Latest

แพทย์รุ่นน้องขออนุญาตปรึกษาเรื่องการทำงานครับ

สวัสดีครับ อ.
ผมติดตามอ่านผลงานของ อ.มาสักระยะหนึ่งแล้ว ขอปรึกษา อ.เรื่องการตัดสินใจเรื่องที่ทำงานครับ
ปัจจุบันกำลังจะจบแพทย์เฉพาะทางต่อยอดในอีก 2-3 เดือนนี้ครับ เป็น free training ปกติเคยทำงานอยู่แต่โรงเรียนแพทย์มาตลอดตั้งแต่เรียนจบ แต่กำลังจะต้องหาที่ทำงานใหม่เนื่องจากที่อยู่เก่าไม่มีตำแหน่งครับ เคยคุยกับที่ รพ.เอกชนใกล้ๆ บ้านไว้ครับ เค้าก็ดูตอบรับเพราะมีตำแหน่งที่ว่างอยู่พอดี แต่ตัดสินใจไม่ถูกครับว่าควรเลือกอยู่ รพ.รัฐบาล หรือ รพ.เอกชน เพราะเคยอ่านบทความข้อเสียของ รพ.เอกชนที่ อ.เคยตอบรุ่นน้องไปก็เลยรู้สึกกังวลครับ แต่ที่อยากอยู่ รพ.เอกชน เนื่องจากใกล้บ้าน และ มีภาระที่ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถน่ะครับ คำถามคือ ข้อดี/ข้อเสียของการอยู่ รพ.เอกชน มีอะไรบ้างครับ จากประสบการณ์ของ อ. และถ้าจะอยู่ รพ.เอกชนยาวไปตลอดช่วงชีวิตการทำงาน อ.ว่ามันเป็นไปได้ไหมครับ ในด้านความมั่นคงต่างๆ ของชีวิตครับ หรือ ควรจะทนๆ ไปสมัครเข้าระบบราชการแล้วค่อยหาเวลามารับ job ตาม รพ.เอกชนดีครับ ในระยะยาว
ขอบคุณสำหรับคำตอบล่วงหน้าครับ อ.

……………………………………

ตอบครับ

     จดหมายคุณหมออ้างถึงคำตอบที่ผมเคยตอบแพทย์ท่านหนึ่งซึ่งถามผมถึงข้อเสียของการเป็นแพทย์รพ.เอกชน (http://visitdrsant.blogspot.com/2017/09/blog-post_24.html) หลังจากนั้นผมเจอหน้าหมอรพ.เอกชนบางท่านก็มักประท้วงผมว่าอาจารย์พูดถึงแต่ข้อเสียไม่เห็นพูดถึงข้อดีของการเป็นหมอเอกชนบ้างเลย อย่างนี้น้องๆก็หนีเอกชนหมด หิ หิ ขอประทานโทษ ก็ตอนนั้นคุณหมอคนนั้นเขาเจาะจงถามถึงข้อเสีย ผมก็ตอบแต่ข้อเสีย พอมีจดหมายของคุณหมอมา อ้า นี่ดีแล้ว คุณหมอถามหาข้อดีเพราะคุณหมออยากไปทำเอกชนเพราะอยู่ใกล้บ้านเดินทางสะดวกและมีหนี้สินรถบ้านต้องผ่อนชำระ จึงเป็นโอกาสที่ผมจะได้พูดถึงข้อดีบ้าง จะได้เจ๊ากันไปกับจดหมายฉบับก่อน

      ตอบว่าข้อดีของการเป็นหมอเอกชนคือ

     1. ได้อยู่ในเมืองใหญ่ เพราะรพ.เอกชนส่วนใหญ่อยู่ในเมืองใหญ่ แล้วมนุษย์โลกสมัยนี้ก็ชอบอยู่ในเมืองใหญ่กันทั้งนั้น แบบว่ายัดกันเข้าไป ยัดกันเข้าไป ส่วนบ้านนอกคอกนานั้นอย่าว่าแต่แพทย์ไม่อยากไปอยู่เลย แม้แต่ชาวไร่ชาวนาทั้งของญี่ปุ่นและของฝรั่งเศสจะหาภรรยาทีหนึ่งต้องลงประกาศแจ้งความทางหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศหลายฉบับกว่าจะหาเมียได้ คือแม้กระทั่งคนทำอาชีพภรรยาซึ่งเป็นจ๊อบที่แทบจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสังคมนอกบ้านเลยยังเกี่ยงไม่อยากไปอยู่บ้านนอกเลย สมัยที่ผมทำงานกับสมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) เพื่อนที่เป็นหมอชาวฝรั่งเศสเล่าว่าชาวนาบางคนลงแจ้งความแล้วได้เมียมาแล้วก็ดีใจจัดงานเลี้ยงเพื่อนบ้านเอิกเกริกว่า โว้ย..ย ข้าหาเมียได้แล้ว แต่จบงานเลี้ยงแล้วศรีภริยาอยู่ในไร่ได้แค่สามวันเธอทนเหงาไม่ไหวก็เผ่นแน่บกลับปารีส โดยที่ฝาละมียังชำระค่าจัดเลี้ยงไม่ทันเสร็จเลย

    2. มีรายได้มาก ข้อนี้เป็นความจริงอย่างมากสำหรับแพทย์ที่เพิ่งฝึกอบรมจบใหม่ๆ หมายความว่ายังไม่ดัง แต่ถ้าดังแล้วหรือแก่ได้ที่แล้วรายได้ก็จะไม่หนีกันเท่าไหร่ระหว่างคนอยู่เอกชนเพียวๆกับคนที่รับราชการบวกกับการขยันวิ่งรอกสามโรงพยาบาลกับอีกสองคลินิก

    3. งานเบากว่า อันนี้หมายความว่า “งาน” หารด้วย “รายได้” นะ คือหากเปรียบเทียบหมอเอกชนที่เอาถ่านกับหมอราชการที่เอาถ่าน หมอราชการทำงานหนักกว่ามาก ส่วนหมอที่ไม่เอาถ่านนั้น หมายความว่าหมอระดับใครจะว่าอย่างไรข้าไม่สน ข้าจะเอาหัวเดินต่างตีนก็เรื่องของข้าใครจะทำไม หมอแบบนั้นไม่ว่าอยู่เอกชนหรือรัฐบาลก็ได้ทำงานเบาทั้งนั้นแหละ 

    4. งานสบายใจกว่าในแง่ที่มีเวลาดูคนไข้มาก ดูได้ละเอียด ได้ใช้ความคิดวินิจฉัยอย่างละเอียดรอบคอบซึ่งเป็นความสุขอย่างยิ่งของการทำอาชีพนี้ ขณะที่งานในภาคราชการ คนไข้มาก เวลามีน้อย แถมคนไข้เป็นโรคสลับซับซ้อนหนักหน่วงกว่า ทำให้บางครั้งต้องตัดสินใจไปแบบรวบรัดเพราะถูกบีบรัดด้วยเวลา ตัดสินใจไปแล้วก็มานั่งไม่สบายใจภายหลัง ซึ่งไม่สนุกเลย

    5. ถ้าเป็นหมอหนุ่มหมอสาวที่ยังโสด อยู่เอกชนก็จะได้มีโอกาสเจอเจ้าชายหรือเจ้าหญิงในฝันมากกว่าอยู่ราชการ เพราะคนไข้และญาติคนไข้ในภาคเอกชนมักจะมีระดับฐานะและการศึกษาใกล้เคียงกับหมอ ขณะที่หมอภาคราชการ โดยเฉพาะหมอที่ไปใช้ทุนอยู่ต่างจังหวัด ต้องอยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน สมัยที่ผมยังอยู่ในวัยหนุ่มๆซึ่งก็ชอบเหล่สาวๆกันเป็นธรรมดา รุ่นพี่ของผมคนหนึ่งซึ่งไปประจำอยู่ที่รพ.ยะหา จังหวัดยะลา บอกผมว่า

     “..กูอยู่ไปอยู่ไป เฮ้ย แม้แต่ควายนี่มันก็ยิ้มสวยว่ะ”

     คือพี่เขาหมายความว่าผู้หญิงคนไหนที่ไม่สวย อยู่กับแกนานไปแกก็จะเห็นกลายเป็นคนสวยขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เพราะมันไม่มีคนสวยตัวจริงจะให้ดู

     6. ส่วนลักษณะของผู้ป่วยนั้นถือว่าเจ๊ากันไปไม่มีข้างไหนดีกว่าข้างไหน เพราะมีดีมีเสียไปคนละแบบ กล่าวคือ

     ผู้ป่วยเอกชนมักมีการศึกษาดี มีเงิน สะอาดสะอ้าน มีวัฒนธรรมดี แต่งกายสุภาพเรียบร้อยโอภาปราศัย แต่ขณะเดียวกันก็มีความคาดหวังสูง ไม่ได้เคารพนับถือหมอมาก คือมองหมอว่าเป็นคนธรรมดาที่ประกอบอาชีพหนึ่ง ซึ่งมีพันธะที่จะต้องรับผิดชอบต่องานของตนให้สมก้ับที่รับเงินเขามา และชอบร้องเรียนหรือฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกรณีเห็นว่าหมอขาดความรับผิดชอบ

     ขณะที่คนไข้ภาคราชการนั้น หากไม่นับข้าราชการ ส่วนใหญ่คนไข้จะเป็นคนจน การศึกษาน้อย มอมแมม ส่วนใหญ่เห็นแพทย์เป็นเทวดามาโปรด หวังพึ่งแพทย์แบบสุดจิตสุดใจ เคารพนับถือแพทย์แบบหมดหัวใจ เกิดความผิดพลาดอะไรขึ้นส่วนใหญ่ก็ยอมรับได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีเหมือนกันแต่เป็นส่วนน้อยที่เป็นคนแบบพูดภาษาคนไม่รู้เรื่อง ใจคิดเอาแต่ได้แบบไม่เข้าใจความเป็นจริง เช่นตื๊อหมอจะเอายาแพงๆจะตรวจด้วยวิธีแพงๆทั้งๆที่โรคที่เป็นนั้นมันไม่ต้องใช้ยาหรือการตรวจที่แพงอย่างนั้น บางครั้งก็เมามายไร้สติ เอะอะมะเทิ่ง สามหาวหยาบคาย ถึงชั้นชกต่อยหรือเตะแพทย์ก็มี

     7. ถามว่าถ้าจะอยู่ รพ.เอกชนยาวไปตลอดช่วงชีวิตการทำงาน อ.ว่ามันเป็นไปได้ไหมครับ ในด้านความมั่นคงต่างๆ ของชีวิตครับ ตอบว่า โห.. ทำไมมันจะเป็นไปไม่ได้ละครับ หมอเอกชนที่เขาอยู่เอกชนมาแต่อ้อนแต่ออดจนเกษียณก็มีถมไปผมไม่เห็นมีใครชักดิ้นชักงอตายสักคน

     ในแง่ความมั่นคงของชีวิตมันไม่เกี่ยวกับการอยู่ที่ไหน หรือทำงานกับใคร เอกชนหรือรัฐบาล อ้า.. ตรงนี้สำคัญนะ ตั้งใจฟัง ความมั่นคงของชีวิตจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคุณหมอเข้าใจชีวิตถ่องแท้ลึกซึ้งแล้วเท่านั้น ขอผมพูดตรงนี้หน่อยนะ อาจไม่ใช่ประเด็นที่คุณหมอถามมา แต่ผมอยากจะพูด คือชีวิตนี้มองในแง่องค์ประกอบ มันประกอบขึ้นจาก (1) ร่างกาย (2) ความคิด และ (3) ความตื่นหรือความรู้ตัว ในแง่ของสถานที่อยู่ ทั้งสามส่วนนี้มันแยกกันอยู่ในโลกคนละใบ คือร่างกายกับความคิด อยู่ในโลกของความเป็นบุคคลที่มีสิ่งต่างๆที่เรียกชื่อได้หรือบอกรูปร่างได้เป็นความจริงทางกายภาพ (physical reality) ของโลกใบนั้น โดยมีความคิดที่ว่าตัว “ฉัน” เป็นบุคคลสำคัญนี้เป็นศูนย์กลาง ส่วนความตื่นหรือความรู้ตัวนั้นมันอยู่ในอีกโลกหนึ่งซึ่งเป็นจักรวาลที่ประกอบด้วยคลื่นของการสั่นสะเทือนที่ไม่มีภาษาใดๆไปอธิบายคุณลักษณะของมันได้ บอกได้แต่ว่ามันมีแต่ความตื่น รับรู้ นิ่งๆ สบายๆ เป็นเอกลักษณ์สำคัญ ตราบใดที่คุณหมอยังใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในโลกของความเป็นบุคคล ตราบนั้นความมั่นคงก็จะไม่มี เพราะโลกใบนั้นมันเกิดขึ้นมาจากความคิด มันจะไปมั่นคงได้อย่างไร ไม่ว่าคุณหมอจะทำงานเอกชนหรือราชการ มันก็ยังไม่มั่นคง ต่อเมื่อคุณหมอย้ายจากโลกของความเป็นบุคคลไปอยู่ในโลกของความตื่นได้สำเร็จ นั่นแหละ ความมั่นคงในชีวิตของคุณหมอจึงจะเกิดขึ้น เพราะที่โลกของความตื่น เป็นโลกของผู้สังเกต ทุกอย่างเกิดขึ้นผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ความตื่นเป็นแค่ผู้รับรู้ตามที่มันเป็น ไม่มีได้ไม่มีเสียอะไรกับใคร มันจึงเป็นโลกที่มั่นคง

     ที่ผมพูดอย่างนี้ไม่ใช่จะสอนให้คุณหมอทิ้งหน้าที่ทิ้งการทิ้งงานไม่เอาอะไรแล้วนะ ไม่ใช่อย่างนั้น คือแค่อยากให้คุณหมอเข้าใจว่าการมีชีวิตอยู่ในโลกของความเป็นบุคคลเป็นเพียงการเล่นละคร หรือเล่นเกมส์ อย่างเช่นคุณหมอเล่นเทนนิสกับเพื่อน เล่นนับแต้มกัน พอทั้งสองฝ่ายได้คนละสามลูกแล้วก็ต้องดิวซ์ ต้องลุ้น ว่าเกมส์นี้ใครจะชนะ หากจะเล่นให้สนุก เราก็ต้องจริงจังพอควร ตั้งใจรับลูกเสริฟให้ดี ตาจ้องมองลูกในมือของฝั่งโน้นเขม็ง สั่นแข้งสั่นขาไว้ให้พร้อมขยับได้ทันทีไม่ว่าลูกจะลงทางโฟร์แฮนด์หรือแบ้คแฮนด์ก็โถมเข้าใส่ได้ทันที ต้องซีเรียสพอควร เกมส์จึงจะสนุก แต่ไม่ซีเรียสเกินไป เพราะคุณหมอรู้ว่าแพ้ชนะมันเป็นเพียงแต้มที่นับกันเล่นๆ เดี๋ยวจบเกมส์แล้วเรากับเพื่อนก็จะไปนั่งดื่มอะไรเย็นๆกัน การมองความมั่นคงของชีวิตก็เหมือนกัน ให้คุณหมอเอาแค่ซีเรียสพอควร แต่ไม่ซีเรียสเกินไป เดี๋ยวเราก็ตาย เอ๊ย..ไม่ใช่ เดี๋ยวเราก็ก็จะได้ไปนั่งอยู่ที่ฝั่งของความตื่น สังเกตดูสิ่งที่ผ่านมาและผ่านไปแบบไม่ได้ไม่เสียอะไรด้วยแล้ว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์