Latest

หลักฐานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเวย์โปรตีน (Whey Protein)

เรียนคุณหมอ นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
กระผมได้ติดตามคุณหมอมาได้ประมาณห้าปีแล้วครับ กระผมมีเรื่องอยากถามคุณหมอครับ ผมอายุ40ปี น้ำหนัก65 กก.สูง168 ซม. มีอาชีพขายของอยู่ในห้าง(ธุรกิจส่วนตัว)  ตอนนี้ผมออกกำลังกายอาทิตย์ล่ะสามวันครับ จันทร์ พุธ ศุกร์ โดยการเล่นเวทเทรนนิ่ง เล่นมาได้ประมาณห้าปีแล้วครับ คือตั้งแต่เล่นเวทเทรนนิงผมได้กินเวย์โปรตีนควบคู่ไปด้วยครับ  กินเฉพาะวันที่ออกกำลังกาย คือ จันทร์ พุธ ศุกร์ โดยการกินก่อนออกกำลังกายประมาณสามสิบนาที1ช้อน(ที่แถมมากับเวย์โปรตีน)ใด้โปรตีนประมาณ25 มิลลิกรัมกินตั้งแต่เริ่มเล่นเวทจนถึงตอนนี้ก็ห้าปีแล้วกระผมก็เลยอยากจะถามคุณหมอว่าการกินเวย์โปรตีนเป็นระยะเวลานานๆจะมีผลต่อตับ ต่อไตมั้ยครับแล้วมีงานวิจัยเกี่ยวกับการกินเวย์โปรตีนมั้ยครับ
ขอบพระคุณคุณหมอครับ

……………………………

ตอบครับ

     ก่อนจะตอบคำถามขอพูดให้ท่านผู้อ่านท่านอื่นรู้จักเวย์โปรตีนก่อนนะ ว่ามันคือนมวัวนี่แหละ เวลาเอานมวัวไปทำเนยส่วนเป็นฝาแข็งๆเขาแยกไปเป็นเนย ส่วนเป็นน้ำแยกออกมาเรียกว่าเวย์ (Whey) แล้วเอาน้ำนี้ฉีดเข้าไปในห้องอุณหภูมิสูงความดันต่ำเพื่อไล่เอาน้ำออกเหลือเป็นผง นั่นแหละคือเวย์โปรตีนชนิดที่เรียกว่า whey concentrate ซึ่งในนั้นจะมีโปรตีนจริงประมาณ 30-80% ที่เหลือเป็นน้ำตาลแลคโต้สและไขมัน จึงมีผู้แยกเอาน้ำตาลกับไขมันออกไป กลายเป็นเวย์โปรตีนชนิด whey isolate ซึ่งจะมีโปรตีนสูงระดับ 90% ขึ้นไป บางทีแบบหลังนี้ยังเพิ่มการต่อยโมเลกุลโปรตีนให้เป็นสายโซ่เป็พไตด์ที่เล็กลงเพื่อให้การย่อยในทางเดินอาหารทำได้ง่ายขึ้น เรียกว่า whey hydrolysate แต่ผลของเวย์ทั้งสามชนิดต่อร่างกาย ต่อการเกิดกล้าม หรือต่อสุขภาพนั้น ไม่มีหลักฐานว่าแตกต่างกัน

     เอาละคราวนี้มาตอบคำถาม ผมใช้วิธีเล่าไปทีละประเด็นก็แล้วกันนะ คิดประเด็นอะไรได้ก็จะเล่า เพราะเดี๋ยวนี้แก่แล้วผมไม่ชอบวาระการประชุม ชอบแบบคิดอะไรได้ก็เขียนมากกว่า

     ประเด็นที่ 1. เวย์โปรตีนทำให้กล้ามขึ้นจริงหรือไม่

     จริงครับ

     หลักฐานที่ดีที่สุดคือการวิเคราะห์งานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) 14 งานวิจัย รวมกลุ่มตัวอย่าง 626 คน เมื่อเลือกเฉพาะงานวิจัยที่ทำกับคนเล่นกล้ามโดยใช้มวลกล้ามเนื้อ (lean body mass – LBM) เป็นตัวชี้วัด พบว่ากลุ่มที่กินเวย์จริงมีมวลกล้ามเนื้อเพิ่มมากกว่ากว่ากลุ่มกินเวย์หลอก 2.24 กก.
     อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นงานวิจัยในคนวัยผู้ใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่ยังหนุ่มยังสาว ไม่มีแม้แต่งานวิจัยเดียวที่ทำในคนแก่อายุหกสิบขึ้นไป ดังนั้นหากท่านผู้อ่านที่เป็นผู้สูงอายุกินเวย์แล้วกล้ามจะขึ้นไม่ขึ้นต้องลุ้นเอาเอง และหากไม่ขึ้นอย่ามาโทษหมอสันต์นะ
    และอีกอย่างหนึ่ง งานวิจัยที่ว่ากล้ามขึ้นเขาทำในคนเล่นกล้ามนะทั้งหมดนะ ทั้งกลุ่มควบคุมและกลุ่มกินเวย์เล่นกล้ามทุกคน ไม่ใช่กินเวย์แล้วนั่งดูทีวี.ไปแล้วอธิษฐานว่ากล้ามจะขึ้น

     ประเด็นที่ 2. เวย์โปรตีนใช้ลดน้ำหนักได้จริงหรือไม่

     จริงครับ

     แต่ต้องกินเวย์แทนอาหารที่ให้แคลอรี่อื่นๆนะ การวิเคราะห์งานวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ 14 รายการข้างต้น หากเจาะเฉพาะการใช้เวย์ลดน้ำหนักตัวโดยวิธีกินเวย์เป็นอาหารทดแทนแหล่งแคลอรี่อื่น (whey protein replacement – WPR) พบว่าพวกกินเวย์จริงลดน้ำหนักตัวได้มากกว่าพวกที่กินเวย์หลอก 4.2 กก. และลดน้ำหนักไขมัน (body fat) ได้มากกว่า 3.74 กก.

     ประเด็นที่ 3. กินเวย์โปรตีนแล้วปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง ท้องเสีย จริงหรือไม่

     จริงในบางคน

     เพราะเวย์ก็คือนม ซึ่งย่อมจะต้องมีน้ำตาลในนมที่ชื่อแลคโต้ส (ยกเว้นเวย์ชนิด isolate) ซึ่งคนเอเซียส่วนใหญ่ไม่มีเอ็นไซม์ย่อยน้ำตาลชนิดนี้ จึงต้องท้องอืดท้องร่วงไปตามระเบียบ ถ้าสู้ไม่ไหวก็ควรเปลี่ยนไปใช้เวย์ชนิด isolate หรือ hydrolysate ถ้ายังทนไม่ไหวอีกก็ควรเปลี่ยนไปใช้โปรตีนถั่วเหลืองหรือโปรตีนเฮมพ์ (hemp protein) แทน 
     ความที่เวย์เป็นนมวัว คนเรานี้นอกจากจะขาดแลคเตสที่จะย่อยแลคโต้สแล้ว มีบางคนยังแพ้โปรตีนจากนมวัวด้วย ใครที่แพ้ก็ต้องห้ามกิน การแพ้ก็มีตั้งแต่เป็นลมพิษบวมเห่อหรือถ้ามากก็ถึงช็อคได้เหมือนกัน
   
     ประเด็นที่ 4. กินเวย์โปรตีนไปนานๆแล้วไตจะพัง จริงไหม

     เอ..ในคนปกติผมยังไม่เคยเห็นหลักฐานว่าเวย์จะทำให้ไตเสียการทำงานนะครับ ใครมีหลักฐานอย่างนั้นช่วยส่งมาให้ผมดูเอาบุญด้วย นี่ไม่นับคนที่เป็นโรคไตเรื้ัอรังอยู่แล้วนะ คนกลุ่มนั้น (หมายถึงคนเป็นโรคไตเรื้อรัง) การจำกัดโปรตีนไม่ให้มากเกินเป็นสิ่งจำเป็น และงานวิจัยติดตามดูชนิดของอาหารกับอัตราตายในเวลา 8 ปี พบว่าคนเป็นโรคไตเรื้อรังหากกินอาหารเนื้อสัตว์จะตายเร็วกว่ากินอาหารมังสะวิรัติห้าเท่า ดังนั้นสำหรับคนเป็นโรคไตเรื้อรัง หากจะกินโปรตีนผมแนะนำให้ใช้โปรตีนจากพืชแทน ส่วนในคนที่ไตปกติ การกินเวย์ไม่มีหลักฐานว่าทำให้ไตพังหรอกครับ

     ประเด็นที่ 5. กินเวย์โปรตีนแล้วจะทำให้ตับเสียหาย จริงไหม

      ไม่จริง

     นานมาแล้ว สักสิบปีได้ ผมเคยอ่านรายงานผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งเป็นนักกล้ามที่กินเวย์โปรตีนกินวิตามินอาหารเสริมเพียบรวมทั้งอาหารเสริมที่มีครีเอทีนอยู่ด้วย แล้วป่วยเป็นตับอักเสบรุนแรงโดยที่ไม่มีสาเหตุอื่นที่จะทำให้ตับอักเสบได้เลย พอให้หยุดกินเวย์และวิตามินอาหารเสริมทุกชนิดตับอักเสบก็หาย แต่ว่าหลักฐานแค่รายงานผู้ป่วยคนเดียวอย่างนี้จะเอามาสรุปเป็นตุเป็นตะว่าเวย์ทำให้ตับอักเสบมันยังไม่ได้ มันอาจจะเกิดจากวิตามินอาหารเสริมตัวอื่นก็ได้ แถมในรายงานนี้ไม่ได้บอกด้วยว่าเจ้านักกล้ามคนนั้นใช้ฮอร์โมนเพศชายด้วยหรือเปล่า เพราะเป็นที่รู้กันดีในวงการแพทย์ว่าฮอร์โมนเพศชายทำให้ตับอักเสบได้ สรุปว่าหลักฐานที่มีถึง ณ ขณะนี้ถือว่ายังไม่มีหลักฐานว่าเวย์โปรตีนทำให้ตับของคนทั่วไปเสียหายครับ แต่ถ้าเป็นโรคตับเรื้อรังอยู่แล้วนั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ เพราะวงการแพทย์รู้ดีแล้วว่าการเผาผลาญโปรตีนจะทำให้เกิดสารพิษตัวหนึ่งซึ่งต้องไปกำจัดที่ตับ คือแอมโมเนีย ถ้าตับไม่ดีเช่นเป็นตับแข็งอยู่แล้วหากกินโปรตีนมากก็ย่อมจะเกิดปัญหาได้

     ประเด็นที่ 6. กินเวย์โปรตีนแล้วจะทำให้กระดูกพรุนจริงไหม

     ไม่ทราบครับ

     ทราบแต่ว่าคนสูงอายุที่กินนมวัวมาตลอดชีวิตเฉลี่ยมากเกินวันละ 2 แก้ว เมื่อแก่ตัวลงแล้วจะเกิดอุบัติการณ์ของกระดูกหักมากกว่าคนที่กินนมวัวเฉลี่ยน้อยกว่าวันละ 2 แก้ว หมายความว่ายิ่งกินนมวัวมาก ยิ่งกระดูกหักง่ายเมื่อแก่ตัวลง กลไกเป็นอย่างไรวงการแพทย์ยังไม่ทราบ ทราบแต่ว่าข้อมูลจริงเป็นอย่างนี้ และเป็นที่มาว่าทำไมรัฐบาลสหรัฐ (USDA) จึงออกคำแนะนำทางโภชนาการว่าไม่ควรดื่มนมเกินวันละ 2-3 แก้ว

     ส่วนการกินเวย์จะทำให้กระดูกพรุนกระดูกหักมากขึ้นหรือไม่ ยังไม่เคยมีข้อมูลจริงในคนที่จะตอบคำถามนี้ได้เลย แถมการเล่นกล้ามก็ยังมีผลให้มวลกระดูกแน่นขึ้นจากการเกิดแรงกระทำต่อกระดูก ทำให้วงการแพทย์ไม่มีข้อมูลเลยว่านักกล้ามจะกระดูกพรุนกระดูกหักมากกว่าคนทั่วไป

    ส่วนข้อมูลในห้องแล็บและการคาดการณ์เอาจากปฏิกริยาทางชีวะเคมีที่เร่ียนรู้จากห้องแล็บว่าการกินโปรตีนมากทำให้เลือดและปัสสาวะเป็นกรดและร่างกายต้องเอาแคลเซียมออกจากกระดูกออกมาลดความเป็นกรดทำให้กระดูกบางกระดูกพรุนนั้น เป็นเพียงหลักฐานระดับต่ำที่ได้จากห้องทดลองและการตรวจระดับแคลเซียมในเลือดและในปัสสาวะ ไม่ใช่หลักฐานว่าเกิดกระดูกพรุนในคนจริงๆ ผมจึงไม่นับว่าเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้ งานวิจัยเชิงระบาดวิทยาในคนที่กินโปรตีนเสริมโครมๆที่ทำกันไปแล้วหลายสิบงานวิจัย ไม่มีแม้แต่งานวิจัยเดียวที่จะบอกว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการกินโปรตีนมากกับการเกิดกระดูกพรุน

     ประเด็นที่ 7. กินเวย์โปรตีนมากแค่ไหนจึงจะพอดี

     งานวิจัยที่ทำที่มหาลัยเบเลอร์ ซึ่งมักถูกอ้างว่าเวย์โปรตีนทำให้กล้ามขึ้นดีนักดีหนานั้น ในงานวิจัยนั้นกลุ่มที่กินเวย์โปรตีนเสริมกินแค่วันละ 20 กรัมเท่านั้นเอง ถ้าดูในฉลากข้างกระป๋องของเวย์โปรตีนจะแนะนำให้ฝรั่งตัวใหญ่กินวันละ 1-2 ช้อนสคู้ป (25-50 กรัม) ขึ้นอยู่กับว่าอาหารปกติมีโปรตีนมากหรือน้อย

     สำหรับคนไทย ผมแนะนำว่าการกินเป็นอาหารเสริมสำหรับคนเล่นกล้าม หากจะกิน ก็แค่วันละช้อน คือประมาณวันละ 20-25 กรัมก็เหลือแหล่แล้ว กินมากกว่านั้นก็รังแต่จะเป็นภาระให้ไตในการขับโปรตีนที่เหลือทิ้ง และเป็นภาระให้ตับในการขับแอมโมเนียทิ้งเปล่าๆ
     ส่วนคนที่ไม่ได้เล่นกล้ามกับเขานั้น ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องกินโปรตีนเป็นอาหารเสริม เพราะคนไทยทุกวันนี้กินโปรตีนมากเกินแบ๊คดอร์ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนกินเนื้อสัตว์หรือกินมังสะวิรัติ ผมไม่เห็นมีใครเป็นโรคขาดโปรตีนสักคน เห็นแต่คนที่ป่่วยจากไขมันเกินอันเป็นผลจากความพยายามจะกินโปรตีนจึงได้ไขมันเป็นของแุถม คำแนะนำของผมนี้อาจยกเว้นก็เฉพาะคนที่มีเหตุให้กินอาหารปกติไม่ได้เท่านั้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Miller PE1, Alexander DD, Perez V. Effects of whey protein and resistance exercise on body composition: a meta-analysis of randomized controlled trials. J Am Coll Nutr. 2014;33(2):163-75. doi: 10.1080/07315724.2013.875365.
2. Chen X, Wei G, Jalili T, Metos J, Giri A, Cho ME, Boucher R, Greene T, Beddhu S.
The Associations of Plant Protein Intake With All-Cause Mortality in CKD.  Am J Kidney Dis. 2016 Mar;67(3):423-30. doi: 10.1053/j.ajkd.2015.10.018.
3. Whitt KN1, Ward SC, Deniz K, Liu L, Odin JA, Qin L. Cholestatic liver injury associated with whey protein and creatine supplements. Semin Liver Dis. 2008 May;28(2):226-31. doi: 10.1055/s-2008-1073122.
3. Solimini R, Rotolo MC, Mastrobattista L, Mortali C, Minutillo A, Pichini S, Pacifici R, Palmi I. Hepatotoxicity associated with illicit use of anabolic androgenic steroids in doping. Eur Rev Med Pharmacol Sci. 2017 Mar; 21(1 Suppl):7-16.

4. Willoughby DS, Stout JR, Wilborn CD. Effects of resistance training and protein plus amino acid supplementation on muscle anabolism, mass, and strength. Amino Acids. 2007;32(4):467-77. Epub 2006 Sep 20.