Latest

จะดื่มน้ำมากแต่มีหมอทักว่าไตจะพังและน้ำจะท่วมปอด

เรียนคุณหมอที่เคารพ                                                                                                                     ผมขอเข้าเรื่องเลยนะครับ
ผมได้อ่านข้อเขียนเรื่อง”…” โดย นพ….. ที่หมอท่านหนึ่งเอามาแชร์ทางเฟซบุ้ค อ่านแล้วก็กังวลและคาใจเพราะผมไม่ได้ดื่มน้ำแบบที่คุณหมอ 2 ท่านนี้แนะนำ คือผมดื่มตอนตื่นนอนประมาณ 1 ลิตร แล้วมาจิบกาแฟ(รวมน้ำอุ่นเปล่าๆ)อีกประมาณ 500 ซีซี รวมๆทั้งวันประมาณ 2 ลิตรครึ่ง นี่ยังไม่นับมื้อไหนที่ทานก๋วยเตี๋ยวน้ำหรือข้าวต้มอีกนะครับ
           ผมกังวลใจเรื่องอะไร?
           กลัวว่าตัวเองจะเป็นโรคไตหรือน้ำท่วมปอดครับ
ครั้นจะไม่เชื่อที่อ่าน..แต่คนเขียนเป็นหมอนะ แถมคนที่เอามาแชร์ก็เป็นหมอและย้ำว่าเป็นวิธีที่ถูกต้อง
          ผมอายุ 59 ปี น้ำหนัก 55 กก. สูง 168 ซม…ความดัน/น้ำตาลในเลือด/คอเลสเตอรอล ปกติทุกตัว..ตามอ่านบทความของคุณหมอย้อนหลังตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา..คิดว่าครบทุกตอนและติดตาม facebook ของคุณหมอชนิดไม่พลาด เพราะตั้งค่าเป็น see first
         ทั้งนี้ก็เพื่อจะบอก(คุยนิดๆ)ว่า..ผมใช้ข้อเขียนของคุณหมอปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต และผมเป็นคนที่รู้จักดูแลสุขภาพนะครับ  มีการออกกำลังกายแบบเหนื่อยแฮ่กๆแบบร้องเพลงไม่ได้ กินข้าวกล้องพืชผักผลไม้เป็นหลัก…ของทอดไม่กินเลย..เหล้าเบียร์บุหรี่นั้นเลิกเด็ดขาดมา 20 ปีแล้ว..วันพระยังถืออุโบสถศีลอีก มีการฝึกหายใจเพื่ออยู่กับ consciousness หรือ mindfulness บ้าง
         เอ๊ะนี่ผมเขียนไร้สาระอะไรมาหาคุณหมอเนี่ย..อ้อ อยากให้คุณหมอได้อ่านผ่านตาข้อเขียนที่ทำให้ผมกังวลว่าไตตัวเองจะพังหรือน้ำจะท่วมปอด และอยากจะได้รับคำแนะนำจากคุณหมอถึงวิธีดื่มน้ำให้ถูกต้องเหมาะสมครับ

         ด้วยความเคารพ

………………………………………….

ตอบครับ

     ข้อเขียนที่แนบมาผมอ่านดูแล้วก็เห็นว่าเป็นหลักวิชาแพทย์ทั่วไปที่ดีแล้วนี่ครับ เพียงแต่ในบางประเด็นสำบัดสำนวนอาจชวนคนอ่าน (เช่นคุณ) ให้ตีความมากเกินไป ซึ่งในประเด็นเหล่านั้นผมขออนุญาตเพิ่มเติมเพื่อให้คุณเข้าใจเจตนาของคุณหมอผู้เขียน ดังนี้

     1. ประเด็นการดื่มน้ำมากเกินไปแล้วโซเดียมต่ำหรือเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ (water intoxication) หรือสมองบวมน้ำนั้น จะพบในกรณีที่ร่างกายเสียโซเดียมไปมากๆทันทีเช่นท้องเสียหรือออกกำลังกายหนักเสียเหงื่อมากแล้วดื่มน้ำเปล่าทดแทนมากๆโดยไม่ได้ใส่เกลือหรือผงเกลือแร่ลงไปในน้ำด้วย แต่กรณีน้ำเป็นพิษจะไม่พบในกรณีคนปกติที่ร่างกายไม่ได้เสียโซเดียมไปทางไหน ยกเว้นดื่มน้ำมากถึงระดับวันละ 25 ลิตร (ซึ่งมีรายงานทางการแพทย์ไว้ว่าเคยเกิดในคนที่เข้าแข่งขันดื่มน้ำ)

     ส่วนประเด็นที่ว่าดื่มน้ำมากเกินคราวละ 500 ซีซี. จะทำให้น้ำท่วมปอด (pulmonary edema) นั้น อาจเป็นจริงในผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว แต่ไม่เป็นความจริงในคนทั่วไปที่มีการทำงานของหัวใจปกติ

     ในกรณีของคุณ คุณดื่มน้ำเช้า 1 ลิตรในภาวะที่ร่างกายไม่ได้เสียเกลือ ไม่มีปัญหาหรอกครับ ร่างกายปรับตัวเองได้

     2. ประเด็นการดื่มน้ำกลางคืนมากจะทำให้ตื่นนอนมาปัสสาวะกลางดึกและรบกวนการนอนหลับนั้นเป็นเรื่องจริงอยู่แล้ว ซึ่งคนตื่นกลางดึกแล้วหลับต่อยากควรดื่มน้ำกลางคืนให้น้อยๆเข้าไว้ก็ดีแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามดื่มน้ำตอนกลางคืนเลย เพราะภาวะขาดน้ำเช่นท้องร่วงอาจเกิดตอนกลางคืนก็ได้ หากมีข้อบ่งชี้ หมายความว่าร่างกายขาดน้ำ กระหายน้ำ ก็ดื่มน้ำกลางคืนได้ ไม่ถึงกับมีกฎหมายห้ามดอก

     3. ประเด็นที่ว่าการดื่มน้ำกลางคืนจะทำให้ไตไม่ได้พักและทำให้ไตพังนั้น ความเป็นจริงคือไม่เคยมีหลักฐานวิทยาศาสตร์ใดๆบ่งชี้ว่าการดื่มน้ำกลางคืนจะสัมพันธ์กับการสูญเสียการทำงานของไตแตกต่างไปจากการดื่มน้ำตอนกลางวันเลย ผมเดาเจตนาว่าผู้เขียนคงไม่อยากให้ผู้อ่านตะบันดื่มน้ำกันมากเกินพิกัดทั้งกลางวันกลางคืน แค่ไหนจึงจะเรียกกันว่าดื่มมากหรือน้อยเกินพิกัดในบทความนั้นก็แนะนำไว้ดีแล้วว่าให้ดูสีและปริมาณของปัสสาวะเป็นเกณฑ์ ถ้าปัสสาวะสีเข้มหรือปัสสาวะมีปริมาณน้อย ก็แสดงว่าร่างกายได้รับน้ำน้อยไป ดังนั้น ขอให้คุณอย่าไปสนใจประเด็นไตจะพังไม่พังเลยเพราะมันเป็นประเด็นที่ไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์สนับสนุน ให้จับประเด็นการได้นอนหลับโดยไม่ขาดตอน และการไม่ปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำตามที่บทความนั้นเขาแนะนำเป็นสาระสำคัญดีกว่า อย่าไปเถรตรงกับประเด็นปลีกย่อยถึงขั้นกระหายน้ำกลางคืนแล้วไม่กล้าดื่มน้ำกลางคืนเพราะกลัวไตพัง แบบนั้นเป็นการจับสาระสำคัญของบทความเขาผิดไป

     ในแง่ของปริมาณน้ำดื่มต่อวันมากแค่ไหนจึงจะพอดีนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้ชีวิตและอาหารเครื่องดื่มที่ร่างกายได้รับในแต่ละวันว่ามีการได้และเสียน้ำจากทางอื่นนอกจากน้ำดื่มมากแค่ไหน ไม่มีตัวเลขตายตัว ตัวเลขที่เอามาแนะนำกันจนเป็นสากลว่าต้องดื่มน้ำวันละ 8 แก้วหรือ 2000 ซีซี.นั้นได้มีงานวิจัยทบทวนวรรณกรรมตีพิมพ์ไว้ในวารสารสรีรวิทยาอเมริกัน (Am J Physiol) สรุปว่าตัวเลข 8 แก้วนี้เป็นตัวเลขที่หมอ (ฝรั่ง) คนหนึ่งประมาณการเอาเองแล้วยกเมฆเขียนขึ้นมา จากนั้นคนก็ยึดถือต่อๆกันมาโดยไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับ

     งานวิจัยปริมาณน้ำดื่มที่เหมาะสมที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการวิจัยสุขภาพชื่อ Adventis Health Study โดยศึกษาปริมาณน้ำดื่มและการเป็นโรคหัวใจของคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลยจำนวนหมื่นกว่าคนติดตามดูนาน 6 ปี พบว่าผู้ที่ดื่มน้ำวันละไม่เกิน 2 แก้วเป็นโรคหัวใจหรือมีจุดจบที่เลวร้ายทางด้านหัวใจมากที่สุด พวกที่ดื่มวันละ 3-4 แก้วเป็นโรคหัวใจน้อยกว่าพวกดื่มไม่เกินวันละ 2 แก้วถึง 35% และพวกดื่มน้ำวันละ 5 แก้วขึ้นไป เป็นโรคน้อยกว่าผู้ที่ดื่มวันละไม่เกิน 2 แก้วถึง 54% จากงานวิจัยนี้จึงสรุปได้ว่ายิ่งดื่มน้ำมากเกินวันละ 5 แก้วขึ้นไป ยิ่งมีความเสี่ยงตายน้อยลง ส่วนดื่มมากสูงสุดถึงวันละกี่แก้วจึงจะดีนั้น ไม่มีงานวิจัยใดระบุตัวเลขได้ ผมจึงแนะนำได้แค่ว่าควรดื่มน้ำวันละอย่างน้อย 5 แก้วขึ้นไป

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Valtin H. “Drink eight galsses of water a day” Really? Is there scientific evidence for 8 x 8? Am J Physiol. 2002;283(5):R993-1004.
2.  Chan J1, Knutsen SF, Blix GG, Lee JW, Fraser GE. Water, other fluids, and fatal coronary heart disease: the Adventist Health Study. Am J Epidemiol. 2002 May 1;155(9):827-33.