Latest

กลุ่มอาการร้านเสริมสวย (BPS หรือ Vertebro-basilar insufficiency)

เรียนคุณหมอที่เคารพ  

ดิฉันอายุ 69 ปี 9 มีอาการทุกครั้งที่ไปนอนสระผมหรือหาหมอฟัน ตอนลุกจากเก้าอี้นอน จะหน้ามืด โครงเครง ต้องนั่งอยู่สักพัก จึงจะลุกเดินได้ตามปกติ แต่เมื่อวันที่ 17 กันยายน 58 ไปหาหมอฟัน เวลาลุกขึ้นต้องนั่งนานกว่าปกติ เวลาเดินเหมือนตัวลอยๆ เท้าไม่ติดพื้น  และเดินเซนิดๆ เป็นอยู่ราวๆ2_3ชั่วโมง  (ถ้าลุกขึ้นเดิน) ตอนนี้ไม่เป็นแล้วค่ะ ปกติความดันไม่สูงมากประมาณ110-130  เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 58. ไปเช็คเลือด ได้ค่า cholesterol 210 triglyceride  124 HDI 73 LDL 101  และวัดน้ำตาล เมื่อเดือน มิถุนายน 58. ได้ค่า 111 น้ำตาลจะวัดได้เกิน100ทุกครั้งแต่หมอยังไม่ให้ทานยาค่ะ อยากปรึกษาคุณหมอค่ะว่าจำเป็นต้องไปหาคุณหมอทางสมองไหมคะ จำเป็นต้องทำ MRI ไหม กังวลค่ะ  เพราะอ่านข้อมูลทางวิชาการบอกว่าการเดินเซเป็นอาการหนึ่งของสมองตีบ        
คุณหมอคะขอถามเพิ่มอีกนิ๊ดนะคะอยากทราบจริงๆค่ะ เปิดดูในเนตก็ให้ข้อมูลไม่ตรงกันบางทีตรงข้ามกันเลยค่ะเลยไม่แน่ใจว่าจริงเท็จแค่ไหนอยากเรียนถามว่าการกินน้ำกระชาย (ที่เอาใส่แกง) และการกินเสาวรสที่ตักกินจากผลเลย มีอันตรายกับ ตับ และไตหรือเปล่าคะ ถ้าทานได้ไม่อันตรายควรมีอัตราการกินอย่างไรคะ
อยากทราบจริงๆค่ะ ขอบคุณค่ะ คอยคำตอบคุณหมอนะคะ

…………………………………..

ตอบครับ

     1.. อาการไปนอนสระผมพอลุกแล้วเวียนหัวบ้านหมุน ภาษาหมอเรียกว่ากลุ่มอาการร้านเสริมสวย (beauty palour syndrome – BPS) ซึ่งเป็นคำเรียกเพื่อสื่อไปถึงโรคเลือดเข้าไปเลี้ยงสมองส่วนหลังไม่ถนัด (vertebro-basilar insufficiency – VBI) ที่เลือดเข้าไปเลี้ยงไม่ถนัดนี้จะเป็นเพราะการเงยหรือเอี้ยวคอบิดคอก็เป็นได้ หรือจะเป็นเพราะหลอดเลือดส่วนนั้นตีบหรือมีลิ่มเลือดปลิวไปอุดก็เป็นได้เช่นกัน ในกรณีของคุณนี้เป็นอยู่ไม่กี่ชั่วโมงแล้วก็หายไป ก็น่าจะเดาไว้ก่อนว่าคงเป็นแค่การเงยการบิดคอมากกว่าจะเป็นโรคของหลอดเลือด

     2.. ถามว่าจะต้องไปตรวจ MRI สมองต้วยตนเองไหม ตอบว่ามันก็แล้วแต่คุณมีเงินไหม..เอ๊ย ไม่ใช่ แล้วแต่ว่าคุณวิตกจริตมากไหม

     อาการเวียนหัวเดินเซตีนลอยๆในทางการแพทย์ถือว่าเป็นอาการทางสมอง สิ่งที่ควรทำมากที่สุดเมื่อมีอาการทางสมองคือต้องรีบไปให้หมอประสาทวิทยา (neurologist) ให้เขาตรวจร่างกายดูให้ละเอียดว่ามีอะไรในกอไผ่หรือเปล่า ถ้าหมอทางด้านประสาทวิทยาตรวจการทำงานของระบบประสาทและสมองแล้วสงสัยว่าจะมีอะไรเขาจะเป็นผู้แนะนำให้ตรวจ MRI เอง ถ้าเขาไม่แนะนำให้ตรวจก็แสดงว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ ก็ไม่ต้องตรวจ

     แต่ถ้าหมอเขาไม่แนะนำให้ตรวจ แต่คุณเป็นผู้ป่วยชนิดประสาทแบบมีเงิน คุณก็อาจไปขอตรวจ MRI เอาเองตามรพ.เอกชนได้ ผมไม่ต่อต้านการตรวจ MRI แบบตะพึด เพราะสมัยนี้เป็นมันกิจกรรมบันเทิงอย่างหนึ่งในชีวิตของผู้สูงวัยไปเสียแล้ว  แต่ผมต้องขอบอกก่อนว่าโอกาสที่ผล MRI จะนำไปสู่การรักษาอื่นที่มากไปกว่าการอยู่เฉยในกรณีของคุณนี้มีน้อยมาก ถามว่าน้อยกี่เปอร์เซ็นต์ผมก็ไม่ทราบเพราะไม่สถิติรองรับ

     3. ถามว่ากินน้ำกระชายและกินเสาวรสที่ตักกินจากผลเลย จะมีอันตรายกับ ตับ และไตหรือเปล่า ตอบว่าไม่มีอันตรายอะไรอย่างนั้นหรอกครับ คุณพี่อย่าไปบ้าจี้ตามอินเตอร์เน็ทเลย ประเมินจากสามัญสำนึก อาหารธรรมชาติที่คนเขากินกันทุกเมื่อเชื่อวันจะไปมีผลร้ายต่อตับต่อไตขนาดนั้นได้อย่างไร ประเมินตามหลักฐานวิทยาศาสตร์ นับถึงวันนี้ ยังไม่เคยมีรายงานทางการแพทย์ ไม่ว่าในระบบเฝ้าระวังโรคของสาธารณสุขหรือรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารมาตรฐานแม้แต่ชิ้นเดียวว่ากระชายกับเสาวรสทำให้ตับหรือไตของท่านผู้ใดชำรุด ขอให้คุณพี่สบายใจได้ ถ้าคุณพี่มีเวลาผมแนะนำให้อ่านบทความของผมเรื่องวิธีประเมินความเชื่อถือได้ของหลักฐานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ตามลิ้งค์นี้เพื่อจะได้ใช้ประเมินสิ่งต่างๆที่อ่านพบจากเน็ทด้วยตัวเองได้ครับ http://visitdrsant.blogspot.com/2015/06/fish-oil.html

    4. เพื่อเป็นความรู้สำหรับท่านผู้อ่านทั่วไปที่เป็นผู้สูงอายุแล้ว ผมขอเล่าเรื่องโรคเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนหลังไม่พอ (vertebro basilar insufficiency หรือ VBI) ไว้เป็นสังเขปดังนี้

ชื่อโรค
โรคเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนหลังไม่พอ (Vertebro-basilar insufficiency หรือ vertebrobasilar atherothrombotic disease (VBATD)

นิยาม
คือภาวะที่มีโรคหลอดเลือดที่เลี้ยงสมองส่วนหลัง (หลอดเลือด vertebral และ basilar artery) ตีบแข็งหรือมีตุ่มอุดกั้นหรือมีลิ่มเลือดอุดตันการไหลของเลือด ทำให้เนื้อสมองส่วนดังกล่าวขาดเลือด และมีอาการที่เกิดจากการสูญเสียการทำงานของสมองส่วนนั้นเช่น เวียนหัวบ้านหมุน ยืนทรงตัวไม่ได้ เห็นภาพซ้อนหรือตาพร่า เป็นต้น

สาเหตุ
โรคหลอดเลือดแดงแข็งของหลอดเลือด vertebral และ basilar artery ทำให้เกิดการตีบของรูหลอดเลือด หรือทำให้มีการก่อตัวของลิ่มเลือดอุดกันการไหลของเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนหลัง

อุบัติการณ์
เกิดขึ้นประมาณ 25% ของการเกิดอัมพฤกษ์ และอัมพาต ทั้งหมด

อาการ
อาการพบบ่อยที่สุดคือเวียนหัวบ้านหมุน อาจมีอาการอื่นร่วมเช่น เห็นภาพซ้อน เห็นภาพครึ่งเดียว หูดับ ชาหรือรู้สึกหนาที่หน้า กลืนลำบาก เสียงแหบ เป็นลมหมดสติแบบทรุดล้มทั้งยืนหรือเดินแล้วฟื้นมาเป็นปกติทันที (drop attacks) อาการชาหน้าควบกับแขนขาคนละซีก

โรคที่มีอาการคล้ายกัน
1. ภาวะร่างกายขาดน้ำ
2. ความดันเลือดตกจากการเปลี่ยนท่าร่าง
       3. โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (BPPV)
4. อัมพาต หรืออัมพฤกษ์ (stroke or TIA)
      5. โรคไมเกรนสมองส่วนหลัง (basilar artery migraine)
6. หูชั้นในอักเสบ (labyrinthitis)
7. ปลายประสาทในหูอักเสบ (vestibular neuronitis)
8. หลอดเลือดสมองส่วนหลังปริฉีก (Vertebral artery dissection)
9. หลอดเลือดสมองส่วนหลังโป่งพอง (vertebrobasilar aneurysm)
10. เนื้องอกสมอง (posterior fossa tumor)
11. หลอดเลือดอักเสบ (vasculitis) ที่สมองส่วนหลัง
12. กลุ่มอาการเลือดถูกดึงไปเลี้ยงแขน (subclavian steal syndrome)
13. โรค Multiple sclerosis
14. กลุ่มอาการเมลาส (MELAS syndrome)

การวินิจฉัย
วินิจฉัยขั้นต้นจากการตรวจทางประสาทวิทยา
วินิจฉัยยืนยันด้วยการตรวจคลื่นแม่เหล็กสมอง (MRI)

การรักษา
1. ป้องกันและแก้ไขไม่ให้ร่างกายขาดน้ำก่อน
2. ปรับลดความเร็วและวิธีการเคลื่อนไหวกรณีที่อาการเกิดจากการเคลื่อนไหว ค่อยๆลุกนั่งจากท่านอน ค่อยๆลุกยืนจากท่านั่ง
3. ออกกำลังกายด้วยวิธีที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เลือดไปกองอยู่ที่ส่วนล่างของร่างกาย
4. จัดการปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือด เช่น หยุดสูบบุหรี่ ปรับอาหารเพื่อลดไขมันในเลือด รักษาเบาหวานและความดันเลือดสูงถ้าเป็นอยู่
5. ในกรณีที่เคยหมดสติแบบล้มทั้งยืน ควรสอนให้รีบนั่งลงกับพื้นเมื่อมีเริ่มอาการ ไม่ว่าจะอยู่ในศูนย์การค้าหรืออยู่ที่ไหน ไม่ต้องเขินอายใคร
6. ใช้ยาต้านเกล็ดเลือด เช่นแอสไพริน หรือยากันเลือดแข็งในกรณีที่มีข้อบ่งชี้
7. ปัจจุบันได้มีการทดลองรักษาด้วยวิธีใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดเข้าไปขยายหลอดเลือดที่เลี้ยงสมองส่วนหลัง แต่ยังไม่มีงานวิจัยสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบว่าได้ผลดีกว่าอยู่เฉยๆหรือไม่

การพยากรณ์โรค

โรคนี้มีหลายระดับความรุนแรงตั้งแต่น้อยจนไม่มีผลต่ออัตราการรอดชีวิตเลย ไปจนถึงรุนแรงมากเทียบเท่าการเป็นอัมพาตทั่วไป

การป้องกันโรค
จัดการปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือด ได้แก่
การปรับโภชนาการให้มีผักผลไม้มาก กากมาก แคลอรี่ต่ำ เพื่อลดไขมันในเลือดและป้องกันเบาหวาน
กรณีเป็นความดันเลือดสูงหรือเบาหวานแล้ว ให้รักษาอย่างต่อเนื่อง
 – การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
 – การเลิกบุหรี่กรณีสูบบุหรี่

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Adams HP Jr, del Zoppo G, Alberts MJ, Bhatt DL, Brass L, Furlan A, et al. Guidelines for the early management of adults with ischemic stroke: a guideline from the American Heart Association/American Stroke Association Stroke Council, Clinical Cardiology Council, Cardiovascular Radiology and Intervention Council, and the Atherosclerotic Peripheral Vascular Disease and Quality of Care Outcomes in Research Interdisciplinary Working Groups: the American Academy of Neurology affirms the value of this guideline as an educational tool for neurologists. Stroke. 2007 May. 38(5):1655-711.
2. Coull BM, Williams LB, Goldstein LS. Anticoagulants and antiplatelet agents in acute ischemic stroke. Report of the Joint Stroke Guideline Development Committee of the American Academy of Neurology and the American Stroke Association (a Division of the American Heart Association). Neurology. 2002. 59 (1):13-22.
3. Brandt T, von Kummer R, Muller-Kuppers M. Thrombolytic therapy of acute basilar artery occlusion. Variables affecting recanalization and outcome. Stroke. 1996 May. 27(5):875-81..
4. Whisnant JP, Cartlidge NE, Elveback LR. Carotid and vertebral-basilar transient ischemic attacks: effect of anticoagulants, hypertension, and cardiac disorders on survival and stroke occurrence–a population study.Ann Neurol. 1978 Feb. 3(2):107-15.
5. Macleod MR, Davis SM, Mitchell PJ. Results of a multicentre, randomised controlled trial of intra-arterial urokinase in the treatment of acute posterior circulation ischaemic stroke. Cerebrovasc Dis. 2005. 20(1):12-7.
6. Culebras A, Kase CS, Masdeu JC. Practice guidelines for the use of imaging in transient ischemic attacks and acute stroke. A report of the Stroke Council, American Heart Association. Stroke. 1997 Jul. 28(7):1480-97..
7. Feinberg WM, Albers GW, Barnett HJ. Guidelines for the management of transient ischemic attacks. From the Ad Hoc Committee on Guidelines for the Management of Transient Ischemic Attacks of the Stroke Council of the American Heart Association. Circulation. 1994 Jun. 89(6):2950-65..
8. Piechowski-Jozwiak B, Bogousslavsky J. Basilar occlusive disease: the descent of the feared foe?. Arch Neurol. 2004 Apr. 61(4):471-2. [Medline].
9. Markus HS, Bart van der Worp H, Rothwell PM. Posterior circulation ischaemic stroke and transient ischaemic attack: diagnosis, investigation, and secondary prevention. Lancet Neurology. 2013. 12:990.[Medline].
10. Sarikaya H, Arnold M, Engelter ST, Lyrer PA, Mattle HP, Georgiadis D, et al. Outcomes of intravenous thrombolysis in posterior versus anterior circulation stroke. Stroke. 2011. 42(9):2498-502.