Latest

Soundbath สู่ความรู้ตัวด้วยการเฝ้า “ดู” เสียง

หลายวันก่อนมีน้องที่เป็นนักดนตรีมาเยี่ยมที่บ้าน ผมถามเขาว่า

     “เสียงเกิดมาจากอะไร”

เขาตอบแบบไม่ต้องคิดว่า

     “จากการสั่นสะเทือนของวัตถุ”

     ใช่ นั่นเป็นมุมมองของนักดนตรีผู้ทำให้เกิดเสียง แต่ผมบอกเขาว่า

     “ในมุมมองของผู้ฟัง เสียงเกิดขึ้นมาจากความเงียบนะ”

     ไม่เชื่อคุณหลับตานะ แล้วฟัง ได้ยินเสียงแอร์ เสียงมอเตอร์ไซค์ที่นอกถนน แต่ว่านั้นเป็นเพียงสิ่งเล็กๆในความรู้ตัวนะ ส่วนที่ใหญ่ที่สุดคือความเงียบ เห็นไหม ความเงียบอันกว้างใหญ่นี้คือความรู้ตัวของเรา แล้วเสียงแอร์และเสียงมอไซค์เกิดขึ้นมาจากความเงียบนี้ แล้วหายไปในความเงียบนี้ ถ้าคุณปักหลักอยู่ที่ความเงียบ เสียงแอร์และเสียงมอไซค์ก็จะเป็นแค่ “object” หรือความบันเทิงให้คุณได้สัมผัสรับรู้ลูบคลำเล่น มันมาก็สนุกก้ับมัน มันไปก็ปล่อยมันไป

     “แต่ถ้าคุณฟังไม่เป็น คุณมุดเข้าไปอยู่ในเสียง” เขาขัดขึ้นว่า

     “อาจารย์หมายความว่าไง มุดเข้าไปอยู่ในเสียง”

     “เอ้อ ถามดีแฮะ คนตอบอึ้งเลย หมายความว่าคุณไม่ได้ฟังจากความเงียบ แต่ฟังจากในสนามเดียวกันกับที่เสียงเกิดขึ้น คืองี้นะ ความรู้ตัวอันกว้างใหญ่นี้ในแง่ของเสียงมันคือความเงียบ ในแง่ของการเคลื่อนนไหว มันคือความนิ่ง ในแง่ของความคิด มันคือความว่าง เอาแค่นี้ก่อน เข้าใจไหม” เขาผงกหัวแต่ตอบว่า

     “ไม่เข้าใจครับ” ผมพยายามอธิบาย

     “คุณหลับตานะ แล้วนึกถึงใบหน้าแฟนคุณ ใบหน้าแฟนคุณมาหรืือ เห็นหรือยัง” เขาตอบว่า

     “เห็นแล้วครับ แต่ไม่ชัดนะ” ผมพูดต่อว่า

     “เห็นอยู่ตรงไหน ซ้ายขวาหน้าหลังบนล่าง” เขาตอบว่า

     “อยู่ตรงหน้า ประมาณหน้าผาก” ผมอธิบายว่า

     “ภาพแฟนของคุณคือความคิดนะ มันมาจากความจำ คุณเห็นไหมว่าความคิดก็เกิดในความว่างแห่งความรู้ตัวนี้ เพราะคุณบอกว่ามันเกิดตรงหน้าคุณนี้เอง ทีนี่ความคิดมันไม่ใช่มีแต่ความคิดโดดๆนะ มันมีชนิดที่ถักทอกันขึ้นสานกันขึ้นเป็นคอนเซ็พท์ เป็นความเชื่อ เป็นความสำคัญมั่นหมายว่าตัวคุณเป็นบุคคลเป็นนักดนตรี เป็นอาจารย์มหาลัย ทั้งหมดนี้ก็เป็นความคิดนะ เวลามันเกิดมันก็เกิดในความว่างเดียวกันนี่แหละ ตรงนี้คุณเก็ทไหม” เขาตอบว่า

    “เก็ทครับ”

    “..คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ ฟังแบบมุดเข้าไปอยู่ในเสียง หมายความว่าคุณไม่ได้ฟังจากความเงียบที่กว้างใหญ่อันเป็นความรู้ตัวของคุณ แต่ไปฟังจากภายในสนามที่เสียงนั้นเกิดขึ้น คือไปฟังจากความคิดซึ่งก็เกิดในสนามเดียวกันกับเสียงนั่นแหละ ความคิดตัวที่กลั่นที่สุดก็คือความสำคัญมั่นหมาย (identity) ว่าคุณเป็นบุคคลหรืออีโก้ คุณไปฟังจากอีโก้ แทนที่เสียงมอไซค์จะเป็นความไพเราะของการไล่ระดับความกว้างและความถี่ของคลื่น มันกลายเป็นสิ่งเหนี่ยวนำให้เกิดความคิดต่อยอดบนอีโก้ของคุณ เช่น ได้ไงวะ นี่มันบ้านคนสำคัญนะโว้ย ปล่อยให้มอไซค์มาแผดเสียงแป๊ดๆได้ไง ประมาณน้้น อย่างนี้เรียกว่าฟังแบบมุดเข้าไปอยู่ในเสียง” เขาเงียบไปพักใหญ่แล้วว่า

     “อย่างนี้หมายความว่าคนกำลังซึมเศร้า ฟังเพลงเศร้าก็ได้ ถ้าฟังเป็น ถูกไหมครับ” ผมตอบว่า

     “อ้า..คุณเก็ทแล้วเห็นแมะ คนซึมเศร้ามันก็ต้องฟังเพลงเศร้าซิวะมันถึงจะอิน แต่ฟังแบบปักหลักฟังจากความเงียบอันกว้างใหญ่ ไม่ใช่ฟังจากความคิดที่อยู่ในสนามเดียวกับเสียง ถ้าดนตรีนั้นเล่นได้ดี หมายความว่าเล่นได้เนี้ยบ มันจะจูงให้คนฟังทิ้งความคิดไปอยู่กับความเงียบแห่งความรู้ตัวได้เอง” เขาขัดขึ้นอีกว่า

     “ตรงนี้ผมไม่เก็ท” ผมยกตัวอย่าง

     “นานหลายสิบปีมาแล้ว คุณธานินทร์ ธานินทร์ อินทรเทพเนี่ยแหละ เขาเล่าให้ฟังว่าเขาไปดูมวยชิงแช้มป์โลกที่จัดต่อยกันที่ชลบุรี ผู้ชมมากันแน่นมาก แต่เลยเวลาชกมาแล้วสองชั่วโมงตัวแชมป์โลกซึ่งเป็นชาวต่างชาติก็ยังไม่โผล่มา ทุกคนกระวนกระวาย หวิดเกิดจราจล ตัวโปรโมเตอร์ใหญ่เข้ามาหาแล้วบอกเขาว่า ธานินทร์ ช่วยพี่หน่อย คือให้เขาขึ้นเวทีร้องเพลงขัดตาทัพ คุณธานินทร์บอกว่า เวทีหรือก็เป็นเวทีมวย ผู้ฟังหรือเขาก็จะมาดูมวยมาพนันขันต่อกันใครเขาจะมาสนใจฟังเพลง ไมค์หรือก็เป็นไมค์พากย์มวย ไม่มีรีเวิร์บใดๆช่วยทั้งสิ้น ดนตรีแบ้คอัพก็ไม่มีสักชิ้น แม้แต่คนประกาศว่าจะให้เขาขึ้นมาร้องเพลงยังไม่กล้าประกาศเพราะกลัวโดนโห่หรือโดนขวดน้ำปาใส่ ได้แต่ยื่นไมค์มาให้ แต่ทันทีที่คุณธานินทร์เริ่มร้องเพลง

      ….ทุกวันฉันนั่งหลังพวงมาลัย 
      ว้าเหว่เปลี่ยวใจไปตามถนน

     เสียงผู้คนที่กระวนกระวายว่าเมื่อไหร่แชมป์โลกจะโผล่หัวมาก็เงียบกริบ เพราะเสียงของคุณธานินทร์ที่แทรกขึ้นมานั้นมันเป็นเสียงที่ละเอียด การจะฟังมันได้พวกเขาต้องทิ้งความคิดอีล้งช้งเช้ง ถอยกลับไปอยู่ในความเงียบ พวกเขาจึงจะฟังมันได้ แล้วเสียงนั้นก็พาพวกเขาจมลึกลงๆไปในความเงียบแห่งความรู้ตัว ความกระวนกระวายหมดไปกลายเป็นความสงบเย็น

     อย่างนี้แหละที่ผมบอกว่าถ้าดนตรีเล่นได้เนี้ยบ มันจะจูงคนฟังออกจากความคิด ไปอยู่ในความเงียบของความรู้ตัวได้ แล้วคุณรู้ไหมที่ก้นบึ้งของความรู้ตัวของคนเรานี้มันมีอะไร” เขาพยายามตอบ

     “ไม่รู้ครับ”

     “ความรู้ตัวเรารู้อยู่แล้วว่ามันเป็น (1) ความเงียบๆนิ่งๆว่างๆที่มี (2) ความตื่นและ (3) ความสามารถรับรู้ แต่หากคุณลงลึกไปถึงก้นบึ้งของมัน มันจะมีอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริงของคุณเอ่อท้นสวนขึ้นมา สิ่งนั้นผมเรียกว่า Grace มันเป็นส่วนผสมระหว่างความเบิกบาน ความรักความเมตตา และพลังสร้างสรรค์ นั่นคือความเป็นคุณที่แท้จริง ฟังให้ดีนะ จิตที่เมตตา คือความเป็นคุณที่แท้จริง เมื่อคุณจูงคนฟังลงไปถึงตรงนั้นได้ คุณเป็นนักดนตรีที่ใช้ได้” เขาฟังแล้วว่า

     “ดนตรีที่จะทำอย่างอาจารย์ว่าได้ก็ต้องเป็นประเภทให้เสียงต่อเนื่องอย่างเช่นเครื่องสาย แบบไวโอลิน” ผมแย้งว่า

     “ไม่จำเป็น เสียงอะไรก็จูงคนให้ทิ้งความคิดเข้าสู่ความรู้ตัวของเขาเองได้ทั้งนั้นแหละ การใช้เสียงแบบนี้มันเริ่มในธิเบตนะ ในธิเบตมีการฝึกสมาธิแบบหนึ่งเรียกว่าอาบเสียง หรือ soundbath คือนักเรียนนั่งหรือนอนสบายๆส่วนครูก็ตีฆ้องตีกลองกะละมังชามไหไปตามเรื่อง ตีแบบให้ค่อยๆเนี้ยบขึ้นๆจนคนฟังต้องค่อยๆถอยตัวเองจากความคิดลงไปอยู่ที่ความรู้ตัวลึกลงๆเพื่อให้รับฟังเสียงที่ละเอียดลงๆนั้นได้ เสียงที่ใช้ในธิเบตนั้นเป็นเสียงจากการเคาะหรือ percussion ล้วนๆ” ถึงตอนนี้เขาสนใจขึ้นมา

     “ผมจะต้องไปเรียนเรื่องแบบนี้บ้าง”

     วันนั้นเราจบการสนทนากันแค่นั้น หลังจากวันที่คุยกันนั้นแค่วันเดียว อยู่ๆจู่ๆเพื่อนที่ดีอีกท่านหนึ่งก็โทรมาหาอย่างไม่มีปีไม่มีขลุ่ยว่าจะมี percussionist (มือกลอง) ระดับโลกเป็นชาวออสเตรเลีย เขามากับซี้อีกคนหนึ่งซึ่งเป็นครูสอนวิปัสสนาด้วยการใช้เสียงนำ ทั้งคู่จะไปทำ soundbath ให้กับการประชุมทางจิตวิญญาณครั้งใหญ่ของกลุ่มผู้แสวงหาความหลุดพ้นจากทั่วโลกกลุ่มหนึ่งที่ประเทศอินเดีย คณะของเธอจะชวนเขาแวะมาเมืองไทยและมาทำ soundbath ให้ผู้ป่วยและผู้สนใจการแสวงหาในเมืองไทยฟังดีไหมเพราะเมืองไทยยังไม่มีคนรู้จักเรื่องแบบนี้ โดยหารือว่าจะใช้สถานที่เวลเนสวีแคร์ที่มวกเหล็ก ผมตอบทั้งๆที่ยังไม่ทันหายงงว่า…โอเค. โปรแกรมข้างล่างนี้จึงเกิดขึ้น

Carmen Warrington ครูสอนวิปัสสนา

โปรแกรมพิเศษ Soundbath 
สู่ความรู้ตัวด้วยการเฝ้า “ดู” เสียง

กลุ่มเป้าหมาย: 

(1) ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่กำลังมีความเจ็บปวดหรือมีทุกข์ทางใจ
(2) ผู้แสวงหาความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณ

สถานที่: เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ มวกเหล็ก

วันเวลา (แก้ไขตามวิทยากรฝรั่ง): 10-11 ธค. 2560

วิทยากร: David Jones และ Carmen Warrington

โปรแกรม: 

10 ธค. 60 
18.30 น. แนะนำวิทยากร David Jones และ Carmen Warrington
18.35 – 19.30 David และ Carman ให้ความรู้กับผู้ป่วยและผู้แสวงหาเรื่องการดูแลจิตใจเพื่อการมีสุขภาพดี
19.30 – 21.00 Soundbath session ผู้เรียนเข้า Hall ซึ่งมีที่เสื่อโยคะและหมอนประจำตัวแจกทุกคน ผู้เรียนนอนทำสมาธิวิปัสสนา ขณะที่วิทยากรและนักดนตรีเล่นดนตรี soundbath และใช้เสียงพูดสอนประกอบ

David Jones เป็น percussionist ระดับโลก

11 ธค. 60 
8.00 – 10.00 Meditation technique เท็คนิคการทำสมาธิวิปัสนา โดย Camen Warrington ฝึกปฏิบัติ และถามตอบ

การเข้าร่วมโปรแกรม

สามารถเข้าร่วมได้ทั้งสองแบบ

1. แบบไม่พักค้างคืน เข้าร่วมได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ยกเว้นหากร่วมทานอาหารก็มีค่าอาหาร 250 บาทต่อหัวต่อมื้อ

2. แบบพักค้างคืน ค่าเรียนฟรีไม่ต้องจ่าย แต่ต้องจ่ายค่าที่พักและอาหารสองมื้อ เป็นเงิน 1250 บาทต่อคน (นอนห้องละสองคน)

วิธีการลงทะเบียนเข้าเรียน

 1. แจ้งสำรองที่เรียน

     1.1 ทางโทรศัพท์ที่ พญ.สมวงศ์ ใจยอดศิลป์ โทร. 086 8882521 หรือคุณตู่ (ฐานวีร์ พีรกุล) โทร. 081 900 8321 หรือ 086 985 8628
     1.2 ทางอีเมล somwong10@gmail.com หรือ tuthannawee@gmail.com

2. ชำระเงินค่าลงทะเบียน

     (เฉพาะกรณีพักค้างคืนและทานอาหาร) โอนเงินเข้าบัญชี ธนาคารกรุงเทพ สาขาเมืองทองธานี เลขบัญชี 931 0 06792 2 ชื่อบัญชี นายสันต์ ใจยอดศิลป์

3. ยืนยันการรับลงทะเบียน

     ส่งภาพถ่ายสลิปใบโอนเงินที่เขียนชื่อของท่านด้วยปากกาทับไว้อย่างชัดเจนบนใบสลิปนั้นด้วย ส่งไปยังพญ.สมวงศ์ทางอีเมล somwong10@gmail.com  ในกรณีไม่สะดวกในการส่งภาพถ่าย จะโทรศัพท์บอกกับพญ.สมวงศ์ที่หมายเลข 086 8882521 โดยตรงด้วยตนเองก็ได้

     ขอความกรุณาอย่าส่งใบสลิปมาโดยไม่เขียนชื่อว่าเป็นเงินของใคร เพราะทางเวลเนสวีแคร์ได้รับใบสลิปแล้วก็ยังไม่รู้จะลงทะเบียนในชื่อใครอยู่ดี

     การลงทะเบียนจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อทางเวลเนสวีแคร์ได้รับทั้งเงินและชื่อผู้ส่งเงินแล้วเท่านั้น

     การลงทะเบียนเรียนใช้สูตรมาก่อนได้ก่อน เต็มแล้วปิด (รับเข้าเรียนได้ 30 คน เพราะกิจกรรมนี้ต้องนอนฟังใน Hall รับเกินกว่านี้จะไม่มีที่ให้นอน ห้องพักเปิดรับได้ 12 ห้อง ห้องที่เหลือต้องกันไว้ให้คณะวิทยากร)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
…………………………………………..