Latest

ไม่ใช่ว่าคนรุ่นหนุ่มสาวจะไม่เอาไหนไปเสียทั้งหมด

กราบเรียน อาจารย์หมอ สันต์ ที่เคารพ ครับ

ผมอายุ 32 ปี สูง 188 ซม ปัจจุบันปี 2017 หนัก 87 กก. (เดิมหนัก 98 กก.) ความดัน 123/62 ก่อนหน้านี้ได้เขียนมาหาอาจารย์และได้ปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของอาจารย์หมอสันต์ เป็นเวลา 4 เดือน ควบคู่กับการออกกำลังกายเดิมที่ทำอยู่ คือ
1. ลดเนื้อสัตว์ลงอย่างมีนัยยะสำคัญ (เลือกบริโภคแต่ผัก)
2. งดกินไข่เป็นฟอง (ส่วนไข่ที่ผสมในอาหารมีบ้างแต่น้อย)
3. กินข้าวกล้องเป็นส่วนใหญ่ (ยกเว้นบางมื้อไม่สามารถเลือกได้ตามหน้างานที่ทำ)
4. งดกินเมนูผัดทอด (เน้นกินเมนูต้มแทนส่วนใหญ่ ถ้าไม่มี คือเลือกเป็นการกินก๋วยเตี๋ยวแทน)
5. กินผักผลไม้เพิ่ม คือเพิ่มผักในเมนูอาหารและกินผลไม้หลังรับประทานอาหารเกือบทุกมื้อ

ขออนุญาติอัพเดตผลเลือดหลังจากทำแบบนี้มา 4 เดือน โดยไม่ได้กินยาลดไขมันครับ
Date  21-Jul-17 8-Nov-17
Triglyceride 56           67
Cholesterol 276           202
HDL         74           57
LDL        191           128
SGOT        73           53
SGPT        137           62
ผมสังเกตว่า LDL ลดลงอย่างมาก จนอยู่ในค่ามาตรฐานคือ <130 10="" hdl="" p="" triglyceride="">และค่าตับ SGOT, SGPT ก็ลดลง แต่ยังเกินมาตราฐานอยู่ ซึ่งตอนเจาะเลือดผมป่วยเป็นไข้หวัดอยู่และกินยาปฏิชีวะนะ AMK เช้าเย็นครั้งละ 1 เม็ดในช่วงของการเจาะเลือดวันที่ 8 Nov
ส่วนค่าไวรัสตับผมไปตรวจมาแล้วตามผลด้านล่างและไฟล์แนบครับ
Date 19-Aug-17
HBs Ag Negative
Anti-HBs Negative
Anti-HBc (Total) Negative
Anti HCV Negative
ผมจึงขอรบกวนถามคำถามอาจารย์ดังนี้ครับ
1. หลังจากปรับอาหารแล้วค่า LDL ลดลงอย่างมีนัยยะ แต่ทำไมค่า HDL ลดลงด้วย ทั้งๆที่ออกกำลังกายเหมือนเดิมครับ หรือไม่ต้องกังวลกับ HDL ให้ยึดค่า LDL เป็นหลักครับ
2. ค่า Triglyceride ก็มีการเพิ่มขึ้นด้วย ดูจากผลเลือดย้อนหลัง 5 ปีจะอยู่ประมาณ 30-50 ตลอดครับทั้งๆที่ออกกำลังกายเหมือนเดิมครับ ควรกังวลไหมครับ
3. กินยาปฏิชีวะนะ มีผลต่าค่า SGOT, SGPT ไหมครับ
4. หากการกินยา AMK ไม่มีผลและผลตรวจไวรัสตับ Negative หมดแต่ค่าตับ SGOT, SGPT ยังไม่อยู่ในเกณฑ์ ควรปรับอย่างไรต่อครับ
5. หลังจากค่า LDL ลดลงมาอยู่ที่ 128 แล้ว การควบคุมอาหารทั้ง 5 ข้อด้านบนต้องทำไปตลอดชีวิตไหมครับ หมายถึงมีหลุดบ้าง ยืดหยุ่นบ้างไปกินอาหารที่ไม่ใช่ 5 ข้อนั้นกับเพื่อนกับครอบครัวบ้าง ได้ไหมครับ เนื่องจากผมยังอายุน้อย 32 ปี การควบคุมอาหารแบบนี้อาจจะไม่เข้ากับอาชีพและหน้าที่ที่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ กล่าวคือ ไม่สามารถไปร่วมกินร่วมสังสรรค์กับเพื่อนกับคนที่ทำงานได้เลยครับ จึงประสบปัญหาการใช้ชีวิตในการหาเลี้ยงชีพครับ ขณะที่เพื่อนร่วมงานและหัวหน้าไม่เข้าใจว่าทำไมต้องควบคุมอาหาร เค้ากินกันปกติสุขและผลเลือดก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ และมองเราว่าเป็นคนที่ต้องการแปลกแยกจากกลุ่มเพื่อนร่วมงานเวลาไปกินอาหารเที่ยง อาหารเย็น กินขนมต่างๆ เป็นต้นครับ ไม่เติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงานได้ คือไม่สามารถซื้อใจคนอื่นได้
6. จากข้อ 5. หรือว่าต้องควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดเนื่องจากเป็นสุขภาพของตัวเราเอง คนอื่นไม่สามารถมาเป็นตัวเราตอนที่มีโรคภัยได้ หากไม่ควบคุมอย่างเคร่งครัดค่า LDL ก็จะกลับมาสูงเหมือนเดิมไหมครับ อาจารย์มีคำแนะนำอย่างไรครับ

กราบขอบคุณอาจารย์ หมอสันต์มากครับ

………………………………………………….

ตอบครับ

     คนไทยเรา โดยเฉพาะคนที่มีอายุระดับสี่ห้าสิบขึ้นไปแล้ว มักมีความเชื่อฝังหัวว่าคนรุ่นใหม่เป็นคนไม่เอาไหน ว่ายากสอนยากหนักไม่เอาเบาไม่สู้ แม้แต่ตัวเองยังเอาตัวเองไม่รอด สู้คนหนุ่มสาวชาวลาว เขมร พม่ารามัญ ไม่ได้เลย คำบ่นเช่นนี้ผมได้รับฟังเป็นประจำจากเพื่อนและคนไข้ที่เป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมบ้าง เป็นซีอีโอ.ของบริษัทใหญ่ๆบ้าง คนเหล่านี้ล้วนมีความเชื่อว่าถ้าคนรุ่นตัวเองตายไปหมดแล้วประเทศไทยจะถึงแก่กาลล่มสลายเพราะคนรุ่นใหม่ไม่มีกึ๋นพอที่จะดูแลชาติและสังคมต่อไปได้ แต่ท่านผู้อ่านลองดูจดหมายฉบับนี้ให้ดีนะครับ คนเขียนมีอายุเพียง 32 ปี ได้รับคำแนะนำโดยไม่เคยเห็นหน้าผมเลย แล้วก็ตั้งใจเอาคำแนะนำไปดูแลตัวเองจนสุขภาพดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและเลิกยาได้ในเวลาเพียง 4 เดือน นั่นเป็นเหตุผลที่ผมหยิบจดหมายนี้มาตอบทั้งๆที่เนื้อหาไม่ได้มีสาระอะไรมากเป็นพิเศษ

     มาตอบจดหมายกันดีกว่า

     1. ถามว่าหลังจากปรับอาหารแล้วทำไม HDL ลดลงด้วยทั้งๆที่ออกกำลังกายเหมือนเดิม ตอบว่าเพราะ HDL เดิมนั้นสูงอยู่ได้เพราะอาหารไขมันอิ่มตัว วงการแพทย์ทราบมานานแล้วว่าถ้าให้กินไขมันอิ่มตัวเช่นน้ำมันหมูน้ำมันมะพร้าว HDL ก็จะสูงขึ้น หรือถ้าให้กินยาเพิ่ม HDL เช่น nicotinic acid ก็จะทำให้ HDL สูงขึ้น แต่ว่าขณะเดียวกันทั้งพวกกินน้ำมันอิ่มตัวและพวกกินยาเพิ่ม HDL กลับตายมากขึ้น ดังนั้นวงการแพทย์จึงไม่สนับสนุนให้กินไขมันอิ่มตัวหรือกินยาเพื่อเพิ่ม HDL ส่วนการออกกำลังกายกับ HDL นั้นส่วนใหญ่มันไม่สัมพันธ์กันดอก วงการแพทย์จึงไม่ได้ใช้ HDL เป็นตัวติดตามดูสุขภาพ แค่ใช้เป็นตัวพยากรณ์โรคว่าถ้ามันสูงก็ดี มันต่ำก็ช่างมัน

     2. ถามเรื่องกังวลค่า Triglyceride ที่สูงขึ้นจาก 56 เป็น 67 ตอบแยกเป็นสามประเด็นนะ

     ประเด็นที่ 1. คอนเซ็พท์เกี่ยวกับแล็บคือเรากำหนดช่วงค่าปกติ (normal range) ออกมาจากการตัดเคิร์ฟข้อมูลสถิติ มีความหมายว่าคนส่วนใหญ่ (80%) เขาได้ค่าอยู่ในพิสัยนั้น เช่น ไตรกลีเซอไรด์ 0-150 เป็นช่วงค่าปกติ การที่ค่าวิ่งอยู่ในพิสัยนี้ไม่มีนัยสำคัญใดๆเลย เพราะมันเป็นค่าปกติ การไปใส่ใจกังวงทั้งๆที่ค่าวิ่งอยู่ในพิสัยปกติเป็นความบ้าชนิดหนึ่งของคนเรา ซึ่งผมเองก็ไม่รู้จะแก้อย่างไร

    ประเด็นที่ 2. แม้ในคนที่ผลแล็บผิดปกติ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดอาเพทเหตุร้ายเพราะความผิดปกติของแล็บนั้น เพราะมันเป็นการตัดเอาคนส่วนน้อย (20%) ทีี่มีผลตรวจไม่เหมือนชาวบ้านเขาออกมาตั้งชื่อว่าผิดปกติ มันเป็นเพียงสิ่งบ่งชี้ชวนให้ดูลึกลงไปในรายละเอียดของร่างกายว่ามีอะไรต้องปรับปรุงแก้ไขบ้างในแง่ของการกินการใช้ชีวิต เพราะความเปลี่ยนแปลงใดๆในร่างกายนี้ล้วนเป็นการประชุมแห่งเหตุ ไม่ใช่เกิดจากเหตุใดเหตุหนึ่งเพียงเหตุเดียว

     ประเด็นที่ 3. ไตรกลีเซอไรด์ไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงอิสระของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่มันเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งความเสี่ยงจะมากอย่างมีนัยสำคัญถ้าไตรกลีเซอไรด์สูงเกิน 1000 ขึ้นไป วงการแพทย์ (NCEP) ตั้งต้นรักษาไตรกลีเซอไรด์สูงที่หากสูงเกิน 500 แต่หลักฐานวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าไตรกลีเซอไรด์ต่ำกว่า 1000 มก./ดล.นั้นไม่มีนัยสำคัญ ตัวผมเองจึงจะไม่ใช่ยารักษาถ้าไตรกลีเซอไรด์ไม่เกิน 1000

      3. ถามเรื่องค่าเอ็นไซม์ของตับ SGOT, SGPT ที่ลดมาแต่ยังสูงเกินค่าปกติ ตอบว่าการประเมินค่าแล็บให้ให้ความสำคัญกับแนวโน้ม (trend) การที่ SGOT ลดลงจาก 73 เป็น 53 และ SGPT ลดลงจาก 137 เป็น 62 เป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น ให้ตีความแนวโน้มนี้โดยเทียบเคียงกับตัวชี้วัดอื่นๆ หมายความว่ามันสอดคล้องกับการที่ไขมันในเลือดลดลง จึงวินิจฉัยแบบเดาเอาก่อนว่าเดิมมันสูงขึ้นเพราะตับอักเสบจากไขมันแทรกตับ การจัดการเมื่อเห็นว่าแนวโน้มมันดีก็คือทำการรักษาแบบนี้ต่อไป มันก็จะค่อยๆลงมาเอง ส่วนยากินซึ่งทุกชนิดล้วนมีผลต่อตับได้นั้น ในกรณีของคุณนี้่หลักฐานไม่ได้บ่งชี้ว่ายาเป็นเหตุ เพราะเดิมไม่กินยาแต่ตับอักเสบมาก พอกินยาตับอักเสบลดลง แสดงว่างานนี้พิษของยาไม่เกี่ยว

     4. ถามว่าการควบคุมอาหารแบบนี้ไม่เข้ากับงานอาชีพจะทำไงดี ขอแยกตอบเป็นสองประเด็น คือ

     ประเด็นที่ 1. อาชีพอะไรที่บังคับให้คุณต้องทำลายสุขภาพตัวเอง ผมแนะนำว่าให้คุณเปลี่ยนอาชีพเสีย ถ้ามีนายจ้างที่บังคับให้คุณต้องทำลายสุขภาพตัวคุณเองเพื่อเขา ผมแนะนำว่าคุณเลิกเป็นลูกน้องของเขาเสีย ถ้าตัวคุณเองอยากได้โน่นอย่างได้นี่ที่ทำให้คุณต้องบังคับตัวเองให้ทำงานมากเกินไปจนสุขภาพคุณเสีย ให้คุณทิ้งความอยากนั้นเสีย หันมาพอใจแค่กับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถ้าหางานใดๆที่เอื้อให้คุณมีสุขภาพดีทำไม่ได้เลย คุณไปบวชพระเสียยังจะดีกว่า เพราะการบวชเป็นพระหากคุณตั้งใจทำตามคำสอนพระพุทธเจ้า คุณมีสุขภาพดีแน่นอนทั้งสุขกายและสุขภาพจิต

     ประเด็นที่ 2. จริงหรืือเปล่าที่ว่าการดูแลสุขภาพทำให้ทำงานไม่ได้ ผมมีคนไข้จำนวนมากที่คิดแบบนี้เมื่อเริ่มต้นดูแลตัวเอง หลายคนเป็นเจ้าของบริษัทที่มีลูกน้องเป็นร้อยเป็นพัน แต่เอาเข้าจริงๆปรากฎว่าคนเหล่านี้กลายเป็นความบันดาลใจให้ผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งเจ้านาย ลูกน้อง ลูกค้า ได้ติดเชื้ออยากมีสุขภาพดีจากเขาไปด้วยโดยเขาไม่รู้ตัว คนไข้คนหนึ่งบอกว่าวันหนึ่งเขาตัดสินใจพาลูกค้าต่างชาติไปกินอาหารสุขภาพที่มีแต่ผักหญ้าและปรุงแบบไม่ผัดไม่ทอดแทนโต๊ะจีนแบบเต็มยศ ปรากฎว่าลูกค้าชอบมากและบอกว่าไม่อยากกินโต๊ะจีนมาตั้งนานแล้วแต่ไม่กล้าแอะเพราะกลัวจะเสียมารยาท เป็นงั้นไป ดังนั้นให้คุณมองจากหลายๆมุม แล้วใช้ความสำเร็จของคุณช่วยสร้างความบันดาลใจให้คนอื่นผ่านการทำงานร่วมกัน

     5. ถามว่าหากไม่ควบคุมอาหารเคร่งครัด จะกลับมาเหมือนเดิมไหม ตอบว่าก็กลับมาเหมือนเดิมแน่นอนสิครับ การดูแลสุขภาพก็เหมือนการฝึกสติปฏิบัติธรรม คุณไปเข้าค่ายปฏิบัติธรรมทำตัวดีปล่อยวางเจ็ดวันเจ็ดคืนแต่พอกลับบ้านคุณก็ยังทำตัวเป็นคนขี้อิจฉาตาร้อนเข้าที่ไหนวงแตกที่นั่นเหมือนเดิม มันจะมีประโยชน์อะไร คุณต้องทำไปจนมันกลายเป็นวิถีชีิวิตปกติของคุณ จึงจะเป็นการบรรลุความสำเร็จอย่างแท้จริง อะไรที่ครึ่งๆกลางๆมันจะตกกลับมาที่เดิมได้เสมอถ้าคุณเผลอ

     6. ผมสังเกตว่าคุณยังไม่มีภูมิคุ้มกันตับอักเสบไวรัสบี. (Anti HBs = neg) แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี.เสียด้วยครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์