Latest

ข้องใจเรื่องน้ำตาลฟรุ้คโต้ส (Fructose)

เรียนคุณหมอสันต์
ดิฉันอายุ 63 ปี (ที่บอกอายุก็เพื่อให้คุณหมอตอบคำถามของดิฉันก่อน) คือดิฉันมีความสับสนเรื่องน้ำตาลฟรุ้คโต้ส ข้อมูลหลายทางบอกว่าน้ำตาลฟรุ้คโต้สเป็นของไม่ดีต่อสุขภาพ แต่มีวันหนึ่งไปฟังบรรยายของท่านวิทยากรชื่อ ……. ท่านบอกว่าน้ำตาลฟรุ้คโต้สเป็นสารธรรมชาติ มีอยู่ในผลไม้ทุกชนิด ดังนั้นให้กินน้ำตาลฟรุ้คโต้สเข้าไปเถอะ น้ำตาลทรายก็ทำมาจากอ้อย น้ำตาลปี๊บก็เป็นน้ำตาลธรรมชาติเหมือนกัน กินๆเข้าไปเหอะ ดิฉันจึงสงสัยว่าความจริงเกี่ยวกับผลของน้ำตาลฟรุ้คโตสต่อสุขภาพนี้เป็นอย่างไร

……………………………………………….

ตอบครับ

     ประเด็นที่ 1. การพูดคนละเรื่องเดียวกัน

     ปัญหาการพูดคนละเรื่องเดียวกันนี้มีอยู่เสมอ มีมาตั้งแต่สมัยยังไม่มีอินเตอร์เน็ทแล้ว นานมาแล้วสมัยยังทำงานแอคทีฟอยู่ผมไปประชุมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติเพื่อกำหนดมาตรฐานเรื่องการช่วยชีวิตคนหัวใจหยุดเต้น นั่งประชุมกันอยู่ที่เมืองดัลลัส (สหรัฐ) ประชุมกันไปได้ครึ่งวัน ที่ประชุมจึงสรุปได้ว่าทั้งหมดที่พูดกันมาเนี่ย พวกเรากำลังพูดคนละเรื่องเดียวกัน ที่เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้แม้ในห้องประชุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็เพราะศัพท์บัญญัติที่เรามีใช้มันไม่พอจะบอกสิ่งที่เราจะบอกเล่ากันให้ตรงเจตนาได้ จึงต้องหยิบศัพท์ความหมายใกล้ๆเคียงๆกันมาใช้ อีกฝ่ายฟังก็เข้าใจว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ก็เลยต่อยอดไปอีกทางหนึ่งเป็นคุ้งเป็นแคว..อามิตตาพุทธ

ดังนั้นก่อนตอบคำถามของคุณผมขอนิยามศัพท์ก่อนนะ ว่าน้ำตาลในธรรมชาติที่เข้ามาสู่ร่างกายเรานี้ มันมีอยู่สามอย่างเท่านั้น คือ

     1. กลูโค้ส (glucose) เป็นสารโมเลกุลเดี่ยว มีรสไม่ถึงกับหวาน เพียงแค่ออกปะแล่มๆ ชวนอาเจียนมากกว่า เป็นแหล่งพลังงานสำหรับเซลทุกชนิดในร่างกาย โดยเฉพาะถ้าเป็นเซลสมองและเม็ดเลือดละก็ต้อง..กลูโค้สเท่านั้น แหล่งพลังงานอย่างอื่นใช้ไม่ได้ ถามว่า กลูโค้สในธรรมชาติมันมาจากไหนละ ตอบว่ามาจากนู้น..น ดวงอาทิตย์

     “บ้า.. ถามดีๆมาตอบกวนโอ้ยยังงี้ใช้ได้เหรอ”

     แหะ แหะ เปล่ากวนโอ๊ยครับ คือเรื่องมันเป็นงี้คุณยาย เอ๊ยไม่ใช่ คุณผู้หญิง คือดวงอาทิตย์จะสาดแสงอาทิตย์ออกมาในรูปของเม็ดเล็กเม็ดน้อยร่วงพร่างพรูตามกันมาเหมือนเราสาดปลายข้าวจากกระด้งฝัดข้าวลงไปบนพื้นดินให้ไก่กิน เม็ดแสงนี้เรียกว่า “โฟตอน” เมื่อเม็ดโฟตอนถูกสาดมาถึงโลก ใบไม้ใบหญ้าก็จะจับเอาเม็ดโฟตอนนี้มาอัดโมเลกุลน้ำที่เธอดูดจากดินผ่านทางรากขึ้นมาอัดเข้ากับโมเลกุลของก้าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เธอดูดจากอากาศผ่านเข้ามาทางใบ ให้ทั้งน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์แปลงร่างกลายเป็นโมเลกุลที่ใหญ่ขึ้นๆเรียกว่าคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (complex carbohydrate) ซึ่งท้ายที่สุดก็คือหัวหรือต้นหรือผลของพืชเหล่านั้นนั่นแหละ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนหรือแป้งจากพืชนี้เป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ เมื่อต่อยแยกย่อยลงไปก็จะพบว่ามันประกอบขึ้นมาจากโมเลกุลพื้นฐานขนาดเล็กหน้าตาเหมือนกันหมดมาต่อๆกัน เหมือนเวลาเราทุบผนังตึกไม่ว่าจะเป็นบ้านทรงสเปนหรือบ้านทรงอิตาลี่ ทุบไปก็จะเห็นก้อนอิฐเหมือนกันหมด โมเลกุลพื้นฐานที่ว่านี้ก็คือ “กลูโคส” นั่นเอง

     2. กาแล็คโตส (galactose) เป็นน้ำตาลในนม เป็นโมเลกุลเดี่ยวเหมือนกัน มีรสหวานนิดเดียว ไม่เชื่อคุณลองดื่มนมจากเต้าชนิดจืดดู ผมหมายถึงนมจากเต้าตราวัวแดงของฟาร์มโคนมไทยเดนมาร์คที่มวกเหล็กนะ ไม่ได้หมายถึงนมจากเต้าของบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นใด กาแล็คโตสที่อยู่ในนมนี้มันชอบอยู่แบบจับคู่อยู่กับโมเลกุลกลูโคสกลายเป็นโมเลกุลคู่แฝดเรียกว่าแล็คโต้ส ซึ่งก็ถือเป็นน้ำตาลในนมเช่นกัน

     3. ซูโครส (sucrose) เป็นน้ำตาลจากผลไม้หรือส่วนต่างๆของพืช มันไม่ได้เป็นโมเลกุลเดี่ยวแบบกลูโค้สหรือกาแล็คโต้สนะ แต่เป็นโมเลกุลคู่แฝดที่ประกอบขึ้นจากกลูโค้สจับกับฟรุ้คโตส (fructose) ยามใดที่คู่แฝดเขาผละออกจากกันกลายเป็นโมเลกุลเดี่ยว แต่ละตัวก็จะแสดงคุณสมบัติอันโดดเด่นของตนออกมา คือฟรุ้คโตสนี้จะหวานเจี๊ยบ แบบหวานจริงๆ หวานกว่ากลูโค้สและกาแล้คโต้สแบบเทียบกันไม่เห็นฝุ่น แต่ว่าความเข้มข้นของฟรุ้ตโตสในผลไม้ธรรมชาติที่ว่าหวานจับจิตนี้วิเคราะห์ไปแล้วก็มีความเข้มข้นเพียงประมาณ 5% (ของน้ำหนัก)เท่านั้นเอง มีอาหารธรรมชาติสองสามอย่างเท่านั้นที่มีความเข้มข้นของฟรุ้คโตสสูงถึงระดับ 10% คือ น้ำผึ้ง อินทผาลัม และมะเดื่อฝรั่ง (fig) แค่ 10% ก็ยังถือว่าไม่มากอยู่ดี

     ทั้งสามหน่อข้างต้นนั้น คือ กลูโค้ส กาแล็คโต้ส และ ซูโครส คือน้ำตาลที่เราได้รับจากธรรมชาติ

     คราวนี้ก็ถึงเวลาแนะนำตัวผู้ร้ายแล้ว แอ่น..แอ๊น มันตั้งต้นจากน้ำเชื่อมที่ทำจากข้าวโพด (corn syrup) ที่เขาเอามาสร้างความหวานให้กับเครื่องดื่มเช่นน้ำอัดลม น้ำผลไม้กล่อง และอาหารอุตสาหกรรมทั้งหลาย ดังได้กล่าวมาแล้วว่าน้ำตาลในพืชนั้นมันก็คือซูโครส หากสกัดเอาแต่น้ำตาลออกมาอย่างเช่นน้ำตาลทรายซึ่งมีแต่ซูโครสเนื้อๆก็จะมีกลูโคสกับฟรุ้คโต้สอย่างละครึ่งหนึ่ง เรียกว่า 50-50 น้ำเชื่อมข้าวโพดก็ควรจะมีฟรุ้คโต้สอย่างมากแค่ 50% บวกลบนิดหน่อยซึ่งก็น่าจะมีศักดิ์และสิทธิ์เท่าน้ำตาลทรายหรือน้ำอ้อยทุกประการ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเมื่อปีกลายได้มีการวิจัยที่มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียใต้ (USC) โดยวิธีไปหาซื้อเครื่องดื่มรสหวานในตลาดเมืองลอสแองเจลิสมา 23 ชนิด เอาฉลากออก แล้วส่งไปวิจัยที่แล็บของฮาร์วาร์ดเพื่อดูว่าสัดส่วนของน้ำตาลฟรุ้คโต้ส:กลูโคส ในเครื่องดื่มรสหวานแต่ละยี่ห้อจะเป็นประการใด ก็พบความจริงอันน่าทึ่งว่าเครื่องดื่มใส่น้ำตาลเหล่านี้ได้ใช้วิธีทางอุตสาหกรรม “จัดให้” สัดส่วนของฟรุ้คโต้สสูงผิดธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่นโคคาโคล่าและเป็ปซี่มีสัดส่วนน้ำตาล ฟรุ้คโต้ส:กลูโคส = 65:35 สไปรท์มีสัดส่วน 64:36 เป็นต้น จึงเป็นที่มาของคำเรียกที่ตั้งขึ้นใหม่ในทางโภชนาการว่า “น้ำเชื่อมข้าวโพดชนิดฟรุ้คโต้สสูง” (High fructose corn syrup เขียนย่อว่า HFCS) ซึ่งเป็นคำเหมาโหลสำหรับเรียกวัตถุดิบที่ใช้ให้ความหวานในเครื่องดื่มใส่น้ำตาลยี่ห้อต่างๆทั้งหลาย และที่คุณยาย เอ๊ยไม่ใช่คุณผู้หญิงอ่านพบในอินเตอร์เน็ทว่าเขาโจมตีด่าว่าฟรุ้คโต้สเลวระยำอย่างนั้นอย่างนี้ เขาหมายถึง HFCS เท่านั้น เพราะผลวิจัยเขาวิจัยจาก HFCS เขาไม่ได้หมายถึงน้ำตาลซูโครสในผลไม้ตามธรรมชาติที่วิทยากรท่านนั้นพยายามแก้ต่างให้ เรื่องที่คุณผู้หญิงฟังมาจึงเป็นคนละเรื่องเดียวกัน กล่าวคือโจทก์เขายื่นฟ้องหมา แต่ท่านมาให้การแก้ต่างแทนไก่ มันจึงเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

     อนึ่ง ก่อนที่จะผ่านเรื่องนี้ไป โปรดอย่าสับสนว่าน้ำเชื่อมข้าวโพดชนิดฟรุ้คโต้สสูง (HFCS) นี้เป็นของอย่างเดียวกันกับน้ำนมข้าวโพดที่คนเข้าคิวซื้อกันที่ไร่สุวรรณที่ปากช่องนะครับ ไม่เกี่ยวกันเลย และไม่ได้เป็นญาติกันด้วย น้ำนมข้าวโพด(ใครนะตั้งชื่อนี้ให้) เป็นแค่ของเหลวที่เกิดจากการหีบเม็ดข้าวโพด ไม่ใช่น้ำเชื่อม และไม่มีอะไรเกี่ยวกับ high fructose ทั้งสิ้น

     ประเด็นที่ 2. ทำไมต้อง High Fructose

     ถามว่าแล้วเขาทำให้สัดส่วนของฟรุ้คโต้สมันสูงกว่ากลูโคสไปทำไม ตอบว่าหึ หึ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันเพราะโคตรเหง้าศักราชของผมไม่ได้ทำน้ำอัดลมหรือน้ำผลไม้ขาย ฟรุ้คโต้สนี้มันหวานกว่าน้ำตาลที่ได้มาตามธรรมชาติทุกชนิด หวานกว่าซูโครสในผลไม้ หวานกว่ากลูโคสในอาหารทั่วไป และหวานกว่ากาแล็คโตสในนม ผมเดาว่าเขาทำสัดส่วนฟรุ้คโต้สให้สูงขึ้นคงเพื่อให้น้ำอัดลมหรือน้ำผลไม้นั้นหวานสะใจ ลูกค้าจะได้ติดรสหวานกระมังครับ นี่ผมเดาเอานะ เพราะครั้งหนึ่งผมก็เคยติดน้ำอัดลม แล้วมันแหม..เลิกยากเลิกเย็น แต่ผมก็เลิกได้นะ พูดแล้วจะหาว่าคุย

     ประเด็นที่ 3. ผลเสียของฟรุ้คโตสต่อร่างกาย

     ถามว่านอกจากการหวานกว่าเขาเพื่อนซึ่งบางคนบอกว่าน่าจะเป็นข้อดีแล้ว ฟรุ้คโตสมีข้อเสียต่อสุขภาพอะไรอื่นๆอย่างไรหรือ ตอบว่าข้อมูลทางการแพทย์ในเรื่องนี้มีดังนี้

     1. ขณะที่กลูโค้สเป็นน้ำตาลที่ย่อยสลายและใช้เปลี่ยนเป็นพลังงานได้ทันทีโดยเซลทุกชนิดในร่างกาย แต่ฟรุ้คโตสเนี่ยไม่ใช่ว่าใครๆก็จะใช้เขาได้นะครับ เพราะการจะเอาฟรุ้คโต้สเข้าเซลต้องอาศัยโมเลกุลตัวพาที่เรียกว่า GLUT – 5 transporter ซึ่งเซลร่างกายทั่วไปมีใช้จำกัดจำเขี่ยมาก ผู้ที่จะย่อยสลายฟรุ้คโต้สได้อย่างสะดวกโยธินมีเพียงผู้เดียวคือเซลตับเท่านั้น ถ้ากินเข้าไปน้อยๆก็ไม่พรื้อเพราะตับใช้ได้หมด แต่ถ้ากินเข้าไปมากๆแบบว่าดื่มโค้กยักษ์จุหนึ่งลิตรทุกวันอย่างที่บางคนเคยทำ ตับใช้ไม่ทันฟรุ้คโต้สมันก็จะเหลือใช้ ตับท่านก็จะเก็บตุนไว้ สถานที่ที่ท่านจะกักตุนก็คือที่ตับนั่นแหละ และธรรมชาติของอาหารให้พลังงานทุกชนิด หากเหลือใช้จะถูกเปลี่ยนเป็นโมเลกุลตัวกลางตัวหนึ่งชื่ออะเซติลโคเอ. (acetyl CoA) แล้วถูกนำเข้าเก็บในรูปของไขมัน ฟรุ้คโต้สก็เช่นกัน เมื่อเหลือใช้จึงจะถูกนำเข้าเก็บที่ตับในรูปของไขมัน ซึ่งถ้ามากๆก็เกิดภาวะไขมันแทรกตับ ถ้าแทรกมากๆเซลตับผู้เป็นเจ้าบ้านก็จะแตกตายเสียหายกลายเป็นตับอักเสบ เรียกว่าโรคตับอักเสบจากไขมันโดยไม่เกี่ยวกับอัลกอฮอล์ (NASH) อันว่าตับของคนเรานี้ เมื่อได้เป็นตับอักเสบแล้ว ไม่ว่าจะอักเสบจาก NASH หรือจากแอลกอฮอล์ หรือจากไวรัสลงตับ อนาคตล้วนมุ่งไปสู่ที่เดียวกันคือร่างกายจะพยายามซ่อมด้วยการแทรกพังผืดเข้าไปทำให้กลายเป็นตับแข็ง และภาวะตับแข็งนี้แหละ ที่เป็นประตูชัยไปสู่การเป็นมะเร็งตับ ซึ่งเป็นมะเร็งยอดนิยมท๊อปโฟร์ของไทยเรา การบริโภคน้ำเชื่อม HFCS มากเกินขนาดจึงมีผลเสียหายในทางทฤษฏีได้ถึงขนาดนี้แหละครับคุณผู้หญิง

     2. เวลาที่เรากินอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเช่นข้าวและแป้ง กลูโค้สที่ได้จากอาหารเหล่านี้จะไปกระตุ้นการปล่อยอินสุลินซึ่งจะสั่งให้เซลต่างๆรับเอากลูโค้สไปใช้ แต่ฟรุ้คโต้สนี่มันไม่กระตุ้นการหลังอินสุลินนะครับ กินเข้าไปมากๆ ตับอ่อนก็ไม่รู้สึกรู้สาว่ามีน้ำตาลเข้ามามาก จึงไม่ได้เพิ่มอินสุลินเพื่อให้เซลเพิ่มการใช้น้ำตาล ทำให้น้ำตาลเหลือใช้คาอยู่ในร่างกายมาก มีงานวิจัยระดับระบาดวิทยาอยู่หลายรายที่สรุปได้ว่าคนกินน้ำตาลฟรุ้คโต้สจากเครื่องดื่มหวานๆเหล่านี้มาก มีความสัมพันธ์กับการมีอัตราเป็นเบาหวานประเภทที่สองสูงกว่าคนที่ไม่ได้กินเครื่องดื่มใส่น้ำตาล

     3. ฟรุ้คโต้สเนี่ยมันหวานก็จริง แต่ระบบของร่างกายไม่ได้ถือเป็นแหล่งพลังงานสำคัญอย่างกลูโค้ส ร่างกายไม่มีกลไกย้อนกลับที่คอยแจ้งระดับฟรุ้คโต้สในฐานะวัตถุดิบเหมือนอย่างกลไกแจ้งระดับกลูโคส ผลการศึกษาในคนพบว่าเมื่อระดับฟรุ้คโต้สในเลือดเพิ่มขึ้น ฮอร์โมนอิ่ม (leptin) ไม่ได้เพิ่มระดับขึ้น กลับจะลดระดับลงด้วยซ้ำ ขณะที่กลไกกดการหลั่งฮอร์โมนหิว (ghrelin) แทนที่จะถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้นกลับถูกลดให้ทำงานน้อยลง ดังนั้นน้ำเชื่อม HFCS จึงเป็นน้ำหวานที่กินได้เรื่อยๆ กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม ทำให้คนดื่มเครื่องดื่มใส่น้ำเชื่อม HFCS เป็นประจำมีแนวโน้มจะอ้วนมาก

     4. กลไกการย่อยสลายฟรุ้คโต้สมีหลายกลไก แต่ร่างกายมักใช้กลไกที่ต้องใช้เม็ดพลังงาน (ATP) มาก ทำให้เกิดกรดยูริกขึ้นมาเป็นผลพลอยได้มาก มีผลวิจัยเชิงระบาดวิทยาที่สรุปได้ตรงกันมากมายหลายรายการว่าคนชอบดื่มเครื่องดื่มใส่น้ำเชื่อม HFCS มีความสัมพันธ์กับการมีกรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งทำให้สัมพันธ์ต่อไปถึงการเพิ่มอุบัติการณ์เป็นโรคอีกหลายโรค เช่น เก้าท์ เบาหวาน ความดัน

     ประเด็นที่ 4. การทานผลไม้หวานจะไม่ทำให้ได้รับความเสียหายจากฟรุ้คโต้สหรือ

งานวิจัยปริมาณฟรุ้คโต้สในผักผลไม้พบว่าผลไม้และอาหารธรรมชาติทั่วไปที่มีรสหวาน มีระดับฟรุ้คโต้สเพียง 5% เท่านั้น ยกเว้นอาหารธรรมชาติไม่กี่อย่างที่มีระดับฟรุ้คโต้สถึง 10% เช่นน้ำผึ้ง อินทผาลัม มะเดื่อฝรั่ง ดังนั้นผลไม้แม้จะหวานแต่ก็ยังมีระดับฟรุ้คโต้สต่อน้ำหนักต่ำ ขณะที่ผลไม้มีสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเช่นไวตามิน เกลือแร่ กาก อยู่สูง การกินผลไม้หวานโหลงโจ้งแล้วก็ยังมีคุณมากกว่าโทษและเป็นสิ่งที่ควรทำ ต่างจากการดื่มเครื่องดื่มใส่น้ำเชื่อม HFCS ในเปอร์เซ็นต์สูงๆ จะได้แคลอรี่เปล่าๆซึ่งร่างกายก็ไม่อยากได้เพราะมีมากแล้ว โดยที่ไม่ได้รับสารที่มีคุณค่าทางอาหารอื่นๆควบคู่มาด้วยเลย จึงมีแต่โทษเพียวๆไม่มีคุณ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

     ประเด็นที่ 5.  น้ำตาลธรรมชาติกับน้ำตาลประดิษฐ์

อีกประการหนึ่ง อันนี้ไม่เกี่ยวกับ HFCS แล้วนะครับ คือความคิดของคุณผู้หญิงที่อ้างท่านวิทยากรว่าน้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ เป็นของธรรมชาติ กินๆเข้าไปเถอะ ผมอยากจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมนิดหน่อย ในมุมมอง “มนุษย์กับอาหารตามธรรมชาติ” นะ ว่าอาหารตามธรรมชาติที่แท้จริงนั้น เราได้รับน้ำตาลซูโครสมาจากผลไม้ซึ่งมีฟรุ้คโต้สต่อน้ำหนักเป็นปริมาณที่ต่ำและมีให้กินมากบ้างน้อยบ้่างตามฤดูกาล ร่างกายของบรรพบุรุษเราในป่าในเขาไม่ได้ตะบี้ตะบันกินอาหารทุกอย่างที่ต้องใส่น้ำตาลให้หวานอย่างทุกวันนี้ “น้ำตาล” เพิ่งมาเกิดขึ้นประมาณ 500 ปีมานี้เอง คือเมื่อคนยุโรปเริ่มแต่งเรือสินค้าออกค้าขายและล่าเมืองขึ้น ก็เริ่มใช้ให้ประเทศขี้ข้าปรับวิธีทำเกษตรกรรมเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อสนองการค้าทางเรือ จึงได้มีการทำไร่อ้อยและผลิต “น้ำตาล” เป็นสินค้าส่งขายทางเรือและแพร่หลายจนเป็นที่นิยมกันตั้งแต่นั้น เพิ่ง 500 ปีมานี่เองนะ อย่าลืม ก่อนหน้านั้นเราไม่มีน้ำตาล ดังนั้นหากคุณผู้หญิงเป็นคนเอะอะก็จะเอาแบบธรรมชาติจริงๆ ก็ต้องยอมรับแต่ผลไม้หวานแต่ปฏิเสธน้ำตาลทุกชนิดสิครับ ทั้งน้ำตาลทรายน้ำตาลปี๊บด้วย จึงจะเป็นคนบ้าธรรมชาติขนานแท้ อุ๊บ..ขอโทษ เผลอปากเสีย หิ หิ ไปดีก่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Walker RW, Dumke KA, Gran MI. Fructose content in popular beverages made with and without high-fructose corn syrup.  Nutrition 2014; 30 (7-8) : 928–935 DOI: http://dx.doi.org/10.1016/j.nut.2014.04.003
2. R. J. Johnson, M. S. Segal, Y. Sautin et al., “Potential role of sugar (fructose) in the epidemic of hypertension, obesity and the metabolic syndrome, diabetes, kidney disease, and cardiovascular disease1-3,” The American Journal of Clinical Nutrition, vol. 86, no. 4, pp. 899–906, 2007.
3. I. H. Fox and W. N. Kelley, “Studies on the mechanism of fructose-induced hyperuricemia in man,”Metabolism, vol. 21, no. 8, pp. 713–721, 1972.
4. M. A. Lanaspa, L. G. Sanchez-Lozada, C. Cicerchi, et al., “Uric acid stimulates fructokinase and accelerates fructose metabolism in the development of fatty liver,” PLoS One, vol. 7, no. 10, Article ID e47948, 2012.
5. E. Fiaschi, B. Baggio, S. Favaro, et al., “Fructose-induced hyperuricemia in essential hypertension,”Metabolism, vol. 26, no. 11, pp. 1219–1223, 1977.
6. K. L. Stanhope and P. J. Havel, “Fructose consumption: potential mechanisms for its effects to increase visceral adiposity and induce dyslipidemia and insulin resistance,” Current Opinion in Lipidology, vol. 19, no. 1, pp. 16–24, 2008.
7. K. A. Lê, D. Faeh, R. Stettler et al., “A 4-wk high-fructose diet alters lipid metabolism without affecting insulin sensitivity or ectopic lipids in healthy humans,” The American Journal of Clinical Nutrition, vol. 84, no. 6, pp. 1374–1379, 2006.
8. G. A. Bray, S. J. Nielsen, and B. M. Popkin, “Consumption of high-fructose corn syrup in beverages may play a role in the epidemic of obesity,” The American Journal of Clinical Nutrition, vol. 79, no. 4, pp. 537–543, 2004.
9. F. B. Hu and V. S. Malik, “Sugar-sweetened beverages and risk of obesity and type 2 diabetes: epidemiologic evidence,” Physiology and Behavior, vol. 100, no. 1, pp. 47–54, 2010.
10. V. S. Malik, M. B. Schulze, and F. B. Hu, “Intake of sugar-sweetened beverages and weight gain: a systematic review,” The American Journal of Clinical Nutrition, vol. 84, no. 2, pp. 274–288, 2006.
11. R. A. Forshee, P. A. Anderson, and M. L. Storey, “Sugar-sweetened beverages and body mass index in children and adolescents: a meta-analysis,” The American Journal of Clinical Nutrition, vol. 87, no. 6, pp. 1662–1671, 2008.
12. V. Ha, J. L. Sievenpiper, R. J. de Souza, et al., “Effect of fructose on blood pressure: a systematic review and meta-analysis of controlled feeding trials,” Hypertension, vol. 59, no. 4, pp. 787–795, 2012.
13. M. B. Schulze, J. E. Manson, D. S. Ludwig et al., “Sugar-sweetened beverages, weight gain, and incidence of type 2 diabetes in young and middle-aged women,” Journal of the American Medical Association, vol. 292, no. 8, pp. 927–934, 2004.
14. S. Z. Sun, G. H. Anderson, B. D. Flickinger, P. S. Williamson-Hughes, and M. W. Empie, “Fructose and non-fructose sugar intakes in the US population and their associations with indicators of metabolic syndrome,” Food and Chemical Toxicology, vol. 49, no. 11, pp. 2875–2882, 2011.
15. D. I. Jalal, G. Smits, R. J. Johnson, and M. Chonchol, “Increased fructose associates with elevated blood pressure,” Journal of the American Society of Nephrology, vol. 21, no. 9, pp. 1543–1549, 2010.
16. Y. H. Kim, G. P. Abris, M. K. Sung, and J. E. Lee, “Consumption of sugar-sweetened beverages and blood pressure in the United States: the national health and nutrition examination survey 2003–2006,”Clinical Nutrition Research, vol. 1, no. 1, pp. 85–93, 2012.
17. K. L. Teff, S. S. Elliott, M. Tschöp et al., “Dietary fructose reduces circulating insulin and leptin, attenuates postprandial suppression of ghrelin, and increases triglycerides in women,” Journal of Clinical Endocrinology and Metabolism, vol. 89, no. 6, pp. 2963–2972, 2004.
18. M. I. Goran, S. J. Ulijaszek, and E. E. Ventura, “High fructose corn syrup and diabetes prevalence: a global perspective,” Global Public Health, vol. 8, no. 1, pp. 55–64, 2013.
19. A. Masotti, “Comment on: Visinoni et al. The role of liver fructose-1,6-bisphosphatase in regulating appetite and adiposity, Diabetes, vol. 61, pp. 1122–1132, 2012,” Diabetes, vol. 61, no. 12, article e20, 2012.
20. J. R. Palmer, D. A. Boggs, S. Krishnan, F. B. Hu, M. Singer, and L. Rosenberg, “Sugar-sweetened beverages and incidence of type 2 diabetes mellitus in African American women,” Archives of Internal Medicine, vol. 168, no. 14, pp. 1487–1492, 2008.