Latest

หมอสันต์ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจ “หมอไม่ใช่พระเจ้า”

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (16 กย. 57)
………………………………………………….

เป็นหมอผ่าตัด แต่เมื่อป่วย ก็ไม่อยากถูกผ่าตัด เลือกปรับสมดุลให้ตัวเอง


25 สิงหาคม 2557 คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ เขียนในบล็อกตัวเอง(http://visitdrsant.blogspot.com) ว่ามีผู้อ่านข้อเขียนของเขา 5 ล้านครั้งแล้ว บล็อกนี่แหละเป็นเส้นทางให้ความรู้ผู้คนที่สนใจสุขภาพ ไม่เว้นแม้กระทั่งพยาบาลหรือนักศึกษาแพทย์ หมอสันต์มีความสุขกับการเขียนเรื่องราวให้ความรู้เรื่องสุขภาพและชีวิตในแง่มุมต่างๆ โดยผ่านการค้นคว้างานวิจัยมากมาย มีบรรณานุกรมให้ตามอ่านต่อ เขาเขียนให้คนทุกเพศทุกวัยอ่านได้ มีคำอธิบายอย่างละเอียด พร้อมๆ กับการหยอดอารมณ์ขัน ถ้าได้อ่านบล็อกของหมอสันต์ บทสัมภาษณ์ครั้้งนี้ ก็เป็นแค่น้ำจิ้มสำหรับคนไม่รู้จักหมอสันต์
ปัจจุบันในวัย 60 กว่าๆ หมอสันต์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว หัวหน้าศูนย์สุขภาพ โรงพยาบาลพญาไท 2 เพื่อให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพในโรงพยาบาล และจัดคอร์สเพื่อให้คนดูแลสุขภาพที่ Health Cottage มวกเหล็ก สระบุรี โดยไม่ได้คิดในเชิงธุรกิจ และเขายังเป็นต้นคิด Co-Housing เขาเรียกสั้นๆ ว่า coho ชุมชนที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ที่สระบุรี
เขาเลิกที่จะเป็นหมอผ่าตัดหัวใจมือหนึ่ง และผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 เพื่อจะเป็นหมอตัวเล็กๆ ให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพ เพราะเคยป่วยเป็นโรคยอดฮิต อ้วน ลงพุง ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ซึ่งต้องจบด้วยการกินยา และผ่าตัด แม้จะเลือกกินยาอยู่พักหนึ่ง แต่หมอสันต์ก็รู้ว่า ไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกนัก และเขาก็ไม่อยากให้หมอรุ่นน้องมาชำแหละอกผ่าตัดหัวใจ
ป่วยก็เลยต้องค้นคว้างานวิจัยเพื่อหาทางเลือกในการรักษาตัว และแล้วเขาเลือกดูแลสุขภาพที่ไม่ต้องใช้เงินเยอะ แต่ต้องทำด้วยตัวเอง ด้วยหลักTLM (Total Life Modification) นั่นก็คือ ปรับโภชนาการ ออกกำลังกาย ลดความเครียด และวิธีการง่ายๆ แบบนี้แหละที่ปรับเปลี่ยนยากเหลือเกิน
แล้วทำไมหมอสันต์ทำได้ ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไร และเมื่อทำได้ ก็สอนคนได้ เขาบอกว่า ชีวิตที่ผ่านมาไม่ได้คิดว่าต้องเป็นประโยชน์ต่อใคร แต่ตัวเราต้องเอ็นจอย ใช้ชีวิตให้คุ้มค่าที่ได้เกิดมา และย้ำตลอดการสนทนาว่า “ผมแก่แล้ว มีเวลาจำกัด ต้องทำสิ่งที่อยากทำ”….
เลือกจะสื่อสารเรื่องราวสุขภาพผ่านบล็อก วิธีการนี้ไม่ทำให้คุณหมอเสียดายเวลาในการใช้ชีวิตหรือ
พอรักษาคนไข้ไปนานๆ เริ่มเห็นว่า เป็นกิจกรรมที่ต้องลงทุนลงแรงมาก ผลได้ต่ำ ผมจึงอยากทำอะไรที่ลงทุนน้อย แต่ได้ผล มีสุขภาพดีกว่า ผมคิดเรื่องนี้มานานแล้ว จนมาถึงจุดที่ตัวเองป่วย หันมาดูแลตัวเอง โดยใช้หลักวิชาการแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ได้ใช้หลักการอะไรที่พิสดาร ก็เห็นชัดว่า มีต้นทุนต่ำและดูแลสุขภาพคนได้ดีกว่า ก็เลยเปลี่ยนอาชีพมาเป็นหมอทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว พูดง่ายๆ มีหน้าที่หลักในการ ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และเริ่มเผยแพร่การดูแลสุขภาพในสื่อออนไลน์ ทั้งรายการทีวี วิทยุ บล็อก และหนังสือ
ตอนแต่ทำรายการทีวี ผมเหนื่อย เราแก่แล้ว สู้ไม่ไหว เพราะกระบวนการทำทีวีขั้นตอนเยอะ เหมือนการขี่ช้างจับตั๊กแตน ตอนนั้นผมทำหลายรายการ The Symptom เกมหมอ ยอดนักสืบ ให้ความรู้ผ่านโรคต่างๆ รายการหมอสันต์ทันโรค ที่เนชั่น ให้ข้อมูลผ่านข่าว และรายการเต้นเปลี่ยนชีวิต ทางสถานีช่อง 3 ตั้งใจให้ความรู้ทางโภชนาการ และออกรายการทีวีเล็กๆ น้อยๆ
เวลาตอบคำถามสุขภาพ คุณหมอเลือกสรรอย่างไร
เราจะสอนสิ่งที่คนเรียนรู้แล้ว นำไปใช้ได้ ถ้าเทคนิคนั้นสอนไปแล้ว คนทำไม่ได้ เราจะไม่สอน ในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ เมื่อผมทำได้ ผมก็สอนคน พอผมเริ่มออกมาสอนก็ใช้สื่อหลายแบบ เริ่มแรกก็จัดรายการวิทยุ ทำทีวี และอินเตอร์เน็ต ค่อนข้างสื่อไปได้เยอะ ไม่ต้องลงทุน เรื่องใดที่เขียนไว้แล้วมีสาระ คนก็ไปกระจายต่อ บางบทความที่ผมเขียนมีคนอ่านตั้งสามแสนครั้ง ผมเขียนในบล็อก มีคนอ่านวันละหมื่นครั้ง ผมเขียนมาสี่ปีแล้ว แต่ผมไม่ได้ตอบทุกคำถาม ทุกวันนี้ผมต้องทิ้งจดหมายในอินเตอร์เน็ตออกไปบ้าง เพราะผมไม่มีเวลาเปิดดู ผมเลือกคำถามที่ยังไม่ค่อยได้ตอบ
ผมพยายามตอบเรื่องที่ไม่ซ้ำกัน ผมตอบไปแล้วกว่าเจ็ดร้อยเรื่อง จึงกลายเป็นทุกแง่ทุกมุมของการแพทย์ มีนักเรียนแพทย์นักเรียนพยาบาลเขียนมาบอกว่า เวลาจะค้นคว้าเรื่องอะไร คีย์ชื่อผมและชื่อเรื่องในกูเกิ้ลก็จะเจอคำตอบ เดิมทีคนถามจะเป็นเด็กวัยรุ่น ถามเรื่องเซ็กส์ เรื่องการวางแผนครอบครัว แต่ผมบอกพวกเขาว่า อยากให้สิทธิคนสูงอายุก่อน
การสื่อทางอินเตอร์เน็ตทำให้แชร์กันได้เยอะ ทำให้คนรับรู้เรื่องสุขภาพเยอะ อย่างผมเขียนวิธีการออกกำลังกายของคนป่วยเป็นอัมพาต เขียนไปไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมง คนที่เป็นอัมพาต ก็ลองเอาไปใช้ เป็นสื่อที่มีพลังมาก ผมใช้เวลาเขียนไม่นาน เพราะผมเป็นคนที่พิมพ์ได้เร็ว ตอนที่คอมพิวเตอร์ออกมาใหม่ๆ ผมตัดสินใจว่าต้องไปเรียนพิมพ์ดีดแบบสัมผัส เพราะคิดว่าต้องใช้เยอะ ผมก็ได้ใช้ ผมพิมพ์ได้เร็วกว่าเขียน อีกอย่างตอนป่วย ผมเอางานวิจัยที่อ่านมาทบทวน ทำให้ผมมีคลังข้อมูลจำนวนมาก บทความผมจะมีบรรณานุกรมให้คนอ่านไปศึกษาอ่านเองได้ ณ วันนี้ บล็อกผมมียอดคนดูกว่า 5 ล้านคน
คุณหมอชอบเขียนหนังสือ ?
สมัยก่อนเวลาเครียดก็จะเขียนหนังสือ ตอนที่กลับจากเมืองนอกมาเป็นผู้อำนวยการศูนย์หัวใจ เวลาผ่าตัดเครียดๆ ก็จะเขียนถึงลูกน้อง สมัยนั้นเพิ่งเริ่มมีอีเมล์ ลูกน้องจะติดอีเมล์ที่ผมเขียน เขาอ่านแล้วสนุกสนาน ผมจะสนุกเวลาเขียนหนังสือ ผมออกหนังสือมาหลายเล่ม
ทำไมเลิกเป็นหมอผ่าตัด หันมาทำงานด้านเวชศาสตร์ครอบครัวเป็นงานหลัก ?
ผมมองว่า หมอที่เห็นความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพให้ประชาชนมีเยอะประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ แต่รูปแบบการทำงานของหมอไม่เอื้อ หมอมีเวลาให้คนไข้พบในโรงพยาบาลรัฐเฉลี่ยคนละประมาณ 5 นาที ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนเฉลี่ยคนละ 15 นาที เวลาแค่นี้ไม่พอกับการส่งเสริมสุขภาพ แม้จะมีหมอที่เห็นว่าควรมีการส่งเสริมสุขภาพ แต่รูปแบบการทำงานของพวกเขาถูกขึงพืด ผมไม่อยู่ในระบบนั้นแล้ว คลินิกที่ผมให้คำแนะนำ ผมล็อคเวลาเลยว่า วันหนึ่งรับคนไข้ไม่เกิน 4 คน คนหนึ่งให้เวลาหนึ่งชั่วโมง เพื่อสอนให้เขาดูแลสุขภาพ ผมทำได้ เพราะผมแก่แล้ว ไม่ต้องหาเงินเยอะๆ ผมผ่านจุดนั้นแล้ว เพราะผมมีสตางค์ผมก็สามารถทำอะไรตามใจตัวเองได้
ย้อนไปถึงช่วงที่ป่วยตอนอายุ 50 กว่าๆ คุณหมอจัดการกับชีวิตอย่างไร
เวลาผ่าตัดคนไข้ไปแล้ว พวกเขากลับมาอีก เราไม่สามารถเปลี่ยนการดำเนินของโรคได้ การใช้เทคโนโลยีล้ำยุคก็ไม่ใช่ แต่ตอนนั้นยังไม่มีแรงผลักให้ผมหันมาทำงานส่งเสริมสุขภาพจริงๆ จังๆ จนผมป่วย จึงเป็นแรงผลักที่แรงมาก ผมเป็นหมอผ่าตัด ผมก็ไม่อยากถูกผ่าตัด เพราะผมรู้ว่า มันไม่ใช่ ก็ต้องดิ้นรนหาทางอื่น เพื่อจะดึงตัวเองออกมาจากสภาพการเจ็บป่วย โดยไม่ต้องไปนอนให้หมอรุ่นน้องผ่าตัด ไม่ใช่ว่าผมไม่ไว้ใจพวกเขานะ แต่ผมรู้ว่า มันไม่ใช่วิธีนี้ เพราะมูลเหตุของการเจ็บป่วย เนื่องจากแบบแผนการใช้ชีวิต โดยมีเหตุผล 3-4อย่าง คือ การกินอาหารที่มีแคลอรี่สูงเกินไป ไม่ออกกำลังกาย และความโลภที่อยากทำอะไรให้ได้เยอะ ๆ อยากสร้างผลงาน อยากทำโน้นทำนี่ นั่นนำมาซึ่งความเครียด
ตอนนั้นคุณหมอชอบทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกันไหม
เป็นเหมือนกันครับ ผมมองว่า คนที่ทำกิจกรรม 4-5อย่างเวลาเดียวกันโดยไม่รู้ตัว ทำให้ดุลยภาพของชีวิตไม่ดี ความจริงวงการแพทย์รู้มานานแล้วว่า ระบบประสาทอัตโนมัติ ควบคุมดุลยภาพชีวิตเรา ถ้าเราเครียดมาก จะกระตุ้นระบบประสาททำให้ไม่สมดุล จนป่วยเป็นโรค นี่เป็นความรู้ทางการแพทย์ คนก็รู้มานานแล้ว แต่ถ้าเราไม่ป่วยก็ไม่หยิบมาเป็นประเด็น
เป็นหมอ…แต่ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเหมือนคนไข้ ?
ความดันในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วน หลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งของคนไทยอายุเกิน 40 มีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคพวกนี้ นี่เป็นงานวิจัยที่ผมทำจากกรณีตัวอย่าง 3,000 กว่าคน ซึ่งออกมาเกินครึ่งหนึ่งมีปัจจัยเสี่ยง หนึ่งหรือสองอย่างที่คนจะเป็นโรคแบบนี้
เมื่อไม่เลือกผ่าตัด คุณหมอเลือกวิธีรักษาตัวเองอย่างไร
การเป็นหมอถูกสอนให้เป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว สิ่งที่เรารักษาคนไข้ก็มาจากข้อมูล และข้อมูลเหล่านี้เปลี่ยนไปเรื่อย วิธีการรักษาก็ต้องเปลี่ยนด้วย นี่คือการแพทย์แผนปัจจุบัน เขาเรียกว่า การแพทย์ที่อิงหลักฐาน อันนี้เราเข้าใจได้ แต่ที่ลึกไปกว่านั้น การเป็นหมอผ่าตัดหัวใจ เราเคยเล่นบทบาทของพระเจ้า จริงๆ แล้วเราไม่ใช่ บางทีเราลืมไปเหมือนกัน และการที่ผมป่วย เป็นแรงกระตุกอย่างหนึ่ง ทำให้ผมคิดว่า ถ้าวันนี้เราไม่ถอยกลับ แล้วเราจะถอยเมื่อไหร่
เมื่อลองรักษาด้วยยาแล้ว กินยาเป็นกำมือ ก็ไปต่อไม่ได้ ก่อนจะผ่าตัดทำบอลลูน ผมก็ต้องมาทบทวนงานวิจัย แล้วนำ
มาใช้ ซึ่งน่าเสียดายที่งานวิจัยเหล่านั้นประชาชนไม่ค่อยรู้ แล้ววงการแพทย์รู้ดี อย่างผมใช้วิธีการ TLM (Total Life Modification) คือปรับโภชนาการ ออกกำลังกาย จัดการความเครียดให้ตัวเอง วงการแพทย์โรคหัวใจ บัญญัติศัพท์ทีแอลเอ็มมาเป็นสิบปีแล้ว การประชุมทุกครั้งก็ย้ำว่า ทีแอลเอ็มเป็นการรักษาคนไข้วิธีที่หนึ่ง แต่พอออกจากห้องประชุม เรื่องนี้ก็หายไป และเวลารักษาคนไข้ ก็ไม่มีการนำมาใช้ เพราะหมอไม่มีเวลาแนะนำ และหมอก็ไม่ได้ลงมือปฎิบัติดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง นี่เป็นเอกลักษณ์ของแพทย์คือ ถ้าสิ่งไหนเขาทำไม่ได้ เขาจะอาย ไม่กล้าพูด เพราะวิธีทีแอลเอ็ม แพทย์ทำไม่ได้ แม้จะมีหลักฐานวิทยาศาสตร์ยืนยัน
เริ่มใช้วิธีทีแอลเอ็มดูแลตัวเอง ตั้งแต่เมื่อไหร่
ตอนอายุ 54 ปีผมเริ่มมีปัญหาสุขภาพ ผมไม่เคยออกกำลังกาย เมื่อเริ่มทำ ไม่ใช่แค่เพิ่มเวลาออกกำลังกายวันละหนึ่งชั่วโมง พอออกกำลังกายแล้ว ร่างกายต้องการการพักผ่อน ก็ต้องขยายเวลาการนอนมากขึ้น จึงต้องลดกิจกรรมเพื่อที่มีความสำคัญน้อย อย่างการผ่าตัดหัวใจหรือการเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล มีความสำคัญน้อย ก็ตัดทิ้ง เมื่อเรียงลำดับความสำคัญของชีวิต เราก็จะรู้ว่าอะไรสำคัญกว่า ถ้าคุณใกล้จะตาย การทำใจให้สงบมีความสำคัญสูงสุด คงไม่มีใครอยากตายอย่างทุรนทุราย ผมก็เหมือนกัน ผมเหลือเวลาในชีวิตจำกัด เรื่องอะไรที่สำคัญก็ทำก่อน
ที่ผมเลือกที่จะไม่เป็นหมอผ่าตัดหรือผู้อำนวยการโรงพยาบาล ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนที่แก่แล้ว คนที่อายุน้อยอาจจะรู้สึกว่า ชีวิตต้องก้าวต่อไป ต้องทำโน้น ทำนี่ แต่สำหรับคนแก่ใกล้ตายไม่ยากหรอก แรกๆ ผมก็พยายามลดงาน แต่ปรากฎว่าไม่มีเวลา เพราะการผ่าตัดต้องใช้เวลา
ไม่คิดว่าการผ่าตัดเป็นการช่วยชีวิตคนหรือ
ก็เป็นการช่วยคน แต่เป็นการช่วยชีวิตคนที่จำกัด และผมก็ทำมานานแล้ว วันหนึ่งก็ต้องเกษียณ ไม่มีใครผ่าตัดจนตายคามีด แต่ถ้าผมหันมาให้ความรู้ เพื่อให้พวกเขาดูแลตัวเอง ก็ช่วยคนได้เหมือนกัน เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เหมาะกับวัยของผม และความสนใจของผม ถ้าคุณบอกว่า หมอมีเครื่องมือวัดดัชนีสุขภาพมากกว่าคนไข้ ผมว่าไม่จริง คนธรรมดาก็ตรวจวัดสุขภาพตัวเองได้ เหมือนที่ชาวบ้านพูดว่า คนเราแค่กินได้ นอนหลับ นั่นแหละเป็นดัชนีวัดสุขภาพ ปัจจุบันมีเครื่องวัดความดันโลหิตเครื่องละ 3,000 กว่าๆ วัดได้แม่นยำกว่าที่ใช้ในโรงพยาบาล เพราะฉะนั้นเรื่องดัชนีวัดสุขภาพไม่ใช่ปัญหา
คนเราเมื่อป่วย สิ่งแรกที่นึกถึงคือ โรงพยาบาล?
คนส่วนใหญ่ใช้่ชีวิตไปตามสัญชาติญาณ พวกเขาไม่มีเวลาคิดอะไรมาก และการแพทย์แผนปัจจุบันทำให้คนเข้าใจผิดว่า การดูแลสุขภาพคล้ายๆ การดูแลรถยนต์ พอถึงเวลาก็เอารถเข้าอู่ ตรวจเช็ค หลักวิชาการแพทย์เราดูแลสุขภาพแบบนั้นไม่ได้ ต้องให้คนๆ นั้นดูแลตัวเอง แล้วหมอเป็นผู้ช่วยให้แนวทางห่างๆ ถึงจุดหนึ่งมีปัญหา หมอแทรกแซงได้ วงการแพทย์ทั่วโลกอาจทำให้คนเข้าใจผิด โดยไม่ตั้งใจ คนก็ไปหวังว่า ถ้ามีโรงพยาบาลดี มีประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ก็พอแล้ว บางคนแก่แล้วไปซื้อคอนโดใกล้โรงพยาบาล คาดหวังให้โรงพยาบาลเป็นที่พึ่ง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ ในกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ ฉุกเฉิน ตรงนั้นโรงพยาบาลมีประโยชน์ แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นในชีวิตมีน้อย ที่เหลืออีก 99 เปอร์เซ็นต์ของเวลาเราต้องดูแลตัวเอง เราอย่าหวังว่า ต้องพึ่งโรงพยาบาล
ตอนนั้นการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อดูแลสุขภาพ ยากไหม
เรื่องการเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ยาก บังเอิญผมไม่ใช่คนที่มีความสุขกับการกิน ผมมีความสุขกับการทำงาน ผมกินอะไรก็ได้ เราก็เปลี่ยนอาหาร กินผัก ผลไม้มากขึ้น ไม่มีเวลาเคี้ยวก็ให้แม่บ้านปั่นผักผลไม้ใส่ตู้เย็น อาหารโปรตีนก็ใช้พวกถั่วอบดื่มกับกาแฟดำ น้ำอัดลมก็เลิก ตื่นมา ผมกินน้ำผักผลไม้ปั่น ถั่วต่างๆ เป็นอาหารมื้อเช้าและกลางวัน บ่ายๆ ทานสลัดผัก ตกเย็นกินข้าวกับครอบครัว ทานข้าวน้อยๆ เพราะลงพุง เรื่องกินผมก็เปลี่ยนไปเลย แต่เรื่องที่ยากคือ ออกกำลังกาย ผมใช้เวลา 6 เดือนกว่าจะออกกำลังกายเป็นนิสัย ผมมองว่า ถ้าเราจะเอาจริงก็จัดเวลาได้
แรกๆ เดินออกกำลังกายในห้องแคบๆ ก็เบื่อ เหมือนหนูถีบจักร จนผมตั้งกฎให้ตัวเองว่า ถ้าวันไหนยังไม่ออกกำลังกายจะไม่แปรงฟัน คือ พยายามทำทุกอย่างให้ตัวเองออกกำลังกายได้ง่ายๆ เพื่อไม่ให้ตัวเรามีข้ออ้างที่ไม่ออกกำลังกาย เมื่อออกกำลังกายได้สำเร็จ ทุกอย่างเปลี่่ยนไปในทางที่ดี ตัวชี้วัดสุขภาพทุกอย่างออกมาดีหมด ยาไม่ต้องใช้ น้ำหนักลง พุงยุบ ความรู้สึกก็ดี มีพลัง รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า กระตือรือร้น เทียบกับตอนป่วย ขับรถมาโรงพยาบาลไม่อยากลงจากรถ พอนึกถึงภาพ ผ่านยามก็จะทำความเคารพ แล้วเราก็ยกมือไหว้ ทักเขา เราเบื่อ เพราะเราตีความในสมองในทางลบ เนื่องจากสารเคมีในสมอง
พอเปลี่ยนตัวเองได้ การมองโลกของคุณหมอเปลี่ยนไหม
การออกกำลังกายทำให้สารเอนโดรฟินหลั่ง มองโลกในแง่บวกมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกดี นี่คือวิทยาศาสตร์ เมื่อก่อนเราไม่มีเวลา ไม่เคยมองสนามหญ้าหน้าบ้าน ไม่เคยเห็นกระรอกตามต้นไม้ แต่เดี๋ยวนี้เราเห็นกระรอก เพราะผมจัดสรรเวลา อีกอย่างผมชอบทำอะไรใหม่ๆ บางอย่างที่ทำมานานพอสมควร ก็ตัดสินใจไม่ทำ อย่างงานบริหารโรงพยาบาล ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลมาหลายแห่ง หรืองานผ่าตัดหัวใจผมทำมา 20 ปี ผมก็เลิกทำ เพราะสิ่งที่อยากทำยังมีอีกเยอะ ทำจนตายก็ไม่หมด ต้องเรียงว่าอยากทำอะไรมากที่สุด จะได้ทำซะ
คุณหมอช่วยเรียงลำดับสิ่งที่อยากทำอันดับต้นๆ สักนิด ?
1.ฝึกสติตัวเอง
2. สอนผู้คนดูแลสุขภาพ
3. อยากทำสวนปลูกดอกไม้ ปลูกผัก ยังไม่ได้ทำจริงจัง
4 เขียนรูป
5 สร้างชุมชนคนสูงอายุที่ดูแลกันเอง เพื่อให้พวกเขาใช้ชีวิตบั้นปลายที่มีคุณภาพ มีความสุขแต่ไม่แพง ถ้าไม่แพงคนแก่ต้องดูแลกันเอง เพราะเพื่อนผมไปซื้อบ้านที่อเมริกาเพื่อใช้ชีวิตบั้นปลาย แพงมาก ยี่สิบกว่าล้าน เพื่อนอีกคนไปซื้อสิทธิประกันสังคมเกาหลี สิบกว่าล้าน มันเป็นวิธีการเลือกตายที่แพงไป เพราะเขาต้องการชีวิตบั้นปลายที่มีความสุข
อย่างการทำไร่ กำพืดผมเป็นลูกชาวนา ผมเคยไปเรียนเกษตรที่แม่โจ้ พอเรียนจบสามปี ก็อยากทำงานวิจัยด้านการเกษตร ก็ไปเรียนมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ บางเขน ปีหนึ่ง พอน้องสาวป่วยก็อยากเป็นหมอ แต่ผมชอบการเกษตร พอมีเงินสิ่งแรกที่ทำคือ ซื้อที่ดินทำไร่ ทำใหญ่โตลงทุนหลายล้าน แต่ไม่ได้ลงไปทำเอง ก็เลยเจ๊ง จนเมียบอกว่า ให้ทำสวนหน้าบ้าน
ส่วนเรื่องการวาดรูป ตอนเด็กๆ ผมเป็นเด็กวัด เมื่อก่อนมีชาวบ้านนั่งวาดป้่ายติดรถ ผมก็ไปคลุกคลีกับเขา ผมก็ชอบ วาดรูปเป็นอีกอย่างที่ผมอยากทำในชีวิต ตอนนี้ผมเริ่มวาดรูปแล้ว ผมไม่ได้เรียน แค่ขอคำแนะนำผู้รู้ เพราะศิลปะเป็นการแสดงออกของความรู้สึก ไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไร ผมตั้งใจว่า จะวาดรูปเป็นชุด ชุดที่ผมจะวาดเป็นการเดินทางของ อองรี มูโอท์ (Henri Mouhot) ซึ่งเป็นนักสำรวจชาวฝรั่งเศสเข้ามาเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 4 ผมสนใจวาดภาพสเก็ตของเขาเป็นภาพสี คิดว่าจะมีสัก 15 รูป
แล้วเรื่องการฝึกสติล่ะ ?
การฝึกสติ เป็นสิ่งที่ผมอยากทำอันดับแรก สมัยหนุ่มๆ พ่อผมเสียชีวิต ตอนนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลย ก็เลยเริ่มสนใจความคิดซ้ำซากในสมอง เพราะตอนอายุ 17 ปี พ่อตายก็เป็นแรงกระแทก ความสนใจเริ่มจากตรงนั้น แต่พอเรียนแพทย์ ผลของความเครียดที่มีต่อร่างกาย ก็ยิ่งสนใจมากขึ้น ในช่วง 10 ปีหลักฐานวิทยาศาสตร์ชัดมาก เริ่มเอาการฝึกสติเพื่อลดความเครียดมาใช้ โดยเอาวิธีการของพระพุทธเจ้ามาทำโครงสร้างให้ง่ายขึ้น แล้วทำวิจัยเปรียบเทียบในการรักษาโรค มีงานวิจัยแบบนี้ 400 กว่ารายการ ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยระดับสูง มีการเปรียบเทียบอย่างดี และผลชัดมาก การฝึกสติรับมือกับโรคเรื้อรังได้ ทั้งในแง่เปรียบเทียบความสามารถในการรักษากับวิธีอื่น
ฝีกสติผมก็ศึกษาหลายค่าย ผมไม่ใช่พวกที่อยากบรรลุธรรมอะไรนะ อยากเอาวิธีอะไรก็ได้มาดูแลสุภาพ ผมก็พยายามฝึกกับชีวิตประจำวัน บางครั้งผมก็ไปเข้าคอร์ส อย่างคอร์สโกเอ็นก้าในเรื่องการฝึกสติ เพื่อนำมาใช้กับชีวิต แต่ที่ผมสอนคนไข้มาจากหลักฐานการวิจัย วิธีหลักที่ผมใช้เป็นหลักพระพุทธเจ้าเรียกว่า อานาปานสติ และผมฝึกไทชิ และโยคะทุกวัน ผมมองว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้ลึกซึ้งในเรื่องจิต และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผูกสัมพันธ์แน่นหนากับระบบประสาทอัตโนมัติ และความเครียด
เนื่องจากความเครียด กระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติเร่งให้หลอดเลือดบีบตัว หัวใจเต้นเร็วขึ้น นำไปสู่การอักเสบของหลอดเลือดโดยเราไมรู้ตัว แต่ถ้าเราช้าลง เฝ้ามองร่างกาย ก็จะพอรู้เลาๆ ว่า ระบบประสาทอัตโนมัติอยู่ในสภาวะไหน ถ้าเราเฝ้ามองการปวดของร่างกาย เราก็จะรู้ว่า กล้่ามเนื้อเกร็งตัว การรู้สถานะความเครียดของตัวเอง นี่คือ เรื่องหยาบที่สุดของเรื่องสติ
อะไรทำให้คุณหมอหันมาทำคอร์สการดูแลสุขภาพ ?
ผมทำคอร์สสุขภาพ เพราะมีคนเชิญผมไปเป็นวิทยากรบ่อยมาก และต้องไปสอนตามโรงแรม ซึ่งไม่เหมาะ อย่างผมทำแคมป์คนลดน้ำหนัก พอไปจัดกิจกรรมในโรงแรม ก็มีคนมาถ่ายรูปคนที่มาลดน้ำหนัก เมื่อไม่เหมาะจึงต้องหาสถานที่สอน ผมก็เลือกสระบุรี กระทั่งตอนนี้มีคอร์สเยอะขึ้น คอร์สคนเป็นมะเร็ง คอร์สโรคหัวใจ เราก็เน้นการดูแลสุขภาพและให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาให้ความรู้ เพราะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คนต้องเข้าใจว่า ยาไม่ได้รักษาโรค ไม่อย่างนั้นคนไม่เป็นโรคเยอะแยะขนาดนี้ ยาแค่บรรเทาอาการ ไขมันในเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือด การจัดการกับไขมันในเลือดสูงด้วยยาเป็นทางเลือกที่ได้ผล แต่มีวิธีดีกว่านั้นคือ ปรับโภชนาการ มีพิษภัยน้อยกว่า อย่างเบาหวาน ในข้อมูลวิทยาศาสตร์มีสองขั้น ขั้นใกล้จะเป็นเบาหวาน การปรับด้วยการออกกำลังกาย โภชนาการ และลดความเครียดจะมีผลดีกว่าการใช้ยา แต่ในขั้นเป็นมากแล้ว ต้องพึ่งยา เพราะกำลังที่จะปรับเปลี่ยนชีวิตไม่มีแล้ว สัจธรรมคือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังทุกโรคไม่มียารักษา
ผมมองว่า ใน 20 ปีข้างหน้า เรื่องสติ จะเป็นเครื่องมือในการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทุกโรค ปกติวงการแพทย์จะใช้เวลา 20 ปีในการนำหลักฐานวิทยาศาสตร์มาอ้างอิน เพราะเรื่องใหม่ๆ จะใช้เวลานานในการพิสูจน์ อย่างคลีนิคฝึกสติรักษาโรคในอเมริกามีทุกรัฐ จริงๆ แล้วสิทธิบัตรเป็นของพระพุทธเจ้า เนื่องจากวิธีการเป็นของพระพุทธเจ้า แต่กลายเป็นลิขสิทธิ์ของฝรั่ง
เพราะเวลาในชีวิตมีจำกัด คุณหมอวางแผนชีวิตต่อไปอย่างไร
ผมแก่แล้ว ผมเตือนตัวเองเสมอว่า สิ่งรอบตัวเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราต้องเซ็ตตัวเองตามสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา วิธีง่ายๆ เลย คือ สมมติว่าตัวเองกำลังจะตาย ผมใช้ความตายเป็นหมุด เพื่อจะได้ใช้เวลาที่เหลือให้มีความสุข เพราะผมไม่ได้ตั้งธงว่า ต้องใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ต่อใคร แต่ตั้งธงว่า เป็นชีวิตที่ตัวเราเอ็นจอย เป็นชีวิตที่คุ้มค่าที่เกิดมา ผมไม่ใช่คนดีมีมาตรฐานทางศีลธรรม ผมไม่ใช่คนอย่างนั้น ผมเคยเป็นคนป่วย ผมก็รู้ว่าป่วยแล้วเป็นยังไง ผมมองว่า หมอทุกคนต้องดูแลตัวเองให้เป็นก่อน หมอที่อ้วนก็ต้องลดความอ้วน ปรากฎว่า สิ่งที่ผมพูด ทำให้หมอผอมไปตามๆ กัน ถ้าพวกเขาดูแลตัวเองเป็นก็จะถ่ายทอดไปสู่คนอื่นๆ
ชุมชนที่พักสำหรับผู้สูงอายุขนาดเล็กไปถึงไหนแล้วคะ
Co-housing ผมเรียกสั้นๆว่า coho หมายถึงรูปแบบชุมชนที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่มีขนาดเล็กประมาณไม่เกิน 20 หน่วย อาจจะเป็นบ้านหรืออาคารชุดก็ได้ที่อ. มวกเหล็ก สระบุรี ผมเอาแนวคิดนี้ไปแบ่งปัน ชวนคนมาอยู่ร่วมกัน โดยโครงการแรกที่ทำคือ ชวนคนสิบสองคนมาซื้อที่ดินร่วมกัน แล้วปลูกบ้านของตัวเอง โดยมีหลักการง่ายๆ สี่อย่าง คือ 
1. ทุกคนต้องรู้จักกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน 
2. ทุกคนตัดสินใจร่วมกัน ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ทุกคนเป็นกรรมการชุมชน ไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะทำอะไรใหม่ๆต้องได้มติเอกฉันท์ ทุกคนร่วมกันออกแบบชุมชน บางครั้งก็เริ่มตั้งแต่ร่วมกันเลือกที่ดินที่จะจัดตั้งชุมชน
3. แม้จะอยู่ในรั้วเดียวกัน แต่มีบ้านเป็นสัดส่วนส่วนตัว มีพื้นที่ส่วนกลาง มีคนสวนและคนเฝ้า มีระบบกันขโมยและระบบเรียกเวลาป่วยฉุกเฉินระบบเดียวกัน และ 
4 พวกเขาตั้งใจจะแก่และตายที่นั่น
วันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ผมก็ชวนคนมาร่วมแบ่งปันอีกโครงการ ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจ อย่างคุณรวมกลุ่มกันได้ก็มาอยู่ร่วมกัน โดยมีกฎ ซึ่งเป็นรูปแบบชุมชนที่ทำให้คนแก่อยู่ร่วมกันได้ อาศัยเพื่อนบ้านช่วยเหลือกัน ไม่ใช่การจ้างพยาบาลดูแล ในอเมริกามีชุมชนการจัดการรูปแบบนี้สองร้อยกว่าแห่ง ในยุโรปมีร้อยกว่าแห่ง ในเมืองไทยไม่มี ผมแบ่งปันความคิดนี้เป็นแห่งแรก
ทำไมในเมืองไทยไม่มีชุมชนลักษณะนี้
คนไทยติดรูปแบบการดูแลโดยสถาบัน มีหมอ พยาบาล คอยดุูแลเหมือนเนอร์สซิ่ง โฮม แต่ Co-housing ชุมชนที่ผู้สูงอายุดูแลซึ่งกันและกันไม่ค่อยมี เนื่องจากคนเหล่านี้มีความคิดว่า 1. ไม่อยากให้คนมานับว่าตัวเองเป็นคนป่วย 2. ต้องการมีเอกสิทธิ์ในชีวิตตัวเอง ตัดสินใจเองได้ในวาระสุดท้าย ซึ่งลักษณะแบบนี้เป็นชุมชนดั้งเดิมของสังคมไทย โครงการที่ผมทำคือ พาคนมาเจอกัน ตอนนี้ก็ก่อสร้างแล้ว มีกฎกติการ่วมกัน ซึ่งสังคมแบบนี้เกิดขึ้นเพราะอินเตอร์เน็ต ผมอยู่ในวงการนี้มาสี่สิบปี ผมก็รู้ว่า ชุมชนลักษณะนี้ รัฐไม่เข้ามาช่วยเหลือหรอก ซึ่งการหาความช่วยเหลือจากภายนอก ใช่ว่าผมจะเพิกเฉย ถ้าให้รัฐทำ ผมว่ามันไม่เกิดหรอก ผมทำในสิ่งที่ผมดลบันดาลได้ภายใต้ข้อจำกัดของผมเอง เรื่องเหล่านี้ผมได้ความคิดมาจากการเข้าเรียนในหลักสูตร “7 อุปนิสัยพัฒนาสู่ผู้มีประสิทธิผลสูง” ผมทำเท่าที่ทำได้ เพราะเวลาในชีวิตผมมีจำกัด ถ้านอกเขตอำนาจผม ผมไม่ยุ่ง เขตอำนาจที่ผมดลบันดาลได้ก็คือ ใจของผม
คุณหมอใช้หลักอะไรในการดำเนินชีวิต
หลักคำสอนที่ผมใช้เปลี่ยนไปเรื่อยตามจังหวะชีวิต ณ ตอนนี้คือ “ทำทีละอย่าง” เหมาะที่สุดสำหรับชีวิตช่วงนี้ เพราะผมไม่ใช่คนแก่ศีลธรรม ผมจะปรับวิธีการใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ตามเวลาที่เหลือ ถ้าเหลืออีก 3 วัน ผมจะไปอยู่ในสถานที่เงียบๆ เพื่อความสงบทางจิตใจ