Latest

ปวดหัวไมเกรนเป็นประจำ ทำไงดี

สวัสดีค่ะลุงหมอ
     วันนี้หนูเขียนมาขอคำแนะนำลุงหมอค่ะ หนูปวดหัวบ่อยมากค่ะ เคยไปหาหมอแล้วค่ะ หมอบอกเป็นไมเกรน ให้ยาไอบูโพรเฟนมากิน มันก้อดีขึ้นค่ะ ทีนี้พอปวดก้อกินอีก กินเรื่อยมา เรียกได้ว่าชีวิตอยู่กับยาแก้ปวดมากๆค่ะ ยิ่งช่วงหลังๆปวดบ่อยขึ้นก้อกินเกือบทุกวัน ยิ่งถ้าช่วงไหนที่ใกล้เป็นประจำเดือน หรือหลังหมดประจำเดือนนี่คืออัดยาแก้ปวดกันแบบสุดๆค่ะ ปวดหัวหนักมาก ยาที่กิน ก้อจะเป็นไอบูโพรเฟน แล้วก้อโทฟาโก้ เป็นหลักค่ะ กินมานานมากแล้วค่ะ หลังๆ ปวดหัวเกือบทุกวันค่ะ กินยาก้อไม่ค่อยเบาแล้วค่ะ ทรมานมาก ทุกวันนี้พอมันมีอาการเหมือนจะปวด หนูก้อกินยาแก้ปวดแล้วค่ะ หนูอยากเลิกกินยาแก้ปวดค่ะ แต่หนูกลัวปวดหัว ลุงหมอมีคำแนะนำบ้างไหมคะ
ขอบคุณลุงหมอล่วงหน้านะคะ
ส่งจาก Outlook

……………………………………………

ตอบครับ

     ประเด็นที่ 1. อาการปวดหัวมีหลายชนิด ไหนๆก็พูดถึงปวดหัวแล้ว ขอจะระไนให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นทราบด้วยเสียเลยว่าปวดหัวมีทั้งชนิดหาสาเหตุและหาสาเหตุไม่พบ ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดหาสาเหตุไม่พบ เฉพาะพวกหาสาเหตุไม่พบนี้ยังแยกย่อยไปเป็น

     1. ปวดหัวแบบกล้ามเนื้อตึง (tension headache) มักปวดระดับน้อยถึงปานกลาง ไม่มีคลื่นไส้อาเจียน ไม่มีอาการของระบบประสาท ไม่เกี่ยวกับการออกแรงหรือเคลื่อนไหว มักสัมพันธ์กับความเครียด อดนอน หิว ใช้ตามาก หรือเมื่อตำแหน่งศีรษะอยู่ผิดที่ การรักษาคือนอนให้พอ ลดการใช้สายตาลง ออกกำลังกายให้หายเครียด ถ้าปวดเมื่อยแถวคอ สาหลังหูก็บีบๆนวด ไม่จำเป็นต้องใช้ยา แต่ถ้าอยากใช้ยาก็ใช้แค่พาราเซ็ตตามอลครั้งละ 500-1000 มก. หรือแอสไพรินครั้งละ 300-600 มก. ก็พอ

     2. ปวดหัวแบบไมเกรน (Migraine) เป็นการปวดแบบตึ๊บๆ (vascular headache) ปวดครั้งหนึ่งกินเวลา 4-72 ชม. ถ้ามีอาการนำ (aura) ที่เกิดจากการเสียการทำงานของระบบประสาทเป็นการชั่วคราวเช่นเห็นแสงสีวูบวาบ เรียกว่า classic migraine ถ้าไม่มีอาการนำเรียกว่า common migraine มักคลื่นไส้อาเจียน มักเป็นข้างเดียว มักเป็นกรรมพันธุ์ มักมีอาการแพ้แสง นอนไม่หลับ และซึมเศร้า ร่วมด้วย

     3. ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster headache) เป็นการปวดรุนแรงเฉพาะบริเวณที่เลี้ยงโดยประสาทสมองคู่ที่ห้า (trigeminal nerve) มักเป็นที่หลังลูกตาหรือที่เบ้าตา ร่วมกับมีอาการจากการทำงานของเส้นประสาทอัตโนมัติเช่นน้ำมูกน้ำตาไหล หรือเหงื่อหน้าออก หรือตาแดง หรือหนังตาบวม หรือหนังตาตก โดยที่เป็นอยู่ซีกเดียว มักเป็นมากจนลุกลี้ลุกลน อยู่ไม่สุข ถ้ายาธรรมดาเอาไม่อยู่ การรักษาอาจต้องใช้ยาแรง ไปหาหมอดีกว่า

     ส่วนพวกปวดหัวกลุ่มที่มีสาเหตุ ยังแยกย่อยออกเป็นสองพวกคือ พวกสาเหตุอยู่นอกสมอง เช่นตา หู โพรงไซนัส เป็นต้น และพวกสาเหตุอยู่ในสมอง เช่น หลอดเลือดโป่งพอง หลอดเลือดแตก ลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด เนื้องอกสมอง เป็นต้น

     ประเด็นที่ 2. คนขี้ปวดหัว หมายถึงคนที่ชอบปวดหัวทุกคน ต้องรู้วิธีวินิจฉัยตัวเองว่าการปวดหัวครั้งนี้ซีเรียสหรือเปล่า ก็เช็คง่ายๆก่อนว่ามี “สัญญาณร้าย” อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้หรือเปล่า

     1. ปวดแบบสายฟ้าฟาด (thunderclap) เร็ว แรง ทันที ถึงขีดสุดในเวลาไม่เกิน 5 นาที หรือปวดจนปลุกให้ตื่นขึ้น หรือปวดแบบไม่เคยเป็นมาก่อน

      2. ปวดศีรษะครั้งแรกในคนไข้อายุมากเกิน 50 ปี หรือคนไข้เอดส์ หรือคนไข้มะเร็ง

     3. ลักษณะการปวดปลี่ยนไปจากที่เคยเป็น รวมถึงความถี่ และอาการร่วม

     4. มีอาการและอาการแสดงของระบบประสาทร่วม รวมถึง การมองเห็นผิดปกติ หรือคอแข็ง หรืออาการไม่เฉพาะที่ (non-focal) เช่น เสียความจำ

     5. มีข้อมูลส่อว่าเป็นโรคระดับทั่วร่างกาย (systemic disease) เช่น เป็นไข้ ความดันเลือดสูง น้ำหนักลด เป็นต้น

     ถ้ามีสัญญาณร้ายเหล่านี้ ก็แจ้นไปหาหมอได้ เพราะถ้าช้าอาจตายได้

     ประเด็นที่ 3. คุณเป็นไมเกรนประจำโดยไม่มีสัญญาณร้ายทั้งห้าข้างต้น แต่มันปวดประจำจะทำไงดี ตอบว่าวิธีรักษาไมเกรนต่อไปนี้เป็นวิธีที่อาจอยู่นอกเหนือหลักวิชาแพทย์ไปบ้างนิดหน่อยนะ คือผมแนะนำว่าคุณจะต้องปรับการใช้ชีวิตของคุณไปอย่างสิ้นเชิง จำไว้ว่าวิถีชีวิตแบบเดิมทำให้คุณเป็นไมเกรนเรื้อรัง ถ้าคุณยังทู่ซี้ใช้ชีวิตแบบเดิม คุณก็จะปวดหัวแบบเดิมไปทั้งชาติ ดังนั้นคุณต้องปรับวิธีใช้ชีวิตไปอย่างสิ้นเชิงดังนี้

     1. จัดเวลาดูแลตัวเองวันละหนึ่งชั่วโมง ปิดโทรศัพท์ งดทีวีหรือดูหน้าจอทุกชนิด ใช้เวลานี้ดูแลตัวเองเท่านั้น จะเป็นการออกกำลังกาย รำมวยจีน โยคะ นั่งสมาธิ หรือนั่งอยู่เฉยๆในธรรมชาติที่เงียบๆก็ได้

     2. ต้องออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้ถึงระดับหนักพอควร คือหอบแฮ่กๆจนร้องเพลงไม่ได้ ครั้งละอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ทุกวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 5-6 วัน เพราะการออกกำลังกายแบบแอโรบิก จะทำให้เกิดสารเอ็นดอร์ฟินขึ้นในร่างกาย ซึ่งจะรักษาอาการปวดหัวได้

     3. ต้องปรับอาหารด้วย คือทานอาหารที่มีพืชแยะๆ ในรูปแบบที่สดๆ ไม่หมักดองหรือเก็บไว้นาน พืชที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ลดการอักเสบได้ดีเช่น ผักสวนครัว ขมิ้นชัน แฟลกซีด ก็ควรหามาทานบ่อยๆ หลึกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่กระตุ้นระบบประสาทกลาง เช่นแอลกอฮอล์ กาแฟ หลีกเลี่ยงยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทกลางทุกชนิด รวมทั้งยาคลายกังวล ยาต้านซึมเศร้า ยานอนหลับ

     4. ข้อนี้เป็นไฮไลท์นะ คือทุกเวลานาทีในชีวิตประจำวันให้หัดวางความคิดและผ่อนคลายตัวเอง โดยต้องหัดเทคนิคพื้นฐานสองเท็คนิคนี้บ่อยๆ คือ

     (1) เทคนิคลาดตระเวณร่างกาย (body scan) โดยหายใจเข้าลึกๆหายใจออกช้าๆแล้วลาดตระเวณความสนใจไปบนผิวหนังของร่างกายจากหัวจรดเท้า มีความรู้สึกอะไรบนผิวหนัง (เช่น เหน็บ ชา เจ็บ คัน อุ่น วูบวาบ ขนลุก) ก็รับรู้ ความรู้สึกที่รับรู้ได้จากการลาดตระเวณร่างกายนี้เรียกว่า “ปิติ” อย่าไปแปลคำนี้นะ เพราะมันใช้ได้ในหลายความหมาย ในที่นี้ผมหมายถึงความรู้สึกที่รับรู้ได้บนร่างกายเท่านั้น

     (2) เทคนิคผ่อนคลายร่างกาย (muscle relaxation) โดยหายใจเข้าลึกๆหายใจออกช้าๆพร้อมกับสั่งให้กล้ามเนื้อทุกมัดบนร่างกายผ่อนคลายตั้งแต่หัวจรดเท้า โดยเฉพาะที่หน้านั้นให้ใส่ใจสั่งให้ผ่อนคลายเป็นพิเศษ คลายหน้าผาก และยิ้มที่มุมปากนิดๆอยู่คนเดียว หรือจะใช้วิธีหยิบกระจกแต่งหน้าขึ้นมาส่องแล้วยิ้มให้ตัวเองในกระจกก็ได้ ผลจากการใช้เทคนิคนี้จะทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย เรียกว่า “สุข” 

     ทั้งวันคุณจะต้องทำให้ตัวเองมี “ปิติ” และ “สุข” อยู่ทั้งวัน แล้วสมาธิจะเกิดขึ้น ระบบประสาทอัตโนมัติของคุณจะคลายตัว อาการปวดหัวซึ่งเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติบีบหลอดเลือดก็จะหายไป

     5. เมื่อผ่อนคลายร่างกายได้จนจิตเริ่มมีสมาธิไม่ไปจมอยู่ในความคิดลบๆทั้งหลายแล้ว เวลาปวดหัวขึ้นมา ให้ฝึกรับรู้อาการปวดหัวแบบยอมรับ ยอมแพ้ ไม่ต่อต้าน ไม่ขับไล่ คือลาดตระเวณความรู้สึกไปรอบๆบริเวณศีรษะที่ปวด ทำความคุ้นเคยด้วยความสนใจอยากรู้อยากเห็น เมื่อคุ้นเคยแล้วก็ให้ชะแว้บเอาความสนใจเข้าไปนั่งอยู่ใจกลางตรงที่ปวดแบบนั่งอยู่ด้วยเป็นเพื่อนกัน หายใจช้าๆตั้งใจรับรู้พลังงานความร้อนแรงของอาการปวด ในที่สุดพลังงานนั้นจะกลายเป็นพลังงานที่มาเติมเต็มชีวิตให้คุณ แล้วคุณจะขอบคุณไมเกรนที่มาทำให้ชีวิตคุณมีพลังมากขึ้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์