Latest

เพื่อนใหม่ที่น่าสนใจ

     ผมยังอยู่ที่สหรัฐ กำลังพักระหว่างประชุมสัมมนาเกี่ยวกับความก้าวหน้าในเรื่องการหาวิธีทำให้สุขภาพดีด้วยการปรับวิถีชีวิตแทนการใช้ยาและผ่าตัด โดยการประชุมครั้งนี้เน้นเรื่องอาหาร นั่งคุยกันมาสองวันแล้ว และยังจะต้องคุยกันต่อ สถานที่ประชุมเป็นรีสอร์ทชื่อฟาร์มิงโกรีสอร์ท อยู่ในเมืองเล็กๆชื่อซานตาโรซา อยู่ตอนเหนือของแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีข้อดีตรงที่กลางคืนไม่มีที่จะไปไหน จึงมีเวลาว่างนั่งเขียนบล็อกของวันนี้

    ผมมาประชุมครั้งนี้แบบไม่ได้ตั้งใจเพราะเพื่อนเขาชวนมา ก็มา ปกติหมอแก่ย่อมจะไม่ชอบตะลอนเดินทางไปประชุมที่ไหนไกลๆ นี่เป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อมาจริงๆแล้วกลับพบอะไรที่เกินความคาดหมาย ได้พบเพื่อนใหม่ๆที่น่าสนใจหลายคน ซึ่งผมจั่วไว้เป็นหัวเรื่องที่เขียนในวันนี้

     คนแรกที่ผมอยากพูดถึงก็คือ แดน บิวท์เนอร์ (Dan Buettner) เขาเป็นคนหนุ่มออกแนวจิ๊กโก๋ คุยไปหัวเราะไป ผมเผ้าเป็นกระเซิง ใส่เสื้อปล่อยชาย กางเกงยีนคับขา ผิวเกรียมแดด เพราะเขาทำงานเป็นนักข่าวให้หนังสือเนชั่นแนลจีโอกราฟฟี แดนเป็นคนเขียนหนังสือขายดีติดอันดับเบสต์เซลเลอร์เล่มหนึ่งชื่อ บลูโซน (Blue Zone) ซึ่งเล่าเรื่องที่เขารับหน้าที่นำทีมไปตระเวนค้นหาชุมชนที่คนอายุยืนไปทั่วโลก เขียนเล่มแรกดังเขาก็เขียนเล่มสองต่อ ชื่อบลูโซนเหมือนกันแต่คราวนี้เจาะเรื่องอาหาร

     พูดถึงเนื้อหาในหนังสือของแดน หลังจากการตระเวนค้นหาไปทั่วโลกและดูสถิติต่างๆแล้ว ในที่สุดเขาก็เลือกชุมชนอายุยืนที่สุดมาห้าแห่ง คือ

1.      แคว้นบาราเจีย ซึ่งอยู่บนเขาสูงในประเทศซาร์ดิเนีย มีผู้ชายอายุเกิน 100 ปีมากที่สุด

2.      ย่านอิคาเรีย บนเกาะอีเจียน ประเทศกรีซ ซึ่งเขาว่าเป็นที่ที่อัตราการเป็นสมองเสื่อมต่ำที่สุดและอัตราตายในวัยกลางคนต่ำที่สุด

3.      แหลมนิโคยา ประเทศคอสตาริกา เป็นที่ที่มีอัตราตายในวัยกลางคนต่ำที่สุดและมีกจำนวนชายอายุเกินร้อยมากเป็นที่สองรองจากบาราเจีย

4.      โลมา ลินดา ชุมชนผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายเซเวนเดย์แอดเวนตีสที่แคลิฟอร์เนีย มีอายุเฉลี่ยยาวกว่าชาวอเมริกันทั่วไป 10 ปี

5.      เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น มีหญิงอายุเกิน 70 ปีมากที่สุดในโลก

     เขาเรียกเขตที่คนอายุยืนนี้ว่าบลูโซน แดนบอกว่าไม่มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษหรอก แค่เรียกตามสีเข็มหมุดที่ปักบอกเขตเหล่านี้ในแผนที่ที่ออฟฟิศเขาแค่นั้นเอง เหตุที่คนในชุมชนเหล่านี้อายุยืนนั้น แดนสรุปว่าเกิดจากปัจจัยร่วมเก้าประการคือ

1.      เคลื่อนไหวแบบธรรมชาติ ไม่ขับ หรือขี่ยวดยานใดๆ ไม่วิ่งมาราธอนหรือเข้ายิมแต่อย่างใด พวกเขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่บังคับให้ต้องเคลื่อนไหวไปมาทำโน่นทำนี่แบบเป็นธรรมชาติ ทำเกษตรด้วยแรงงานตัวเอง อยู่ในบ้านที่ไม่ได้มีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือเครี่องทุ่นแรงอะไรมากนัก

2.      ใช้ชีวิตแบบมีเป้าหมาย ตอบตัวเองได้ทุกวันว่า “วันนี้ตื่นขึ้นมาเพื่อทำอะไร” แม้จะอายุเป็นร้อย แต่เขาก็มุ่งมั่นว่าแต่ละวันเขาจะทำอะไร ยังทำไร่ ผ่าฟืน กันเป็นปกติ

3.      มีวิธีคลายเครียด ชุมชนที่อายุยืนทุกแห่งมีวิธีคลายเครียดของตัวเองซึ่งกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน ชาวโอกินาวาใช้สองสามนาทีตั้งใจรำลึกถึงบรรพบุรุษทุกวัน ชาวแอดเวนติสสวดมนต์ ชาวอิคาเรียนใช้วิธีงีบหลับกลางวัน ชาวซาร์ดิเนียนมีกิจกรรมชั่วโมงสนุกทุกวัน

4.      กฎ 80% คือก่อนกินก็ให้ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะหยุดกินเมื่อกระเพาะเต็ม 80% ไม่รอให้เต็ม 100% ตรงช่องว่างระหว่างความรู้สึกว่าหายหิวแล้วกับความรู้สึกว่าอิ่มแล้วนี่แหละที่เป็นตัวกำหนดว่าน้ำหนักจะลดหรือน้ำหนักจะเพิ่ม คนในย่านบลูโซนกินอาหารมื้อเล็กที่สุดตอนบ่ายแก่หรือหัวเย็น แล้วไม่กินอะไรอีกเลยหลังจากนั้น

5.      กินพืชเป็นพื้น  ถั่วทุกชนิดทุกสีเป็นอาหารหลักของคนอายุยืนในเขตบลูโซน พวกเขากินเนื้อสัตว์น้อยมาก คือเฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 5 ครั้งแต่ละครั้งกินเนื้อน้อยมาก ไม่เกิน 90 – 120 กรัม หรือประมาณครึ่งฝ่ามือเท่านั้น

6.      ดื่มไวน์ ชาวบลูโซนทุกแห่งยกเว้นชุมชนแอดเวนตีสล้วนดื่มแอลกอฮอล์กันพอควร คือวันหนึ่งแค่ 1 – 2 แก้ว เกือบทุกวันโดยดื่มกับเพื่อนๆพร้อมกับการกินอาหาร แต่ไม่ได้ดื่มแบบเว้นไปหลายวันแล้วมาก๊งหนักซะหนึ่งวัน ไม่ใช่แบบนั้น

7.      มีสังกัด คือรู้ว่าตัวเองเป็นใครมาจากไหนและตายแล้วจะไปไหน เขานับให้ฟังว่าคนอายุเกินร้อยปี 263 คน มีอยู่แค่ห้าคนที่ไม่เอาพระเอาเจ้า ที่เหลือจะเอาพระเอาเจ้าเข้าวัดเข้าวาสวดมนต์กันเดือนละประมาณ 4 ครั้ง พวกเอาพระเอาเจ้าเอาศาสนานี้จะอายุยืนกว่าพวกไม่เอาประมาณ 4-14 ปี

8.      รักตัวเองและครอบครัว ชุมชนบลูโซนมีคนแก่คนเฒ่าอยู่ร่วมในครอบครัว อยู่กินกันฉันผัวเมียแบบยืนยงตลอดชีพและให้เวลาฟูมฟักพร่ำสอนอบรมคนรุ่นลูกรุ่นหลาน ทำให้รุ่นลูกหลานมีแนวโน้มจะดูแลคนแก่เฒ่าตอบแทนเมื่อตัวเองโตขึ้น

9.      ชุมชนดี คนอายุยืนเกิดและเป็นสมาชิกชุมชนที่เอื้ออาทรเกื้อหนุนกันและกัน

     คุยกันมาถึงตอนนี้แดนเล่าว่าคนแก่ที่โอกินาวาแต่ละคนจะมีก๊วนเรียกว่า “moais” แปลว่ากลุ่มเพื่อนร่วมสาบาน ซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนห้าคนที่ร่วมสาบานกันมาตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยหนุ่มสาวว่าจะดูแลกันและกันตลอดไป ในห้าคนนี้ใครมีอะไรครอบครัวของใครมีคนเจ็บป่วยตายเขาจะช่วยเหลือกันและกันตลอดชีวิตตั้งแต่หนุ่มจนแก่อายุเป็นร้อยก็ไม่ทิ้งกัน

     ผมบอกว่าระบบนี้ชนบทเมืองไทยก็มี เพื่อนในวงอีกคนเลิกคิ้วถามว่า

     “จริงหรือ” ผมตอบว่า

     “จริ๊ง..ง ผมมีคนสวนคนหนึ่ง บ้านเขาอยู่ขอนแก่น ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ วันหนึ่งเขามาลากลับบ้าน บอกว่าจะไปเซ็นค้ำประกันให้กับเพื่อนใน “กลุ่มค้ำ” ผมถามกลุ่มค้ำนี้เป็นอย่างไร เขาเล่าว่า ธกส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) เป็นผู้สอนให้ตั้งกลุ่มค้ำ แต่ละกลุ่มจะมีห้าคน ชาวบ้านต้องจับกลุ่มกันมาเป็นกลุ่มค้ำ เวลาคนในกลุ่มจะกู้เงินธกส. อีกสี่คนก็เป็นคนค้ำประกัน แบบว่าค้ำกันไปแล้วก็ค้ำกันมา” 

     เขาฟังแล้วทำหน้าเคร่ง ผงกหัวช้าๆแบบยอมรับว่า

     “แบบนี้ถือว่าเป็นเพื่อนร่วมสาบานกันจริง มีหลักฐานด้วย ถ้าเบี้ยวกันก็ถึงขั้นถูกยึดทรัพย์”

     ฮะ ฮะ ฮ่า ตะแล้น ตะแล้น ตะแล้น

     เพื่อนที่น่าสนใจอีกคนหนึ่งคือ ฮันส์ ดีล (Hans Diehl) เขามาจากโลมาลินดา ชุมชนคนกินเจที่แดนเพิ่งพูดถึงนั่นแหละ ฮันส์จบปริญญาเอก เขาได้ก่อตั้งโครงการ CHIP ซึ่งย่อมาจาก Complete Help Improvement Program แปลว่าโครงการสร้างสุขภาพดีแบบองค์รวมด้วยตัวเอง โครงการของฮันส์ทำในชุมชน โดยมีอาสาสมัครขององค์กร CHIP เข้าไปช่วย แบบว่าจัดประชุมเข้าค่ายสัมนากันในหมู่บ้านนั่นแหละ ว่าการจะมีสุขภาพดีต้องปรับวิธีกินอาหาร ออกกำลังกาย และจัดการความเครียดอย่างไร แล้วก็ตั้งกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนติดตามดูแลกันไปโดยมีตัวชี้วัดการมีสุขภาพดีที่เป็นรูปธรรม เช่น การเลิกกินยาได้ หรือการหายจากโรค โครงการของฮันส์แพร่หลายไปหลายประเทศ และที่สหรัฐเองฮันส์ก็กำลังทำเรื่องให้โครงการ CHIP นี้เบิกเงินจากประกันสุขภาพ คือไปเข้าโครงการก็เบิกได้เสมือนหนึ่งไปโรงพยาบาล เรื่องการให้เบิกค่าเข้าโครงการดูแลสุขภาพตัวเองได้นี้ ความจริง ดีน ออร์นิช ได้ทำสำเร็จมาก่อนหน้านี้แล้ว คือเขาแสดงหลักฐานให้องค์กรผู้จ่ายเงินยอมรับจนยอมให้คนมาเข้าแค้มป์ปรับวิถีชีวิตในโครงการของดีนเบิกประกันสุขภาพได้แล้วในหลายๆรัฐ

     คุยกันไปคุยกันมา ฮันส์ถามผมว่า

     “แล้วคุณคิดจะทำอะไร ในห้าปีข้างหน้าเนี่ย คุณจะทำอะไร”

     ผมชี้ไปที่เพื่อนที่มาด้วยกัน แล้วยืดหน้าอกเบ่งกล้ามแบบคนขี้โม้ตอบว่า

     “เราจะเปลี่ยนรูปโฉมการดูแลสุขภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสียใหม่ ด้วยการเปิดทางเลือกให้ผู้คนหันมาใช้แนวทางปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยตัวเองการแทนการใช้ยาหรือการรักษาที่รุกล้ำ”

     คราวนี้ฮันส์หันไปทางเพื่อนของผมซึ่งเป็นนักธุรกิจแล้วถามแบบเอาจริงเอาจังว่า

     “แล้วคุณจะทำสิ่งนี้ทำไม (Why do you do this?)”

     ผมพูดแซงขึ้นก่อนที่เพื่อนเขาจะได้อธิบายเหตุผลที่แท้จริงว่า

     “อ้าว..ก็เขามีเงินไง ฮ้า ฮ่า ฮ่า”

     ผมชวนฮันส์ว่ามาทำอะไรที่คล้ายๆกับ CHIP ที่เมืองไทยด้วยกันไหม เขาพูดถึงเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเคยเขียนหนังสือร่วมกับเขา พูดมาถึงตอนนี้เขาเปรยแบบคุยนิดๆว่าหนังสือของเขาขายไปสองล้านกว่าเล่ม แต่ดันจำชื่อเพื่อนที่ร่วมเขียนไม่ได้ ขมวดคิ้วคิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก ประเด็นคือ ฮันส์เล่าว่าผู้หญิงคนนี้(อเมริกัน) ครั้งหนึ่งนานมาแล้วเธอได้เคยเข้ามาทำงานเรื่องนี้กับเซเวนเดย์แอดเวนติสที่เมืองไทยแล้วก็เลิกราไป คุยกันไปคุยกันมาเราก็ตกลงกันดิบดีว่าจะลองทำอะไรร่วมกันใหม่อีกสักตั้ง ฮันส์ขอนามบัตรผม ผมยิ้มแก้ขวยแล้วตอบว่า

     “หิ หิ ขอโทษ หมอไทย ถ้าเป็นพันธ์แท้นะ เขาไม่มีนามบัตรกันหรอก” 

     ผมใช้วิธีจดอีเมลของผมลงไปในนามบัตรของฮันส์ ธรรมเนียมการแลกนามบัตรกันนี้ผมไม่ค่อยเห็นความสำคัญนัก เพราะแลกกันไปแล้วก็เอาไปกองเต็มบ้าน สิ่งที่ชวนกันว่าจะทำวันนี้ จบการประชุมไปแล้วจะมีอะไรตามหลังจริงจังแค่ไหนนั้น คนแก่เจนโลกอย่างผมไม่ค่อยตั้งความหวังเท่าไหร่ จะทำอะไรกันจริงจังแค่ไหน ก็ต้องติดตามดูกันต่อไป

     เพื่อนใหม่ที่น่าสนใจอีกคนคือไมค์ เกรกเกอร์ (Michael Greger) เขาเป็นหมอ แล้วเปิดเว็บไซท์ชื่อ www.NutritionFacts.org  ให้ความรู้ที่เป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์แก่ผู้คนทั่วโลกแถมยังทำวิดิโอให้ความรู้ออกฉายใหม่ๆทุกวันๆดัวย ทั้งหมดนี้เขาทำให้ฟรีๆ คนดูไม่ต้องเสียเงินสักบาท พอถูกหมออีกคนถามว่าเขาทำอย่างนี้ทำไม ไมค์ตอบว่า

     “อ้าว..เรามาเรียนแพทย์ทำไมละ เรามาเรียนแพทย์เพราะเราอยากช่วยคนอื่นไม่ใช่เรอะ ถ้าเราอยากได้เงินเราไม่มาเรียนแพทย์กันหรอก เราก็ไปตลาดหุ้นซะนานแล้ว เพราะเงินอยู่ที่นั่น”

     คำตอบของไมค์ฟังดูเหมือนจะไม่มีใครให้ราคา เพราะในสังคมที่เงินเป็นตัวกำหนดทุกอย่างอย่างในปัจจุบันนี้ ใครคิดจะทำอะไรที่ไม่เอาเงินจงก็ทำไปเถอะพ่อคุณ เพราะคนส่วนใหญ่เขาจะเอาเงินกัน

     แต่ว่าที่ในการประชุมนี้เอง วันต่อมามีชายคนหนึ่งคะเนอายุหกสิบกว่าได้ เขาเห็นผมนั่งอยู่คนเดียวจึงเข้ามาขอคุยด้วย คุยไปคุยมาจึงทราบว่าเขาเป็นคนไข้เบาหวานที่เคยน้ำตาลสะสมสูงถึง 10% ทำอย่างไรก็ไม่หาย จนต่อมาเขาได้รับความรู้จากหมอแมคดูกอล (Jon McDougall คนที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุมในวันนี้) จึงหันมากินเจและหายจนน้ำตาลสะสมลดลงมาเหลือ 5.5% ประเด็นคือเขาเล่าให้ผมฟังว่าเขาคลิกบริจาคเงินเดือนละ 50 เหรียญให้เว็บไซท์ NutritionFacts.org ของไมค์ เกรกเกอร์ ทุกเดือนแบบต่อเนื่องด้วย และนี่เขากำลังคิดจะเพิ่มวงเงินบริจาคขึ้นไปอีกสักหน่อย ผมฟังแล้วถึงบางอ้อเลย สังคมอเมริกันที่เราเห็นว่ามีแต่คนงกเงินและเอาแต่ได้นั้น แท้จริงแล้วมันยังมีผู้คนอีกแบบนะ แบบไมค์กับแบบคนไข้ที่บริจาคเงินให้เขานี่ไง คนแบบนี้จะมีมากแค่ไหนในสังคมอเมริกันผมไม่ทราบ แต่เอาแค่ที่มาประชุมกันแค่สองวันมานี้ ผมก็เจอแบบฟลุ้คๆเข้าไปหลายคนแล้ว
 
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์