Latest

เนื้อความในนี้ มีความสำคัญกับชีวิตผมมากครับ

เรียน คุณหมอสันต์ครับ
(เนื้อความในนี้ มีความสำคัญกับชีวิตผมมากครับ) ก่อนอื่น ผมขอกราบขอบพระคุณคุณหมอที่สละเวลาให้ผมนะครับ ทุกอย่างที่ผมเขียนมาหาคุณหมอเป็นเรื่องราวที่ผมป่วย และกราบขอบพระคุณคุณหมอล่วงหน้าในการสละเวลาให้ผม ขอบุญกุศลนี้ทำให้ผมตาสว่างและให้คุณหมอมีสุขภาพดีครับ
ผมทำงานในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ อายุ 46 ปีแล้ว เป็นคนที่มีความเครียดสูง และมีความวิตกกังวลสูงมากอย่างไม่รู้ตัวครับ ความกังวลใจของผมเริ่มจาก การตรวจค่า Cr ที่พบว่า มีค่าในช่วงขึ้นลง 1.2-1.3 BUN มีค่าปกติ ด้วยความกังวลอย่างมาก ผมจึงสังเกตปัสสาวะพบมีฟอง และเกิดความเครียดสูง จนนำไปสู่ภาวะวิตกกังวลอย่างมาก ดังนี้
ข้อมูล (ส่วนตัว) ที่อยากแจ้งคุณหมอ
ทาง รพ. แจ้งค่าไตว่าผิดปกติ คำนวณค่า GFR ได้ราวๆ 65 ตัวเลขดังกล่าวทำให้ผมวิตกกังวล และหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตมาก จนสมองเกิดการรับรู้ที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิตผม ผมป่วยเป็นโรควิตกกังวลและซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว
ผมอยากทราบว่า ตัวเลขค่าไตแบบนี้ ผมต้องระวังการกินอาหารมากขนาดไหน ทุกวันนี้ ผมไม่กล้ากินอะไรเลย ระแวงไปทุกอย่างจนป่วยเป็นซึมเศร้า น้ำหนักลดลงจนผอมชัดเจน เพราะกลัวว่าจะกินอะไรไม่ได้สักอย่าง เพราะในชีวิตจริง ร้านค้าทุกร้านก็ปรุงอาหารที่มีความเค็ม และผมควบคุมตรงนี้ได้ลำบากในชีวิตจริง และเคยบอกไม่ปรุง อาหารก็ไม่มีรสชาด ประกอบกับเป็นซึมเศร้า เลยเบื่ออาหารขนาดหนักเลยครับ เข้า รพ. หลายรอบมากด้วยความกังวลที่ผิดปกติในเรื่องเจ็บป่วยต่างๆของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องกลัวว่า จะทานอะไรไม่ได้เลย อ่านข้อมูลต่างๆบอกให้กินได้แต่ไข่ขาว ผักต้ม และห้ามปรุงอะไรเลย ชีวิตจริงมันต้องจำกัดมากนั้นเลยหรอครับคุณหมอสำหรับค่าไตของผมขนาดนี้
ผมเพิ่งรักษาโรควิตกกังวลและซึมเศร้าได้ราวๆ 2 อาทิตย์ แบบนี้ ผมจะไปเที่ยวญี่ปุ่นที่เคยจองตั๋วไว้ได้หรือครับ เพราะความกังวลของผมเรื่องอาหารการกินที่ญี่ปุ่น จะทำให้ผมกลัวจะมีค่า Cr ที่เพิ่มขึ้น เพราะเข้าใจว่า อาหารญี่ปุ่นเป็นอาหารที่มีความเค็มสูง เช่น ราเมน ผมเข้าใจถูกไหมครับ ความกังวลนี้ติดในหัวสมองของผม จนไม่กล้าไปญี่ปุ่นเลย
ขอความกรุณาคุณหมอช่วยไขความกระจ่างเรื่องโรคไตขอมด้วย ว่าสามารถกินอาหารได้ตามปกติตามท้องถนน ร้านค้าในห้างได้ทั่วไป หรือต้องจำกัดกินแต่จืดๆกันแน่ครับ ซึ่งมันยากจริงๆ ในชีวิตตามห้างครับ
ขอขอบคุณคุณหมอด้วยเคารพ และด้วยใจจริงครับ

………………………………………..

ตอบครับ

     พุทธัง ธัมมัง สังคัง อะไรมันจะคัน..เอ๊ย ไม่ใช่ อะไรมันจะซีเรียสมากมายขนาดนี้

     นี่มันไปเข้าพังเพยโบราณที่ว่า

     “รู้มากยากนาน รู้น้อย พลอยรำคาญ ไม่รู้ไม่ชี้เป็นหนี้ดักดาน”

     หิ หิ  อย่าถามผมนะว่าทั้งหมดนั้นแปลว่าอะไร ผมเดาใจคนโบราณได้ไม่หมดหรอก แต่อาการที่คุณเรียนหนังสือมามาก มีความรู้ในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพมาก เสพย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ทมาก แล้วมาดูปัสสาวะตัวเองว่า เฮ้ย..มีฟอง แล้วเกิดความเครียดสูงอย่างมาก จนหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคกังวลซึมเศร้า นี่แหละที่ผมเรียกว่ารู้มากยากนาน ในระดับความคิดคือรู้มากแต่จัดลำดับความน่าเชื่อถือของข้อมูลไม่เป็น ในระดับลึกกว่าความคิดคือใจไปจมอยู่แต่ในความคิดไม่มีโอกาสตื่นมาเห็นความคิดของตัวเอง ได้แต่เอาสิ่งที่รู้มานั้นมาคิดจินตนาการร้ายๆต่อยอดซ้ำซากเป็นตุเป็นตะ กล่าวโดยสรุปก็คือรู้มากแล้วพาให้เป็นบ้า เนี่ยแหละที่ผมเรียกว่ารู้มากยากนาน

     เอาเถอะ มาตอบคำถามของคุณดีกว่า

     1. ถามว่าคุณตรวจเลือดได้ GFR 65 แสดงว่าเป็นโรคไตเรื้อรังใช่ไหม ตอบว่าไม่ใช่ครับ GFR สูง 60 ซีซี.ขึ้นไปในภาวะที่ไม่มีพยาธิสภาพที่ไต ถือว่าเป็นไตที่ปกติ ไม่ได้เป็นโรคไตเรื้อรัง

     เฉพาะคนที่มีหลักฐานว่ามีพยาธิสภาพที่ไต (เช่นตรวจพบเนื้องอกหรือนิ่วที่ไต หรือพบกรวยไตอักเสบเรื้อรัง) หาก GFR ต่ำกว่า 90 ซีซี.แต่ไม่ต่ำกว่า 60 จึงจะถือว่าเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 2

     เพื่อให้เข้าใจง่ายผมอธิบายการแบ่งระยะของโรคไตเรื้อรัง 5 ระยะ ให้คุณฟังดังนี้

ระยะที่ 1. มีพยาธิสภาพที่ไต แต่ GFR สูงกว่า 90 ซีซี.
ระยะที่ 2. มีพยาธิสภาพที่ไต และ GFR ต่ำกว่า 90 แต่ไม่ต่ำกว่า 60 ซีซี.
ระยะที่ 3. ใครก็ตาม มีพยาธิสภาพที่ไตหรือไม่มีก็ตาม ที่ GFR ต่ำกว่า 60 แต่ไม่ต่ำกว่า 30 ซีซี.
ระยะที่ 4.  ใครก็ตาม ที่ GFR ต่ำกว่า 30 แต่ไม่ต่ำกว่า 15 ซีซี.
ระยะที่ 5.  ใครก็ตาม ที่ GFR ต่ำกว่า 15 ซีซี.

    ของคุณไม่ได้มีหลักฐานว่ามีพยาธิสภาพใดๆที่ไตเลย คุณมี GFR ุ65 จึงถือว่าไตปกติไม่ได้เป็นโรคไตเรื้อรังครับ   

     2. ถามว่าตัวเลขค่าไตเท่านี้ ต้องระวังการกินอาหารขนาดไหน ตอบว่าไตของคุณปกติดีนะ แต่แม้คุณจะมีไตปกติ แต่ก็ต้องกินอาหารที่ดีแบบคนทั่วไปเขาควรจะกินกันนั่นแหละครับ อาหารที่ดีก็คืออาหารที่มีพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ (plant-based whole food) ผักผลไม้ถั่วงานัทธัญพืชไม่ขัดสีแยะๆ มีเนื้อสัตว์น้อยๆ และมีของไม่ดีสี่อย่างต่อไปนี้น้อยๆ คือ (1) น้ำตาล (2) เกลือ (3) ไขมันอิ่มตัว (4) ไขมันทรานส์

     3. ถามว่าจะไปเที่ยวญี่ปุ่นได้ไหม ตอบว่าถ้าคุณมีวีซ่ามีตั๋วและมีเงินค่าโรงแรมก็ไปได้สิครับ ถามว่าไปแล้วจะกินอาหารญี่ปุ่นได้ไหม ตอบว่าทำไมจะกินไม่ได้ละครับ ถ้ากินไม่ได้คนญี่ปุ่นเขาก็คงมีอันเป็นไปกันหมดแล้ว อาหารทุกชาติทุกภาษากินได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าคุณมีความระแวดระวังเรื่องสุขภาพก็เลือกกินสิ่งที่เป็นอาหารดีๆมีคุณภาพสูงๆของชาตินั้นภาษานั้นสิครับ

      4. สิ่งที่คุณไม่ได้ถาม แต่ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องสุขภาพของคุณ ก็คือการที่คุณป่วยเป็นโรคเครียด ซึ่งเป็นโรคร้าย หากไม่รู้วิธีรักษาไปภายหน้าก็จะทำให้คุณตายก่อนวัยอันควรหรือมีชีวิตที่ไร้คุณภาพได้ ใช่ ตายจากโรคเครียดนั่นแหละ อนึ่ง ไม่ใช่คุณคนเดียวหรอกที่เป็นโรคนี้ คนอื่นเขาก็เป็นกันทั้งบ้านทั้งเมือง ดังนั้นผมขอคุยกับคุณถึงโรคนี้หน่อย เพราะมันจะได้ประโยชน์กับท่านผู้อ่านท่านอื่นด้วย

     โดยนิยาม “ความเครียด” ก็คือการที่ระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกายเราสนองตอบต่อสิ่งคุกคาม คือเป็นการเตรียมกายและใจให้อยู่ในภาวะพร้อมรบ จะหนีหรือจะสู้ก็พร้อมทั้งนั้น ในการเตรียมพร้อมนี้มันต้องใช้ทรัพยากรของร่างกายมาก ร่างกายจะต้องปิดการใช้งานระบบที่ไม่มีความสำคัญต่อการอยู่รอดฉุกเฉิน เช่นระบบสืบพันธ์ ระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน จะถูกลดหรือปิดการทำงานหมด ดังนั้นหากร่างกายอยู่ในภาวะที่ต้องเตรียมพร้อมเช่นนี้อยู่นานเกินไป ร่างกายก็จะป่วย

     สิ่งคุกคาม (stressers) ที่ก่อความเครียดนั้นมันผ่านเข้ามาทางอายตนะ (sense organ) คือ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวหนัง และใจของเราเอง สมัยก่อนสิ่งคุกคามก็คือเสือสิงห์ในป่า มันมาแล้วก็ไป แต่สมัยนี้สิ่งคุกคามคือความคิดของเราเอง มันมาแล้วก็มาอีกไม่ไปไหน เราจึงตกอยู่ในภาวะเครียดเรื้อรัง

     ในการสนองตอบต่อภาวะคุกคาม เมื่อระบบประสาทอัตโนมัติได้รับข้อมูลที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะแล้วก็จะสนองตอบด้วยกลไกการทำงานแบบอัตโนม้ติ คือสนองตอบแบบทันทีโดยคุณต้องมีใครสั่ง (reflex) วงจรสนองตอบแบบอัตโนมัตินี้เป็นวงจรไฟฟ้าวิ่งบนเส้นประสาทที่สั่งการไปได้ทุกระบบทั้งระบบฮอร์โมน ระบบกล้ามเนื้อ เป็นต้น มีไม่รู้กี่ล้านวงจรซึ่งวงการแพทย์ก็ยังรู้ไม่หมด ร่างกายสร้างวงจรสนองตอบใหม่ๆขึ้นตามการเรียนรู้ที่ได้รับมา วงจรที่ซับซ้อนมีการเอาความคิดหรือความจำจากอดีตไปผูกเป็นส่วนหนึ่งของวงจรด้วย เรียกว่า conditioned reflex หมายความว่าความคิดที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นมาอย่างอัตโนมัติ เพราะมันถูกผูกไว้ในวงจรว่าเมื่อเปิดใช้วงจรนี้ความคิดนี้จะต้องเกิด มันผูกไว้เรียบร้อยแล้ว เจออย่างนี้ต้องคิดอย่างนี้ คิดอย่างนี้แล้วจะเกิดความคิดอย่างนี้ต่อยอดไปอีก ต่อๆๆกันไปไม่มีสิ้นสุด ซึ่งความคิดที่เกี่ยวกับความเครียดมีธรรมชาติเป็นความคิดลบ คุณก็จะจมอยู่ในความคิดลบทั้งชาติเหมือนเดินอยู่ในเขาวงกตออกไปไหนไม่ได้

    และตราบใดที่คุณยังจมอยู่ในความคิดต่อยอดกันไปไม่รู้จบอย่างนี้ ผมพนันร้อยเอาขี้หมาก้อนเดียวว่าชีวิตคุณจะจบลงด้วยผลของโรคเครียด ถ้าคุณไม่รังควาญลูกเมียและคนรอบข้างให้เดือนร้อนเละเทะคุณก็จะฆ่าตัวตายเสียเองเพราะความคิดของคุณนั่นแหละจะชักนำให้คุณทำอย่างนั้น หรือไม่คุณก็จะป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งหลายที่มีการอักเสบในร่างกายเป็นเหตุพื้นฐานรวมทั้งโรคหลอดเลือดเช่นโรคอัมพาต โรคหัวใจ และโรคไตเรื้อรังด้วย เพราะการที่ระบบภูมิคุ้มกันเสียการทำงานจากภาวะเครียด จะทำให้กลไกการดูแลแก้ไขกระบวนการอักเสบของหลอดเลือดเสียไป หรือไม่กรณีที่แย่ไปกว่านั้นคือคุณจะป่วยเป็นโรคมะเร็ง เพราะในภาวะเครียดเม็ดเลือดขาวจะเสียการทำงาน เซลร่างกลายที่กลายพันธ์ุไปก็ไม่มีใครมาจับกินทำลายเพราะมันเป็นหน้าที่ประจำของเม็ดเลือดขาว เซลที่กลายพันธุ์เหล่านั้นจึงเกาะกลุ่มก่อตัวออกลูกหลานกลายเป็นก้อนมะเร็งได้ ที่พูดมาทั้งหมดนี่ไม่ได้แช่งคุณนะ แต่ชี้ให้เห็นว่าการเป็นโรคเครียดนี้เป็นเรื่องใหญ่และไม่ใช่เรื่องดี คุณจะต้องพาตัวเองออกจากตรงนี้ให้ได้

     การที่คุณไปหาจิตแพทย์แล้วเขาวินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคกังวลโรคซึมเศร้าแล้วให้ยามากินนั้น เป็นการบรรเทาอาการของโรคเฉพาะหน้า แต่ไม่ใช่การแก้ไขโรคเครียดที่สาเหตุพื้นฐานของมัน การแก้ไขโรคเครียดที่สาเหตุพื้นฐานของมันคุณจะต้องเรียนรู้ที่จะถอยความสนใจของคุณออกมาจากความคิด หรือพูดแบบบ้านๆก็คือคุณต้องปล่อยวางความคิดให้สำเร็จ

     การปล่อยวางความคิดมีหลายเทคนิคนะ แต่วันนี้ผมมีเวลานิดเดียวผมจะสอนคุณเทคนิคเดียว นี่ไม่ใช่หลักวิชาแพทย์นะ แต่เป็นเป็นเทคนิคบรรลุความหลุดพ้นของพวกฤษีอินเดีย เรียกเทคนิคนี้ว่า self enquiry หรือการสอบสวนหากำพืดของตัวเอง การใช้เทคนิคนี้ไม่ใช่ให้คุณแค่ทำความเข้าใจนะ แต่ให้คุณทำตามผมไปจริงๆเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ในความเป็นจริง  การสอบกำพืดของตัวเอง ก็คือการพยายามหาว่าฉันเป็นอะไร W้hat am I? ผมประยุกต์วิธีการมาให้คุณทำตามผมไปทีละขั้น ก่อนที่จะเริ่มทำให้คุณฝึกสมาธิมาระดับหนึ่งก่อน จะด้วยการวางความคิดมาตามดูลมหายใจก็ได้ จนความคิดมันเบาบางลง อย่างน้อยก็ควรมีสมาธิถึงระดับที่อ่านหนังสือเรียนรู้เรื่อง เพราะถ้าจมอยู่ในความคิดจนอ่านหนังสือเรียนไม่รู้เรื่องก็แสดงว่าสมาธิมีน้อยเกินไปจนฝึกขึ้นตอนต่อไปนี้ไม่ได้ ขั้นตอนที่ผมจะสอนคุณมีดังนี้นะ

    ขั้นที่ 1. ให้คุณมองสิ่งทั้งหลายรอบตัว ฟัง สัมผัส มองให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายรอบตัวนอกร่างกายคุณนั้นไม่ใช่คุณ มันเป็นสิ่งที่ถูกคุณเฝ้ามอง (the observed) โดยตัวคุณหรือ “ฉัน” เป็นผู้เฝ้ามอง (the observer) แล้วให้คุณมองให้เห็นนะว่าสิ่งนอกตัวคุณนั้นมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่คุณยังอยู่ที่นี่ ในร่างกายนี้ อยู่มาตั้ง 46 ปีแล้ว ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นสิ่งที่อยู่นอกร่างกายไม่ใช่ฉัน แต่สิ่งที่อยู่ในร่างกายนี้เป็น “ฉัน”

     ขั้นที่ 2. คราวนี้ให้คุณหดความสนใจจากสิ่งแวดล้อมภายนอกมาสนใจเฉพาะที่ร่างกายของคุณ โดยเฉพาะอายตนะของคุณเองอันประกอบด้วย ตา หู ผิวหนัง เป็นต้น คุณมองดูอายตนะของคุณนะ มองดูนี่ผมหมายความว่าให้รับรู้ว่ามีมันอยู่ มันกำลังทำงานอยู่ ไม่จำเป็นต้องเอาตาไปมองจริงๆหรอก ให้คุณมองให้เห็นว่าตาก็ดี หูก็ดี มันไม่ใช่ผู้ดูหรือผู้ฟังหรือผู้สังเกตปรากฎการณ์ภายนอกที่แท้จริงนะ ผู้สังเกตที่แท้จริงคือใจของคุณ ซึ่งอาจจะอยู่ที่ไหนสักแห่งในร่างกายนี้แหละ สมมุติว่าอยู่ในหัวสมองหรืออยู่ในหน้าอกก็ได้ตามถนัด ใจคือผู้สังเกตที่แท้จริง แค่อาศัยตาและหูและผิวหนังเป็นเครื่องมือในการสังเกตเท่านั้น มองให้เห็นว่าอายตนะและร่างกายนี้ไม่ใช่ “ฉัน” หรือผู้สังเกตตัวจริงนะ ใจของคุณต่างหากที่เป็น “ฉัน” หรือเป็นผู้สังเกตตัวจริง ให้คุณลงมือทำจริงๆ จนเห็นจริงตามนี้นะ

     ขั้นที่ 3. คราวนี้คุณหดความสนใจของคุณถอยร่นออกมาจากตา จากหู จากผิวหนังหรือจากร่างกาย ไม่ต้องสนใจร่างกายแล้ว แต่ให้มาสนใจสิ่งที่คุณเรียกว่า “ใจ” เพียงอย่างเดียว สิ่งที่เราเรียกว่าใจนี้ก็คือความคิด (thought) ซึ่งหากจะแยกย่อยออกไปมันก็อาจมาแบบอารมณ์ (emotion) และความรู้สึก (feeling) แต่ทั้งหมดนั้นก็คือความคิดนั่นแหละ ให้คุณลองจับเอาตรงที่ใดที่หนึ่งมาเป็นแซมเปิ้ลนะ เอาที่ความรู้สึกกลัวของคุณก็แล้วกัน คุณเขียนจดหมายมาหาผมเพราะคุณกลัว กล้วจะมีอันเป็นไปเพราะโรคไตเรื้อรัง ประเด็นไม่ใช่เนื้อหาสาระเรื่องที่คุณกล้วนะ แต่ประเด็นอยู่ที่..ความกลัวเป็นเพียงปรากฎการณ์ที่คุณสังเกตดูมันได้

          ตัวความกลัวเป็นความคิด มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มันคือผู้ที่เขียนจดหมายมาหาผมหรือเปล่า ไม่ใช่แน่ ความคิดเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสังเกต ตัวมันสังเกตตัวมันไม่ได้หรอก มันไม่ใช่ “ฉัน” เพราะตัวมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่มีผู้สังเกตอีกผู้หนึ่งแอบสังเกตมันอยู่ ผู้สังเกตผู้นั้นนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง ผู้สังเกตนั้นแหละเป็น “ฉัน” ตัวจริง

     ตรงนี้คุณใจเย็นๆนะ ลองไปกับหลายๆความคิด ลองกับอารมณ์โกรธ ลองกับความคิดฟุ้งสร้าน แยกให้ออกระหว่างความคิด กับ “ฉัน” ที่เป็นผู้สังเกตความคิด นี่เป็นการทดลองสิ่งใหม่นะ

     คุณเคยแต่จมอยู่ในความคิด (thinking a thought)

     แต่ผมกำลังสอนให้คุณสังเกตความคิดของคุณ (aware of a thought)

     ใจหรือความคิดนี้เปรียบไปก็เป็นเหมือนกายอีกชั้นหนึ่ง จะเรียกว่าเป็นกายชั้นละเอียดหรือ subtle body ก็ได้ แต่ถึงจะละเอียด ก็เป็นสิ่งที่ถูกสังเกตรับรู้โดย “ฉัน” ซึ่งเป็นผู้สังเกตได้

     ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญนะคุณ คุณใจเย็นๆลองทำแล้วลองทำอีก จนคุณเห็นความแตกต่างระหว่างความคิด กับการสังเกตความคิด มองให้ออกว่าความคิดไม่ใช่คุณ ความกลัวไม่ใช่คุณ หากคุณมาถึงขั้นนี้ได้ ไม่จมหรือกอดอยู่ในความคิด แต่ถอยออกมาสังเกตอยู่ข้างนอก ความคิดของคุณจะแผ่วหรือหมดพลังทันที เพราะความคิดโดยตัวมันเองมันไม่มีพลังดอก มันได้พลังจากความสนใจ (attention) ของคุณ เมื่อความคิดซึ่งเป็นสิ่งคุกคาม (stresser) หมดพลังลง โรคเครียดของคุณก็จะดีขึ้น ทำมาแค่ขั้นนี้คุณหายก็จากโรคกังวลซึมเศร้าได้แล้ว ขั้นที่สี่ต่อจากนี้ไปอาจจะไม่จำเป็นสำหรับคุณ แต่ถ้าคุณสนใจก็ลองดู

     ขั้นที่ 4. คราวนี้เรามาถึงจุดที่ชักจะพูดกันเป็นภาษาไม่รู้เรื่องแล้วนะ ให้คุณทำใจไว้ก่อนว่าคุณอาจจะอ่านไม่รู้เรื่อง ให้อ่านอย่างใจเย็นๆ ไม่รู้เรื่องก็ไม่เป็นไร อย่าหงุดหงิด มันเป็นเรื่องเกินความจำเป็นของการรักษาโรคกังวลซึมเศร้า มันเป็นเรื่องของผู้ที่คิดจะหลุดพ้นไปจากกรงของความคิดอย่างถาวร ดังนั้นการจะทำในขั้นนี้ได้คุณต้องฝึกสมาธิมาให้ดีถึงระดับหนึ่งก่อน เพราะมันต้องใช้สมาธิมาก จะว่อกแว่กง่ายๆไม่ได้ มันอาจจะใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี

     ในขั้นที่สี่นี้ เมื่อเกิดความกลัวขึ้น แทนที่คุณจะถอยออกมาสังเกตความกลัว แต่ให้คุณถอยกลับลงไปลึกกว่านั้น คือให้คุณหันจากความกลัวซึ่งเป็นความคิด (thought) ไปมองอีกทางหนึ่ง คือมองไปที่ผู้คิดกลัว (the thinker)

     “ใครกันนะ ที่กลัว”

     คือเมื่อเกิดความกลัวขึ้น แทนที่จะไปสนใจความกลัว เฝ้ามองความกลัวอย่างผู้สังเกตจากภายนอก ไม่หงะ คราวนี้ผมจะไม่ให้คุณสนใจความกลัวหรือเนื้อหาสาระของความกลัวซึ่งเป็นเพียงความคิดอีกต่อไปแล้ว แต่ให้คุณมองหาผู้คิด มองหา “ฉัน” ผู้เป็นต้นตอที่กุความคิดนี้ขึ้นมา มองหาอย่างค้นคว้าสืบสวน มองไปทั้งในร่างกาย ในสมอง ในหน้าอก ในอากาศ มองหาแบบจะต้องเจอกันให้ได้ว่าเจ้าคนต้นคิดหรือ the thinker ตัวดีอยู่ที่ไหน หน้าตาเป็นอย่างไร คุณลองไปพยายามทำขั้นนี้อย่างจริงจังสักหลายๆเดือนดูก่อน มีความคิดขึ้นมาเมื่อไหร่ มองหาผู้คิด ทำอยู่อย่างนี้แหละ พบเห็นอะไรแล้วค่อยมาคุยกัน

     การคุยกันต่อจากนี้จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อคุณได้ทำขั้นที่สี่นี้จนมีประสบการณ์โชกโชนแล้ว จึงค่อยมาคุยกันว่าการจะเดินต่อจากนี้ไปต้องทำอย่างไร การจะพยายามคุยกันเพื่อเอาไอเดียหรือคอนเซ็พท์ล่วงหน้าแล้วหากเห็นเข้าท่าแล้วค่อยไปปฏิบัตินั้นไม่มีประโยชน์ เพราะในขั้นนี้ทุกอย่างเป็นเรื่องต่อยอดบนประสบการณ์ ไม่มีประสบการณ์ก็บ๋อแบ๋ พูดกันให้ตายก็บ๋อแบ๋ คุยกันให้ตายก็ไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าคุณมีประสบการณ์ ได้ทำตามที่ผมบอกมาโชกโชนแล้วหากมันติดไปต่อไม่ได้ มันยังพอคุยกันได้ ถึงตอนนั้นหากได้ทำจริงและมันติด คุณค่อยหาเวลามาเข้าค่าย Spiritual Retreat ซึ่งครั้งต่อไปคือ SR7 จะมีช่วง 30 กย. – 2 สค.

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

จดหมายจากท่านผู้อ่าน

การค้นหา The Thinker ในขั้นที่ 4 น่าจะเป็นเรื่องยากสำหรับปุถุชนคนสามัญไหมครับ?
เพราะตัว”จิต”ที่ทำหน้าที่เป็น ผู้รู้ ผู้ดู ผู้เห็น นี้ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีขอบเขต ไม่มีที่ตั้ง ต่างกับ ความกลัว ความโกรธ ความรัก ความชอบ ความเกลียด ซึ่งเป็น “อาการของจิต” ที่คนทั่วไปสามารถ”เห็น”ได้
(ความเห็นส่วนตัว ผิดพลาดประการใดต้องขออภัยครับ)

……………………………………..
ตอบครับ
เห็นด้วยครับ แต่ที่ให้ค้นหาก็เพื่อให้เกิดประสบการณ์ “หาเท่าไหร่ก็ไม่พบ” นี่แหละ เพราะการหาจนทั่วแล้วไม่พบ ก็จะได้เรียนรู้จากการหานั้น เหมือนเจ้าบ้านเดินหาขโมยที่เชื่อว่าซ่อนอยู่ในบ้าน หาไปทั่วบ้านเท่าไหร่ก็ไม่พบ แต่จังหวะหนึ่งที่เดินผ่านกระจกเงา ก็ได้พบภาพสะท้อนของตัวเอง

………………………………………….