Latest

ทำอย่างไรจึงจะไม่ “เหวี่ยง” ใส่คนใกล้ชิด

เรียน คุณหมอสันต์
     อาการไบโพล่า สามารถรักษาอย่างไรได้บ้างคะ เนื่องจากหนูสังเกตุตัวเองและคิดว่าเป็นอาการนี้เช่นเดียวกับคุณพ่อค่ะ คือ ชอบทำอะไรตลอดเวลา ชอบคิดนู่นคิดนี่ และหากใครทำให้หงุดหงิด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนใกล้ชิด แล้วเราก็จะเหวี่ยงใส่ ซึ่งคุณพ่อเป็นหนักมากกับคุณแม่ 30 ปีที่ผ่านมา ทะเลาะกันมาตลอด อาการหนัก ถึง ขั้น ถือปืน เอาปืนมาวาง คุณพ่อไม่ฟังธรรมะ ไม่ศึกษาธรรม ส่วนอาการของหนู ก็จะเหวี่ยงเฉพาะกับแฟน ซึ่งก็พยายามศึกษาธรรมะให้เย็นลง แต่บางครั้งก็รู้สึก down แบบ ต้องเอาให้มันแย่ไปถึงที่สุดถึงจะกลับมาได้อยากรบกวนคุณหมอให้ช่วยหน่อยนะคะ
ขอบพระคุณมากค่ะ
   

………………………………………………..

ตอบครับ

     ในแง่ของนิยามทางการแพทย์ (DSM) ไบโพล่าร์ (Bipolar disorder) เป็นชื่อโรคนะครับ ไม่ได้เป็นชื่ออาการ แปลเป็นไทยน่าจะได้ว่าโรคความผิดปกติทางอารมณ์แบบมีช่วงคึกคักบ้าง มีช่วงเศร้าบ้าง แต่ทั้งนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับความผิดปกติแบบคนสองบุคลิก (dissociative identity disorder) อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกัน โรคไบโพล่าร์นี้แบ่งเป็นสองระดับความรุนแรง ส่วนใหญ่จะเป็นระดับเบา เรียกว่า ไบโพล่าร์1 (BP-I) อาการที่เป็นเอกลักษณ์คือมีช่วง “โลว์” คือซึมเศร้ายาวนานสลับกับช่วง “ไฮ” คืออารมณ์ขึ้น หงุดหงิดโมโหง่าย หรือโอ่อ่าร่าเริงผิดสังเกต นอนไม่หลับ พูดน้ำไหลไฟดับ ตัดสินใจอะไรแบบใจเร็วด่วนได้หุนหันพลันแล่นไม่คิดถึงผลได้ผลเสีย มีความคิดแปรปรวนสับสน บางครั้งจับประเด็นไม่ได้ ในระหว่างช่วงไฮกับโลว์นี้ก็มีช่วงปกติที่ทำงานทำการได้ดีไม่มีที่ติอยู่ด้วย

     ระดับหนัก เรียกว่า ไบโพล่าร์ 2 (BP-II) อาการจะมากถึงขั้นมีช่วงซึมเศร้าที่หนักถึงระดับมีผลต่อการงานหรือสังคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์ และจะต้องมีช่วงไฮ หรือช่วงมาเนีย (mania) นานหนึ่งสัปดาห์ขึ้นไปโดยที่ช่วงไฮนี้อย่างน้อยต้องมีอาการสามอย่างในเจ็ดอย่างต่อไปนี้คือ
(1) ทำตัวใหญ่โตโอ่อ่า (grandiosity)
(2) นอนน้อยลง
(3) พูดมากขึ้น
(4)  ความคิดกระเจิง (flight of idea)
(5) สมาธิสั้น
(6) มุ่งมั่นอะไรสักอย่างผิดสังเกต เช่นเรื่องงาน เรื่องบ้าน เรื่องเซ็กซ์
(7) ทำอะไรเพื่อความบันเทิงผิดสังเกตโดยไม่กลัวผลเสียที่จะตามมา

     วงการแพทย์ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ ข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้คือคนไข้จำนวนหนึ่งมีความผิดปกติของยีนที่ตรวจทางห้องแล็บได้แน่ชัด พูดง่ายๆว่าโรคนี้ส่วนหนึ่งมีปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมด้วย ขณะเดียวกันการศึกษาเนื้อสมองของผู้เป็นโรคนี้พบว่าปริมาณเซลสมองในชั้นของ nonpyramidal cell ซึ่งเป็นส่วนควบคุมอารมณ์มีจำนวนลดลง

     การรักษาโรคไบโพล่า ตามสูตรปกติของวงการแพทย์นั้นขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคในระยะไหน และรุนแรงแค่ไหน เช่นถ้าอยู่ในระยะซึมเศร้าและมีความเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงก็ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล เป็นต้น เบาลงมาก็รักษาแบบกลางวันมาอยู่โรงพยาบาลกลางคืนกลับไปนอนบ้าน ถ้าอาการไม่มากก็รักษาแบบคนไข้นอก คือให้ทำงานทำการไปเป็นปกติแล้วมาหาหมอเป็นพักๆ การรักษาแบบคนไข้นอกนี้มีสาระสำคัญสี่อย่างคือ
(1) การให้ยาและเฝ้าติดตามดูว่ากินยาจริงหรือเปล่า เพราะคนไข้มักจะเป็นปฏิปักษ์กับยาด้วยไม่อยากเชื่อว่าตัวเองป่วย หลักฐานวิจัยเปรีียบเทียบในผู้ป่วยพบว่าการใช้ยาทำให้ทุเลาลงเร็วกว่าไม่ใช้
(2) จัดการความเครียด
(3) การสร้างพันธมิตรรอบตัวคนป่วยให้หนุนช่วยให้คนป่วยอยู่ในสังคมได้
(4) การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว ให้เข้าใจโรค เข้าใจว่าประเด็นไหน ยาไหน สถานะการณ์ไหน อันตรายแบบใดที่จะต้องหลีกเลี่ยง เป็นต้น

     ปกติจิตแพทย์จะเป็นผู้ให้การรักษา ผมเข้าใจว่าคุณพ่อคุณแม่ของคุณอยู่ในความดูแลของจิตแพทย์อยู่แล้ว ส่วนตัวคุณเองนั้นหากยังไม่เคยไปพบและปรึกษาจิตแพทย์ ผมแนะนำอย่างหนักแน่นว่าขอให้ปรึกษาจิตแพทย์เถอะเพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

     ในส่วนของการดูแลตัวเอง สำหรับคุณพ่อคุณแม่นั้นปล่อยท่านไปเถอะเพราะท่านมีอายุมากแล้ว ผมอยากจะพูดกับตัวคุณเองมากกว่า ผมพูดจากความเห็นส่วนตัวของผมเองนะ ไม่ใช่หลักวิชา ว่าอาการชอบ “เหวี่ยง” ที่ตัวคุณเองเป็นอยู่นั้นคนทั่วไปจำนวนไม่น้อยเขาก็เป็นกัน ต่างกันแค่มากบ้างน้อยบ้าง คุณอย่าไปโทษว่ามันเป็นเพราะโรค ขอให้มองไปที่รากของปัญหาในฐานะที่เราเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง รากของปัญหาอยู่ที่การไม่สามารถวางความคิดที่เกิดขึ้นมาแล้วลงได้ จึงปล่อยให้ความคิดนั้นวนรอบและขยายตัวใหญ่ขึ้นๆจนต้องไปจบกันที่ความแตกหักในรูปแบบใดแบบหนึ่งจึงจะลงจอดได้ ความคิดเหล่านี้ร้อยทั้งร้อยเป็นความคิดที่ถูกปรุงหรือก่อขึ้นมาจากสำนึกว่าตัวเรานี้เป็นบุคคลสำคัญ

     การจะวางความคิดที่เกิดขึ้นมาแล้วลงไปให้ได้ เราจะต้องถอยกลับไปฝึกกันที่ระดับเบสิก ไม่เกี่ยวอะไรกับธรรมะหรือศาสนาดอกนะ แต่เกี่ยวกับเบสิกของความเป็นคน คุณตั้งใจฟังนะ

     ในมุมมองที่ 1. ชีวิตประกอบด้วยสามส่วน คือ (1) ร่างกาย (2) ความคิด (3) ความรู้ตัว คำว่าความรู้ตัวนี้ผมหมายถึงจิตสำนึกรับรู้ (consciousness) หรือจะพูดอีกอย่างว่าเป็นความตื่น (wakefulness) ก็ได้ ซึ่งก็คือยามที่ใจเราไม่ไปสนใจความคิดใดๆ ไม่คิดอะไร ได้แต่ตื่นตัวและพร้อมรับรู้สิ่งเร้าใดๆที่จะเข้ามาอยู่ ผมจึงจะใช้คำว่า “ความรู้ตัว” หรือ “ความตื่น” คำใดคำหนึ่งนี้สลับกันไป โดยที่ในบรรดาองค์ประกอบทั้งสามของชีวิตนี้ ความรู้ตัวหรือความตื่นนี่แหละคือตัวเราที่แท้จริงถาวร ส่วนร่างกายและความคิดนั้นเป็นเพียงสิ่งชั่วคราว

    ในมุมมองที่ 2. ชีวิตดำรงอยู่ในสองสถานที่ แต่ว่าซ้อนทับกันอยู่ คือ

     ชีวิตส่วนที่เป็น “ความรู้ตัว” หรือ “ความตื่น” นั้นดำรงอยู่ในจักรวาลที่ประกอบขึ้นมาจากคลื่นความสั่นสะเทือน (vibration) โดยไม่มีภาษาหรือรูปร่างใดๆบ่งบอกหรืออ้างถึงคลื่นเหล่านั้นได้ มีแต่ความตื่น รู้ สบายๆ ไม่มีความคิดใดๆ มีแค่นั้น

     ขณะที่ชีวิตในส่วนที่เป็นร่างกายและความคิดนั้น ดำรงอยู่ในโลกที่เกิดจากอายาตนะของร่างกายเรารับเอาคลื่นความสั่นสะเทือน (ในรูปของภาพเสียงสัมผัส) มาแปลงเป็นชื่อที่เรียกกันตามภาษา (names) และรูปร่าง (forms) แล้วส่งเข้ามากระทบใจให้รับรู้ ดังนั้นโลกของความคิดและร่างกายจึงเป็นโลกสมมุติขึ้นชั่วคราวโดยมีความคิดหรือคอนเซ็พท์ที่ว่าตัวเรานี้เป็นบุคคลมีตัวมีตนมีชื่อที่อยู่และสถานะในสังคมเป็นแก่นกลางของโลกสมมุติชั่วคราวนี้ ซึ่งเป็นโลกที่มีแต่การคิด คิด คิด ไม่หยุดหย่อน โดยมีความคิดว่า “ฉันคือบุคคลสำคัญ” เป็นแก่นกลางของความคิดทั้งมวล

     คนปกติมีชีวิตอยู่ในโลกสมมุติชั่วคราวที่ประกอบด้วยการคิด คิด คิด นี้เสีย 99% จะมีโอกาสได้อยู่ในความรู้ตัวที่ปลอดจากความคิดอย่างเก่งก็เพียงสัก 1%

     การจะวางความคิดได้สำเร็จ ก็คือการเข้าใจว่าโลกสมมุติชั่วคราวที่มีความเป็นบุคคลของเราเป็นศูนย์กลางนั้นเป็นโลกปลอม ส่วนความรู้ตัวที่มีสถานะเป็นคลื่นที่ภาษาอธิบายไม่ได้นั้นเป็นของจริง แล้วลงมือย้ายความสนใจ (attention) ของตัวเองกลับไปอยู่กับความรู้ตัวเสีย 99% เหลืออยู่กับความคิดไม่เกิน 1% เมื่อได้ทำอย่างนี้แล้ว ตัวเราก็จะเป็นแค่ความรู้ตัวหรือความตื่น ที่เฝ้ามองเรื่องราวในโลกสมมุติอย่างผู้สังเกต ไม่ได้มุ่นอยู่ในความคิดที่เชื่อว่าเราเป็นบุคคลที่มีตัวตนชื่อที่อยู่ศักดิ์ชั้นในสังคมแต่อย่างใด ชีวิตใหม่ก็จะดำเนินไปอย่างมุ่งแต่การทำหน้าที่โดยไม่มุ่งพอกพูนความเชื่อว่าเราเป็นบุคคลให้เป็นตุเป็นตุยิ่งไปกว่านี้ มันจะเป็นชีวิตที่ปล่อยวาง ตื่นตัว รับรู้ สบายๆ ไม่มีความคิดที่ลบหรือเร่าร้อนเพื่อปกป้องความเป็นบุคคลของเราถึงขึ้นต้องเหวี่ยงใส่ใครๆ

     ภาคปฏิบัติของการวางความคิดแล้วไปอยู่กับความตื่นหรือความรู้ตัวนี้ มีหลายวิธี เช่น

     วิธีที่ 1. วางดื้อๆ เหมือนคุณวางกระบุงตะกร้าลงกับพื้น วางหมายถึงไม่สนใจ ไม่ให้ราคา ไม่ไปคิดต่อยอด

     วิธีที่ 2. ถามตัวเองว่า “ฉันรู้ตัวอยู่หรือเปล่า” แล้วพยายามตอบคำถามในใจ ในความพยายามตอบคำถาม ความสนใจจะถูกดึงกลับมาจากความคิดมาอยู่กับความรู้ตัวโดยอัตโนมัติ

     วิธีที่ 3. ย้ายความสนใจจากความคิดมาจดจ่ออยู่กับร่างกาย (เช่นอยู่กับลมหายใจ หรืออยู่กับความรู้สึกซู่ซ่าบนผิวกาย หรืออยู่กับท่วงท่าการเคลื่อนไหวของร่างกาย) เป็นขั้นที่หนึ่งก่อน เมื่อความคิดหมดแล้วก็ย้ายความสนใจจากร่างกายไปอยู่กับความตื่นหรือความรู้ตัวเป็นขั้นที่สอง

     คุณค่อยๆอ่านคำแนะนำของผมไปนะ ตอนแรกเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างก็ไม่เป็นไร ให้อ่านซ้ำหลายๆครั้ง พอเริ่มเข้าใจครึ่งๆกลางๆแล้วก็ให้ลองทำดู การได้ลองทำ จะทำให้เข้าใจมากขึ้น แล้วในที่สุด คุณก็จะทำได้ มันไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการวางความคิดเพื่อไปอยู่กับความรู้ตัว ก็คือการกลับไปอยู่กับความเป็นปกติของเราที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด ก่อนที่เราจะเรียนรู้ภาษาเสียอีก

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์