Latest

กินโปรไบโอติก (บักเตรี) ป้องกันกระดูกพรุนได้นะ

เรียนคุณหมอสันต์ที่นับถือ
ดิฉันอายุ 74 ปี ไปตรวจสุขภาพประจำปีแล้วหมอบอกว่ามวลกระดูกอยู่ในย่านสีแดงต้องทานยารักษากระดูกพรุน ได้ยาชื่อ Fosamax มาทาน ทานได้สี่เดือนแล้วก็มีปัญหากรดไหลย้อนซึ่งหมอรักษากรดไหลย้อนอยากให้หยุดยา หมอฟันก็บอกว่ายานี้จะทำให้กระดูกกรามเปื่อยยุ่ยซึ่งฟังดูน่ากลัวมาก หมอกระดูกแนะนำว่าประโยชน์ของยามีมากกว่าผลข้างเคียงซึ่งมีโอกาสเกิดน้อย ให้ทานยาต่อไป แต่ดิฉันถอดใจไม่อยากทานยาแล้ว ขอปรึกษาว่ามีทางเลือกอื่นอย่างไรบ้างคะ

…………………………………………………….

ตอบครับ

ข้อมูลที่ให้มามันออกแนวบ้านๆไปหน่อยนะ อย่างข้อมูลกระดูกพรุน ผมอยากรู้ว่าคะแนนมาตรฐานกระดูกพรุน (T-score) ได้กี่คะแนน ไม่ใช่แค่บอกผมมาว่าผลตรวจได้เป็นสีแดง แต่เอาเถอะเนื่องจากไม่มีเวลาถามกลับไปกลับมาผมจะเดาเอาว่าคุณได้คะแนนต่ำกว่า -2.5 ซึ่งเป็นเกณฑ์วินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคกระดูกพรุนก็แล้วกัน

     ก่อนจะตอบคำถามของคุณ เดี๋ยวผมจะลืม ขอเล่าให้ฟังแทรกตรงนี้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ที่มหาลัยกูเธนเบิร์ก (สวีเดน) ได้ทำการวิจัยแบบแบ่งกลุ่มสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบโดยเอาหญิงสูงอายุ (เฉลี่ย 76 ปี) มา 90 คน ตรวจความแน่นของมวลกระดูกของทุกคนไว้ก่อน แล้วเอาทุกคนมาจับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินอาหารเสริมที่เรียกว่าโปรไบโอติก (Probiotics) (ซึ่งประกอบด้วยบักเตรีที่เป็นมิตรชื่อ Lactobacillus reuter 6475 อยู่ในแคปซูล) ทุกวัน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งให้กินแคปซูลใส่แป้งธรรมดาโดยไม่มีบักเตรี โดยไม่มีใครรู้ว่าตัวเองได้กินบักเตรีจริงหรือหลอก ทำการวิจัยนานหนึ่งปี แล้วตรวจมวลกระดูกของทุกคนซ้ำ พบว่ากลุ่มที่กินบักเตรีโปรไบโอติกมีอัตราการสูญเสียมวลกระดูกไปตามอายุช้ากว่ากลุ่มที่กินยาหลอกถึง 50% โดยที่ทั้งสองกลุ่มไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือท้องเสียจากยาแตกต่างกันเลย งานวิจัยในคนครั้งนี้เป็นงานสืบเนื่องต่อจากงานวิจัยในหนูทดลองก่อนหน้านี้ที่พบว่าบักเตรีโปรไบโอติกมีผลเพิ่มความแน่นของมวลกระดูกในหนูได้ ผลวิจัยในคนครั้งนี้นับเป็นความรู้ใหม่ของวงการแพทย์และเป็นการเปิดทางเลือกในการป้องกันกระดูกพรุนในหญิงสูงอายุให้มีทางเลือกอื่นมากกว่าการกินยารักษากระดูกพรุนซึ่งมีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารมาก

     โปรไบโอติกนี้มีขายตามร้านขายยาและร้านอาหารสุขภาพในชื่อการค้าต่างๆ ยี่ห้อไหนก็ได้ส่วนใหญ่จะใส่บักเตรีที่ดีหลายชนิดรวมทั้ง lactobacillus และ bifidobacillus ด้วย หรือจะกินนมเปรี้ยวก็จะได้บักเตรีในกลุ่ม lactobacillus เช่นกัน

      เอาละ คราวนี้มาตอบคำถามของคุณ ถามว่าถ้าไม่กินยารักษากระดูกพรุนจะมีทางเลือกอื่นไหม ตอบว่าผมแนะนำให้ทำดังนี้

     1. ให้กินบักเตรีโปรไบโอติกทุกวัน ด้วยเหตุผลตามงานวิจัยข้างต้น

     2. ให้กินอาหารที่มีกากมาก โดยเฉพาะถั่ว กินแยะๆ เพื่อให้มีปริมาณบักเตรีที่เป็นมิตรในลำไส้มาก

     3.  ต้องป้องกันการลื่นตกหกล้ม เพราะเหตุที่แท้จริงของกระดูกหักคือการลื่นตกหกล้ม วิธีป้องกันทำได้โดย

     3.1 ต้องออกกำลังกาย ซึ่งต้องออกกำลังกายทั้งสามแบบ ดังนี้

    แบบที่ 1. แบบสร้างแรงอัดกระดูก (weight bearing exercise) ซึ่งหมายถึงการทำตัวให้กล้ามเนื้อและกระดูกได้ทำงานต้านแรงโน้มถ่วงขณะที่ขาและเท้าหยั่งรับน้ำหนักตัวไว้ เช่น เดินเร็ว วิ่งจ๊อกกิ้ง ขึ้นลงบันได้ รำมวยจีน เต้นรำ เป็นต้น

     แบบที่ 2. การเล่นกล้ามหรือฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนืัอ (strength training) เป็นการออกกำลังกายแบบให้กล้ามเนื้อแต่ละกลุ่มได้ออกแรงซ้ำๆๆไปจนล้า เช่นยกน้ำหนัก ดึงสายยืด โยคะ พิลาทีส กายบริหาร เป็นต้น

     แบบที่ 3. การฝึกการทรงตัว (balance exercise) ซึ่งเป็นการฝึกประสานสายตาและหูชั้นในให้ทำงานร่วมกับกระดูกและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการทรงตัว เช่นเอาถ้วยกาแฟที่ใส่กาแฟด้วยวางบนศีรษะแล้วออกเดินแกว่งแขน เป็นต้น

     3.2 ประเมินความปลอดภัยของบ้านแล้วแก้ไขเสีย เช่น ไม่มีราวจับในห้องน้ำก็ติดเสีย ไม่มีแผ่นกันลื่นในห้องน้ำก็วางเสีย พื้นพรมที่ฉีกขาดหลุดลุ่ยเผยอก็แก้ไขเสีย หลอดไฟที่แยงตาก็ย้ายเสีย

     3.3 พยายามลดและเลิกยาที่เพิ่มความเสี่ยงของการพลัดลื่นตกหกล้มไปเสียให้หมด เช่นยาแก้ปวดที่ผสมสารกลุ่มมอร์ฟีน ยากันชัก ยาจิตเวช ยานอนหลับ ยาต้านซึมเศร้า และระมัดระวังให้มากๆกับการใช้ยาลดความดันเลือดไม่ให้ขนาดยามากเกินความจำเป็น ถ้ามีอาการลุกแล้วหน้ามืดต้องลดยาความดันลง

     3.4 ถ้ามีความผิดปกติของสายตา เช่นสายตายาว สายตาสั้น เป็นต้อกระจก ก็แก้ไขเสีย

     3.5 คอยดูแลตนเองอย่าให้ร่างกายอยู่ในสภาพขาดน้ำ เพราะจะทำให้ความดันตกเมื่อเปลี่ยนท่าร่างจนล้มลงได้

     3.6 ฝึกท่าร่างให้ตรงอยู่เสมอ ยืดหน้าอก แขม่วพุงให้เป็นนิสัย อย่าปล่อยให้หลังคุ้มงอ เพราะจะทำให้เสียการทรงตัวและล้มง่าย

     3.7 ฝึกสติ วางความคิด ทำใจให้ปลอดความกังวล โดยเฉพาะการมัวกังวลว่าจะลื่นตกหกล้มจะนำไปสู่ความเผลอแล้วพาลทำให้ลื่นตกหกล้มจริงๆ ที่ถูกคือต้องฝึกสติให้แหลมคม ตื่นรู้ ระแวดระวัง จิตใจปลอดโปร่ง อยู่กับปัจจุบันขณะทุกท่วงท่าอริยาบถ ไม่เผลอ 

     4. ต้องแน่ใจว่าตัวเองไม่ขาดวิตามินดี. ถ้าวิถีชีวิตชอบออกแดดก็มั่นใจได้ว่าไม่ขาดวิตามินดี. เพราะแหล่งของวิตามินดี.ก็คือแสงแดด แต่ถ้าไม่แน่ใจให้ตรวจเลือดดูระดับวิตามินดี. ถ้าต่ำก็ต้องออกแดดมากขึ้น ไม่ต้องกลัวมะเร็งผิวหนัง เพราะนั่นเป็นความกลัวสำหรับฝรั่ง ซึ่งมีอุบัติการณ์มะเร็งผิวหนัง 1 ใน 40 แต่สำหรับคนไทยเรามีอุบัติการณ์เป็นมะเร็งผิวหนังเพียง 1 ใน 30,000 ซึ่งต่ำกว่ากันแยะจนไม่ต้องไปกังวลถึง แต่ถ้ากลัวออกแดดแล้วจะไม่สวย ก็ทานวิตามินดี.เสริม เช่นวิตามินดี.2 ครั้งละ 20,000 IU เดือนละ 2 ครั้ง ก็เพียงพอ ไม่ต้องทานถี่ทุกวันก็ได้ เพราะวิตามินดี.ร่างกายกักตุนได้ ผมสนับสนุนให้คนที่ไม่ยอมออกแดดที่มีระดับวิตามินดีต่ำและเป็นโรคกระดูกพรุนให้ทานวิตามินดีเสริม เพราะอย่างน้อยก็มีหลักฐานจากหนึ่งงานวิจัยว่าการทานวิตามินดี.เสริมลดการเกิดกระดูกหักในหญิงสูงอายุลงได้

     5. ต้องกินอาหารที่ดีและมีแคลเซียมเพียงพอ เพราะแคลเซียมจากอาหารเป็นวัตถุดิบสำคัญในการเสริมกระดูกใหม่แทนกระดูกเก่า อาหารอุดมแคลเซียมได้แก่ ผัก ผลไม้ ในกรณีที่จะดื่มนมเพื่อเอาแคลเซียมก็อย่าดื่มมากเกินวันละ 2 แก้ว เพราะงานวิจัยพบว่าคนที่ดื่มนมมากกว่าวันละสองแก้วจะเกิดกระดูกหักในวัยชรามากกว่าคนที่ดื่มนมน้อยกว่าวันละสองแก้ว ส่วนการกินแคลเซียมเป็นเม็ดนั้นไม่จำเป็น เพราะไม่มีหลักฐานว่าทำให้กระดูกหักน้อยลงแต่อย่างใด หากจะกินแคลเซียมชนิดเม็ด ต้องไม่กินมากเกินไป เพราะมีหลักฐานว่าการกินแคลเซียมแบบเป็นเม็ดมากเกินไปทำให้เป็นนิ่วมากขึ้น และเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากขึ้น

     6. ถ้าสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์จัด ให้เลิกเสีย เพราะทั้งสองอย่างทำให้กระดูกพรุน

     7. ถ้ามีโอกาสเข้ารพ.อีกครั้งควรเจาะเลือด CBC ดูเม็ดเลือดว่ามีภาวะโลหิตจางหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องสืบค้นต่อไปถึงระดับเหล็ก (ferritin) เพื่อวินิจฉัยแยกโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และดูระดับโฮโมซีสเตอีน เพื่อวินิจฉัยแยกโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี. 12 ซึ่งพบบ่อยในผู้สูงอายุ ถ้าขาดก็รักษาเสีย เพราะโลหิตจางเป็นเหตุของการลื่นตกหกล้มด้วย

     นอกจากนี้ไหนๆเข้ารพ.แล้ว ให้เจาะเลือดตรวจดูเคมีของเลือด ทั้งการทำงานของตับ ของไต ของต่อมไทรอยด์ และดูระดับสารเกลือแร่รวมทั้งแคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และวิตามินดี. ถ้าพบความผิดปกติก็อาจจะต้องดูไปถึงระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ เพราะโรคกระดูกพรุนส่วนหนึ่งเกิดจากฮอร์โมนพาราไทรอยด์ต่ำ ถ้าพบก็รักษาเสีย

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม
1. Anna G. Nilsson, Daniel Sundh, Fredrik Bäckhed, Mattias Lorentzon. Lactobacillus reuteri reduces bone loss in older women with low bone mineral density – a randomized, placebo-controlled, double-blind, clinical trial. Journal of Internal Medicine, 2018; DOI: 10.1111/joim.12805
2. Granacher U, Gollhofer A, Hortobágyi T, Kressig RW, Muehlbauer T (2013) The importance of trunk muscle strength for balance, functional performance and fall prevention in seniors: a systematic
review. Sports Med 43(7):627–641
3. Sherrington C, Whitney JC, Lord SR, Herbert RD, Cumming RG, Close JC (2008) Effective exercise for the prevention of falls: a systematic review and meta-analysis. J Am Geriatr Soc 56(12):
2234–2243
4. Choi M, Hector M (2012) Effectiveness of intervention programs in preventing falls: a systematic review of recent 10 years and metaanalysis. J Am Med Dir Assoc 13(2):188.13–188.e21
5. Reid IR, Bolland MJ (2012) Calcium supplements: bad for the heart? Heart 98(12):895–896 33.
6. Bolland MJ, Grey A, Avenell A, Gamble GD, Reid IR (2011) Calcium supplements with or without vitamin D and risk of cardiovascular events: reanalysis of the Women’s Health Initiative limited access dataset and meta-analysis. BMJ 19:342 34.
7. Moyer VA, U.S. Preventive Services Task Force (2013) Vitamin D and calcium supplementation to prevent fractures in adults: U.S. Preventive Services Task Force recommendation statement. Ann Intern Med 158(9):691–696
8. Cosman F, de Beur SJ, LeBoff MS, Lewiecki EM, Tanner B, Randall S, Lindsay R; National Osteoporosis Foundation.. Clinician’s Guide to Prevention and Treatment of Osteoporosis. Osteoporos Int. 2014 Oct;25(10):2359-81. doi: 10.1007/s00198-014-2794-2. Erratum in: Osteoporos Int. 2015 Jul;26(7):2045-7.
……………………………………………..