Latest

หลุดพ้น แบบง่ายๆ อย่างคนไร้ศาสนา (Atheist)

คุณหมอสันต์ที่เคารพ
ผมเป็น Atheist ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า ไม่เชื่อพิธีกรรม ไม่เชื่อคอนเซ็พท์ทางศาสนาใดๆทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม แต่ผมชอบอ่านที่คุณหมอพูดถึงความคิด คอนเซ็พท์ ความเชื่อ และพูดถึงความหลุดพ้น ผมยังติดขัดในศัพท์แสงที่คุณหมอชอบใช้ซึ่งเป็นศัพท์ทางศาสนา ผมไม่เข้าใจความหมาย คุณหมอบอกวิธีปฏิบัติสู่ความหลุดพ้นแบบไม่ต้องเกี่ยวข้องกับศาสนาได้ไหมครับ

……………………………………….

ตอบครับ

     คุณจะมีหรือไม่มีศาสนา ไม่เกี่ยวอะไรกับการที่คุณจะหลุดพ้นไปจากความทุกข์ที่เกิดจากความคิดของคุณหรือไม่ หมายความว่าคุณจะมีหรือไม่มีศาสนา ก็หลุดพ้นจากความทุกข์ที่เกิดจากความคิดได้เท่าเทียมกันกับคนที่เขามีศาสนา

     ในชีวิตนี้ ไม่มีอะไรจะทรงพลังหรือสำคัญยิ่งไปกว่า “ความสนใจ (attention)” ของเราเอง มื่อความสนใจไปอยู่ที่สิ่งไหน สิ่งนั้นจะสำคัญขึ้นมาทันที อะไรที่เราไม่สนใจ นอกจากมันจะไม่มีความสำคัญแล้วมันยังแทบจะราวกับว่าไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยซ้ำ ดังนั้นการจะหลุดพ้น เราจะอาศัยความสนใจนี้แหละ เป็นเครื่องมือ

     ผมจะให้คุณทดลองปฏิบัติกับผมไปทีละขั้น ดังนี้

    ขั้นที่ 1. ให้คุณมองสิ่งทั้งหลายรอบตัว ฟัง สัมผัส มองให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายรอบตัวนอกร่างกายคุณนั้นมันไม่ใช่คุณ มันเป็นสิ่งที่ถูกคุณเฝ้ามอง (the observed) โดยตัวคุณหรือ “ฉัน” เป็นผู้เฝ้ามอง (the observer) แล้วให้คุณมองให้เห็นนะว่าสิ่งนอกตัวคุณนั้นมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่คุณยังอยู่ที่นี่ ในร่างกายนี้ อยู่มาตั้งเกิดแล้ว สิ่งที่อยู่ในตัวฉันนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ดังนั้นสิ่งที่อยู่นอกร่างกายไม่ใช่ฉัน แต่สิ่งที่อยู่ในร่างกายนี้เป็น “ฉัน”

     ขั้นที่ 2. คราวนี้ให้คุณถอยความสนใจจากสิ่งแวดล้อมภายนอกมาสนใจเฉพาะที่ร่างกายของคุณ โดยเฉพาะอวัยวะรับรู้ของคุณเองอันประกอบด้วย ตา หู ผิวหนัง เป็นต้น คุณมองดูอวัยวะรับรู้ของคุณนะ มองดูนี่ผมหมายความว่าให้รับรู้ว่ามีมันอยู่ มันกำลังทำงานอยู่ ไม่จำเป็นต้องเอาตาไปมองจริงๆหรอก ให้คุณมองให้เห็นว่าตาก็ดี หูก็ดี มันไม่ใช่ผู้ดูหรือผู้ฟังหรือผู้สังเกตปรากฎการณ์ภายนอกที่แท้จริงนะ ผู้สังเกตที่แท้จริงคือใจของคุณ ซึ่งอาจจะอยู่ที่ไหนสักแห่งในร่างกายนี้แหละ สมมุติว่าอยู่ในหัวสมองหรืออยู่ในหน้าอกก็ได้ตามถนัด ใจคือผู้สังเกตที่แท้จริง แค่อาศัยตาและหูและผิวหนังเป็นเครื่องมือในการสังเกตเท่านั้น มองให้เห็นว่าอวัยวะรับรู้และร่างกายนี้ไม่ใช่ “ฉัน” หรือผู้สังเกตตัวจริงนะ ใจของคุณต่างหากที่เป็น “ฉัน” หรือเป็นผู้สังเกตตัวจริง ให้คุณลงมือทำจริงๆ จนเห็นจริงตามนี้นะ

    ถึงตอนนี้ให้คุณพูดกับตัวเองดังๆว่า

     “ฉันไม่ใช่ร่างกาย”

     “I am not the body”

     ขั้นที่ 3. คราวนี้คุณถอยความสนใจของคุณถอยร่นจากตา จากหู จากผิวหนังหรือจากร่างกาย ไม่ต้องสนใจร่างกายแล้ว ถอยเข้ามาสู่ภายในยิ่งขึ้น มาสนใจสิ่งที่คุณเรียกว่า “ใจ” เพียงอย่างเดียว สิ่งที่เราเรียกว่าใจนี้ก็คือความคิด (thought) ซึ่งหากจะแยกย่อยออกไปมันก็อาจมาในรูปแบบของอารมณ์ (emotion) และความรู้สึก (feeling) แต่ทั้งหมดนั้นก็คือความคิดนั่นแหละ ให้คุณลองจับเอาตรงที่ใดที่หนึ่งมาเป็นตัวอย่างนะ เอาที่ความรู้สึกหงุดหงิดก็แล้วกัน คุณมีความหงุดหงิดเพราะไม่สบอารมณ์กับเรื่องโน้นเรื่องนี้หรือที่เรียกว่า “นอย” คุณนอยเรื่องอะไรไม่สำคัญนะ สาระของความคิดที่ทำให้คุณหงุดหงิดหรือโกรธไม่สำคัญ แต่ประเด็นอยู่ที่..ความโกรธเป็นเพียงปรากฎการณ์ที่คุณสังเกตดูมันได้

          ตัวความโกรธเป็นความคิด มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มันคือผู้ที่เป็นตัวตนที่แท้จริงของคุณโดยไม่มีใครอยู่เบื้องหลังลึกไปกว่านี้อีกแล้วหรือเปล่า ตั้งใจมองให้ดีนะ ความโกรธเป็นความคิด มันเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสังเกต ตัวมันสังเกตตัวมันไม่ได้หรอก มันไม่ใช่ “ฉัน” ตัวจริง เพราะตัวมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่มีผู้สังเกตอีกผู้หนึ่งแอบสังเกตมันอยู่ ผู้สังเกตผู้นั้นนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง ผู้สังเกตผู้นั้นแหละเป็น “ฉัน” ตัวจริง

     ตรงนี้คุณใจเย็นๆนะ ลองไปกับหลายๆความคิด ลองกับความกลัว ลองกับความคิดฟุ้งสร้าน แยกให้ออกระหว่างความคิด กับ “ฉัน” ที่เป็นผู้สังเกตความคิด นี่เป็นการทดลองสิ่งใหม่นะ

     คุณเคยแต่จมอยู่ในความคิด (thinking a thought)

     แต่ผมกำลังสอนให้คุณสังเกตความคิดของคุณ (aware of a thought) โดยอาศัยความสนใจเป็นเครื่องมือ

     ใจหรือความคิดนี้เปรียบไปก็เป็นเหมือนกายอีกชั้นหนึ่ง จะเรียกว่าเป็นกายชั้นละเอียดหรือ subtle body ก็ได้ แต่ถึงจะละเอียด ก็เป็นสิ่งที่ถูกสังเกตรับรู้โดย “ฉัน” ซึ่งเป็นผู้สังเกตได้ ดังนั้น

     ถึงตอนนี้ให้คุณพูดกับตัวเองดังๆว่า

     “ฉันไม่ใช่ความคิด”

     “I am not the mind”

     ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญนะคุณ คุณใจเย็นๆลองทำแล้วลองทำอีก จนคุณเห็นความแตกต่างระหว่างความคิด กับการสังเกตความคิด มองให้ออกว่าความคิดไม่ใช่คุณ ความกลัวไม่ใช่คุณ หากคุณมาถึงขั้นนี้ได้ ไม่จมหรือกอดอยู่ในความคิด แต่ถอยออกมาสังเกตอยู่ข้างนอก ความคิดของคุณจะแผ่วหรือหมดพลังทันที เพราะความคิดโดยตัวมันเองมันไม่มีพลังดอก มันได้พลังจากความสนใจ (attention) ของคุณ เมื่อความคิดซึ่งเป็นสิ่งคุกคาม (stresser) หมดพลังลง ความเครียดของคุณก็จะหาย

     ขั้นที่ 4. เมื่อคุณสังเกตความคิดของคุณจากข้างนอก ไม่เข้าไปคลุกอยู่ในความคิด ความคิดมันก็จะค่อยๆแผ่วลง ใจของคุณสงบแล้ว ความคิดเหลือน้อยแล้ว คราวนี้ผมจะชวนคุณให้ถอยลึกเข้ามาอีกนะ คือผมจะให้คุณถอยความสนใจออกมาจากความคิดใดๆเสียด้วย

     ในขั้นที่สี่นี้ เมื่อเกิดความคิดใดๆขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความกลัว แทนที่คุณจะสังเกตความคิดนั้น ให้คุณถอยเข้ามาในตัวให้ลึกกว่านั้น คือให้คุณหันจากความคิดไปมองอีกทางหนึ่ง คือมองไปที่ผู้คิด

     “ใครกันนะ ที่โกรธ”

     คือเมื่อเกิดความโกรธเกิดขึ้น แทนที่จะไปสนใจความโกรธว่าโกรธใครเรื่องอะไร หรือเฝ้ามองความโกรธอย่างผู้สังเกตจากภายนอก ไม่หงะ คราวนี้ผมจะไม่ให้คุณสนใจความโกรธหรือเนื้อหาสาระของความโกรธซึ่งเป็นเพียงความคิดอีกต่อไปแล้ว แต่ให้คุณมองหาผู้โกรธ มองหา “ฉัน” ผู้เป็นต้นตอที่กุความคิดโกรธนี้ขึ้นมา มองหาอย่างค้นคว้าสืบสวน มองไปทั้งในร่างกาย ในสมอง ในหน้าอก ในอากาศ มองหาแบบจะต้องเจอกันให้ได้ว่าเจ้าคนต้นคิดหรือ the thinker ตัวดีอยู่ที่ไหน หน้าตาเป็นอย่างไร คุณลองพยายามหาดู ถอยลึกเข้ามา ลึกเข้ามา เพื่อหาให้เจอ ถ้าคุณหาไม่เจอก็ไม่เป็นไร แต่ให้ถอยความสนใจเข้ามาจนลึกที่สุดมาจอดอยู่จุดที่ลึกทึ่สุดที่คุณจะถอยเข้ามาได้ สมมุติว่าจุดลึกที่สุดมันอยู่ที่ในหน้าอกนี่ก็แล้วกัน เพราะถ้าบอกว่าอยู่ที่ในศีรษะมันดูจะเป็นที่ที่เต็มไปด้วยความคิดมากไปหน่อย ถอยมาอยู่ประมาณหน้าอกละกัน นี่เป็นจุดสมมุตินะ จอดความสนใจนิ่งๆอยู่ตรงจุดที่ลึกที่สุดนั้น จุ่มแช่ความสนใจอยู่ตรงนั้น

    เมื่อคุณถอยเข้ามาจากร่างกาย ถอยเข้ามาจากความคิด แล้วจะเหลืออะไรละ

     “ปุจฉา..ถ้าไม่มีร่างกาย ไม่มีความคิด ชีวิตนี้จะเหลืออะไร?”

     สิ่งที่จะเหลืออยู่ตอนนี้ก็เหลืออยู่อย่างเดียวคือความตื่น ที่มีความสามารถรับรู้ และความรู้สึกเย็นๆสบายๆ แค่นี้เอง ผมเรียกสิ่งนี้ง่ายๆว่า “ความตื่น” ก็แล้วกัน แต่ก่อนผมเคยเรียกว่า “ความรู้ตัว” แต่ก็เป็นคำเรียกที่ทำให้บางคนสับสนกับความรู้สึกซู่ซ่าบนผิวหนังร่างกาย ผมจึงเรียกใหม่ว่าความตื่นก็แล้วกัน ง่ายดีด้วย ความตื่นนี้คือตัวคุณที่แท้จริง

     ความตื่นนี้มันไม่ใช่ “อะไรสักอย่าง” นะ (not a thing) เพราะไม่มีอะไรให้เห็น ให้ได้ยิน ให้สัมผัสได้ ไม่มีตัวตน ไม่เกี่ยวกับความเป็นบุคคลของเราซึ่งเป็นความคิด ความตื่นไม่ต้องอาศัยอะไรเป็นที่ตั้งหรือเกาะเกี่ยว แม้แต่ร่างกายและความคิดก็ไม่ต้องมี ความตื่นก็ยังมีอยู่ได้ คุณยังไม่ต้องเชื่อคำพูดผมตอนนี้ก็ได้ รอไว้ให้คุณมีประสบการณ์กับตัวเองว่าแม้ในยามที่ร่างกายนี้ถูกตัดขาดออกไปในยามที่คุณอยู่ในสมาธิระดับลึก แต่ความตื่นนี้ก็ยังอยู่โดยไม่ถูกตัดขาดไปด้วย

     ขณะที่มันไม่ใช่ “อะไรสักอย่าง (not a thing)” แต่มันก็ไม่ถึงกับเป็นแบบ “ไม่ใช่อะไรเลย (nothing)”  ใจเย็นๆอ่าน ผมไม่ได้เล่นคำ แต่อยากให้คุณเข้าใกล้สิ่งที่ผมอยากสื่อถึงให้มากที่สุดเท่าที่ภาษาที่มีอยู่จะเอื้อให้ทำได้ หมายความว่าขณะที่ความตื่นไม่มีอะไรให้เห็นให้ได้ยินให้สัมผัสหรือบอกชื่อบอกรูปร่างได้ แต่ความตื่นก็มีความสามารถตื่นและสามารถรับรู้และมีความสงบเย็นเป็นคุณลักษณะประจำตัวอยู่

     ตอนนี้ผมอยากให้คุณจุ่มแช่ความสนใจอยู่ในอู่ของมันที่เป็นความตื่นนี้ต่ออีกสักพัก อย่าเพิ่งออกไปอยู่ในความคิด หรือโลดแล่นไปสู่โลกภายนอกผ่านอวัยวะรับรู้ของร่างกาย ให้จุ่มหรือแช่ความสนใจอยู่ในอู่ของมันต่อไปก่อน คือผมจะชี้ให้คุณเห็นว่าที่ตรงนี้ ที่ความตื่นนี้ มันไม่ใช่ของแปลกใหม่สำหรับเรา เราเกิดมา มันก็เป็นเราอยู่ตรงนี้อยู่แล้ว ตอนเราอายุสองเดือน เราตื่น รู้ว่ามีคนมาหา

     “จ๊ะเอ๋..หนูหนึ่ง” 

     มาเรียกชื่อ เราไม่รู้หรอกว่าคนนี้คือ “แม่” ไม่รู้ว่า “จ๊ะเอ๋” เป็นคำทัก ไม่รู้ว่า “หนูหนึ่ง”เป็นชื่อของเรา เพราะเรายังไม่รู้ภาษา ยังไม่มีความคิด แต่เราตื่น เรารับรู้ ความตื่นและความสามารถรับรู้เป็นคุณสมบัติดั้งเดิมที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ อาจจะมีอยู่ตั้งแต่ก่อนเราเกิดหรือเปล่าก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าเกิดมาเราก็เป็นความตื่นเรียบร้อยเสร็จสรรพแล้ว เป็นตั้งแต่ยังไม่มีความคิดด้วยซ้ำ การถอยความสนใจมาอยู่กับความตื่นจึงไม่ใช่การเดินทางไกลๆไปที่ไหน เป็นแค่ถอยความสนใจจากสิ่งภายนอกกลับมาอยู่ในอู่ที่ความสนใจมันใช้เป็นที่พำนักของมันมาแต่ไหนแต่ไรแล้วแค่นั้นเอง

     และตรงที่ความตื่นนี้แหละ เป็นที่เดียวที่ชีวิตเราจะพบกับความสงบเย็น ความสงบเย็นที่ข้างนอกไม่มี คุณไม่ต้องไปหา เพราะที่ข้างนอกความสนใจวิ่งตามความคิดหรือความอยากของเราไป พอได้อย่างที่เราอยากได้ความสนใจก็ถอยกลับเข้าอู่ชั่วคราวเราจึงรู้สึกว่าเราสงบเย็น โดยเข้าใจผิดว่าเราสงบเย็นเพราะเราได้สิ่งที่เราอยากได้ ความจริงเปล่าเลย เราสงบเย็นเพราะความสนใจได้ถอยกลับเข้าอู่ชั่วคราว แต่แค่อีกเดี๋ยวเดียวความสนใจของเราก็เผลอออกไปวิ่งตามความอยากตัวใหม่อีกแล้ว เราก็เหนื่อยอีก เหมือนคนนั่งอยู่ใต้ร่มไม้ออกไปแสวงหาความร่มเย็นข้างนอกซึ่งเป็นกลางแดด หาจนเหนื่อยแล้วก็กลับมานั่งพักใต้ร่มไม่แล้วได้ปลื้มว่าออกไปค้นหาทำให้ได้พบความร่มเย็นทั้งๆที่แท้จริงแล้วความร่มเย็นเกิดจากการได้กลับมาอยู่ใต้ร่มไม้ การจะหลุดพ้นก็คือการถอยความสนใจมาจุ่มหรือแช่อยู่ในอู่อยู่เสมอๆ จะออกไปทำกิจในความคิดก็เมื่อจำเป็นเป็นครั้งคราวเท่านั้น ชีวิตเราก็จะสงบเย็นตลอดไปไม่ว่าภายนอกจะเป็นอย่างไรจะมีอะไรหรือไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราก็ยังจะสงบเย็น เพราะที่ความตื่นนั้นมันมีธรรมชาติสงบเย็น นี่แหละคือความหลุดพ้น ซึ่งมันดำรงอยู่นอกความคิด หมายถึงนอกมิติของเวลา เพราะความคิดเท่านั้นที่ทำให้เกิดเวลา จะเรียกว่าความตื่นอยู่ที่ที่นี่เดี๋ยวนี้ก็ว่าได้ แต่คำว่าเดี๋ยวนี้อาจะทำให้เข้าใจไขว้เขวว่าอยู่ในมิติของเวลา ความจริงไม่ใช่ ความตื่นไม่มีมิติของเวลา มีแต่โมเมนต์นี้ที่ตื่นอยู่เท่านั้น ทีละแว้บ ทีละแว้บ

     ดังนั้นวันนี้ผมได้พาคุณถอยความสนใจของคุณจากนอกเข้าใน

     ..ถอยจากโลกภายนอก เข้ามาอยู่ที่ร่างกายและอวัยวะรับรู้ของร่างกาย

     ..ถอยจากอวัยวะรับรู้และร่างกาย ลึกเข้ามาข้างในอีก มาอยู่ที่ความคิด

     ..ถอยจากความคิด ลึกเข้ามาข้างในอีก มาอยู่ที่อู่อันเป็นที่นอนของความสนใจ คือความตื่นโดยไม่มีความคิด

     และผมบอกคุณว่าตรงความตื่นที่ไม่มีความคิดนี้แหละคือความหลุดพ้น เป็นที่ที่คุณจะได้พบกับความสงบเย็น ที่นี่ เดี๋ยวนี้ โดยไม่อยู่ในมิติของเวลา เป็นที่เข้าถึงได้ง่ายๆด้วยตัวเอง เป็นการกลับบ้านเก่าที่ตัวคุณเองรู้จักคุ้นเคยอยู่ก่อนแล้ว เป็นทางแห่งความหลุดพ้น โดยไม่ต้องมีครูบาอาจารย์ ไม่ต้องสวดมนต์หรือทำพิธีกรรม ไม่ต้องมีศาสนา จัดว่าเป็นทางหนึ่งในบรรดาหลายๆทางที่มีอยู่ โดยที่ทางนี้อาจจะเหมาะสำหรับคนอย่างคุณที่ประกาศตัวเองว่าเป็น..Atheist

     คุณลองเอาไปทำดูนะ

     นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์