Latest

ความสนุกที่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง สำคัญกว่าตัวชี้วัด

สวัสดีค่ะคุณหมอสันต์
ชื่อ … เคยเข้าแคมป์ RD3พร้อมสามี ดิฉันเป็น caregiver ค่ะ  เมื่อเดือนเมษายน2561 พ่อของดิฉันอายุ 68 ปี สูง 173 น้ำหนัก83 ไม่ได้ทานยาใดๆ ไม่สูบบุหรี่ และ ไม่ดื่ม มีอาการปวดหลัง กลุ้มใจเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองว่าปฏิบัติตัวตามหมอที่ร.พ บอกให้ทำ คือออกกำลังกาย เดินทุกเช้า วันละ 45 นาที ทานผักต้มเป็นอาหาร กินผลไม้ เป็นเวลาหลายปีสุขภาพไม่เห็นจะดีขึ้น มีแต่ค่าดัชนี 7ตัวสูงขึ้น  ถ้าไปพบหมอคราวนี้ในวันที่ 20 มิถุนายน 2561 หมอตัองให้กินยาแน่ๆ พ่อไม่อยากกินยาค่ะ ดิฉันอยู่ต่างประเทศจึงกลับมาดูกิจวัตรประจำวัน ว่าพ่อทานอาหารอะไร ออกกำลังกายแบบไหน  ดิฉันบังคับให้พ่อทำตามวิธีของดิฉัน แลัวค่าดัชนี 7 ตัว จะลดลงแน่นอน พูดไปแบบนั้นเพื่อให้พ่อมีความมั่นใจ แต่ดิฉันก็ยังระแวงว่า ถ้าไม่ลด จะเสียหน้าค่ะ
ก่อนที่ดิฉันจะกลับมาดูแลพ่อ ก็ให้พ่อเตรียมตัวเตรียมใจกับวิธีที่ดิฉันเลือกให้ โดยให้อ่าน บทความของคุณหมอสันต์ เลือกเรื่องที่เหมาะสม เช่น การรักษาเบาหวานด้วยตนเอง  เรียนรู้การพลิกผันโรคเรื้อรังจากคุณมนสักย์  การปั่นน้ำผักผลไม้  และอื่นๆ  โดย ปริ้นทออกมาให้อ่านเหมือนตำราเรียนเลยค่ะ และให้ออกกำลังกายแบบ Strength training เพื่อดิฉันกลับมาจะไปเข้า Fitness ด้วยกันค่ะ และให้อ่านหนังสือ ดร. ทอม วุู ซื้อเครื่องปั่น Vitamix ให้ทาน COq10  30 mg  และดื่มชาโสมเกาหลีค่ะ งดทานอาหารที่แพ้

เริ่มโปรแกรมในวันที่ 23 พ.ค 61 ค่ะ พ่อดื่มน้ำปั่นวันล่ะ 3 ขวด ขวดล่ะ 300ml ทุกเช้าเดินรอบหมู่บ้าน 45 นาที เข้าฟิตเนส บ่าย2-4 โมงเย็น  วิ่ง 30 นาที บนลู่วิ่ง  หลังจากนั้น เทรนเนอร์จะสอนการออกกำลังกล้ามเนื้อ  โดยเล่นเครื่องเล่นต่างๆ  ดิฉันก็ไปด้วยกับพ่อค่ะ เพื่อให้พ่อคุ้นเคยกับสถานที่ หยุดพัก เสาร์-อาทิตย์ค่ะ อาหารของพ่อทั้งสามมื้อ เป็นผักผลไม้ 80% ไปพบหมอที่ร.พ วันที่ 20 มิ.ย 61
ผลตรวจเลือดเป็นดังนี้ค่ะ

                            21 เม.ย 61                     20 มิ.ย 61
น้ำหนัก                         82.5                             80
ความดัน                      135/90                      125/80
Cholesterol                 193                           164
Triglycerides                225                            83
HDL                              43                             46
LDL                              137                           109
HbA1C                          6.7                            6.4
HbA1C(IFCC)               49                              46
FBS                              143                            113

ผลเลือดฉบับเต็มคุณหมอสันต์ดูจาก ไฟล์ที่แนบไปให้นะค่ะ ผลเลือดเป็นที่น่าพอใจของคุณหมอที่ร.พ อย่างยิ่งเลยไม่ได้รับยาค่ะ พ่อก็ดีใจ ลูกๆ ก็ดีใจ

ปัญหาที่สงสัยคือ ​ภายใน 30 วัน​Triglycerides  จาก 225mg/dl ลดเหลือ 83 mg/dl
                         ​                     ​ FBS              จาก 143         ลดเหลือ   113 mg/dL
จะเป็นอันตรายต่อร่างกายไหมค่ะ กลัวพ่อวูบ นะค่ะ ควรเพิ่มการออกกำลังกายแบบ Balance exercise เมื่อไรดีค่ะ ขอคำแนะนำด้วยค่ะ
ขอบคุณมากค่ะ

……………………………………………..

ตอบครับ

     จดหมายฉบับนี้ไม่ได้มีสาระอะไรมาก แต่ผมเอามาลงให้แฟนบล็อกได้อ่านเพื่อ (1) ให้เห็นความสำคัญของผู้ดูแลหรือ caregiver ว่ามันมีผลต่อสุขภาพของผู้สูงอายุมากมายเพียงใด นั่นประการหนึ่ง (2) ให้เห็นผลของการปรับเปลี่ยนสไตล์การใช้ชีวิตว่ามันมีผลต่อสุขภาพในคนจริงๆตัวเป็นๆได้ในเวลาอันสั้นเพียงสองเดือนได้ นั่นอีกประการหนึ่ง และ (3) เพื่อให้เห็นความโชคดีของคนมีลูกสาว นั่นอีกประการหนึ่ง นึกภาพผมแก่แล้วมีลูกสาวมาพาเดินรอบหมู่บ้านตอนเช้า แล้วพาไปโรงยิมตอนบ่าย ฮู้ย..ย มันน่าจะสุขใจยามแก่จนตายไม่ลงหรือเปล่านี่ สมัยหนุ่มๆตัวหมอสันต์เองก็เคยใฝ่ฝันจะมีลูกสาวนะ ตั้งชื่อไว้รอแล้วว่าเธอจะชื่อ “ดวงตะวัน” หมายความว่าลูกสาวของหมอสันต์จะแจ่มจรัสเหมือนดวงตะวันที่ให้แสงสว่างและพลังงานแก่โลกใบนี้ แต่เมื่อตัวจริงออกมาเป็นลูกชาย หมอสันต์ก็..โอเค้. โอเค. ไม่เคยต่อว่าอะไรพระเจ้าหรอก เพราะที่พระเจ้าท่านให้มานี้ก็ช่างเป็นลูกชายที่ครบสามสิบสองน่ารักน่าชังและฉลาดเสียเหลือเกินไม่มีที่ติ แต่เมื่อแก่ตัวแล้ว ความอยากมีลูกสาวเก่าๆเดิมๆก็ยังไม่หายไปไหน จนต้องแอบไปจิ๊กลูกสาวของคนอื่นมาเป็นลูกสาวของตัวเอง ดังนั้นท่านที่มีลูกสาวเป็นของตัวเองดิบดีอยู่แล้วโดยไม่ต้องไปจิ๊กของใครมาผมก็ขอแสดงความยินดีด้วย

     มาตอบคำถามของคุณดีกว่า

     1. ถามว่าระดับไตรกลีเซอรไรด์ต่ำลงพรวดพราดอันตรายไหม ตอบว่าไม่อันตรายครับ ไตรกลีเซอไรด์ก็เป็นของเขาอย่างนี้แหละ บัดเดี๋ยวพรวดต่ำ บัดเดี๋ยวพรวดสูง ประเด็นสำคัญคือไตรกลีเซอไรด์ไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจนะ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากไขมันเลว (LDL) ไตรกลีเซอไรด์เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ซึ่งหลักฐานวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าความเสี่ยงนั้นจะมีอย่างมีนัยสำคัญหากไตรกลีเซอรไรด์สูงเกิน 1000 ขึ้นไป แต่วงการแพทย์ (NCEP) ตกลงกันว่าถ้าไตรกลีเซอไรด์สูงเกิน 500 ก็น่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง หมายถึงต้องให้ยา นี่เป็นการเกี้ยเซี้ยกันในที่ประชุมโดยเพิกเฉยต่อหลักฐานวิทยาศาสตร์ ซึ่งหมอสันต์ไม่เห็นด้วยเลย หมอสันต์มีความเห็นว่าหากไตรกลีเซอไรด์สูงไม่เกิน 1,000 ไม่ควรให้ยาใดๆทั้งสิ้น ส่วนไตรกลีเซอไรด์ต่ำนั้นไม่ได้มีปัญหาอะไรครับ ตราบใดที่แคลอรี่ที่กินยังพอใช้ การใช้ค่าไขมันในเลือดเพื่อลดความเสี่ยงของโรคหัวใจนี้ ให้ใช้ค่าไขมันเลว (LDL) เพียงตัวเดียว เพราะมันเป็นตัวเดียวที่เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการปรับเปลี่ยนอาหาร พฤติกรรม และขนาดของยาลดไขมัน เรียกว่าเรื่องไขมันนี้ LDL ตัวเดียวก็พอแล้ว ไม่ต้องยุ่งกับตัวอื่นเลย

     2. ถามว่าหลังเปลี่ยนอาหาร น้ำตาลในเลือดหล่นจาก 143 ลงมาเหลือ 113 มีอันตรายจากน้ำตาลในเลือดต่ำไหม ตอบว่าไม่มีครับ เป็นการลดจากย่านเป็นโรคเบาหวานซึ่งต้องใช้ยา มาอยู่ในย่านที่ใกล้จะเป็นเบาหวานซึ่งไม่ต้องใช้ยา

     คำว่าน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) นี้วงการแพทย์นิยามว่าคือภาวะที่น้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 mg/dl ร่วมกับมีอาการเช่น หิว เปลี้ย เหงื่อแตก สับสน มึนงง ชัก หรือตายกะทันหัน อาการชักหรือตายกะทันหันมักเกิดในกรณีที่ใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดอยู่แล้วอยู่ๆไม่ได้กินอาหารแบบกะทันหัน ส่วนคนทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดหรือไม่มีเนื้องอกผิดปกติ การจะเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำถึงชักแด๊กๆหรือตายนั้นโอกาสเกิดขึ้นแทบไม่มี

     สำหรับคนที่กินอาหารเนื้อสัตว์อยู่เป็นประจำแล้วเปลี่ยนมางดเนื้อสัตว์กะทันหัน หากกินยาลดน้ำตาลในเลือดอยู่ ควรลดยาลงก่อนที่จะเปลี่ยนอาหาร แต่หากไม่ได้กินยาลดน้ำตาลในเลือดอยู่ สามารถเปลี่ยนอาหารได้ทันที โดยยอมรับว่าอาจมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำแบบเบาๆได้ในช่วงแรกที่ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ซึ่งก็แก้ได้ง่ายๆโดยการกินอาหารว่างมื้อเล็กๆเช่นถั่วหรือนัทอบไม่ใส่เกลือไม่ใส่น้ำตาลแทรกเข้าไปเมื่อมีอาการ หลังจากนั้นสองสามวันเมื่อร่างกายคุ้นเคยแล้วอาการดังกล่าวก็จะหมดไป

     3. ผมขอตอบสิ่งที่คุณไม่ได้ถามหน่อย คือการไม่ควรไปโฟกัสที่ตัวชี้วัดผลเลือดมากเกินไป ในการจะเปลี่ยนตัวเองไปสู่การมีสุขภาพดีนั้น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตคือการกิน การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด มีความสำคัญมากที่สุด เมื่อเปลี่ยนได้สำเร็จแล้ว การกระตุ้นตัวเอง (self motivation) เพื่อธำรงรักษาพฤติกรรมใหม่ให้ยั่งยืนมีความสำคัญมากที่สุด นั่นหมายความว่าต้องโฟกัสที่การทำให้การเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นเรื่องสนุก เป็นเรื่องทำได้เรื่อยๆไม่มีเบื่อ อย่าไปโฟกัสที่ตัวชี้วัดคือผลเลือดแล้วเอาแต่ดีใจเสียใจไปกับผลเลือดจนลืมเรื่อง self motivation ผลเลือดเป็นเพียงอุปกรณ์สนับสนุนให้กำลังใจ (back up) ห่างๆ แต่อย่าไปฝากชีวิตไว้ที่ตรงนั้น มันไม่ใช่กัลยาณมิตร จิตใจที่มุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลงตัวเองสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอๆต่างหากที่เป็นกัลยาณมิตรที่แท้จริง 

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์