Latest

ข้าก็เป็นของข้าอย่างนี้ ลุงมีอะไรมะ ฮะ หะ หะ

เรียนคุณหมอ
ที่คุณหมอว่าการหลุดพ้นนั้น จริงๆแล้วคืออะไรหลุดพ้นจากอะไร หากไม่ใช่การไม่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดในชาติต่อๆไป และในเมื่อทุกอย่างเป็นไปตามกรรม ความพยายามที่จะหลุดพ้นโดยไม่สนใจกรรมเก่าจากอดีตจะเป็นไปได้อย่างไร

…………………………………….

ตอบครับ

     1. ถามว่าหลุดพ้นหมายถึงใครหลุดพ้นจากอะไร ตอบว่าหมายถึงความสนใจ (attention) หลุดพ้นจากความคิดที่วนเป็นลูกข่างในหัวของตัวเองไปอยู่ในความตื่นที่ไม่มีความคิดครับ เพราะอยู่ที่ตรงนั้นสบายกว่าแยะ

     ย้ำว่าหลุดพ้นคือหลุดพันจากความคิดนะ อย่าลืมว่าความเป็นบุคคลนี่ก็เป็นความคิด ดังนั้นคนที่เป็นบุคคลอย่างเช่นตัวหมอสันต์นี้เป็นต้น ย่อมไม่มีวันได้หลุดพ้นไปไหนดอก เพราะหมอสันต์เป็นบุคคล ความเป็นบุคคลก็คือการทำทีเป็นไม่รู้ความจริงว่าความเป็นบุคคลนี้เป็นเพียงความคิดหรือคอนเซ็พท์เท่านั้น ดังนั้นคนที่เป็นบุคคลจะหลุดพ้นไปไหนได้อย่างไร ไม่ได้หรอก มีแต่จะเวียนว่ายอยู่ในวังวนตรงนี้ตลอดไปแบบความคิดต่อยอดบนความคิด

     มีแต่ความสนใจ (attention) ที่มาหลงติดกับว่าตัวเองเป็นบุคคลที่ชื่อหมอสันต์นั่นแหละ ที่จะสามารถหลุดพ้นกลับออกมาเป็นความตื่นที่เป็นธรรมชาติดั้งเดิมของมันได้ ดังนั้นผู้ที่จะหลุดพ้นคือความสนใจ (attention) ที่จะหลุดพ้นกลับไปเป็นความตื่นได้นะ ไม่ใช่ตัวหมอสันต์หรือความเป็นบุคคลที่เป็นแค่ความคิด

     2. ถามว่าความหลุดพ้นไม่ใช่การหลุดจากการไปเวียนว่ายตายเกิดในชาติต่อๆไปหรือ ตอบว่า แหะ แหะ จะแล่นไปไกลถึงชาติหน้าทำไมละครับ เมื่อของจริงอยู่ตรงนี้ ที่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ นี่เอง เอาตรงนี้ ที่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ให้ได้ก่อนสิ อนาคตมันก็จะดีของมันเอง ชาติหน้าถ้ามันมาถึง มันก็จะมาถึงในรูปของที่นี่เดี๋ยวนี้นะ ถ้าคุณพลาดหรือ miss ที่นี่เดี๋ยวนี้ คุณก็จะพลาดโอกาสที่จะหลุดจากการเวียนว่ายตายเกิดในชาติหน้าไปด้วยนะ เพราะถ้าขนาดคุณมีสติสะตังมีแรงดีๆตัวอุ่นๆเป็นๆขนาดนี้ คุณยังถอยออกจากความคิดไม่ได้ ในนาทีสุดท้ายเมื่อคุณพะงาบแล้วสติสะตังพร่ามัวแล้วและพลังงานก็จวนจะหมดแล้ว คุณจะหลุดออกมาจากกรงของความคิดได้อย่างไร

     3. ถามว่ามีกรรมเก่าจากอดีตจะหลุดพ้นได้อย่างไร แหมตรงนี้ไม่อยากตอบเลย ขอไม่ตอบได้ไหม กลัวคนที่อ่านบทความนี้ซึ่งมีปูมหลังต่างๆกันจะตีความคำพูดของผมผิดไป เพราะคำว่า “กรรมเก่า” นี้เป็นคำที่มีผู้ถือลิขสิทธิ์อยู่ การไปยุ่งเกี่ยวกับลิขสิทธิ์มันจะเรื่องมากนะ เดี๋ยวผู้ที่ถือว่าตัวเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เขาจะแพ่นกะบาลเอา เอาเป็นว่าไม่ตอบเรื่องกรรมเก่าดีกว่า ตอบแต่ว่าความคิดส่วนหนึ่งถูกกุขึ้นมาจากความจำ อิทธิพลของความจำจะมีอยู่ก็แค่ตราบเท่าที่คุณยังไม่เจนจบในกลเม็ดการวางความคิด เมื่อใดที่คุณเจนจบในกลเม็ดการวางความคิด ความจำก็ไม่มีความหมาย

     จบคำถามของคุณแล้วนะ คราวนี้ผมขอพูดเพ้อเจ้อเล่นๆของผมมั่ง จดหมายของคุณทำให้ผมนึกถึงนิยายอินเดียโบราณเรื่องภารตยุทธ์ คือการจะหลุดพ้นออกไปจากความเวียนว่ายอยู่ในวังวนนี้ หัวใจของมันคือการเปิดรับหรือการยอมรับให้คลื่นพลังงานจากภายนอกเจาะเข้ามาในวังวนความคิดของตัวเอง หากปิดกั้นอยู่กับความคิดวกวนซ้ำซากของตัวเองอยู่อย่างนั้น โอกาสหลุดพ้นก็ปิดตาย ในมหากาพย์ภารตยุทธ ซึ่งเป็นสงครามครั้งใหญ่ระหว่างพี่น้องสกุลเการพกับสกุลปาณฑพ ตัวอวตารของพระเจ้าที่ชื่อกฤษณะได้พยายามสอนทุรโยธน์ พี่ใหญ่ของฝ่ายเการพด้วยความหวังดี เพื่อไม่ให้สงครามเกิด ว่า (ผมแปลในสำนวนของผมเองนะ)

     “หลานชายเอ๋ย นั่นมันผิดทำนองคลองธรรม ต้องทำอย่างนี้ถึงจะถูกทำนองคลองธรรม”

     ซึ่งทุรโยธน์ตอบว่า

     “..ลุงไม่ต้องมาสอนข้าว่าอะไรถูกอะไรผิด ข้ารู้หมดนั่นแหละ ข้ารู้ด้วยว่าสิ่งที่ข้าทำนี้ผิด แต่ข้าไม่ชอบทำสิ่งที่ถูก และข้าอดใจที่จะทำสิ่งที่ผิดๆไม่ได้ ข้าก็เป็นของข้าอย่างนี้ ลุงมีอะไรมะ ฮะ หะ หะ..”

     คำสอนเดียวกันนี้กฤษณะใช้สอนอรชุน (พระเอกของเรื่อง) ซึ่งอรชุนตอบว่า

     “…ข้ารู้ แต่แรงขับดันที่จะทำให้ข้าตามความต้องการข้างชั่วนั้นมีตลอดเวลา ข้าจะต้องทำอย่างไรจึงจะเอาชนะแรงขับดันภายในนี้ได้ ลุงสอนข้าหน่อยสิ..”

    นี่เป็นตัวอย่างของความแตกต่างของผู้ไม่มีโอกาสและผู้มีโอกาสหลุดพ้นออกไปจากกรงของความคิดของตัวเอง ผู้มีโอกาสจะเปิดตัวเองต่อพลังงานหรือตัวช่วยจากภายนอกเสมอ ยิ่งเปิดอ้าซ่ายิ่งหลุดพ้นง่าย ซึ่งในเรื่องนี้กฤษณะก็สอนอรชุนว่า

     “เจ้าอย่ายอมตามมัน เพราะตัวเจ้ามีอำนาจที่จะเลือก”

     แหม คำสอนของกฤษณะช่างเข้าใจยากซะ

     คำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องเดียวกัน ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” ดูจะเข้าใจง่ายกว่า ผมขอเล่าหลักปฏิจจสมุปบาทในแบบบ้านๆนะ ว่ามันมีหลักเหมือนเวลาเราเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์สมัยเก่า มันจะโหลดพารามิเตอร์ต่างๆขึ้นมาบนหน้าจอทีละบรรทัด ทีละบรรทัด ตามขั้นตอนของมัน ทีละสะเต็พ ทีละสะเต็พ แต่เปิดโอกาสให้เราคลิกเอนเทอร์เพื่อหยุดการโหลดในสะเต็พนั้นๆได้ ถ้าเราไม่คลิกเอ็นเทอร์ มันก็จะโหลดของมันไปจนจบทุกขั้นตอน กลไกการจะถอยความสนใจออกมาจากความคิดก็เหมือนกัน ถ้าเราเข้าใจว่าความคิดมันมีสะเต็พการก่อตัวขึ้นในใจเราอย่างไร และสะเต็พไหนบ้างที่เราจะคลิกเอ็นเทอร์เพื่อยุติกระบวนการของมันไม่ให้ดำเนินต่อไปได้ เราก็จะถอยความสนใจออกมาจากความคิดได้ง่ายมาก แต่ถ้าเราไม่รู้จักสะเต็พของมัน หรือรู้แล้วไม่ใช้สิทธิกดเอ็นเทอร์ให้ทันในช่วงเวลาที่โปรแกรมตั้งไว้ กระบวนการปรุงความคิดมันก็จะดำเนินของมันไปทีละขั้น ทีละขั้น จากต้นจนจบ มิอาจขัดขวางด้วยวิธีอื่นใดได้ สะเต็พที่ว่าเหล่านั้นมีคร่าวๆดังนี้

     1. การเพิกเฉย (ignorance) ต่อความจริงที่ว่าความเป็นบุคคลของเรานี้เป็นเพียงสิ่งสมมุติ ทำให้เกิดความคิดมากมายขึ้นมาต่อยอดคอนเซ็พท์เดิมที่ว่าความเป็นบุคคลของเรานี้เป็นของจริง

     2. ความคิดเหล่านั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะตกกระทบ “ใจ” ของเราโดยการทำงานร่วมกันของกลไกแปลงสัญญาณคลื่นจากภายนอกที่ผ่านเข้ามาทางอวัยวะรับรู้ ไปเป็นภาษาและรูปภาพ

     3. ทันทีที่ความคิดในรูปแบบของภาษาและรูปภาพตกกระทบใจ จะเกิดความรู้สึก (feeling) ขึ้นบนร่างกาย (เช่นความรู้สึกวูบวาบซู่ซ่าเมื่อชอบ อาการใจเต้นตั๊กๆเมื่อโกรธ เหงื่อแตกเมื่อกลัว และอื่นๆเช่นร้อน ผ่าว หนาว ขนลุก หวิว เป็นต้น) ควบคู่กับความรู้สึกในใจว่าชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆ

     4. ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจว่าชอบไม่ชอบ จะก่อแรงขับดันหรือความอยากครั้งใหม่ขึ้น ชอบก็อยากได้ ไม่ชอบก็อยากหนี

     5. ความอยากนั้นจะผลักดันให้เกิดความคิดคาดหมายในมิติของเวลาขึ้นในใจ อยากได้ก็เกิด “ความหวัง” หากเป็นการคาดการณ์อนาคต หรือ “ภูมิใจ” หากเป็นการย้อนอดีต อยากหนีก็เกิด “ความกลัว”หากเป็นการคาดการณ์อนาคต หรือ “เสียใจ” หากเป็นการย้อนอดีต

     6. ทั้ง “ความหวัง” และ “ความกลัว” หรือ “ภูมิใจ” “เสียใจ” จะพาใจแล่นไปก่อกำเนิดเป็นความคิดใหม่ที่ต่อยอดความคิดเดิมต่อไปอีก ไม่รู้จบ ไม่รู้สิ้น แต่ละความคิดที่เกิดขึ้นล้วนเป็นแค่ความคิดที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็สลายไป โดยที่ส่วนใหญ่โลกภายนอกมิได้เป็นไปดังที่เราคาดหวัง คนเราจึงนั่งอยู่บนความทุกข์ตลอดชาติอยู่เช่นนี้แหละ

     ประเด็นสำคัญคือในแต่ละขั้นตอน แต่ละสะเต็พ มีโอกาสเสมอที่เราจะเข้าไปแทรกแซงยุติไม่ให้ขั้นตอนนั้นดำเนินไปสู่ขั้นตอนต่อไป ขั้นตอนที่แทรกแซงได้ง่ายที่สุดคือเมื่อความคิดตกกระทบใจแล้วเกิดความรู้สึก (feeling) ขึ้นบนร่างกายและใจ การแทรกแซงก็แค่ทำโดยเฝ้าดูความรู้สึกบนร่างกายและใจแบบมองเห็นตามที่มันเป็น มองแบบเฝ้าดูมันเฉยๆ มองเห็นมันเกิดขึ้น ดำเนินไป แล้วจบลงไปเอง เพราะทุกความรู้สึกที่ิเกิดขึ้นบนร่างกายและในใจล้วนจะจบลงไปเองทั้งสิ้น เมื่อมันจบแล้ว มันก็จบเลย ตรงนี้เป็นจุดที่จะตัดตอนไม่ให้กระบวนการปรุงความคิดเดินหน้าไปสู่การเกิดความอยากครั้งใหม่ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ก็จะจบลงเพียงแค่นี้

     เอ ผมตั้งใจว่าจะคุยเล่นกับคุณเรื่องทุรโยธน์กับอรชุน ไหงมาจบแบบซีเรียส ซีเรียส ที่ตรงนี้ได้เนี่ย…ดึกแล้ว ไปดีกว่า

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์