Latest

ถั่วเหลืองและน้ำเต้าหู้กับการเป็นมะเร็งเต้านม

เห็นแชร์กันมากมายเรื่องน้ำเต้าหู้ เต้าหู้ ถั่วเหลือง นมถั่วเหลือง ว่ามีผลทำให้มะเร็งต่างๆลุกลามโดยเฉพาะมะเร็งเต้านม เพราะมีสารอาหารที่มีค่าทองแดงสูง อยากทราบข้อเท็จจริงมากๆเลยค่ะ ว่ามีผลให้มะเร็งลุกลามจริงมั้ยคะ

       ขอบคุณคุณหมอมากๆค่ะ
ส่งจาก iPhone ของฉัน

……………………………………………………………

ตอบครับ

     มีจดหมายจำนวนมากเข้ามาด้วยอาการ “กระต๊าก” กับข่าวสุขภาพสาระพัดที่แชร์กันทางไลน์บ้างทางเฟซบ้าง ซึ่งผมไม่เคยตอบเลย เพราะผมถือว่าได้เคยพูดถึงวิธีจัดชั้นและวิเคราะห์หลักฐานวิทยาศาสตร์ไปบ่อยครั้งมากแล้ว ท่านผู้อ่านต้องเอาวิธีการนั้นไปหัดกลั่นกรองหลักฐานที่ร่อนมาจากอินเตอร์เน็ทเอาเอง สำหรับท่านที่ไม่ยอมกลั่นกรองอะไรด้วยตัวเอง ได้แต่ร้องกระต๊าก..กระต๊าก นั้น ผมคงจนปัญญาไม่รู้จะช่วยอย่างไรได้

     แต่ว่าวันนี้เป็นวันพิเศษ คือจะตอบจดหมายกระต๊ากเรื่องเต้าหู้หรือถั่วเหลืองทำให้เป็นมะเร็งเต้านม เพราะมีมาหลายฉบับมาก และขอให้ถือว่าได้รวบตอบให้แล้วทุกฉบับในคราวนี้

     ในการตอบคำถามนี้ผมขอแยกเป็นสองประเด็นนะ คือ (1) กินถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเช่นเต้าหู้และนมถั่วเหลือง ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมจริงหรือไม่  และ (2) สารเคมีที่ตกค้างในถั่วเหลือง ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมจริงหรือไม่

     ประเด็นที่ 1. ถามว่าถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเช่นเต้าหู้และนมถั่วเหลือง ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมจริงหรือไม่ ตอบว่าเรื่องนี้มีหลักฐานสองระดับ

     กรณีที่ 1. หลักฐานระดับในคน ตอบได้เลยว่าถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ไม่ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น ไม่เคยมีหลักฐานวิทยาศาสตร์ระดับงานวิจัยในคนแม้แต่ชิ้นเดียวที่บ่งชี้ไปในทางว่าการกินถั่วเหลืองหรือนมถั่วเหลืองจะมีความสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม มีหลักฐานวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า

     1.1 การกินถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง สัมพันธ์กับการการลดอุบัติการณ์เป็นมะเร็งเต้านม งานวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในเรื่องนี้เป็นการทบทวนงานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสที่เอางานวิจัยคิดตามดูกลุ่มคนในเอเซียขนาดใหญ่รวมทั้งสิ้น 8 งานวิจัยมาวิเคราะห์ ซึ่งให้ผลสรุปว่าคนยิ่งกินถั่วเหลืองมาก ยิ่งมีอุบัติการณ์เป็นมะเร็งเต้านมต่ำ

     1.2 สำหรับคนที่เป็นมะเร็งเต้านมไปเรียบร้อยแล้ว การทบทวนงานวิจัยซึ่งติดตามดูผู้เป็นมะเร็งเต้านมโดยเปรียบเทียบผู้ที่กินกับไม่กินถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง พบว่าหญิงเป็นมะเร็งเต้านมที่กินถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองมีอัตรากลับเป็นมะเร็งเต้านมซ้ำหลังตัดออกแล้ว (recurrent rate) ต่ำกว่าหญิงที่ไม่กินถั่วเหลือง 29% และมีอัตราตาย(mortality rate) ต่ำกว่าหญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมแต่ไม่กินถั่วเหลือง 36%  ทั้งนี้นิยามว่าการกินถั่วเหลืองคือกินเทียบกับสารฟลาโวนอยด์หนัก 17 กรัมต่อวัน (เทียบเท่านมถั่วเหลืองหนึ่งแก้วต่อวัน)

     กรณีที่ 2. หลักฐานระดับในห้องทดลอง ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานระดับต่ำกว่าในคน เพื่อตอบคำถามว่าไฟโตเอสโตรเจนจากถั่วเหลือง ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นเช่นเดียวกับเอสโตรเจนจากแหล่งอื่นเช่นยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทนหรือไม่ พบว่าหลักฐานเท่าที่มีอยู่ตอนนี้ยังขัดแย้งกันอยู่ คือบางงานวิจัยสรุปว่าไฟโตเอสโตรเจนกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้ บางงานวิจัยว่าไฟโตเอสโตรเจนเหมือนยาต้านมะเร็งเต้านม คือไปจับกับตัวรับเอสโตรเจนก็จริงแต่มีผลระงับการเกิดมะเร็งคล้ายกับการออกฤทธิ์ของยาต้านมะเร็งบางตัว(SERM) สรุปว่าโหลงโจ้งแล้วหลักฐานในห้องทดลองยังขัดกันเอง จนไม่สามารถสรุปอะไรได้ในตอนนี้ครับ

     ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีหลักฐานที่ดีกว่าปัจจุบัน หมอสันต์แนะนำให้ท่านผู้อ่านถือเอาตามหลักฐานระดับระบาดวิทยาและผลการวิจัยตามดูกลุ่มคนในภาพใหญ่ ซึ่งเป็นหลักฐานระดับสูงกว่า และมีผลว่ากินถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง สัมพันธ์กับการลดอุบัติการณ์เป็นมะเร็งเต้านมครับ ลดนะ..ไม่ใช่เพิ่ม

     ประเด็นที่ 2. สารเคมีตกค้างในถั่วเหลืองทำให้เป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นหรือไม่

     เรื่องนี้มีคนกระต๊ากขึ้นมา เพราะเป็นผลสืบเนื่องจากสงครามน้ำลายระหว่างบริษัทมอนซานโต้ผู้ผลิตถั่วเหลืองตัดแต่งพันธุกรรม(GMO) กับพวกเอ็นจีโอ. (NGO) กรุณาอ่านอย่างใจเย็นๆ และอย่าสับสนกับตัวย่อนะ จีเอ็มโอ.ไม่ได้เป็นญาติกับเอ็นจีโอ.

     เรื่องมีอยู่ว่าบริษัทมอนซานโต้ผลิตยาฆ่าวัชพืชออกมาตัวหนึ่งชื่อ Round up ready ซึ่งมีสารออกฤทธิ์ชื่อไกลโฟเสท (glyphosate) ยาฆ่าวัชพืชชนิดนี้เป็นรุ่นฆ่ารูดมหาราช คือมันเจ๋งขนาดที่ว่าไม่ว่าพืชชนิดไหนเป็นตายเรียบ แล้วมอนซานโต้ก็ผลิตถั่วเหลืองตัดแต่งพันธุกรรม(จีเอ็มโอ.)ออกมารุ่นหนึ่งชื่อ round up ready soy ถั่วเหลืองรุ่นนี้มันเป็นพืชชนิดที่ทนไกลโฟเสทได้ นั่นก็คือปลูกถั่วเหลืองยี่ห้อราวด์อัพ แล้วพ่นย่าฆ่าวัชพืชยี่ห้อราวด์อัพ ทุกอย่างฉลุย ถั่วเหลืองงาม วัชพืชไม่มี ชาวไร่ได้เงิน ขอบคุณมอนซานโต้

     ต่อมาพวกเอ็นจีโอ.ได้กระต๊ากขึ้นมาว่าสารเคมีไกลโฟเสทที่ตกค้างในถั่วเหลืองจีเอ็มโอ.อาจทำให้ผู้คนเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น โดยเผยแพร่ข้อมูลผลวิจัยการเอายาฆ่าวัชพืชราวด์อัพหรือสารไกลโฟเสทเหยาะลงในจานเพาะเลี้ยงเซลในห้องแล็บนะ ไม่ใช่ในร่างกายคน แล้วรายงานว่าไกลโฟเสทนี้ทำให้เซลมีอันเป็นไปต่างๆนาๆ อย่างน้อยก็ว่าไปกระตุ้นตัวรับเอสโตรเจนที่เซล ซึ่งตัวรับชนิดนี้เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าหากถูกกระตุ้นมากจะทำให้อุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้ว่ากันในห้องแล็บล้วนๆนะ ไม่ใช้การทดลองในคนจริงๆ

     ข้างนักวิจัยของมอนซานโต้ก็โต้แย้งว่า จะบ้าเรอะ (หิ หิ พูดเล่น เขาไม่ได้ใช้คำว่าบ้าหรอก) นักวิจัยของมอนซานโต้โต้แย้งว่าความเข้มข้นของไกลโฟเสทที่นักวิจัยฝ่ายเอ็นจีโอ.ใช้หยอดในจานเพาะเลี้ยงเซลในห้องแล็บนั้นมันเข้มข้นมากกว่าความเข้มข้นของไกลโฟเสทที่ผู้บริโภคจะพึงได้รับจริงจากการกินถั่วเหลืองอย่างเทียบกันไม่ได้ จะมาโมเมว่ากินถั่วเหลืองเคลือบยา เอ๊ย ไม่ใช่กินถั่วเหลืองที่มีไกลโฟเสทตกค้างแล้วจะเป็นนั่นเป็นนี่จากงานวิจัยขี้หมาระดับนี้ได้ไง ซึ่งหมอสันต์ก็เห็นด้วยว่า..เออ จริงแฮะ

     สรุปและแปลไทยให้เป็นไทยได้ความว่า มอนซานโต้และชาวไร่ขายถั่วเหลืองจีเอ็มโอที่มียาฆ่าหญ้าไกลโฟเสทตกค้างอยู่ให้แก่ผู้บริโภค นี่เป็นความจริงและมีหลักฐาน แต่ที่เอ็นจีโอ.โวยวายว่าไกลโฟเสทที่ตกค้างในถั่วเหลืองจีเอ็มโอ.จะทำให้ผู้บริโภคเป็นมะเร็งมากขึ้นนั้น ไม่เป็นความจริง และไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์ระดับเชื่อถือได้สนับสนุนเลย อย่างน้อยก็ ณ วันนี้

    เก๊ง..ง ระฆังหมดยก ผมชูมือให้มอนซานโต้ ถั่วเหลืองจีเอ็มโอ และยาฆ่าหญ้าไกลโฟเสท เป็นฝ่ายชนะ

     และผมแนะนำท่านผู้อ่านว่า ณ วันนี้อย่าไปสนใจเรื่องถั่วเหลืองจีเอ็มโอและยาฆ่าหญ้าไกลโฟเสทกับการเป็นมะเร็งเลยครับ จะไปเข้าตำรารู้มากยากนานเปล่าๆ เพราะมันยังไม่่มีหลักฐาน ผมว่าท่านเอาแค่เรื่องใกล้ตัวที่มีหลักฐานสนับสนุนเหน่งๆแล้วอย่างเช่นการกินพืชผักผลไม้ให้มากขึ้นและออกกำลังกายทุกวันให้รอดก่อนเถอะ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Wu AH, Yu MC, Tseng CC and Pike MC. Epidemiology of soy exposures and breast cancer risk. British Journal of Cancer (2008) 98, 9–14. doi:10.1038/sj.bjc.6604145

2. Nechuta SJ, Caan BJ et al. Soy food intake after diagnosis of breast cancer and survival. An in-depth analysis of combined evidence from cohort study of US and Chinese women. Am J Clin Nutr 2012;96:123-32