ปรึกษาหมอ

ฉีดวัคซีนไข้เลือดออกได้เข็มเดียว จะต้องฉีดต่อไหม

เรียน คุณหมอสันต์ ที่นับถือ
      เนื่องจากดิฉันกับสามีและลูกอายุ 14 ปีและ 12 ปี ได้ฉีดวัคซีนไข้เลือดออกไปแล้ว 1 เข็มก่อนที่จะมีคำแนะนำใหม่จาก WHO ออกมา โดยดิฉันเป็นคนเดียวที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาแล้ว ส่วนอีกสามคนยังไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งในขณะนี้ได้เลยระยะเวลานัดฉีดวัคซีนเข็มที่สองมาเกือบหนึ่งเดือนแล้ว จึงขอรบกวนถามความคิดเห็นของคุณหมอว่าสมควรฉีดเข็มที่สองต่อหรือไม่คะ
ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

……………………………………………………

ตอบครับ

     อ้าว เผลอแป๊บเดียวไข้เลือดออกมาอีกแล้วเหรอ พูดถึงไข้เลือดออกเนี่ยมันเป็นโรคตัวแสบนะครับ แพทย์ไทยรบรากับไข้เลือดออกมาแล้วไม่ต่ำกว่าห้าสิบปี เพื่อนพ้องน้องพี่ต่างเปลืองตัวเปลืองใจเปลืองน้ำหูน้ำตากับมันไปมากมาย ที่ว่าเปลืองน้ำหูน้ำตานั้นหมายความว่าการวิจัยโรคนี้ก็ดีการควบคุมโรคนี้ก็ดีมันซีเรียส ทุกคนก็พยายาม จึงต้องมีการเผลอเหยียบตาปลากันบ้างเป็นธรรมดา แล้วความที่ยุทธจักรของโรคนี้ในอดีตเป็นยุทธจักรของยอดฝีมือฝ่ายหญิงเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องมีน้ำหูน้ำตากันบ้าง ตัวผมเองก็ชอกช้ำกับโรคนี้มาแยะ สมัยผมอยู่บ้านนอกอยู่รพช. หน้าฝนก่อนนอนทุกคืนผมต้องตั้งนาฬิกาปลุกตัวเองทุกสองชั่วโมงเพื่อลุกขึ้นมาราวด์ให้มั่นใจว่าลูกค้าตัวน้อยๆของผมไม่มีใครช็อกไประหว่างที่ผมงีบหลับ แล้วที่อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราชเนี่ยหน้าฝนมันช่างยาว..ว ซะ กว่าจะผ่านฤดูไข้เลือดออกไปได้ผมก็ตาโหล วัคซีนไข้เลือดออกจึงเป็นอะไรที่พวกเราที่เป็นหมอรักษาไข้เลือดออกต่างตั้งตารอ รอมาจนเวลามาถึงแล้วก็มาเจอปัญหาแบบที่ รุ่งเพชร์ แหลมสิงห์ เขาว่า..

     “..เมื่อเดือนสิบเอ็ดน้องให้สัญญา
ชวนพี่มาหาหมั้นขวัญตาในเดือนสิบสอง
พี่เตรียมขันหมาก ทั้งรับปากไว้จะซื้อทอง
แต่ความหวังของพี่มันต้อง พังทลายเหมือนสายฟ้าผ่า
     เพราะว่าเดือนยี่ ได้ข่าวน้องมีแฟนใหม่
โธ่เอ๋ยน้ำใจหนอใจสาวชาวบ้านนา…”

     หิ หิ กลับเข้าเรื่องดีกว่า ก่อนจะตอบคำถาม ขอท้าวความเดิมหน่อยนะ มาจะกล่าวบทไป ถึงท้าวสหัสนัยไตรตรึงษา ความเดิมมีอยู่ว่างานวิจัยวัคซีนไข้เลือดออกซึ่งแพทย์ไทยก็ได้ร่วมวิจัยอยู่ด้วยหลายท่านได้ประสบผลสำเร็จและตีพิมพ์ผลวิจัยในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ ว่างานวิจัยนี้ได้ใช้วัคซีนชนิด CYD-TDV ชื่อการค้าว่า Dengvaxia® ผลิตโดยบริษัท Sanofi Pasteur ฉีดให้กับเด็กอายุ 2-16 ปี  จำนวน 35,146 คน สุ่มตัวอย่างแบ่งเป็นสองพวก พวกหนึ่งฉีดวัคซีนจริง อีกพวกหนึ่งฉีดวัคซีนหลอก ฉีดสามเข็มห่างกันเข็มละหกเดือน ใช้เวลาฉีดรวมหนึ่งปี มีระยะเวลาประเมินความปลอดภัยของวัคซีนสามปี และมีระยะเวลาประเมินประสิทธิผลของวัคซีนสองปีหนึ่งเดือน สรุปผลวิจัยได้ว่าประสิทธิผล (efficacy) ของวัคซีนมีความแตกต่างกันระหว่างเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี และอายุ 9-16 ปี กล่าวคือ เด็กอายุต่่ำกว่า 9 ปีวัคซีนนี้มีประสิทธิผลในการลดการป่วยถึงระดับมีอาการได้ 44.6% ลดการป่วยถึงระดับรับไว้รักษาในรพ. 56.1% ลดการป่วยระดับรุนแรงได้ 44.5%   ขณะที่เด็กอายุ 9-16 ปีวัคซีนนี้มีประสิทธิผลในการลดการป่วยถึงระดับมีอาการได้ 65.6% ลดการป่วยถึงระดับรับไว้รักษาในรพ. 80.8% ลดการป่วยระดับรุนแรงได้ 93.2% ซึ่งยังผลให้วัคซีนได้รับอนุมัติให้ใช้ฉีดให้คนที่อยู่ในดงไข้เลือดออกที่มีอายุระหว่าง 9-45 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีกระดี๊กระด๊าอย่างยิ่ง

     แต่คล้อยหลังได้ไม่นาน บริษัทซาโนฟี่ก็ร่อนจดหมายแจ้งข่าวร้ายว่าผลวิจัยติดตามการใช้วัคซีนพบว่าการฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 9 ปีขึ้นไปที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนการฉีดวัคซีนนั้นพบว่ามีความปลอดภัยและคุ้มค่าแน่นอนเพราะในระหว่างที่ติดตาม 5 ปี ทุกๆ 1000 คนที่ฉีดวัคซีน จะลดการเข้านอนรพ.เพราะโรคนี้ลง 15 คน และลดการเกิดโรคระดับรุนแรงลง 4 คน

     แต่ว่าสำหรับเด็กที่ไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนเลย การนั่งเกาสะดืออยู่เฉยๆไม่ต้องฉีดวัคซีนอาจจะดีกว่า เพราะคนที่ไม่เคยติดเชื้อแต่ได้วัคซีนทุก 1,000 คนจะต้องเข้ารพ.เพราะวัคซีนนี้เสีย 5 คน และเกิดโรครุนแรงเพราะวัคซีนนี้เสีย 2 คน เมื่อเทียบกับคนที่นั่งเกาสะดืออยู่เฉยๆโดยไม่ฉีดวัคซีน

     ท่านฟังแล้วอาจจะงงนะครับ เพราะกลไกการดำเนินของโรคนี้มันมันไม่ใช่แค่เชื้อโรคเข้ามาแล้วฆ่าเชื้อโรคตายแล้วจบข่าว สาระหลักมันไม่ได้อยู่ที่เชื้อโรคตายหรือไม่ตาย มันอยู่ที่ความวอดวายของอวัยวะต่างๆที่เป็นผลจากสงครามระหว่างระบบภูมิคุ้มกันกับตัวเชื้อโรค ดังนั้นความรุนแรงของสงครามเป็นตัวกำหนดความรุนแรงของโรค รายละเอียดอย่าไปพูดถึงเลยนะครับ เพราะเรื่องมันยาว เดี๋ยวเรื่องของเราจะไม่จบ

     เมื่อข้อมูลใหม่เป็นอย่างนี้ องค์การอนามัยโลกจึงปรับคำแนะนำเสียใหม่ว่าก่อนฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกควรคัดกรองด้วยการซักประวัติหรือการตรวจเลือดก่อนว่าใครเคยติดเชื้อมาแล้วบ้าง และเลือกฉีดวัคซีนให้เฉพาะคนที่เคยติดเชื้อมาแล้วเท่านั้น สำหรับคนที่ไม่เคยติดเชื้อก็..ให้นั่งเกาสะดืออยู่เฉยๆไม่ต้องฉีด

     ส่วนคนที่ได้วัคซีนไปบ้างแล้วแต่ยังฉีดไม่ครบ ณ วันนี้ยังไม่มีข้อมูลใดๆมาบอกได้ว่าควรทำอย่างไรดี จึงต้องตัวใครตัวมัน เอ๊ย..ไม่ใช่ จึงแนะนำให้ชั่งน้ำหนักความเสี่ยงและประโยชน์ให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนต่อ ก็แปลว่าตัวใครตัวมันนั่นแหละ ถ้าเป็นตัวหมอสันต์ได้วัคซีนมาครึ่งๆกลางๆก็จะงดฉีดวัคซีนโด้สต่อไปเสียครับ ไม่มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษหรอก แค่หมอสันต์ชอบเกาสะดือ ก็ในเมื่อฉีดวัคซีนครบแล้วชัวร์ว่าจะป่วยมากขึ้นแหงๆ เราฉีดยังไม่ครบก็ดีแล้วนี่ จะทู่ซี้ฉีดไปจนครบทำไมละ ถอยกลับไปนั่งเกาสะดือแบบพวกที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนซะดีกว่า

     กล่าวโดยสรุป คนที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้ว ก็ถือว่าโชคดีที่มีวัคซีนช่วยลดการป่วยด้วยโรคนี้ในวันข้างหน้าลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนคนที่ไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน ก็ต้องป้องกันไข้เลือดออกด้วยการ-ขยันกางมุ้งและคว่ำอ่างคว่ำไหกำจัดลูกน้ำยุงลายกันต่อไป

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. WHO.   Revised SAGE recommendation on use of dengue vaccine 19 April 2018. Accessed at http://www.who.int/immunization/diseases/dengue/revised_SAGE_recommendations_dengue_vaccines_apr2018/en/, on May 15, 2018.

2. Capeding M.R. et.al, Clinical efficacy and safety of a novel tetravalent dengue vaccine in healthy children in Asia: a phase 3, randomised, observer-masked, placebo-controlled trial ; Lancet 2014. 384 : 9951; 358–1365.

3. Villar L, Dayan GH, Arredondo-Garcia JL, Rivera DM, Cunha R, Deseda C et al. Efficacy of a tetravalent dengue vaccine in children in Latin America. N Engl J Med. 2015.
4.  Hadinegoro, Sri Rezeki S., et al. Efficacy and Long-Term Safety of a Dengue Vaccine in Regions of Endemic Disease Integrated Analysis of Efficacy and Interim Long-Term Safety Data for a Dengue Vaccine in Endemic Regions. July 27, 2015DOI: 10.1056/NEJMoa1506223.