Latest

ถุงเลนส์ตาขุ่นหลังผ่าตัดต้อกระจก (PCO)

เรียนคุณหมอสันต์

อายุ 62 ปีค่ะ ไปผ่าตัดต้อกระจกข้างขวามาได้สองเดือน หลังผ่าตัดไม่นานก็มีอาการตาข้างขวามัว มองอะไรเห็นไม่ชัดเลย แต่เมื่อเอามือปิดตาขวามองด้วยตาซ้ายข้างเดียวก็เห็นชัดดี เวลาขับรถลำบากมาก เพราะต้องใส่แว่นด้วย เวลามีรถสวนมามันพร่าไปหมดมองอะไรไม่เห็น ได้กลับไปหาหมอตา หมอบอกว่าเป็นถุงตามัว ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติ และนัดหมายมาทำเลเซอร์ จึงไม่สบายใจว่าทำไมถึงเกิดขึ้นได้ ทำเลเซอร์แล้วจะหายไหม หายแล้วจะกลับเป็นอีกได้ไหม ทำแล้วจะพลาดท่าเสียทีเกิดอะไรที่แย่ไปยิ่งขึ้นเช่นจอประสาทตาหลุดลอกได้หรือเปล่า

…………………………………

ตอบครับ

     1. ที่คุณเรียกว่าถุงตามัวนั้น คำเรียกอย่างเป็นทางการคือ Posterior capsule opacification – PCO ผมแปลว่าแคปซูลหลังเลนส์ขุ่นก็แล้วกัน ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดต้อกระจกที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 19.7% นี่เป็นตัวเลขกลางๆนะ ตัวเลยปลีกย่อยที่รายงานไว้มีตั้งแต่ 5-50% เรียกว่ามันเกิดขึ้นบ่อยเสียจนหมอตาบางส่วนไม่ยอมเรียกว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด เพราะมันเกิดบ่อยซะจนเป็นเรื่องปกติ หิ..หิ หมอสันต์เห็นด้วย ว่าความผิดปกติใดๆที่เกิดบ่อยจนเป็นปกติ มันก็คือความปกตินั่นเอง เฮ้ช้า ชาชะ ชาชา นอยแน่..

     (ขอโทษ เปล่าลบหลู่หมอตานะ แก้ง่วงยามบ่ายแค่นั้นเอง)

     2. ถามว่าการผ่าตัดต้อกระจกทำไมถึงเกิดแคปซูลหลังเลนส์ขุ่นหรือ PCO ขึ้นได้ตอบว่ามันเป็นการประชุมแห่งเหตุครับ ปัจจัยเสี่ยงที่วงการแพทย์ทราบแน่นอนแล้วได้แก่

2.1 ยิ่งอายุน้อย ยิ่งเสี่ยงมาก
2.2 ถ้าเป็นเบาหวาน จะเสี่ยงมาก
2.3 ตาเกิดตาอักเสบ (uveitis) ก็จะเสี่ยงมาก
2.4 ชนิดของเลนส์เทียมที่เลือกใช้ก็มีผล ถ้าใช้เลนส์ชนิดอคริลิกหือซิลิโคนก็เสี่ยงน้อยหน่อย
2.5 เทคนิคที่แพทย์เลือกใช้ในการผ่าตัดก็มีผล บางเทคนิคเกิดมาก บางเทคนิคเกิดน้อย
2.6 ถ้าตาได้รับบาดเจ็บมาก เช่นถูกชกตาจนเลนส์แตกมา จะยิ่งเสี่ยงมาก
2.7 ชั่วโมงบินของหมอตาก็เกี่ยวด้วย งานวิจัยเปรียบเทียบชั่วโมงบินของหมอตากับการเกิดภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดต้อกระจกพบว่างานวิจัยพบว่ายิ่งหมอตาเก๋ามาก หมายถึงทำผ่าตัดต้อกระจกมามาก ก็ยิ่งมีภาวะแทรกซ้อนน้อย คือถ้าทำผ่าตัดมาถึง 1000 ราย ภาวะแทรกซ้อนรวมจะต่ำระดับ 0.1% แต่ถ้าทำผ่าตัดมาไม่เกิน 250 รายภาวะแทรกซ้อนจะสูงกว่านั้นแปดเท่า

     3. ถามว่าการทำเลเซอร์แก้ไข PCO จะพลาดท่าเสียทีทำให้เกิดเรื่องร้ายอย่างจอประสาทตาหลุดลอกเพิ่มขึ้นไหม ตอบว่าไม่หรอกครับ ข้อมูลปัจจุบันนี้ไม่มีหลักฐานว่าการเอาแย็กเลเซอร์เข้าไปเผาเอาแคปซูลออกไป (YAG laser capsulotomy) สัมพันธ์กับการเกิดจอประสาทตาหลุดลอก ถ้าจะมีก็เป็นโอกาสที่น้อยมาก (rare) แต่ทั้งนี้อย่าลืมว่าจอประสาทตาหลุดลอกเป็นภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดต้อกระจกอยู่แล้วนะครับ แล้วบางทีมันก็ไปเกิดสายเมื่อหลายปีผ่านไปแล้วด้วย คือเกิดทันทีประมาณ 0.7% ก็จริง แต่หากนับอุบัติการณ์สะสมระยะยาวแล้ว ในงานวิจัยหนึ่งซึ่งตามดูคนไข้หลังผ่าตัด 9400 คนพบว่ามีโอกาสเกิดจอประสาทตาหลุดลอกใน 8 ปีหลังผ่าตัดมากถึง 2.3% เลยทีเดียว

     4. ถามว่าการทำเลเซอร์แก้ไข PCO ทำอย่างไร จะล้มเหลวจนเกิดถุงเลนส์ขุ่นซ้ำๆซากๆ ต้องมาทำกันใหม่ได้ไหม ตอบว่าวิธีทำเรียกว่า  YAG laser capsulotomy คือเอาเลเซอร์ยิงทำลายให้แคปซูลหลังเลนส์ฝ่อสลายหายไปซะเลย ส่วนการเกิดจะมีแคปซูลหลังเลนส์งอกกลับขึ้นมาใหม่และขุ่นใหม่นั้นก็เป็นไปได้นะครับ เพราะสิ่งทั้งหลายมีดับ แล้วก็ต้องมีเกิด (หิ หิ ขอโทษ พูดเล่น) อุบัติการณ์ของการต้องมาทำเพื่อรักษา PCO ซ้ำซากหลังจายยิงเลเซอร์ครั้งแรกจากรายงานหนึ่งที่ผมเอามาอ้างไว้ท้ายนี้มีโอกาสเกิดขึ้นประมาณ 0.31%


     5. อันนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแถมให้สำหรับท่านผู้อ่านทุกท่าน คือคนทั่วไปมองการผ่าตัดต้องกระจกว่าเป็นอะไรที่ง้าย..ง่าย เห็นในทีวีเขากางเต้นท์ทำกันกลางทุ่งบ่อยๆไป แต่ความเป็นจริงคือมันก็เป็นการผ่าตัดชนิดหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าการผ่าตัดย่อมมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เสมอแม้ว่าพระเจ้าจะมาเองก็ตาม (หมายถึงไม่ว่าพระเจ้ามาเป็นหมอผ่าตัดหรือมาเป็นคนไข้ก็ตาม) ดังนั้นไม่ใช่เอาแต่มองโลกสวยว่าต้องดีร้อยเปอร์เซ็นต์แต่พอเกิดอะไรขึ้นแล้วก็ไปเม้งกับหมอตาซะหูชา ถ้าไปโดนกับหมอเด็กๆสาวๆจบใหม่ๆยังไม่สำเร็จวิชาหูทวนลมก็มักถึงขั้นคิดหนีอาชีพนี้ไปเลย จริ๊ง ไม่ได้พูดเล่น

     ดังนั้นสำหรับแฟนบล็อกหมอสันต์ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ในวัยต้อกระจกกันแล้ว ผมขอแจ้งสถิติอย่างเป็นทางการของโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของการทำผ่าตัดต้องกระจกให้ทราบทั่วกันก่อนเข้าทำการผ่าตัด โดยขอย้ำส่งท้ายอีกทีว่าโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนมันเป็นเรื่องของดวง ไม่ดวงของคนไข้ก็ดวงของแพทย์ละครับ ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้แก่

      5.1 ติดเชื้อทั้งลูกตา (Endophthalmitis) เกิดได้ 0.13% ซึ่งเคราะห์หามยามร้ายก็ถึงขั้นต้องควักลูกตาออกกันทีเดียว เรียกว่าเกิดขึ้นทีหมอตาต้องย้ายเมืองหนีเพราะจะพูดอย่างไรคนไข้ก็ไม่ยอมเข้าใจ

     5.2 แก้วตาบวมน้ำ (Bullous keratopathy) เกิดได้ 0.3%

     5.3 ใส่เลนส์ไม่เข้าเบ้าหรือเลนส์หลุดเบ้า (Intraocular lens malposition/dislocation) เกิดได้ 1.1%

     5.4 ศูนย์กลางจอตาบวม (cystoid macular edema) เกิดได้ 1.5%

     5.5 จอประสาทตาหลุดลอก (Retinal detachment) เกิดได้ 0.7%ในระยะสั้น 2.3% ในระยะยาว

     5.6 พิษต่อตาส่วนหน้าภายใน 24 ชั่วโมงแรก (Toxic anterior segment syndrome -TASS) คือการอักเสบจากฝุ่นผงใดๆตรงตาส่วนหน้าโดยไม่เกี่ยวกับเชื้อโรค

     ภาวะแทรกซ้อนทั้งหมดนี้คือความจริงของชีวิต ที่เราในฐานะคนไข้ต้องถือว่าเป็นความเสี่ยงที่เราได้รับทราบและยอมรับเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ก่อนผ่าตัด เพราะเราอยากได้ประโยชน์ที่จะได้จากการผ่าตัด คือการได้กลับมามองเห็นชัดอีกครั้งหนึ่ง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Erie JC, Raecker MA, Baratz KH, et al. Risk of retinal detachment after cataract extraction, 1980-2004: a population-based study. Ophthalmology 2006; 113:2026.
2. Sheu SJ, Ger LP, Ho WL. Late increased risk of retinal detachment after cataract extraction. Am J Ophthalmol 2010; 149:113.
3. Ripandelli G, Scassa C, Parisi V, et al. Cataract surgery as a risk factor for retinal detachment in very highly myopic eyes. Ophthalmology 2003; 110:2355.
4. Kaiser RS, Fenton GL, Tasman W, Trese MT. Adult retinopathy of prematurity: retinal complications from cataract surgery. Am J Ophthalmol 2008; 145:729.
5. Cheng JW, Wei RL, Cai JP, et al. Efficacy of different intraocular lens materials and optic edge designs in preventing posterior capsular opacification: a meta-analysis. Am J Ophthalmol 2007; 143:428.
6. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Toxic anterior segment syndrome after cataract surgery–Maine, 2006. MMWR Morb Mortal Wkly Rep 2007; 56:629.
7. Bell CM, Hatch WV, Cernat G, Urbach DR. Surgeon volumes and selected patient outcomes in cataract surgery: a population-based analysis. Ophthalmology 2007; 114:405.
8. Hari Jayaram, Gurmit Uppal, Charles E. Hugkulstone, Mary V. Gibbens and Lynda Watt. YAG curios #1: repeat Nd:YAG laser posterior capsulotomy. Acta Ophthalmol. Scand. 2005: 83: 242–244