล้วลองเล่นดูเพื่อทดสอบว่าเทปบันทึกเสียงมันเวอร์คดีอยู่หรือเปล่า คนไข้พอได้ยินเสียงตนเองพูดออกมาในอากาศก็รีบลงนั่งยองๆกับพื้น พนมมือไหว้หมอกระแสแต้เชียว และละล่ำละลักพูดว่า
         
“..โอ้โฮ คุณหมอกระแสนี่เก่งสมคำลือจริงๆ ตรวจโรคออกมาฟังได้เป็นเสียงเลย”
ฮะ…ฮะ…ฮ่า… ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น
ขอโทษ นอกเรื่อง มาคุยถึงเรื่องของคุณน้าของคุณดีกว่า ฟังตามเรื่องที่เล่า คุณน้ามีปัญหาไตวายเฉียบพลัน ต้องล้างไตเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การตรวจเลือดพบว่ามีเอ็นไซม์ที่บ่งบอกถึงการสลายตัวของกล้ามเนื้อ (CPK) ออกมาในเลือดเป็นจำนวนมาก คุณน้ามีประวัติกินยาลดไขมันอยู่ด้วย เอาละ คราวนี้มาเรียนรู้จากเรื่องนี้กันทีละประเด็นนะ

1.. ถามว่าไตวายเฉียบพลันเกิดจากอะไร ก็ตอบว่าเกิดจากกล้ามเนื้อสลายตัว (rhabdomyolysis) นะสิครับ เพราะมีหลักฐานโต้งๆว่ามีเอ็นไซม์ที่บ่งบอกถึงการสลายตัวของกล้ามเนื้อออกมามาก

2. ถามว่าการสลายตัวของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงครั้งนี้เกิดจากอะไร ตอบว่าในกรณีที่ทานยาลดไขมันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นยาอะไร ไม่ว่าจะทานมานานเท่าใด และไม่ว่าจะทานขนาดเท่าใด ในทางการแพทย์ให้ถือว่าเป็นเพราะยาลดไขมันไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่ เพราะสาเหตุอื่นๆมันมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย เช่น
2.1 ถูกตื๊บ (พูดเล่น ผมหมายถึงได้รับบาดเจ็บของกล้ามเนื้อนะครับ)
2.2 ติดเชื้อไวรัสหรือบักเตรีแบบรุนแรงบางชนิด
2.3 ไปดมยาสลบแล้วเคราะห์ร้ายสุดๆเกิดพิษยาสลบแบบไข้ขึ้น (malignant hyperthermia)
2.4 เกิดการอักเสบของปลอกประสาทแบบไม่ทราบเหตุ (Guillain-Barré syndrome)
2.5 ความผิดปกติแต่กำเนิดในกลไกการสร้างและสลายกล้ามเนื้อ
เป็นต้น

3. ถามว่าในรายการโทรทัศน์อาจารย์ดำรัสบอกว่าโอกาสเกิดการสลายกล้ามเนื้อจากยาลดไขมันมีน้อยมาก มันน้อยจริงหรือเปล่า ตอบว่าเรื่องพิษของยาลดไขมันต่อกล้ามเนื้อนี้มีสามระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1. เพียงแค่ปวดกล้ามเนื้อ (myalgia) การทบทวนงานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ 30 งานวิจัยพบว่ามีอุบัติการณ์เกิดได้ตั้งแต่ 0-32% ขณะที่ข้อมูลจากงานวิจัยของบริษัทผู้ผลิตยาซึ่งพิมพ์บอกไว้บนฉลากยาเช่น Crestor, Lipitor, Zocor รายงานว่าเกิดได้ 1-5%
ระดับที่ 2. คือถึงขั้นมีเอ็นไซม์กล้ามเนื้อ (CPK) สูงขึ้นในกระแสเลือดหรือเกิดกล้ามเนื้ออักเสบโดยไม่มีอาการรุนแรง มีรายงานรวมๆว่าเกิดได้ 0 – 4.9%
ระดับที่ 3. คือถึงขั้นเกิดกล้ามเนื้อสลายตัว (rhabdomyolysis) ถึงขั้นทำให้ไตเสียหรือตาย งานวิจัยที่น่าเชื่อถือที่สุดคืองานวิจัยข้อมูลประกันสุขภาพของ Andrade  ซึ่งสรุปผลว่ามีอุบัติการณ์เกิด 0.01% หรือพูดง่ายๆว่าหนึ่งในหมื่น เรียกว่าน้อยมากจริงๆดังที่อาจารย์นพ.ดำรัสท่านว่า คุณน้าของคุณจัดว่าอยู่ในหนึ่งในหมื่นนี้

ข้อมูลอุบัติการณ์นี้เป็นของฝรั่ง เราคนไทยหัวใจฝรั่งต้องใช้ข้อมูลอย่างระมัดระวัง กล่าวคือกลไกการเกิดกล้ามเนื้อสลายตัวนี้มันจะเริ่มด้วยอาการปวดกล้ามเนื้อเล็กๆน้อยๆแทบสังเกตไม่ได้ก่อน แล้วค่อยๆปวดมากขึ้นๆวันละเล็กวันละน้อย แล้วค่อยๆมีเอ็นไซม์กล้ามเนื้อ (CPK) สูงขึ้นเป็นหลักร้อยต้นๆก่อน แล้วก็เป็นหลายร้อย แล้วเป็นหลักพัน ถ้าถึงสองพันเมื่อไรก็ตาเหลือกได้แล้ว เพราะแสดงว่าไตทำท่าจะเอาไม่อยู่แล้ว เพราะเอ็นไซม์นี้มันต้องขับทิ้งโดยไตทางเดียว สถิติของฝรั่งจะเห็นว่าพบการปวดกล้ามเนื้อมาก แต่พบกล้ามเนื้อสลายตัวน้อย แต่สถิติไทยไม่มี แต่ผมเดาว่าจะพบอาการปวดกล้ามเนื้อน้อยกว่าฝรั่ง แต่จะพบกล้ามเนื้อสลายตัวมากกว่าฝรั่ง ตัวผมเองหากินทางนี้ก็พบเห็นทุกปี ที่ตาย เอ๊ย.. ขอโทษ ที่เสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตาก็เคยมี เพราะการใช้ยาลดไขมันในเมืองไทยเรานี้ใช้กันแบบปานประหนึ่งว่าหากเอาใส่น้ำประปาให้ประชาชนดื่มกินได้ก็จะเอาใส่น้ำประปาให้ดืมกินเลยทีเดียว คือใช้กันแบบจ่ายกันง่ายๆ ซื้อกินเองกันง่ายๆ ทุกคนล้วนชอบกินยาลดไขมัน อย่าว่าแต่คนไข้เลย แม้แต่หมอก็ยังชอบกิน ผมมีคนไข้เป็นหมออยู่หลายคนเหมือนกัน บางคนกินยาลดไขมันอยู่ผมชวนเลิกว่าอาจารย์ไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย คำนวณคะแนนความเสี่ยงก็ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องใช้ยา ผมว่ายาลดไขมันของอาจารย์เนี่ยเลิกซะดีแมะ ท่านบอกว่า
“..ฮึ..เอาไว้ก่อน”
คือชอบกินหงะ แล้วคนไทยเรานี้ โดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ เมื่อกินแล้วก็ กิน กิน กิน ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าต้องเฝ้าระวังอะไรบ้าง หรือรู้แต่ก็ไม่ได้เฝ้าระวัง เช่นคนไข้ก็ไม่เคยสังเกตอาการปวดกล้ามเนื้อของตัวเอง หมอก็ไม่ค่อยถามถึงอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็นไซม์ CPK ก็ได้เจาะบ้างไม่ได้เจาะบ้าง เจาะแล้วเห็นมันขึ้นมาก็เออ..น่า ยังไม่เป็นไรหรอก ไว้ตามดูคราวหน้า แต่คนไข้ไทยเรานี้ท่านมาหาหมอตรงตามเวลานัดซะเมื่อไหร่ละ บางทีท่านเว้นนัดไปสองรอบ ก็หกเดือนผ่านไปแล้ว กลับมาอีกทีหามเข้ามาเพราะไตวายเฉียบพลันไปเสียแล้ว แบบนี้ก็มีนะ จะบอกให้ ดังนั้นสรุปว่าสถิติของฝรั่งที่บอกว่าโอกาสเกิดกล้ามเนื้อสลายตัวจากยาลดไขมันมีน้อย แต่เราคนไทยต้องคิดว่าสำหรับคนไทยมันอาจเกิดมากกว่านั้นก็ได้ นี่เป็นหลักปลอดภัยไว้ก่อนซึ่งยึดไว้ไม่เสียหลาย
 4.. ถามว่ามาถึงตอนนี้แล้วมีคำแนะนำอะไรจะช่วยชีวิตคุณน้าได้บ้าง ตอบว่า มาถึงขั้นนี้แล้ว เรื่องที่คนไข้และญาติจะทำได้มันแทบไม่มีแล้ว มันเหลือแต่เรื่องที่หมอท่านจะทำ ซึ่งฟังตามเรื่องที่เล่าหมอท่านก็ทำของท่านอย่างขมีขมันอยู่แล้ว โดยทั่วไปหมอท่านจะต้องตรวจประเมินผู้ป่วยโรคนี้ถี่มาก เพราะโรคนี้เป็นโรคที่มีอัตราตายสูง ตรวจแต่ละครั้งหมอท่านก็จะมองหาสาเหตุการตายหลักๆ ได้แก่ (1) การที่โปตัสเซียมจะคั่งมากเกินไป ซึ่งในกรณีล้างไตอยู่ก็เบาใจได้  (2) การเกิดเลือดเกาะกลุ่มกันทั่วร่างกาย (DIC) (3) การเกิดกล้ามเนื้อสลายตัวเฉพาะที่จนบวมคับเอ็นและเลือดไปเลี้ยงปลายแขนปลายขาข้างนั้นไม่ได้  (compartment syndrome) ทั้งสามเรื่องนี้เกิดเมื่อไรเป็นเรื่องเมื่อนั้น หมอเขาจึงจะสนใจมากเป็นพิเศษ
ในส่วนของคุณในฐานะญาติของคนไข้ ผมคิดว่าเหลือสิ่งเดียวที่อาจจะทำได้ คือการตะเกียกตะกายไปหาหมอที่เหมาะกับโรค และโรงพยาบาลที่เหมาะกับโรค หมอที่ดูแลควรจะเป็นหมอไต (nephrologist) โรงพยาบาลที่ดูแลควรเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ พูดง่ายๆว่าโรงพยาบาลใหญ่ เพราะโรคนี้เป็นโรครุนแรง ตายได้ง่ายๆ เหมาะที่จะเข้าโรงพยาบาลขนาดใหญ่
พูดถึงการเป็นโรคเล็กเข้าโรงพยาบาลเล็ก โรคใหญ่เข้าโรงพยาบาลใหญ่นี้ สมัยผมเป็นนักเรียนเตรียมแพทย์ (พ.ศ. 2516) ผมเรียนโรงเรียนบ้านนอก ที่หาดใหญ่ วันหนึ่งมีอาจารย์จากศิริราชไปสอน ผมซึ่งเป็นนักเรียนเตรียมแพทย์บ้านนอกนึกภาพของศิริราชไม่ออก จึงถามอาจารย์ว่าศิริราชเป็นโรงพยาบาลแบบไหน ท่านตอบว่า

“..ศิริราชเป็นโรงพยาบาลแบบที่ถ้าคุณเป็นอะไรเล็กๆน้อยๆอย่าเดินเข้ามานะ เพราะขากลับคุณอาจจะถูกหามกลับได้ แต่ถ้าคุณจะตายแล้วถูกหามเข้ามา นั่นแหละคุณมาถูกที่ ขากลับคุณอาจจะเดินกลับได้..”
คืออาจารย์พูดเชิงตลกเพื่อสอนผมถึงดาบสองคมของระบบการแพทย์แบบแบ่งความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา แต่คำพูดเชิงตลกของท่านคุณเอาไปประยุกต์ใช้ได้เลย ตอนนี้คุณน้าของคุณเป็นโรคที่จ่ออยู่กับความเป็นความตาย การตะเกียกตะกายเข้าโรงพยาบาลใหญ่เป็นสิ่งที่ผมแนะนำให้ทำ ถ้าอยู่เชียงใหม่ผมแนะนำให้หาทางไปโรงพยาบาลนครเชียงใหม่ (สวนดอก)เลยครับ ไม่ต้องรีรอ    
5. ข้อนี้คุณไม่ได้ถาม แต่ผมแถมให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นที่ทานยาลดไขมันอยู่ ไม่ว่ายี่ห้อไหน ไม่ว่าขนาดเท่าไหร่ ทำอย่างไรจึงจะป้องกันการตายหรือไตวายจากกล้ามเนื้อสลายตัวได้ ผมแนะนำดังนี้

5.1 อย่ากินยาถ้าไม่มีข้อบ่งชี้ เมื่อไม่กี่วันมานี้ผมได้เขียนถึงมาตรฐานใหม่ของ AHA/ACC – 2013 ในการเลือกคนไข้เพื่อให้ยาลดไขมัน ว่าคนที่จำเป็นต้องกินยาลดไขมันมีสี่กลุ่มเท่านั้น คือ (1.)   คนที่มีอาการของโรคหัวใจหลอดเลือดแล้ว เช่นมีอาการเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ หรือเจ็บหน้าอกแล้ว (2.)   คนเป็นโรคเบาหวานประเภทสองเรียบร้อยแล้ว (3.)   คนที่มีไขมันเลว (LDL) สูงกว่า 190 มก./ดล. (4.)   คนที่มีคะแนนความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดระดับรุนแรงในสิบปีข้างหน้ามากเกิน7.5% ขึ้นไป ความเสี่ยงที่ว่านี้คำนวณโดยวิธีใหม่ที่เรียกว่า Pooled Cohort Equations ซึ่งเอาปัจจัยเสี่ยงเก้าตัว ได้แก่ อายุ, เพศ, เชื้อชาติ, โคเลสเตอรอลรวม, ไขมันดี (HDL), ความดันเลือดตัวบน, การกินยาลดความดัน, การเป็นเบาหวาน, การสูบบุหรี่ มาร่วมคำนวณ รายละเอียดท่านหาอ่านเอาได้จากบทความที่ผมเพิ่งเขียนไปนี้ (http://visitdrsant.blogspot.com/2013/11/ahaacc-guidelines-2013-on-cholesterol.html)

5.2 อย่าเพิ่มขนาดของยาลดไขมันโดยไม่มีข้อบ่งชี้ เพราะอุบัติการณ์เกิดกล้ามเนื้อสลายตัวแปรผันตามขนาดยาที่ใช้ การเพิ่มขนาดยาลดไขมันต้องทำโดยแพทย์ ซึ่งปกติท่านจะประเมินผลข้างเคียงของยาในขนาดเดิมอย่างละเอียดก่อนเพิ่มยา มีคนไข้ของผมคนหนึ่งเดิมกินยา atorvastatin (Lipitor) ซึ่งเป็นยาฝรั่งทำ  (original) ต่อมาหายา Lipitor ยากจึงไปเอายา atorvastatin เหมือนกันแต่เป็นแบบอัดเม็ดในเมืองไทย (local made) ยี่ห้อหนึ่งมากิน แล้วเภสัชกรที่จ่ายยาให้บอกว่าให้เพิ่มขนาดไปหนึ่งเท่าตัว เพราะยา local made มีฤทธิอ่อนกว่ายา original หนึ่งเท่า ผลปรากฏว่ากลับมาอีกทีเอ็นไซม์ของกล้ามเนื้อขึ้นไปสองพันกว่า นี่เป็นตัวอย่างของการเพิ่มขนาดยาโดยไม่มีข้อบ่งชี้ และเภสัชกรท่านนั้นก็เข้าใจชีวิตผิดไปจังเบอร์ ยาเป็นสารเคมี สารเคมีตัวเดียวกัน ไม่ว่าจะอัดเม็ดแบบ original หรือแบบ local ก็คือสารเคมีตัวเดียวกัน ย่อมมีฤทธิ์เหมือนกันทุกประการ จะไปมีฤทธิ์อ่อนแก่กว่ากันได้อย่างไร เหมือนคุณไปซื้อไข่ไก่ตราซีพีกับไข่ไก่ที่ชาวบ้านเลี้ยง ถ้าเทียบน้ำหนักว่าเท่ากันแล้วคุณสมบัติอื่นมันจะไปต่างกันตรงไหน

5.3 เมื่อกินยากลดไขมัน ต้องขยันดื่มน้ำ เพราะสิ่งแรกที่เรากลัวเมื่อเกิดกล้ามเนื้ออักเสบหรือกล้ามเนื้อสลายตัวก็คือกลัวไตพัง ซึ่งมันมักจะพังก่อนที่จะมีอาการอื่นให้เราเห็น วิธีป้องกันหากกินยาแล้วมีอย่างเดียวคือดื่มน้ำให้มากๆเข้าไว้ให้เป็นนิสัย อย่าอดน้ำเพื่อจะได้ไม่ต้องฉี่บ่อย วิธีนั้นอันตรายมากหากกินยาลดไขมันอยู่ด้วย ต้องดื่มน้ำแทบจะทุกชั่วโมงที่ตื่นอยู่ มีน้ำไว้ใกล้ๆทุกหนทุกแห่ง

5.4 เมื่อกินยาลดไขมันต้องเฝ้าระวังอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และรายงานให้แพทย์ทราบทันทีถ้ามีอาการขึ้นมา ไม่ต้องรอให้ถึงรอบนัดครั้งหน้า มีอาการเมื่อไหร่ รายงานเมื่อนั้น

5.5 ทุกครั้งที่แพทย์เจาะเลือดระหว่างใช้ยาลดไขมัน ทำตัวสู่รู้สักนิด แบบว่าเอ็นไซม์กล้ามเนื้อของหนูสูงขึ้นไหมคะ อะไรทำนองนั้น ถ้าแพทย์บอกว่าไม่ได้เจาะ หากเป็นรพ.เอกชนให้ขอเจาะเอง อย่างน้อยสัก 3 เดือนครั้ง ถ้าเป็นรพ.ของรัฐ ก็ต้องใช้ลูกอ้อนขอแพทย์เจาะอ้างว่าเพราะเราอยากรู้ ถ้าไม่ได้ผลก็ทำฟอร์มเป็นว่าเหมือนมีอาการปวดกล้ามเนื้อนิดแบบนี้แล้วหนูจะมีปัญหากล้ามเนื้อสลายตัวไหมคะ รับรองได้เจาะแน่ คือการติดตามเอ็นไซม์ของตับและเอ็นไซม์ของกล้ามเนื้อทุก 3 เดือนระหว่างใช้ยานี้แม้จะยังไม่มีหลักฐานว่ามันลดอุบัติการณ์เกิดกล้ามเนื้อสลายตัวได้หรือไม่ แต่ก็เป็นมาตรการเพื่อความปลอดภัยที่ควรทำ ดีกับตัวหมอเองด้วยเพราะสมัยผมเป็นผู้อำนวยการรพ.เคยต้องสั่งจ่ายเงินประนีประนอมคดีหนึ่งที่คนไข้จะเอาเรื่องว่าหมอให้ยาลดไขมันแล้วไม่เจาะเลือดดู cpk ทำให้เป็นกล้ามเนื้อสลายตัว สรุปว่าให้ยาแล้วตามเจาะเลือดดู ดีทั้งขึ้นทั้งล่อง อย่า “ฆ่าควายแล้วเสียดายเกลือ” หมายความว่าการตัดสินใจใช้ยาลดไขมันเป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่เทียบได้กับการฆ่าควายเอาเนื้อไว้กิน แต่ฆ่าแล้วดันมาเสียดายเกลือที่จะทำเนื้อเค็ม เนื้อที่เก็บไว้จึงเน่าเพราะอ่อนเกลือ มันไม่คุ้มกันใช่ไหมละ ฉันใด ก็ฉันเพล

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
        
1.      Crestor [package insert]. Wilmington, Del.: AstraZeneca Pharmaceuticals LP; March 2005.
2.      Lescol [package insert]. East Hanover, N.J.: Novartis Pharmaceuticals Corp.; May 2003.
3.      Lipitor [package insert]. New York: Pfizer Inc; July 2004.
4.      Pravachol [package insert]. Princeton, N.J.: Bristol-Myers Squibb Co; December 2004.
5.      Zocor [package insert]. Whitehouse Station, N.J.: Merck & Co; November 2004.

6.      Andrade SE, Graham DJ, Staffa JA, et al. Health plan administrative databases can efficiently identify serious myopathy and rhabdomyolysis. J Clin Epidemiol. 2005;58:171-4.

7. Neil J. Stone et al. 2013 ACC/AHA Guideline on the Treatment of Blood Cholesterol to Reduce Atherosclerotic Cardiovascular Risk in Adults: A Report of the American College of Cardiology/American Heart Association Task Force on Practice Guidelines. Accessed on November 17, 2013 at  http://circ.ahajournals.org/content/early/2013/11/11/01.cir.0000437738.63853.7a