Latest

Physiology of Aging ว่าด้วยความ “เจียมสังขาร”

ผมอายุ 64 ปี เป็นหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำบอลลูนไปแล้ว  2 ครั้งในสองปีที่ผ่านมา ทำที่รพ. ….. ทั้งสองครั้ง ครั้งแรกกำลังวิ่งจ๊อกกิ้งแล้วเจ็บหน้าอก เข้าโรงพยาบาล หมอจับทำบอลลูนทันที คือทำที่เส้นซ้าย ครั้งที่สองเป็นแบบเดิมอีก หมอทำบอลลูนอีก แต่คราวนี้ทำเส้นขวา แล้วก็บอกว่ายังมีรอยตีบที่จุดแยกของโคนใหญ่ข้างซ้าย 80% ซึ่งเป็นจุดสำคัญ ให้ผมหาเวลากลับไปทำบอลลูนอีกครั้ง จะนัดหมอที่เก่งตรงนี้มาทำให้ มิฉะนั้นจะมีอายุสั้น ทุกวันนี้ผมวิ่งจ๊อกกิ้งได้ทุกวัน ไม่มีอาการอะไร จึงไม่คิดจะกลับไปทำ แต่สองสัปดาห์ก่อนมานี้ ผมมีอาการแน่นๆชาๆที่ใต้กระดูกหน้าอกขณะนั่งดูทีวี เป็นอย่างนี้หลายครั้ง เป็นอยู่ชั่วครู่ก็หายไป แต่เวลาวิ่งจ๊อกกิ้งเป็นชั่วโมงทุกวันไม่เห็นมีอาการเจ็บหรือแน่นเลย สบายมาก แล้วระยะสองสามสัปดาห์มานี้ผมรู้สึกว่าผมอาการแย่ คือบางครั้งหมดเรี่ยวหมดแรงเอาง่ายๆ บ่อยครั้งลุกแล้วหน้ามืด มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปประชุมกับเพื่อนๆ ขณะขับรถกลับมาตอนเย็นผมเกิดอาการหมดแรงที่จะขับรถต่อ ต้องวกเข้าไปหลับในปั๊มน้ำมัน ผมจึงไปหาหมอ ….. ที่รพ…… คราวนี้หมอตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเลือด แล้วก็ปรึกษาให้คุณหมอ….. จากรพ…. มาสวนหัวใจของผมนัยว่าเพื่อเตรียมพร้อมทำบอลลูนอีกครั้ง แต่เมื่อคุณหมอ… มาสวนหัวใจฉีดสีแล้วก็บอกว่าขดลวดเก่าทั้งสองอันที่ทำไว้ยังดีอยู่ และรอยตีบที่คุณหมอเรียกว่า distal left main นั้นคุณหมอบอกว่ามีอยู่เพียง 50% ไม่มากพอที่จะทำให้เกิดอาการใดๆ สรุปว่าผมไม่ต้องทำบอลลูน และให้ผมกลับบ้านได้ ผมได้ให้ลูกชายอัดภาพยนตร์ผลการสวนหัวใจทั้งสองครั้งสุดท้ายมาให้คุณหมอช่วยดูด้วย ขอความกรุณาผมด้วยนะครับ ผมอ่านอินเตอร์เน็ททราบว่ารอยตีบที่ left main เป็นอันตราย ผมอยากรู้ว่าถ้าหมอ… บอกว่ารอยตีบไม่มากพอจะทำให้เกิดอาการ หมายความว่าอาการเจ็บหน้าอกและเหนื่อยหมดเรี่ยวหมดแรงของผมเกิดจากโรคอื่นอย่างนั้นหรือครับ แล้วมันเกิดจากอะไรครับ ผมควรจะทำอย่างไรดี ผมรู้ว่าถ้ากลับไปหาหมอท่านแรกที่รพ….. ผมก็จะได้รับการทำบอลลูน แต่ผมไม่มั่นใจว่าทำอย่างนั้นจะดีหรือไม่
ขอบพระคุณคุณหมอสันต์เป็นอย่างสูงครับ
……………………………………………………
ตอบครับ
       ช่วงนี้เป็นวันหยุดยาว ผมปลีกวิเวก ไปทำงานโยธา (ซ่อมระเบียงผุ) อยู่ที่มวกเหล็ก แล้ววันนี้ก็รีบบึ่งกลับที่ตั้งเพื่อรายงานตัว  เพราะเป็นวันเกิดครบรอบหกสิบปีของภรรยา คนเราอยู่กันมาปูนนี้แล้ว พอถึงวันเกิดรับประกัน ไม่มีของขวัญอะไรกันแล้วครับ เพราะมันเป็นอะไรที่รูทีนมาหลายตั้งสิบปีแล้ว อย่างดีก็มีแต่ลมปาก..
                            “…ฉันมีเพียงพร พิไล
ส่วนลึกจากใจ หมายมั่น
            ปรารถนาดี ไมตรีสัมพันธ์
กลั่นกรองให้เธอ
                        เทวัญ โปรดประทานสุขแด่เธอ เสมอ
            พรใดเลิศเลอ หวังใดใคร่เจอ
ขอเธอจงได้
                        หอมหวาน ดั่งบุปผาแย้มบาน กลีบใบ
            ถ้าจะมีทุกข์ภัย ให้มลายแพ้ไป
เป็นเถ้าธุลี
                        ของขวัญวันเกิดยิ่งใหญ่ คือรักจากใจฉันนี่
            ซึ่งมีทั้งรัก และทั้งภักดี
 มอบพลีให้เธอ…”
ผมหยิบจดหมายของคุณมาตอบในโอกาสครอบครัวของผมจะได้เป็น “คนแก่” กันทั้งบ้านตามคำนิยามของ WHO แล้ว เพราะคำถามของคุณมีประเด็นที่ควรจะต้องพูดถึงสิ่งที่ผู้สูงอายุมักจะไม่รู้อย่างลึกซึ้งจริงจัง นั่นคือเรื่องสรีรวิทยาของการสูงวัย  (physiology of aging) หรือพูดแบบบ้านๆก็คือการ “ไม่รู้จักเจียมสังขาร” ซึ่งเป็นกับคนจำนวนไม่น้อยที่เป็นหนุ่มเป็นสาวกันนานเสียเพลินจนมาถึงวัยแก่โดยไม่ทันรู้ตัว
เอาละ มาตอบคำถามของคุณทีละประเด็นนะ
     ประเด็นที่ 1. หลอดเลือดคุณตีบกี่เปอร์เซ็นต์กันแน่ หมอคนที่หนึ่งสวนหัวใจแล้วบอกว่าตีบ80% ต้องเจี๋ยน.. เอ๊ย ไม่ใช่ ต้องทำบอลลูนใส่สะเต้นท์ แต่พอหมออีกคนหนึ่งมาสวนหัวใจแล้วบอกว่าไม่มี้..ไม่มี มีรอยตีบไม่เกิน 50% ไม่ต้องทำอะไร อันนี้มันมีความเป็นไปได้สองอย่างนะครับ คือ
     1.1 วิธีบอกเปอร์เซ็นต์ตีบของหลอดเลือดหัวใจมีสองวิธี คือบอกเป็น % พื้นที่หน้าตัด  (cross section area) ของหลอดเลือดที่ตีบลงไป กับบอกเป็น % เส้นผ่าศูนย์กลาง  (diameter) ของหลอดเลือดที่ตีบไป ตัวเลขสองตัวนี้ไม่เท่ากันนะครับ กล่าวคือถ้า% พื้นที่หน้าตัดตีบหายไป 75% จะเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลางตีบไป 50% หิ..หิ อย่าเพิ่งงงนะ มันเป็นเรขาคณิตนิดหน่อย ถ้างงไปแล้วผมก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร เอางี้ ไปถามลูกหลานที่เรียนเรขาคณิตอยู่ก็แล้วกัน แล้วทีหลังหมอพูดว่าตีบกี่เปอร์เซ็นต์ ถามหมอเขาหน่อยว่า “คุณหมอพูดถึงพื้นที่หน้าตัดหรือเส้นผ่าศูนย์กลางครับ”

     ในแง่ของนัยสำคัญของรอยตีบนั้น วงการหมอหัวใจทั่วโลกถือเอาแบบไม่มีหลักฐานอะไรว่าหากตีบเกิน 75% พื้นที่หน้าตัด หรือเกิน 50% ของเส้นผ่าศูนย์กลาง ร่วมกับมีอาการเจ็บหน้าอก ก็ถือว่าตีบอย่างมีนัยสำคัญ ในกรณีของคุณนี้หมอคนหนึ่งผมเข้าใจว่าพูดถึงพื้นที่หน้าตัด ว่าตีบไป 80% ต้องจัดการ แต่หมออีกคนหนึ่งที่บอกว่าตีบไม่ถึง 50% นั้นผมเข้าใจว่าคงหมายถึงเส้นผ่าศูนย์กลาง คือพูดง่ายๆว่าการประเมินของหมอทั้งสองคนนี้จริงๆแล้วต่างกันนิดเดียว ซึ่งก็เป็นธรรมดา เพราะเป็นการประเมินด้วยสายตา ย่อมต่างกันได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ต่างกันมากจนน่าเอะใจว่าความรู้แพทย์เนี่ยมันใครจะมั่วอย่างไรก็ได้หรือเปล่า

1.2 ถามว่าในความเห็นของผม หลอดเลือดหัวใจของคุณตีบกี่เปอร์เซ็นต์ ผมประเมินจากภาพการตรวจสวนหัวใจที่คุณให้มาทั้งสองครั้งว่ามีรอยตีบที่ปลายโคนซ้าย  (stenosis left main) อยู่ประมาณ 75% ของพื้นที่หน้าตัด หรือ 50% ของเส้นผ่าศูนย์กลาง แต่มีประเด็นสำคัญนอกเหนือไปจาก % ความตีบที่ผมขอตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมคือ
(1) รอยตีบนี้ เมื่อหมุนเปลี่ยนการฉายภาพไปในบางท่า พบว่ามีรอยตีบน้อยกว่า 75% ของหน้าตัดหรือ 50% ของเส้นผ่าศูนย์กลาง
(2) เมื่อพิจารณาหลอดเลือดส่วนปลาย (arterial run off) ที่รับเลือดที่ออกจากรอยตีบนี้แล้ว พบว่าขนาดของหลอดเลือดส่วนปลายโดยรวมไม่ได้ใหญ่ ทำให้รอยตีบนี้สามารถส่งเลือดได้พอเพียง อันนี้เป็นอีกมุมมองหนึ่งคนละมุมกับการมองว่าหลอดเลือดตีบไปกี่เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นการมองความสัมพันธ์ของพื้นที่หน้าตัดที่เหลือใช้การได้อยู่กับพื้นที่รับเลือดว่าได้ดุลกันหรือเปล่า ซึ่งตามความเห็นของผมเห็นว่ามันยังได้ดุลกันอยู่ การไปแก้รอยตีบนี้จะไม่เกิดมรรคผลอะไรในเชิงกลศาสตร์การไหลของเลือดขึ้นมาดอก เพราะถึงขยายรอยตีบขึ้น เลือดก็ไปได้เท่าเดิม เพราะปลายทางมันรับได้เท่านั้น เปรียบเหมือนคุณต่อท่อน้ำประปาจากท่อหกหุนไปหาท่อสี่หุนเพื่อไปออกก๊อกสี่หุน คุณอยากให้น้ำไหลแรงขึ้น คุณเปลี่ยนท่อต้นทางเป็นท่อหนึ่งนิ้ว มันก็ไม่มีประโยชน์ เพราะท่อปลายทางมันรับได้แค่สี่หุน..เข้าใจ๋?

     ดังนั้นมองจากภาพของผลการสวนหัวใจฉีดสีหลอดเลือดหัวใจอย่างเดียว ผมวินิจฉัยว่าคุณจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการทำบอลลูนหรือผ่าตัดบายพาส
ประเด็นที่ 2. อาการเจ็บๆแสบๆชาๆที่หน้าอกและหมดแรงขับรถ เป็นอาการของหลอดเลือดหัวใจตีบใช่หรือไม่ ตอบว่าไม่ใช่ครับ อันนี้ผมมองจากมุมอาการวิทยาอย่างเดียวนะ ไม่เกี่ยวกับผลการตรวจสวนหัวใจที่คุณให้มาด้วย ตรงนี้สำคัญ ขอให้คุณตั้งใจอ่าน เพราะต้องเอาไปใช้ประโยชน์ในวันหน้าอีกมาก คือการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด มีได้สองแบบเท่านั้น คือ

แบบที่ 1. เจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดชั่วคราว  (stable angina) หมายความว่ามีจุดตีบ พอออกแรงมาก หัวใจต้องใช้ออกซิเจนมาก เลือดส่งให้ไม่ทัน ก็เจ็บหน้าอก การเจ็บหน้าอกแบบนี้มีเอกลักษณ์สองประการ คือ (1) จะเจ็บตอนออกแรงมากๆหรือตอนรีบๆหรือตอนเครียดจัดกำลังปรี๊ดแตกเท่านั้น จะไม่เจ็บตอนพักอยู่เฉยๆสบายๆ (2) เมื่อเจ็บแล้ว พักสักครู่อาการเจ็บจะหายไป กรณีแบบนี้ไม่ซีเรียส ไม่ต้องรีบไปโรงพยาบาลก็ได้
แบบที่ 2. เจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน  (acute MI) อันนี้เกิดจากมีลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นอุดหลอดเลือดหัวใจป๊อก..ก เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้เลย กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดทันทีแล้วค่อยๆตายลงเป็นบริเวณมากขึ้นๆ เจ็บหน้าอกแบบนี้มีเอกลักษณ์สองอย่างคือ (1) เป็นตอนไหนก็ได้ ตอนพักก็ได้ ตอนออกแรงก็ได้ ส่วนใหญ่เป็นตอนเช้าตอนไก่โห่ (2) เจ็บแล้วไม่มีหาย รอนาน 20 นาทีก็ยังเจ็บอยู่นั่นแล้วไม่มีหาย กรณีนี้ต้องรีบไปโรงพยาบาลลูกเดียว เพราะช้าอาจเสียชีวิตได้ 
ในกรณีของคุณนั้นอาการแน่นๆชาๆที่หน้าอกเกิดขณะพักสบายๆ เป็นแป๊บเดียวก็หายไปเอง ไม่เข้าแก๊ปทั้งแบบ stable angina และแบบ acute MI อาการแบบนี้ไม่ใช่อาการของโรคหัวใจขาดเลือดแน่นอนครับ ส่วนอาการขับรถตอนเย็นแล้วหมดแรงจนต้องม่อยกระรอกนั้น คนละเรื่องเลย ไม่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจตีบเลย
ประเด็นที่ 3. ถ้าไม่ใช่อาการของหัวใจขาดเลือด มันเป็นอาการของโรคอะไร ตอบว่าไม่ทราบครับ แต่ถึงไม่ทราบ ผมก็ยังวินิจฉัยคุณได้นะ โดยใช้วิธีเดาแอ็ก ว่าคุณน่าจะเป็นโรคที่วงการแพทย์สมัยใหม่เรียกว่า dysautonomia ซึ่งผมขอแปลว่า “โรคระบบประสาทอัตโนมัติเสียศูนย์” ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ในกรณีของคุณนี้น่าจะเป็นผลจากความแก่ วันนี้เวลาจำกัด ผมขออธิบายถึงสรีรวิทยาของการสูงอายุก่อน วันหลังมีเวลาค่อยพูดถึง dysautonomia เรื่องที่ผมจะพูดวันนี้คือว่าคนเราเมื่อแก่ตัวแล้วร่างกายมันจะค่อยๆเปลี่ยนไปดังนี้
การเปลี่ยนแปลงที่ 1. คือนาฬิกาในสมองจะรายงานการหมุนเวียนเปลี่ยนตำแหน่งของดวงตะวัน (circardial rhythm) ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง หมายความว่าสมองจะนับเวลากลางวันกลางคืนไม่ถูก ปรากฏการณ์นี้ภาษาแพทย์เรียกว่าเกิด “ลานภายในเคลื่อน (Internal phase drift)” ทำให้การปล่อยฮอร์โมนในร่างกายของต่อมต่างๆ โดยเฉพาะต่อมที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งต้องทำตามจังหวะเวลาขึ้นลงของตะวันพลอยเพี้ยนไปด้วย ส่วนใหญ่จะหนักไปทางจับเวลาได้เร็วกว่าความเป็นจริง เช่น ยังไม่ค่ำก็ตีความว่าค่ำแล้ว ยังไม่แจ้งก็ตีความว่าแจ้งแล้ว  เมื่อยังไม่ค่ำบอกว่าค่ำ กำลังอยู่ในงานเลี้ยงกลางวันแสกๆ คนอื่นเขาหัวเราะเอิ๊กอ๊ากอยู่ แต่สมองของตัวเองบอกว่าเฮ้ย ค่ำแล้วหลับได้ ตัวเองกำลังหัวเราะได้ครึ่งลำไม่ทันหุบปากเลย..หลับไปเสียแล้ว หรือกำลังนอนหลับอยู่ ยังไม่แจ้ง แต่สมองบอกว่าแจ้งแล้ว ต่อมที่เกี่ยวข้องก็ปล่อยฮอร์โมนให้ตื่น ตาก็ค้าง จะข่มตาหลับยังไงก็หลับไม่ลง เพราะระบบประสาทอัตโนมัติมันเป็นนายของเรา เหมือนกองทัพเป็นนายของรัฐบาล ยังไงยังงั้น คือระบบประสาทอัตโนมัติมันทำงานอยู่นอกเหนือการควบคุมของจิตใจเรา เราจะไปสั่งมันไม่ได้
     การเปลี่ยนแปลงที่ 2. คือเมื่ออายุมากขึ้น การปั๊มฮอร์โมนต่างๆเข้ากระแสเลือดของสมองจะแผ่วลง ทำให้ระดับฮอร์โมนเช่น ฮอร์โมนกระตุ้นอวัยวะเพศ (gonadotropins) ฮอร์โมนเร่งการเติบโต (growth hormone) ฮอร์โมนกระตุ้นต่อไทรอยด์  (thyrotropin) ฮอร์โมนช่วยนอนหลับ (melatonin) ฮอร์โมนกระตุ้นต่อหมวกไต  (ACTH) ลดลง อย่างน้อยวงการแพทย์ก็รู้ว่าเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นเช่นนี้เป็นเพราะมีการสูญเสียเซลประสาทจำนวนหนึ่งที่สมองส่วนไฮโปทาลามัสซึ่งควบคุมการปล่อยฮอร์โมนเหล่านี้ การที่สมองลดการกระตุ้นต่อมต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อมหมวกไตลงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะต่อมหมวกไตเป็นที่ผลิตฮอร์โมนสะเตียรอยด์หรือคอร์ติซอล ซึ่งทำให้เราคึกคักไม่มีเหนื่อย สู้ไม่มีถอย พออายุมากฮอร์โมนตัวนี้ลดต่ำลงอยู่ในระดับที่เทียบได้กับคนป่วยเป็นโรคเลยทีเดียว ที่ผมพูดอย่างนี้เพราะตอนที่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้กำหนดนโยบายให้เจาะเลือดคนไข้ที่จะเข้าทำผ่าตัดใหญ่เพื่อดูฮอร์โมนคอร์ติซอลทุกคนเพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากภาวะฉุกเฉินเพราะระดับฮอร์โมนต่ำขณะผ่าตัด (ที่มักพบในคนที่กินยาลูกกลอนประจำและเพิ่งหยุดยาก่อนผ่าตัด) การเจาะเลือดแบบปูพรมทำให้ผมได้ทราบด้วยความประหลาดใจว่าคนสูงอายุระดับ 60 -80 ปีส่วนใหญ่มีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลต่ำกว่าเกณฑ์ปกติมากอย่างเหลือเชื่อ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเมื่อเราแก่แล้วร่างกายมันจึงถดถอยได้มากเกินคาดทั้งๆที่ใจเราไม่ได้ถอยสักหน่อย
การเปลี่ยนแปลงที่ 3. คือการที่ระบบประสาทและสมองของคนสูงอายุลดความซับซ้อนละเอียดอ่อนหรือความเนียน  (complexity) ลงไปมาก เปรียบเสมือนระบบสายไฟฟ้าในรถยนต์ ตอนซื้อรถมาใหม่ๆก็มีสาระพัดสายต่อกันยุบยับซับซ้อนนัวเนียไปหมดทำให้รถยนต์ใหม่ทำฟังชั่นได้สาระพัด แต่นานๆไปช่างซ่อมก็ทยอยตัดสายเล็กบางสายที่ไม่สำคัญหรือที่ไม่มีอะไหล่ออกไป จับสายใหญ่มาจุ๊บต่อกันตรงๆให้พอใช้งานหลักๆได้ แต่ความสามารถที่จะทำงานละเอียดซับซ้อนหลายฟังชั่นก็ลดลงไปตามอายุของรถ สมองของคนแก่จึงทำงานในส่วนที่เกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติได้แบบ “หยาบ” กว่าของคนหนุ่มคนสาว เช่น การปรับเปลี่ยนอัตราการเต้นของหัวใจเพื่อสนองตอบต่อสิ่งเร้าลดความละเอียดลงไป เวลาความดันตกหัวใจควรจะเต้นเร็วชดเชยก็เป็นอืดไม่ค่อยเต้น การสั่งผนังหลอดเลือดให้หดหรือขยายก็ขาดความละเอียด นั่งๆอยู่ลุกขึ้นแทนที่สมองจะสั่งให้หลอดเลือดหดตัวเพื่อเพิ่มความดันเลือดให้เลี้ยงร่างกายส่วนบนได้ทันก็ไม่สั่ง ผลก็คือคนแก่ลุกพรวดพราดแล้วหน้ามืดหัวทิ่มทั้งๆที่ตอนหนุ่มๆไม่เคยเป็น หูที่เคยจำแนกความถี่เสียงได้หลายระดับก็ลดการจำแนกลง ทำให้จับหางเสียงชาวบ้านไม่ค่อยได้ กลายเป็นคนนอกจากหูตึงแล้วยังหูด้านเหมือนไม่เห็นหัวจิตหัวใจคนอื่นอีกต่างหาก อย่างไรก็ตาม การสูญเสียความเนียนของระบบประสาทนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมกันในคนอายุเท่ากัน เช่น งานวิจัยพบว่าคนแก่ที่เล่นกีฬาจะปรับอัตราการเต้นหัวใจตามความจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนได้เก่งกว่าของคนแก่ที่เอาแต่นั่งจุมปุ๊กดูทีวี เป็นต้น   
การเปลี่ยนแปลงที่ 4. คือการที่ร่างกายคนแก่เกิดมีปัญหาซึ่งวงการแพทย์เรียกว่า ภาวะกำลังสำรองหดหาย (homeostenosis) เปรียบเสมือนกองทัพที่ใช้กำลังทหารไปหมดแล้วทั้งทหารหลัก ทหารกองหนุน ทหารกองเกิน ถ้ามีเหลือให้ใช้ก็แต่เด็ก ผู้หญิง และคนพิการที่ไม่เคยจับปืน หากมีเหตุต้องสู้รบก็จะแพ้ได้ง่ายๆ ร่างกายของคนแก่จึงไม่ทนโรค เป็นอะไรนิดๆหน่อยๆก็ไปเอาได้ง่ายๆ แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่ทำงานเข้มแข็งรวดเร็วกว่าของคนหนุ่มคือระบบการแข็งตัวของเลือด ซึ่งแทนที่จะเป็นเรื่องดี กลับไม่ดี เพราะทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นง่าย เป็นอัมพาตอัมพฤกษ์ง่าย   
การเปลี่ยนแปลงที่ 5. คือการที่เซลทั่วไปในร่างกายแก่ไปด้วยและทำงานแบบเสื่อมถอยลง เป็นต้นว่า เยื่อบุช่องปากจะบางลง เหงือกก็ร่น ฟันก็ผุง่าย รากฟันก็เสียง่าย ส่งผลถึงภาวะขาดอาหารในคนสูงอายุ ระบบกลืนอาหารของกล้ามเนื้อลำคอที่เคยทำงานร่วมกันมาดีๆก็เริ่มทำงานไม่เข้าขากัน เรียกว่าทำงานผิดปกติเสีย 60% ของคนสูงอายุทั้งหมด ทำให้เกิดสำลักอาหารหรือน้ำเอาง่ายๆ บางท่านนั่งวางฟอร์มตั้งสติซดน้ำชาในห้องประชุมแบบที่เคยทำ แต่น้ำชาสำลักลงหลอดลมเล่นเอาไอตัวงอไปเลยก็มี ทั้งๆไม่ได้ใจลอยเลยสักนิดเดียว  กล้ามเนื้อหูรูดปลายหลอดอาหารก็ปิดไม่สนิท เป็นกรดไหลย้อนง่าย ปวดท้อง ท้องอืด เป็นประจำ อุบัติการณ์ติดเชื้อ H pylori ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรงแผลในกระเพาะอาหารก็สูงขึ้น ทำให้ป่วยเป็นแผลในกระเพาะหรือเป็นกระเพาะอาหารอักเสบมากขึ้น  ลำไส้เล็กก็ดูดซึมกรดโฟลิกและวิตามินบี.12 ได้น้อยลง ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งมีระดับวิตามินทั้งสองตัวนี้ต่ำกว่าปกติทั้งๆทานอาหารแบบเดิมๆไม่ได้เปลี่ยนแปลง ลำไส้ใหญ่ของผู้สูงอายุก็บีบตัวเป็นลูกคลื่นน้อยลง ทำให้ท้องผูกเป็นประจำ ระบบขับยาด้วยเอ็นไซม์ (เช่น (cytrochrome P450) ก็ลดประสิทธิภาพลง ทำให้ผู้สูงอายุได้รับพิษของยาง่ายขึ้น การเผาผลาญไขมันเลว (LDL) ก็ลดประสิทธิภาพลง ทำให้ผู้สูงอายุชอบเป็นไขมันในเลือดสูงง่าย ไตของผู้สูงอายุก็หดและเหี่ยวลง คือจากอายุ 30 ปี ไปถึงอายุ 80 ปีพบว่าไตเหี่ยวลงถึง 25-30% ความสามารถในการกรองของไตลดลง ทำให้ร่างกายต้องเพิ่มการผลิตสาร prostaglandin เพื่อให้หลอดเลือดไตขยายตัวเข้าไว้เพื่อชดเชย การมีสารนี้ในร่างกายมากทำให้ได้รับพิษจากยาแก้ปวดแก้อักเสบ (NSAID) ได้ง่าย หลายรายไตพังไปเพราะทานยาแก้ปวดแก้อักเสบรักษาข้อนี่เอง มวลกล้ามเนื้อของคนสูงอายุเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวก็ลดลง คือลดลงไปจากเดิมถึง 30-50% แถมคุณภาพของกล้ามเนื้อก็แย่ลงด้วย นั่นเป็นเหตุผลว่ายิ่งแก่ยิ่งต้องเล่นกล้าม มิฉะนั้นท้ายที่สุดจะไม่มีกล้ามเนื้อเหลือให้ใช้งาน ทำให้ลื่นตกหกล้มกระดูกหักง่าย
              กล่าวโดยสรุป อาการเจ็บๆชาๆที่โน่นที่นี่ (รวมทั้งที่หน้าอก) ก็ดี อาการลุกแล้วหน้ามืดก็ดี อาการง่วงตอนบ่ายจนต้องจอดแวะนอนในปั๊มน้ำมันก็ดี ทั้งหมดนั้นเป็นอาการของ “ความแก่” ซึ่งคุณจะต้องเรียนรู้และปรับตัว ฝึกฝนร่างกายตัวเองเพื่อรับมือกับมันครับ อย่าไปเพ่งเล็งแต่จะไปทำบอลลูนหรือไปทำผ่าตัดบายพาสเลย นั่นเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม