Latest

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer disease) ในมุมของการรักษา

เรียนคุณหมอที่เคารพ
ดิฉันมีแม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ แม่จำลูกหลานได้ หลงเรื่องกินแล้วแต่ยังไม่ได้กิน เดินพอได้ แต่อารมณ์ร้ายชอบด่าและโวยวาย มีโรคความดันสูงอย่างเดียวค่ะ ไม่เป็นไขมันสูง ไม่เป็นเบาหวาน ไม่อ้วน เมื่อต้นปีที่แล้วแม่อาละวาด จนเหนื่อย ไม่ยอมกินข้าว พาไป รพ.ธรรมศาสตร์ นอนอยู่ 3 วัน หมอให้น้ำเกลือและอาหารทางสายยาง ตอนจะกลับแม่ดึงสายอาหารออก กลับมากินอาหารทางปากตามเดิม
ดิฉันได้ทำอาหารจากสูตรอาหารทางสายยางของ รพ.ไห้แม่แต่เปลี่ยนเป็นปั่นละเอียดข้นๆไม่กรอง แล้วป้อนทางปากแม่กินวันละ 3 มื้อ แม่ชอบมากกินเอร็ดอร่อยอย่างไม่น่าเชื่อ และแข็งแรงขึ้นแต่ไม่ทราบว่ามันเหมาะควรกับแม่หรือเปล่า จึงขอความกรุณาคุณหมอช่วยแนะนำสั่งสอนด้วยค่ะ สัดส่วนอาหารที่ทำใน 1 มื้อ มีดังนี้ค่ะ ทุกอย่างบดละเอียด

1.ข้าวกล้อง 2 ทัพพี
ต้องขอโทษคุณหมอด้วย ไม่เก่ง facebook ค่ะ กดผิดพลาดทั้งยังไม่จบความ สัดส่วนมีดังนี้ค่ะ ทุกอย่างบดละเอียด
1. ข้าวกล้อง 2 ทัพพี
2.อกไก่ 1 ชัอนโต๊ะพูน
3.ฟักทอง 1 ช้อนโต๊ะพูน
4.ไข่ขาวเบอร์ 2 1ฟอง
5.ผักใบเขียว 1 ช้อนโต๊ะพูน
6.สาหร่ายทะเลนิดหน่อย เพราะแม่ไม่ยอมให้ใส่น้ำปลา
7.ผลไม้ 1 ชิ้น
นอกจากนี้ยังเสริมด้วยนมเปรี้ยว และนมถั่วเหลืองผสมงาดำ

ส่วนสูตรอาหารทางสายยางของรพ. … มีดังนี้ค่ะ
สูตรอาหาร 1:1 250คูณ 4 1000 cc
1.ไข่ไก่ลวก เบอร์ 2 8ฟอง
2.สันในไก่สุกสับละเอี่ยด 2 ช้อนโต๊ะ
3.ฟักทองสุกบดละเอียด1 +1/4 ถ้วยตวง
4.กวางตุ้งหั่นฝอย 2 ช้อนโต๊ะ
5.น้ำมันพืช 1 ช้อนชา
6.ขนมปัง 6 แผ่น
ขอกราบขอบพระคุณคุณหมอเป็นอย่างสูงค่ะ

……………………………………..
      ผมคะเนว่าตัวคุณเองมีอายุ 50 ปีขึ้นไป คนอายุ 50-60 ปี+ ออกจากงานมาเลี้ยงดูบุพการีอายุ 70-80 ปี+ นี่เป็นสูตรปกติของสังคมไทยปัจจุบัน และปัญหาที่ลูกผู้ทำหน้าที่เลี้ยงดูเจอก็คือปัญหาคุณพ่อคุณแม่หลงลืมเลอะเทอะพูดไม่รู้เรื่องจำอะไรไม่ได้ ลูกหลายคนตั้งข้อสังเกตแบบเหน็บคุณพ่อคุณแม่ตัวเองให้ผมฟังว่า
“แต่นิสัยโว้กว้ากโวยวายกลับไม่เห็นลืมแฮะ”
     คำว่าโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer disease) หมายถึงโรคสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อตรวจภาพสมองจะพบเนื้อสมองเหี่ยว และเมื่อ (ตายแล้ว) ตรวจเนื้อสมองด้วยกล้องจุลทรรศน์ โดยเฉพาะสมองส่วนฮิปโปแคมปัส จะพบเส้นใยประสาทพันกันเป็นกระจุก (neurofibrillary tangles หรือ NFTs) ร่วมกับมีตุ่มผิดปกติ (senile plaques หรือ SPs) ที่มีสารอะไมลอยด์ประกอบ ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการความจำเสื่อมลงไปทีละน้อยในเวลาหลายปี ตามมาด้วยพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง มีปัญหาการใช้ภาษา การทำงาน และอาการทางระบบประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหว 

     เมื่อสองเดือนก่อน อย.สหรัฐ (FDA) ได้อนุมัติให้ใช้สารทึบรังสีชื่อ flutemetamol F 18 (Vizamyl) ฉีดเข้าหลอดเลือดเพื่อให้ไปจับกับสารอะไมลอยด์ในสมองทำให้มองเห็นได้ขณะตรวจสมองด้วยภาพ PET-CT นับเป็นความก้าวหน้าอีกนิดหนึ่งในการวินิจฉัยโรคนี้ แต่น่าเสียดายที่ทางด้านการรักษา ยังไม่มีอะไรก้าวหน้า

      เมื่อสองสามปีก่อนผมเคยคุยถึงประเด็นการวินิจฉัยโรคและการประเมินระดับความเสื่อมของสมองไปอย่างละเอียดแล้ว  (http://visitdrsant.blogspot.com/2010/07/dementia.html) วันนี้เรามาเจาะลึกเฉพาะประเด็นการรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์สักครั้งก็ดีเหมือนกัน แต่ก่อนที่จะเจาะลึกผมขอตอบคำถามของคุณก่อนนะ เดี๋ยวจะลืม เพราะผมเองตอนนี้ก็อัลไซเมอร์อ่อนๆเหมือนกัน
     1.. ถามว่าการเอาอาหารที่โรงพยาบาลเขาสั่งให้ปั่นใส่สายยาง มาป้อนให้กินทางปากแทน จะผิดมากไหม ตอบว่าไม่ผิดหรอกครับ วิธีให้อาหารทั้งสองแบบ ปลายทางก็คือให้อาหารตกไปถึงกระเพาะเหมือนกัน วิธีที่คุณแม่ของคุณใช้ คือกระชากเอาสายยางออกทิ้งแล้วอ้าปากกินเองแทนนั้น เป็นวิธีที่สอดคล้องกับหลักโภชนะบำบัดของแพทย์ 100% เพราะหลักโภชนะบำบัดมีว่าหากกินทางปากได้ ต้องให้กินทางปากแทนการให้ทางสายยาง หากให้ทางสายยางได้ ต้องให้ทางสายยางแทนการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ดังนั้นคุณแม่ของคุณทำถูกหลักแล้ว

     2.. ถามว่าสูตรอาหารปั่นที่คุณมั่วขึ้นมาแทนสูตรของโรงพยาบาลนั้นสมควรหรือเปล่า ตอบว่าในภาพรวมนั้นสมควรแล้วครับ ในรายละเอียดนั้นมันก็มีบางประเด็นที่สูดรของคุณดี และบางประเด็นที่สูตรของคุณด้อยกว่า กล่าวคือ สูตรของคุณดีกว่าสูตรของโรงพยาบาลตรงที่

2.1.  มีการใช้ธัญพืชไม่ขัดสี (ข้าวกล้อง) แทนธัญพืชขัดสี (ขนมปังขาว) ซึ่งจะให้ไวตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อระบบประสาทและสมองได้มากกว่า

2.2. มีการให้ถั่ว ผลเปลือกแข็ง และเมล็ด (งา) ซึ่งให้ไขมันดี ซึ่งของรพ.ไม่มี ถั่วนี้สำคัญในการป้องกันสมองเสื่อมจากวิตามินบี.12 เพราะถั่วมีสารโอลิโกแซคคาไรด์ซึ่งบักเตรีในลำไส้ใช้เปลี่ยนเป็นวิตามินบี.12

2.3. มีการให้ผลไม้ ซึ่งสูตรของรพ.ไม่ให้ เพียงแต่ผมติงว่าคุณให้ผลไม้น้อยไปหน่อย ควรให้มากกว่านี้สัก 20 เท่า เพราะคนเป็นความดันเลือดสูงต้องการโปตัสเซียมจากผลไม้ไปลดความดัน ผลไม้เหล่านี้คุณไม่ต้องปอกเปลือก ไม่ต้องเอาเมล็ดในออก แต่ควรใช้เครื่องปั่นความเร็วสูงเกิน 30000 รอบปั่นให้เป็นน้ำโดยไม่ต้องทิ้งกากจะดีที่สุด

2.4. มีการให้นมเปรี้ยวนั้น ซึ่งมีบักเตรีแล็คโตบาซิลลัส ซึ่งเป็นตัวสังเคราะห์วิตามินบี 12 ในลำไส้จากอาหารพวกถั่ว วิตามินบี.12 นี้ หากขาดจะเป็นสาเหตุหนึ่งของสมองเสื่อม 
     แต่สูตรของคุณมีข้อด้อยกว่าสูตรของรพ.ตรงที่คุณใช้แต่ไข่ขาว แต่รพ.ใช้ไข่ทั้งฟอง คือรวมไข่แดงด้วย เพราะไข่ทั้งฟองซึ่งรวมทั้งไข่แดงมีวิตามินบี.12 โคลีน และวิตามินดี3 ซึ่งหากขาดจะเป็นโรคสมองเสื่อมได้ ในภาพรวมหากประกวดกัน ผมให้สูตรของคุณชนะ แต่ผมแนะนำให้คุณเลือกเอาแต่ข้อดีของทั้งสองสูตรมารวมกันแล้วทำเป็นสูตรใหม่น่าจะดีกว่านะ

     เอาละ ตอบคำถามของคุณหมดแล้ว คราวนี้ขอผมคุยกับท่านผู้อ่านทั่วไปเรื่องการรักษาโรคสมองเสื่อมในสมัยปัจจุบันนี้สักหน่อย เพราะยังไม่เคยคุยกันในประเด็นนี้มาก่อนเลย
ประเด็นที่ 1. ยารักษาโรคสมองเสื่อม
FDA ได้อนุมัติยารักษาโรคอัลไซเมอร์แล้ว 2 กลุ่ม ได้แก่
1.      ยาต้านเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรส (choline esterase inhibitors – ChEIs) ซึ่งเป็นตัวคอยจับทำลายสารเคมีเชื่อมปลายประสาทชื่ออาเซติลโคลีน เมื่อมีสารเคมีเชื่อมปลายประสาทคงอยู่มากขึ้น การเชื่อมต่อสัญญาณประสาทก็ดีขึ้น น่าเสียดายที่กลไกการเกิดโรคอัลไซเมอร์คือการเสื่อมสลายของตัวเซลประสาทเอง ดังนั้นยานี้จึงเป็นยาที่เกาไม่ถูกที่คัน จึงช่วยได้แค่บรรเทาอาการ ไม่ได้ช่วยรักษาโรค คือช่วยให้เซลที่ดีอยู่ทำงานได้เต็มที่ได้ แต่ป้องกันความเสียหายหรือฟื้นฟูสภาพของเซลประสาทที่เสียหายแล้วไม่ได้ ยาในกลุ่มนี้ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้แล้วมีสี่ตัวคือ (1)Tacrine (2) Donepezil (เช่น Aricept, Aricept ODT) (3) Rivastigmine (เช่น Exelon, Exelon Patch ชนิดแปะผิวหนัง) (4) Galantamine (เช่น Razadyne, Razadyne ER)  งานวิจัยพบว่าผู้ป่วยที่ได้ยาเหล่านี้มีการเสื่อมของความจำและความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันช้ากว่าผู้ที่ได้รับยาหลอกเล็กน้อย พูดง่ายๆว่ากินยาเหล่านี้แม้จะไม่หาย แต่ก็น่าจะยังดีกว่าอยู่เปล่าๆ
2.      ยาอีกตัวหนึ่งซึ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้ในโรคอัลไซเมอร์ระดับรุนแรงคือยา menantine (ชื่อการค้า Namenda และ Namenda XR) ซึ่งออกฤทธิที่ปลายประสาทเช่นกัน แต่เป็นการเสริมการส่งสัญญาณประสาทผ่านสารเคมีอีกตัวหนึ่งชื่อกลูตาเมท งานวิจัยพบว่ายานี้ช่วยบรรเทาอาการในคนเป็นโรคมากแล้วได้ดีกว่ายาหลอก
กล่าวโดยสรุป การใช้ยาทั้งสองกลุ่มนี้แม้ไม่ได้ทำให้โรคหาย แต่ก็บรรเทาอาการได้ จึงถือเป็นมาตรฐานในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ด้วยยาในปัจจุบัน
ประเด็นที่ 2. การรักษาสมองเสื่อมด้วยกิจกรรมกระตุ้นสมอง
การศึกษาเชิงระบาดวิทยาทำให้เราทราบว่าคนที่เรียนหนังสือมากหรือนานหลายปี จะเป็นสมองเสื่อมน้อยกว่าคนเรียนน้อย เด็กที่มีไอคิวสูง โตขึ้นจะเป็นสมองเสื่อมน้อยกว่าเด็กที่ไอคิวต่ำ คนที่มีงานอดิเรกมาก โดยเฉพาะงานอดิเรกที่กระตุ้นการใช้ปัญญา จะเป็นสมองเสื่อมน้อย หลักฐานเหล่านี้ทำให้เกิดความเชื่อว่าการลงทุนสร้าง “ปัญญาสำรอง” หรือ cognitive reserve ไว้ด้วยการฝึกสมองประลองเชาว์บ่อยๆ ทำให้เป็นสมองเสื่อมน้อยลง

แต่น่าเสียดายที่จนป่านนี้ยังไม่มีหลักฐานระดับสูงยืนยันว่าการกระตุ้นสมองวิธีใดจะช่วยป้องกันและรักษาอัลไซเมอร์ได้จริง งานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบการกระตุ้นสมองหลายๆแบบเช่น เล่นครอสเวอร์ด หรือเกมประลองเชาว์ต่างๆ รวมไปถึงกิจกรรมการฟื้นฟูสมองด้วยการฝึกให้ทำสิ่งต่างๆที่เคยทำได้ตอนหนุ่มๆใหม่อีกครั้ง ล้วนยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นความแตกต่างเลย การป้องกันสมองเสื่อมด้วยกิจกรรมกระตุ้นสมองจึงยังเป็นวิธีป้องกันที่มีพื้นฐานอยู่บนหลักฐานเชิงระบาดวิทยาเท่านั้น
ประเด็นที่ 3. ปัญหาหญ้าปากคอกของคนเป็นสมองเสื่อม
     ผู้ป่วยที่มีอาการสมองเสื่อมส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่สมองเสื่อมจากสาเหตุอื่นที่แก้ไขได้ สาเหตุที่พบบ่อยได้แก่
1.      สมองเสื่อมจากยาต่างๆที่กำลังกินอยู่
2.      ขาดวิตามินบี.12
3.      ขาดโฟเลท
4.      ขาดวิตามินดี
5.      โรคฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ต่ำ (hypothyroidism) 
6.      โรคซึมเศร้า (major depression) 
ในประเด็นสมองเสื่อมจากยานั้น ยาที่ทำให้สมองเสื่อมได้ ได้แก่ ยาสะเตียรอยด์ ยาดิจ๊อกซินรักษาโรคหัวใจ ยากล่อมประสาท ยานอนหลับ อินเตอร์เฟียรอนที่ใช้รักษาการติดเชื้อไวรัส ยาฟลูนาริซินซึ่งใช้ขยายหลอดเลือดในสมอง ยาอาแมนทาดีนซึ่งใช้รักษาโรคพาร์คินสัน ยาลีวีทิราซีแทม ที่ใช้รักษาอาการชัก นอกจากนี้ยังมียาอื่นๆที่มีหลักฐานว่าอาจจะก่ออาการแบบสมองเสื่อมหรือซึมเศร้าได้เช่น ยากั้นเบต้าและ ACE inhibitors ที่ใช้รักษาโรคหัวใจและความดันเลือด ยาคุมกำเนิดแบบฉีด ยาต้านซึมเศร้า ยาลดกรดในกระเพาะ(cimetidine) ยาลดไขมัน (simvastatin)
ในประเด็นยาลดไขมันทำให้เกิดอาการสมองเสื่อมได้นี้ จำนวนที่ผู้ป่วยที่รายงานเข้าไปให้ FDA มีจำนวนค่อยๆเพิ่มขึ้น จนเริ่มจะกลายเป็นความกังวลในหมู่ผู้ใช้ยาลดไขมัน รวมทั้งในหมู่ผู้ใช้คนไทยด้วย แม้ผู้อ่านบล็อกนี้ก็ยังเคยส่งข้อมูลที่ว่ายาลดไขมันทำให้เกิดสมองเสื่อมมาให้ผมช่วยประเมินให้ ซึ่งผมก็ถือโอกาสตอบตรงนี้เสียเลยว่าวงการแพทย์ทราบกันอยู่แล้วว่ามีความเป็นไปได้ที่อาการสมองเสื่อมจะเป็นผลข้างเคียงอย่างหนึ่งของยาลดไขมัน แต่ว่าอุบัติการณ์เกิดมันยังไม่มาก ชั่งน้ำหนักแล้วการใช้ยาลดไขมันสำหรับคนที่จำเป็นต้องใช้ก็ถือว่ายังมีประโยชน์มากกว่าโทษ
ในประเด็นการป้องกันสมองเสื่อมจากสาเหตุที่ป้องกันได้อื่นๆ สิ่งที่ควรทำคือ

     1. การให้ร่างกายได้รับวิตามินบี. 12 และกรดโฟลิก ให้พอเพียง เพราะทั้งสองตัวนี้เป็นปัจจัยคุมไม่ให้ระดับของกรดอามิโนซึ่งมีพิษต่อเซลประสาทตัวหนึ่งชื่อโฮโมซีสเตอีน  (homocysteine) สูงเกินไป เพราะหลักฐานวิจัยบ่งชี้ว่าถ้าโฮโมซีสเตอีนสูง ก็มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์มาก งานวิจัยทำที่แคนาดาพบว่าผู้สูงอายุที่ได้กรดโฟลิกจากอาหารหรืออาหารเสริมพอเพียงจะเป็นอัลไซเมอร์น้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ งานวิจัยสุ่มตัวอย่างให้ผู้สูงอายุทานกรดโฟลิกเสริมวันละ 800 mcg เทียบกับยาหลอกนานสามปีพบว่ากลุ่มที่ทานกรดโฟลิกเสริมมีความจำดีเทียบได้กับคนที่หนุ่มสาวกว่าตน 5.5 ปี อีกงานวิจัยหนึ่งทำที่ออกซ์ฟอร์ดใช้การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) ตามดูคนที่สมองเสื่อมสองกลุ่มคือกลุ่มที่ให้ทานกรดโฟลิก วิตามินบี.6 และวิตามินบี.12 กับกลุ่มที่ให้ยาหลอก พบว่ากลุ่มที่ให้วิตามินมีอัตราการหดตัวของเนื้อสมองน้อยกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอก 
     สำหรับคนไม่ชอบทานวิตามินเป็นเม็ด วิตามินบี.12 มีทางได้วิตามินบี.12 สามทางคือ
(1) ได้จากอาหารเนื้อสัตว์ต่างๆ 
(2) ได้จากอาหารหมักๆเหม็นๆเช่นกะปิ น้ำปลา ปลาร้า 
(3) ได้จากการกินถั่วต่างๆ ซึ่งเมื่อกินเข้าไปแล้วจะถูกบักเตรีในลำไส้ย่อยเป็นวิตามินบี.12 บักเตรีที่สร้างวิตามินบี.12 คือบักเตรีพวกไบฟิโดบักเตรีที่พบในน้ำหมักต่างๆ และแลคโตบาซิลลัสที่อยู่ในนมเปรี้ยวนั่นเอง
ส่วนกรดโฟลิกหรือโฟเลทนั้นมีมากในอาหารพืชเช่นถั่วต่างๆ ผักต่างๆเช่นคะน้า กะหล่ำ ผักโขม ผักกาด และผลไม้เช่นส้ม สับปะรด ฝรั่ง มะละกอ เป็นต้น 

     2. การให้ร่างกายได้รับไขมันโอเมก้า 3 มากพอ งานวิจัยที่ชิคาโกซึ่งติดตามดูผู้สูงอายุ 7 ปีพบว่าคนที่ทานปลามากหรือทานน้ำมันปลาเสริมมีความสัมพันธ์กับการเกิดสมองเสื่อมน้อยกว่าคนที่ทานปลาน้อย แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าสมองเสื่อมไปแล้วน้ำมันปลาก็อาจจะช่วยไม่ได้ เพราะอีกงานวิจัยหนึ่งใช้วิธีสุ่มตัวอย่างคนที่เป็นอัลไซเมอร์แล้ว แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ทานน้ำมันปลาเสริมเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งให้ทานยาหลอก พบว่าอัตราเพิ่มความรุนแรงของสมองเสื่อมไม่แตกต่างกัน ดังนั้นการทานปลา หรือน้ำมันปลา จึงมีผลช่วยป้องกันมากกว่ารักษาสมองเสื่อม

     3. การให้ร่างกายได้รับวิตามินดี.มากพอ ด้วยการมีกิจกรรมกลางแสงแดดบ้าง ในกรณีที่ร่างกายไม่มีโอกาสได้รับแสงแดดเลย ควรตรวจดูระดับวิตามินดี. หากพบว่าต่ำก็ควรทดแทนวิตามินดีด้วยวิธีกิน

   
     4. จัดการความเครียดให้ดี ความเครียดทำให้สมองเสื่อมเร็ว งานวิจัยในสัตว์พบว่าคอร์ติซอล (สะเตียรอยด์) ที่เพิ่มขึ้นเพราะความเครียดไปทำให้เซลสมองเสื่อม การพักผ่อนให้เพียงพอ จัดการความเครียดให้ดี จึงเป็นวิธีป้องกันสมองเสื่อมอย่างหนึ่ง

     5. การออกกำลังกายทำให้สมองเสื่อมช้าลงแน่นอน มีงานวิจัยสนับสนุนมาก เช่น งานวิจัยหนึ่งสุ่มตัวอย่างศึกษาเปรียบเทียบพบว่าผู้สูงอายุที่ออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักพอควรอย่างสม่ำเสมอนาน 1 ปี จะมีสมองส่วนฮิปโปแคมปัสโตขึ้นและความจำดีขึ้น เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุที่เพียงแค่ออกกำลังกายแบบยืดเส้นยืดสายที่ไม่ถึงระดับหนักพอควร
     6. การหนีโรคซึมเศร้าให้พ้น ผมไม่ได้หมายถึงการใช้ยาต้านซึมเศร้าตะพึด เพราะยาต้านซึมเศร้าก็เป็นสาเหตุของการเกิดอาการแบบสมองเสื่อมด้วยเหมือนกัน แต่ผมหมายถึงการไม่ยอมแพ้แก่ภาวะซึมเศร้า การลากตัวเองออกมาจากมุมอับของชีวิต เข็นตัวเองให้เดินไปข้างหน้า สร้างสรรค์ชีวิตที่มีคุณภาพให้ตัวเอง ผมเคยเขียนเรื่องการต่อสู้กับโรคซึมเศร้าไปหลายครั้งแล้ว จึงจะไม่พูดซ้ำอีก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.      US Food and Drug Administration (FDA). FDA approves second brain imaging drug to help evaluate patients for Alzheimer’s disease, dementia [press release]. October 25, 2013. Available athttp://www.fda.gov/NewsEvents/Newsroom/PressAnnouncements/ucm372261.htm. Accessed October 25, 2013.
2.      Massoud F, Léger GC. Pharmacological treatment of Alzheimer disease. Can J Psychiatry. Oct 2011;56(10):579-88. [Medline].
3.      Diniz BS, Butters MA, Albert SM, Dew MA, Reynolds CF 3rd. Late-life depression and risk of vascular dementia and Alzheimer’s disease: systematic review and meta-analysis of community-based cohort studies. Br J Psychiatry. May 2013;202:329-35. [Medline][Full Text].
4.      Diniz BS, Butters MA, Albert SM, Dew MA, Reynolds CF 3rd. Late-life depression and risk of vascular dementia and Alzheimer’s disease: systematic review and meta-analysis of community-based cohort studies. Br J Psychiatry. May 2013;202:329-35. [Medline][Full Text].
5.      S. Seshadri et al.. Plasma homocysteine as a risk factor for dementia and AD. N Engl J Med, vol 346(7), pp. 476-483. (2002
6.      van Dam F, van Gool, WA;HyperHomocysteinemia and Alzheimer’s disease: A systematic review. Archives of Gerentology and Geratrics, 2009: 48: 425-430.
7.      Smith AD, Refsum H; Vitamin B-12 and cognition in the elderly. Am J Clin Nutr, 2009: 89(2):707S–11S; Tangney C et al., Biochemical indicators of vitamin B12 and folate insufficiency and cognitive decline. Neurology, 2009;72(4):361–7.
8.      Durga J, van Boxtel MP, Schouten EG et al; The effect of 3-year folic acid supplementation on cognitive function in older adults in the FACIT trial: a randomized, double blind, controlled trial. Lancet, 2007; 369(1):208-216.
9.      Aisen PS, Schneider LS, Sano M, Diaz-Arrastia R et al; High-dose B vitamin supplementation and cognitive decline in Alzheimer disease. JAMA, 2008; 300(15):1774–83
10.  Quinn JF, Raman R, Thomas RG, et al; Docosahexaenoic acid supplementation and cognitive decline in Alzheimer disease: a randomized trial. JAMA, 2010; Nov 3;304(17):1903-11.
11.  Birks J. and Grimley Evans J. ‘Ginkgo biloba for cognitive impairment and
dementia’, Cochrane Database Syst Rev, (2):CD003120 (2007)
12.  Gottlieb S. Mental activity may help prevent dementia. BMJ. 2003; 28; 326(7404): 1418.
13.  Ott A, van Rossum CT, van Harskamp F, van de Mheen H, Hofman A, et al. Education and the incidence of dementia in a large population-based study: The Rotterdam Study. Neurology. 1999;52:663–666
14.  Whalley LJ, Starr JM, Erickson KI, Voss MW, Prakash RS, Basak C, Szabo A, Chaddock L, Kim JS, Heo S, Alves H et al. “Exercise training increases size of hippocampus and improves memory.” PNAS, 2011.DOI:10.1073/pnas.1015950108

15.  Verghese J, Lipton RB, Katz MJ, Hall CB, Derby CA, et al. Leisure activities and the risk of dementia in the elderly. N Engl J Med. 2003;348:2508–2516.