Latest

พลิกผันโรคด้วยตัวคุณเอง Reversing Disease By Yourself

เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ
ผมอายุ 64 ปี เป็นเบาหวาน และเป็นโรคหัวใจล้มเหลวซ้ำซาก ผมไม่เคยเจ็บหน้าอก มันเริ่มต้นเมื่อสองปีก่อนด้วยการที่ผมนอนหลับฝันเห็นญาติที่ไม่ถูกกันซึ่งเขาตายไปแล้ว แล้วสะดุ้งตื่นขึ้นมาหอบกลางดึก นอนต่อไม่ได้ ต้องนั่งหายใจทั้งคืน ไปหาคุณหมอ … ที่โรงพยาบาล …. ท่านบอกว่าผมเป็นหัวใจล้มเหลว และให้ผมสวนหัวใจแล้วใส่ stent ไป 2 เส้น เมื่อปี 55 เสียเงินไปแยะ เบิกประกันก็ไม่ได้เพราะประกัน…. อ้างว่าผมเป็นไขมันในเลือดสูงตั้งแต่ก่อนทำประกัน ดังนั้นอะไรเกี่ยวกับหัวใจเบิกไม่ได้หมด หลังจากนั้นผมยังคงมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลียเปลี้ยล้า คลื่นไส้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงไปถึง 5 กก.ในปีนี้ ไตก็ไม่ดี หมอตรวจได้ CR 1.5 ผมจะทำอะไรก็ไม่กล้าทำเพราะหมอห้ามออกแรงมาก หมอจะให้ผมสวนหัวใจอีก โดยให้เหตุผลว่าหัวใจทำงานยังไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องเช็คเส้นเลือดใหม่ ถ้ามีการกลับตีบใหม่ก็จะได้แก้ไขอีกครั้ง แต่ผมมีความรู้สึกว่าถ้าทำอีกครั้งคราวนี้ผมคงไม่รอดแน่ พอผมเอ่ยปากว่าไม่อยากทำ หมอก็ทำหน้างอว่าถ้าไม่เชื่อหมอ หมอก็ไม่รู้จะช่วยยังไง ทุกวันนี้ผมเองก็เกรงใจหมอมาก ไปหาทุกครั้งหมอให้ยามาแยะผมก็รับไว้หมดไม่ปริปากบ่น (รพ.เอกชน จ่ายเอง ไม่มีประกัน) แต่ก็กินบ้างไม่กินบ้าง เพราะถ้ากินทั้งหมดที่หมอให้ผมคงเมายาตายแน่ ผมอยากจะเปลี่ยนแนวทางการรักษามาเป็นการปรับอาหารและปรับวิธีดูแลตัวเอง ผมคิดว่าการทำบอลลูนซ้ำๆและกินยามากๆไม่น่าจะใช่ อีกอย่างหนึ่ง ผมเองก็ยังไม่ชัวร์ เพราะหมอบางคนทักว่าไม่ใช่หัวใจล้มเหลวมั้งเพราะไม่เห็นบวมเลย ผมเคยติดต่อไปที่รพ.พญาไท 2 เพื่อขอมารักษากับคุณหมอสันต์แต่ก็ได้รับการปฏิเสธว่าคุณหมอสันต์ไม่รับรักษาคนไข้ทั่วไป จะรักษาแต่ผู้บริหารเท่านั้น ผมอยากจะไปเข้าคอร์สสุขภาพของคุณหมอแต่ก็กลัวไปเป็นตัวถ่วงคนอื่น เพราะตัวเองถ้าเดินมากก็หอบ หมอสันต์เคยบอกว่าจะเปิดคอร์สเฉพาะคนเป็นโรคหัวใจแต่ผมก็รออยู่ ตอนนี้ผมกินยา digoxin, aspirin, DHCT, Atenolol, Losartan, Glucophage, B1-6-12 ผมเคยเขียนมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่คุณหมอยังไม่ได้ตอบ ที่ผมเขียนมาอีกครั้งนี้ก็เพื่อถามหมอสันต์ว่า

1. คุณหมอ…เขียนในใบประวัติว่าผมเป็น diastolic failure ผมถามว่ามันคืออะไร คุณหมอก็ไม่เคยอธิบาย ผมอยากรู้จริงๆว่า disastolic failure นี้มันคืออะไร มันดีเลวอย่างไร การดูแลตัวเองต้องทำอะไรเป็นพิเศษไหม
2. คนเป็นโรคหัวใจล้มเหลวระดับที่ผมเป็นนี้ ถือว่าเป็นมากไหม อย่างมะเร็งมีสี่ขั้น หัวใจล้มเหลวถ้านับเป็นขั้นผมอยู่ขั้นไหน
3. คนเป็นหัวใจล้มเหลวอย่างผมนี้ อนาคตจะดีหรือไม่ดีอย่างไร ผมจะอยู่ได้อีกสักกี่ปี
4. ขอให้คุณหมอสันต์เปิดรับรักษาคนไข้หัวใจที่ไม่ต้องการทำบอลลูนซ้ำซากอย่างผมได้ไหม เปิดเป็นคอร์สฝึกอบรมก็ได้ อย่างน้อยก็ให้คนไข้อย่างผมมีทางเลือกอื่นที่ผมสามารถตัดสินใจเลือกชีวิตของผมเองอย่างปลอดภัยได้บ้าง ดีกว่าไปอ่านคำแนะนำลมๆแล้งๆจากอินเตอร์เน็ท การอ่านบทความที่คุณหมอสันต์เคยป่วยแล้วดูแลตัวเองอย่างไรแล้วเอาไปทำเองมันก็ดีอยู่หรอก แต่บางทีผมไม่มั่นใจ เพราะมันมีข้อมูลส่วนตัวที่อาจจะไม่เหมือนกันที่จะต้องเอามาคิดเกี่ยวข้อง น้ำตาลเท่านี้จะหยุดยาได้ไหม ความดันเท่านี้จะหยุดยาได้ไหม ถ้ามีหมอที่ยอมรับแนวทางที่คนไข้จะดูแลตัวเองคอยช่วยเป็นคนให้คำปรึกษาใกล้ชิด มันก็จะทำให้ดูแลตัวเองได้อย่างมั่นใจขึ้น

…………………………………

ตอบครับ

     ก่อนตอบคำถามขอใช้สิทธิถูกพาดพิงทำการแก้ข่าวก่อนนะ ที่ว่าหมอสันต์ไม่รักษาคนธรรมดา รักษาแต่ผู้บริหารนั้น ไม่เป็นความจริงนะครับ ที่มาของเรื่องนี้คงเป็นเพราะในสมัยหนึ่ง รพ.เขามีโปรแกรมดูแลสุขภาพรายปีอยู่โปรแกรมหนึ่งชื่อ Personal Medical Program (PMP) ซึ่งทางฝ่ายการตลาดตั้งชื่อภาษาไทยว่า “โปรแกรมดูแลสุขภาพผู้บริหาร” เพื่อให้มันฟังดูขลังแบบการตล๊าด การตลาด เมื่อผมเปลี่ยนอาชีพเลิกผ่าตัดแล้วก็มารับดูแลสุขภาพเป็นรายปีให้กับคนไข้ที่ซื้อโปรแกรมนี้ แต่ว่ามาถึงวันนี้แล้วข้อมูลได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว คือหมอสันต์ไม่ได้รับรักษาหรือดูแลคนไข้รายใหม่ใดๆแล้ว เพราะว่าปลดชราแล้ว

เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ

     1.. ถามว่า diastolic failure คืออะไร ตอบว่า โอ้โฮ นี่คุณลุงจะเตรียมตัวไปสอบเรสิเด้นท์เหรอเนี่ย แต่เอาเถอะ หมอสันต์เนี่ยถามอะไรมาหากไม่ใช่เป็นการยุ่งกับเรื่องของชาวบ้านซึ่งเมียห้าม ก็จะตอบให้หมด ผมจะอธิบายให้ฟังนะ จะรู้เรื่องไม่รู้เรื่องก็สุดแต่บุญกรรม โปรดสดับ

     คำว่าหัวใจล้มเหลว (heart failure) หมายถึงหัวใจไม่สามารถส่งเลือดให้ทันความต้องการของลูกค้าซึ่งก็คือเซลทั่วร่างกาย การจะเข้าใจคำว่า diastolic failure นี้ มันต้องเข้าใจมุมมองในเชิงสาเหตุวิทยา (etiology) ของหัวใจล้มเหลวก่อน คือหมอโรคหัวใจเขาจะมองสาเหตุของหัวใจล้มเหลวออกมาจากหลายมุม แต่วันนี้จะขอพูดถึงแค่สองมุม คือ

     มุมที่ 1. สาเหตุเชิงโครงสร้างและการทำงาน (structural) ของตัวหัวใจ ว่ามันล้มเหลวแบบไหน ซึ่งแยกย่อยออกเป็น 5 แบบ

     1.1 ล้มเหลวในการบีบตัว (systolic failure) คือตัวกล้ามเนื้อหัวใจหมดแรงบีบ บีบตัวตัวได้ไม่แรงพอ ทำให้เลือดไหลไปข้างหน้าน้อย นึกภาพเรากำมือบีบลูกเทนนิสที่เจาะรูไว้รูหนึ่ง ถ้าเราบีบได้แรง ลูกเท็นนิสก็จะฟีบไล่ลมภายในออกไปได้หมด การบีบตัวของหัวใจก็เช่นกัน ถ้าบีบตัวได้แรงก็ไล่เลือดที่อยู่ในหัวใจออกไปได้หมด แต่โรคบางโรค เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หรือความดันเลือดสูงระยะแรก  หรือเบาหวาน หรือลิ้นหัวใจพิการ คนพวกนี้จะมีกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนเปลี้ยไม่มีแรงบีบตัว เหมือนเราบีบลูกเทนนิสที่เจาะรูไว้เบาๆ ลมก็ยังอยู่ในลูกเทนนิส ไม่ออกไปไหน

     1.2 ล้มเหลวในการคลายตัว (diastolic failure) คือในการทำงานของหัวใจนี้มันมีจังหวะบีบตัว (systole) และจังหวะคลายตัว (diastole) บีบตัวไล่เลือดออกไป คลายตัวดูดเอาเลือดเข้ามาตุนไว้ ถ้าเราบีบลูกเทนนิสที่เจาะรูไว้ให้แบนแต๊ดแต๋ แต่พอเราคลายมือ ลูกเทนนิสก็จะกลับพองกลมเหมือนเดิม เพราะผนังของมันเด้งได้ ผนังของหัวใจปกติก็เป็นแบบนั้น แต่สมมุติว่าเราเปลี่ยนลูกเทนนิสเป็นลูกบอลพลาสติกเจาะรู เราบีบมันให้แบบแต๊ดแต๋แล้วคลายมือ มันไม่เด้งดึ๋งกลับมากลมเหมือนเดิมแบบลูกเทนนิส แต่มันจะออกแนวเด้งกลับมาได้บ้าง ยังบุบบิบบู้บี้อยู่บ้าง เพราะผนังของลูกบอลพลาสติกมันไม่เด้งดึ๋งเหมือนผนังลูกเทนนิส หัวใจของคนเป็น diastolic failure ก็เป็นอย่างนั้น คือบทจะบีบตัว บีบได้ดี บทจะคลายตัว คลายตัวได้ไม่ดี ทำให้เลือดเข้าไปเติมในหัวใจได้น้อย และส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้น้อย อาการแบบนี้มักพบในคนที่มีกล้ามเนื้อหัวใจหนา (hypertrophy) ไม่ว่าจะหนาจากอะไรก็ตามรวมทั้งหนาจากขาดเลือดหรือความดันสูงด้วย หรือคนที่มีเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแบบรัด (constrictive pericarditis) หรือมีกล้ามเนื้อหัวใจพิการแบบบีบรัด (restrictive cardiomyopathy) เป็นต้น การจะวินิจฉัยว่าหัวใจของใครล้มเหลวในการคลายตัวก็ดูเอาจากตอนสวนหัวใจแล้ววัดได้ว่าปริมาตรเลือดที่หัวใจฉีดออกไป (EF) เป็นปกติ แต่ความดันในห้องหัวใจที่ปลายจังหวะคลายตัว (LVEDP) สูงผิดปกติ และปริมาตรเลือดที่เข้ามารออยู่ (LVEDV) ก็อาจจะน้อยผิดปกติ

     1.3 ล้มเหลวจากร่างกายต้องการเลือดมากเกินไป (high output failure) คือหัวใจทำงานปกติ แต่ร่างกายมีความต้องการเลือดมากจนหัวใจส่งให้ไม่ไหว เช่นเป็นโรคโลหิตจาง คอพอกเป็นพิษ ตั้งครรภ์ หลอดเลือดขยายตัวเพราะขาดวิตามินบี.1 เป็นต้น

     1.4 ล้มเหลวอย่างเฉียบพลัน (acute heart failure) อยู่มาดีๆก็ล้มเหลวพลั้วะไม่มีปีไม่มีขลุ่ย เช่นกรณีกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หัวใจเต้นรัวเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น
     1.5 ล้มเหลวเฉพาะข้างขวา (right heart failure) เช่นหลอดเลือดหัวใจตีบเส้นขวา ความดันในปอดสูง (pulmonary hypertension) ลิ่มเลือดอุดตันในปอด (pulmonary embolism) เป็นต้น

     มุมมองที่ 2. สาเหตุเชิงขีดความสามารถในการชดเชย (compensation) ในมุมมองนี้คือรู้อยู่แล้วว่ามีสาเหตุเชิงโครงสร้างมานานแล้วแต่หัวใจก็ยังไม่ล้มเหลวเพราะหัวใจยังชดเชยด้วยการทำงานให้มากขึ้นได้(compensated) มุมนี้เป็นการเฝ้ามองว่าเมื่อใดหัวใจจะพ่ายแพ้ คือความสามารถในการชดเชยลดลงจนทำให้หัวใจล้มเหลว (decompensated) สาเหตุที่ซ้ำเติมทำให้พ่ายแพ้นั้นก็มีได้สาระพัดเช่นคนไข้ไม่ได้ออกกำลังกาย, หรือเผลอกินเค็มมากไป, หรือหมอไปลดยาช่วยหัวใจลง, หรือหัวใจห้องบนอยู่ดีๆเกิดเต้นรัว (AF)ขึ้นมา หรือเกิดลิ่มเลือดอุดที่ปอด หรือร่างกายอ่อนล้าจากเดินทางไกลหรือความเครียด หรือย้ายไปอยู่ถิ่นที่อากาศร้อนหรือชื้นกว่าเดิม เป็นต้น

กิระดังได้สาธยายเรื่องสาเหตุวิทยาของการล้มเหลวในการคลายตัว หรือ diastolic failure มาก็พอสมควรแก่เวลา หว้งว่าเรสิเด้นท์โข่งคงพอจะเข้าใจนะโยม อามิตตาพุทธ

     2.. ถามว่าคนเป็นโรคหัวใจล้มเหลวระดับคุณลุงนี้ ถือว่าเป็นมากไหม แบ่งขั้นกันอย่างไร ตอบว่า
วงการแพทย์ทั่วโลกนิยมบอกความรุนแรงของหัวใจล้มเหลวตามระบบการแบ่งของสมาคมโรคหัวใจนิวยอร์ค (NYHA) ซึ่งกำหนดระดับชั้นความรุนแรง (class) ออกเป็นสี่ชั้น คือ

     Class 1: ไม่มีอาการ ยังทำกิจกรรมได้ไม่จำกัด
     Class 2: ออกแรงมาก ๆเช่นเล่นกีฬาหนัก ๆไม่ได้
     Class 3: แค่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันก็เหนื่อย
     Class 4: นั่งหรือนอนอยู่เฉย ๆโดยไม่ทำอะไรก็เหนื่อย

     ของคุณนี้เดินไม่กี่ก้าวก็เหนื่อย จึงจัดเป็น Class 3

อย่างไรก็ตาม วิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจอเมริกันและสมาคมหัวใจอเมริกัน (ACC/AHA) เห็นว่าการแบ่งความรุนแรงเป็นชั้นแบบ NYHA มันกิ๊กก๊อก ไม่สมศักดิ์ศรีของหมอโรคหัวใจ อย่ากระนั้นเลย เรามาแบ่งใหม่ให้มันยากขึ้น ให้หมอทั่วไปเขาไม่รู้เรื่องดีกว่า จึงได้เกิดการแบ่งระยะของหัวใจล้มเหลวออกเป็นสี่ระยะ (stage) ดังนี้

     Stage A มีความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจล้มเหลวแต่ยังไม่มีการล้มเหลวเชิงโครงสร้างและยังไม่มีอาการใด
     Stage B มีความล้มเหลวเชิงโครงสร้างให้ตรวจพบได้แล้ว แต่ยังไม่มีอาการใดๆ
     Stage C มีทั้งความล้มเหลวเชิงโครงสร้างให้ตรวจพบได้และมีอาการหัวใจล้มเหลวให้เห็น
     Stage D หัวใจล้มเหลวดื้อต่อการรักษาจนต้องใช้วิธีแทรกแซงพิเศษ (เช่นฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจสองห้อง หรือสวนหัวใจ ทำบอลลูน ทำผ่าตัด เป็นต้น)

     ซึ่งของคุณนี้หมอเขาทำยังไงคุณก็ไม่ดีขึ้น จนเขายิกๆจะเอาคุณไปสวนหัวใจอีกรอบ จึงจัดเป็น stage D

     3.. ถามว่าคนเป็นหัวใจล้มเหลวอย่างคุณนี้ อนาคตจะเป็นอย่างไร จะให้ตอบแบบเอาใจหรือตอบแบบบอกเล่าสัจจะธรรมละ เอาแบบหลังก็แล้วกันนะโยม

     คำตอบคือว่าข้อมูลจากโครงการศึกษาหัวใจฟรามิงแฮมพบว่าโรคหัวใจล้มเหลวเป็นโรคที่มีการพยากรณ์โรคที่เลว โดยที่ 37% ของผู้ชาย และ 33% ของผู้หญิง จะเสียชีวิตภายใน 2 ปีหลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าหัวใจล้มเหลว อัตราตายใน 6 ปีเฉลี่ยคือ 82% ในผู้ชาย และ 67% ในผู้หญิง ประมาณว่าคนเป็นหัวใจล้มเหลวมีอัตราตายสูงกว่าคนเพศและวัยเดียวกันที่ไม่ได้ป่วยถึงแปดเท่า การตายแบบกะทันหันเกิดขึ้นถึง 28% ของการตายจากโรคนี้ทั้งหมดในผู้ชาย และ 14% ในผู้หญิง

     ส่วนที่ว่าตัวคุณเองจะอยู่ได้อีกแน่นอนโปะเชะกี่ปี อันนี้หมอสันต์ตอบไม่ได้ ต้องไปถามหมอโฮะ (นามสมมุติ) คือที่ซอยบ้านผมมีหมออยู่สองคน หมอโฮะอยู่ปากซอย หมอสันต์อยู่ก้นซอย หมอสันต์ไม่มีลูกค้ามาหา แต่หมอโฮะมีลูกค้าขับรถเบ้นซ์รถบีเอ็มมาหาประจำ บางทีก็มากดกริ่งหน้าบ้านหมอสันต์แล้วถามว่าหมอโฮะอยู่ไหม ผมตอบว่าหมอโฮะซึ่งเป็นหมอดูตัวจริงอยู่ปากซอย ที่ก้นซอยนี้มีแต่หมอดูตัวปลอม คุณอยากลองดูดวงกับตัวปลอมไหมละ ฮิ..ฮิ

     4.. ตรงนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมแทรกให้ คือที่คุณบอกว่าไม่ชัวร์เพราะมีคนทักว่าไม่น่าเป็นหัวใจล้มเหลวเพราะไม่ได้บวม อันนี้เป็นประเด็นพยาธิสรีรวิทยา (pathophysiology) ที่สมควรอธิบายให้กระจ่างสักเล็กน้อย ไม่ได้หมายความว่ามีตัวพยาธิมาเกี่ยวข้องนะ แต่หมายถึงกลไกการเกิดโรคในกระบวนการทำงานของร่างกาย คือเมื่อเราพูดว่าหัวใจล้มเหลว เราหมายถึงหัวใจห้องล่างเท่านั้น แต่แค่ห้องล่างนี้ก็มีสองห้องแล้ว คือล่างซ้าย (LV) กับล่างขวา (RV) ส่วนใหญ่มันล้มเหลวห้องซ้ายห้องเดียว แต่บางทีก็ล้มเหลวแต่ห้องขวา บางทีก็ล้มเหลวทั้งสองห้อง

     กรณีล้มเหลวแต่ห้องล่างซ้าย เลือดจะท้นหัวใจซีกซ้าย เลือดจะไปออกันอยู่ที่ปอด ทำให้ของเหลวในน้ำเลือดส่วนหนึ่งรั่วผ่านผนังหลอดเลือดออกไปอยู่ในถุงลมของปอด เรียกว่าน้ำท่วมปอด (pulmonary congestion) เวลานอนราบแรงโน้มถ่วงจะทำให้น้ำรั่วออกไปในถุงลมมากขึ้น จึงมีอาการหอบเหนื่อยหายใจไม่อิ่มจนต้องลุกขึ้นมานั่ง กรณีอย่างนี้จะไม่มีอาการบวมที่ขาหรือเท้า

     กรณีล้มเหลวแต่ห้องล่างขวา เลือดจะท้นหัวใจซีกขวา เลือดจะไปออกันอยู่ที่หลอดเลือดดำทั่วร่างกาย ทำให้ของเหลวในน้ำเลือดรั่วผ่านผนังหลอดเลือดออกไปอยู่ในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการบวมกดแล้วกดบุ๋มที่หน้าแข้งและหลังเท้า ง

ดังนั้น ในกรณีที่คุณมีหัวใจห้องซ้ายล้มเหลวห้องเดียว ก็จะไม่มีอาการแข้งขาบวมครับ

     5.. ถามว่าหมอสันต์เปิดคอร์สรับดูแลคนไข้หัวใจที่หนีการทำบอลลูนหรือการผ่าตัดอย่างตัวหมอสันต์เองไม่ได้หรือ ตอบว่าก็กำลังคิดอยู่ คิดมาหลายปีแล้ว เพราะหมอสันต์เป็นนักคิด จึงคิดไม่รู้จักตก

     เหตุที่คิดไม่ตกก็คือว่าการรับรักษาคนไข้โรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างโรคหัวใจด้วยทิศทางสอนให้คนไข้ดูแลตัวเองให้ได้ (Good Health By Yourself) นี้ มันไม่ใช่ง่ายๆแค่ว่าชวนมาเข้าคอร์สบอกให้ทำยังโง้นยังงี้แล้วจบข่าว กลับบ้านใครบ้านมัน ทำอย่างนั้นมันก็เหมือนสอนว่ายน้ำทางไปรษณีย์ ชาติหนึ่งก็ว่ายน้ำไม่เป็น ถ้าจะรับรักษา นอกจากจะเอามาเข้าคอร์สพร่ำสอนแล้ว มันต้องตามประกบดูแลอย่างต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยเป็นปีจนลดยาได้หมดหรือเกือบหมดและจนเขาดูแลตัวเองต่อไปได้ แล้วก็ไม่ใช่ว่าครบปีแล้วจะตัดหางปล่อยได้นะ มันยังจะต้องคงช่องทางการติดต่อกันไว้ให้เขาโทรศัพท์หรืออีแมวมาหาได้เวลามีปัญหาฉุกเฉิน นานๆครั้งก็ต้องเรียกระดมพลมาดูว่าใครหย่อนยานไปแค่ไหนจะได้กระตุกขวัญกันขึ้นมาใหม่ เรียกว่าต้องเป็นโครงการ “ต้าวต๋าย” หมายความว่าทำกันจนตาย ไม่หมอตายก็คนไข้ตาย

     คุณเขียนมาก็ทำให้ผมคิดขึ้นได้ ว่าตอนที่ไปอเมริกาครั้งหลังสุดนี้ ได้ไปเห็นวิธีของฝรั่ง เขาทำโปรแกรมเรียกว่า Reversing Heart Disease By Yourself แปลว่า “พลิกผันโรคหัวใจด้วยตัวคุณเอง” และทำวิจัยติดตามผลตีพิมพ์ไว้ด้วย ซึ่งผลนั้นน่าทึ่งมาก อย่างของสำนักหนึ่งชื่อ Pritikin ที่ฟลอริดา เอาคนไข้หัวใจที่หนีบอลลูนหรือหนีบายพาสมา 64 คน มาเข้าโปรแกรม ตามดูไปห้าปี พบว่า 80% จบลงด้วยไม่ต้องบอลลูนไม่ต้องบายพาสเลย และ 68% ที่เคยเจ็บหน้าอกเป็นวรรคเป็นเวรก็หายเจ็บ เรียกว่าเขาทำได้ผลดีเสียจนน่าเอาอย่างบ้าง

     คิดได้แล้วก็เอาซะเลย จะยืนช้างเฉยอยู่ทำไมละเจ้าพี่ เอานะ ปักธงฉึกว่าหมอสันต์จะรับรักษาคนไข้โรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งหัวใจ ความดัน เบาหวาน ไขมัน อัมพาต อ้วน ภายใต้สโลแกน Reversing Disease By Yourself พลิกผันโรคด้วยตัวคุณเอง รับรุ่นแรกมาก่อน รับไม่เกิน 20 คน พอลงทะเบียนเข้าโปรแกรมแล้วก็นัดมาเข้าแค้มป์ก่อนสัก 3 วัน 2 คืน วิเคราะห์ข้อมูลผลการตรวจและวางแผนพลิกผันโรคเป็นรายคน รวมทั้งแผนการลดเลิกยาด้วย แล้วก็แยกย้ายไปทำการบ้านของใครของมัน โดยติดตามผลกันทางโทรศัพท์เดือนละครั้งทุกเดือน รับรู้ปัญหา ดูตัวชี้วัด และปรับแผนการดูแลตัวเองตามไปทุกเดือน ทุกสี่เดือนก็ต้องนัดกลับมารวมพลมาเข้าแค้มป์ติดตามอีกสัก 2 วัน 1 คืน หมดปีก็คงจะได้ติดตามสักสองแค้มป์ รวมทั้งปีคือสามแค้มป์ จบปีแล้วก็วางโครงข่ายสื่อสารแบบ peer support group คือกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน โดยมีผมในฐานะหมอผู้รักษาเป็นศูนย์กลางคอยติดตามข่าวคราวกันห่างๆตามความจำเป็นโดยไม่ต้องจ่ายเงินลงทะเบียนเข้าคอร์สซ้ำอีก

     ปักธงไปเลยนะว่ารุ่นแรกไม่เกิน 20 คน จะเข้าแค้มป์เริ่มต้นวันที่ 8-11 มค. 59 รับเฉพาะคนเป็นโรค หัวใจ เบาหวาน ความดัน ไขมัน อัมพาต อ้วน คนไม่ป่วยด้วยโรคเหล่านี้ไม่ต้องมา เพราะไม่มีอะไรให้ reverse ใครสนใจให้สมัครขึ้นทะเบียนไว้ได้ที่คุณหมอสมวงศ์ (086 8882521) หรือที่คุณตู่ (086 9858628) ยังไม่ต้องจ่ายเงิน เพราะยังไม่รู้ว่าจะเก็บค่าเข้าโปรแกรมเท่าไหร่ ต้องให้ organizer เขาไปคิดต้นทุนมาก่อน เพราะงานนี้งานใหญ่และยืดเยื้อ ต้องเตรียมทั้งทางโรงแรม เตรียมชั้นเรียนทำอาหาร เตรียมชั้นเรียนอื่นๆ และต้องวางกลไกการติดตามรายเดือน หมอสันต์ผู้ชราทำเองไม่ไหวหรอก ต้องจ้าง organizer ช่วยทำให้

     นี่จะเป็นครั้งแรกของเมืองไทยที่จะ Reversing Disease By Yourself พลิกผันโรคด้วยตัวคุณเอง จะได้ผลดีแบบฝรั่งเขาหรือไม่ ต้องอดใจรอชม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Framingham Classification: Ho KK, Pinsky JL, Kannel WB, Levy D. The epidemiology of heart failure: the Framingham Study. J Am Coll Cardiol. 1993 Oct. 22(4 Suppl A):6A-13A.
2. American Heart Association. Classes of heart failure. Available atนมัน. Accessed: October 6 , 2015.
3. Hunt SA, Abraham WT, Chin MH, et al, and the American College of Cardiology Foundation; American Heart Association. 2009 Focused update incorporated into the ACC/AHA 2005 guidelines for the diagnosis and management of heart failure in adults: a report of the American College of Cardiology Foundation/American Heart Association Task Force on practice guidelines developed in collaboration with the International Society for Heart and Lung Transplantation. J Am Coll Cardiol. 2009 Apr 14. 53(15):e1-e90
4. Hunt SA, for the Task Force on Practice Guidelines (Writing Committee to Update the 2001 Guidelines for the Evaluation and Management of Heart Failure). ACC/AHA 2005 guideline update for the diagnosis and management of chronic heart failure in the adult: a report of the American College of Cardiology/American Heart Association Task Force on Practice Guidelines. J Am Coll Cardiol. 2005 Sep 20. 46(6):e1-82.
5. Dickstein K, Cohen-Solal A, Filippatos G, et al. for the Task Force for the Diagnosis and Treatment of Acute and Chronic Heart Failure 2008 of the European Society of Cardiology. ESC Guidelines for the diagnosis and treatment of acute and chronic heart failure 2008: the Task Force for the Diagnosis and Treatment of Acute and Chronic Heart Failure 2008 of the European Society of Cardiology. Developed in collaboration with the Heart Failure Association of the ESC (HFA) and endorsed by the European Society of Intensive Care Medicine (ESICM). Eur Heart J. 2008 Oct. 29(19):2388-442. [Medline].
6. Lindenfeld J, Albert NM, Boehmer JP, et al, for the Heart Failure Society of America. Executive summary: HFSA 2010 comprehensive heart failure practice guideline. J Card Fail. 2010 Jun. 16(6):e1-194.[Medline].
7. Peacock WF, Fonarow GC, Ander DS, Maisel A, Hollander JE, Januzzi JL Jr, et al. Society of Chest Pain Centers Recommendations for the evaluation and management of the observation stay acute heart failure patient: a report from the Society of Chest Pain Centers Acute Heart Failure Committee. Crit Pathw Cardiol. 2008 Jun. 7(2):83-6. [Medline].
8. Jessup M, Abraham WT, Casey DE, Feldman AM, Francis GS, Ganiats TG, et al. 2009 focused update: ACCF/AHA Guidelines for the Diagnosis and Management of Heart Failure in Adults: a report of the American College of Cardiology Foundation/American Heart Association Task Force on Practice Guidelines: developed in collaboration with the International Society for Heart and Lung Transplantation. Circulation. 2009 Apr 14. 119(14):1977-2016. [Medline].
9. Pritikin. A five-year follow-up of 64 people who went to Pritikin instead of having coronary bypass surgery found that 80% had never needed the surgery. Journal of Cardiac Rehabilitation, 3: 183, 1983.