Latest

การรับมือกับมะเร็ง

ผมอายุ 72 ปี ตอนนี้กำลังเป็นมะเร็งสำไส้ใหญ่ หมอกำลังให้เคมีบำบัดและรังสีรักษา แล้วมีแผนว่าจะผ่าตัด ตอนนี้มีอาการปวดค่อนข้างมาก ผมอยากปรึกษาคุณหมอสันต์ว่า
1. ผมควรจะกินอย่างไร กินอะไรบ้าง
2. ผมกินอะไรก็กลืนไม่ค่อยลงและสำลักและไอบ่อย หมอและลูกๆคะยั้นคะยอให้ใส่สายยางให้อาหารตรงลงกระเพาะ ผมควรจะใส่ไหม
3. ผมควรจะรับมือกับอาการปวดอย่างไร
4. คุณหมอสันต์มีอะไรจะแนะนำผมอีกไหมครับ
ขอขอบพระคุณคุณหมอสันต์มากครับ

……………………………………

ตอบครับ

     1. ถามว่าคนเป็นมะเร็งควรกินอย่างไร ผมตอบตามคำแนะนำ (Guidelines) ของสมาคมมะเร็งอเมริกัน (ACS) ซึ่งได้ออกคำแนะนำมาตรฐานให้ผู้ป่วยมะเร็งกินอาหารดังนี้

     1.1 จำกัดการทานเนื้อสัตว์ในรูปแบบไส้กรอก เบคอน แฮม (processed meat) และจำกัดการทานเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (red meat) เช่นเนื้อหมูเนื้อวัว ให้เหลือน้อยที่สุด (แปลว่าไม่กินได้ยิ่งดี)

     1.2 ทานผักและผลไม้ให้มากๆเข้าไว้ อย่างน้อยวันละสองถ้วยครึ่ง

        ในแง่ของการทานผักผลไม้ให้มากๆนี้ หมอสันต์แนะนำเพิ่มเติมว่านานๆครั้งให้หาผักพื้นบ้านแปลกๆหาทานยากๆอย่างละนิดอย่างละหน่อยรวมทั้งเห็ดต่างๆตามฤดูกาลมาทานสดบ้างปั่นบ้างตามสะดวก เพราะการได้ธาตุที่หายากและที่ร่างกายใช้น้อย (trace element) ซึ่งมักมีแต่ในพืชเท่านั้น น่าจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานดีขึ้น นี่เดาเอานะ แต่อย่างน้อยหมอสันต์ก็มีหลักฐานระดับเรื่องเล่า คือตัวอย่างเมียของเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ทำตัวอย่างนี้แล้วอยู่มาได้เกินยี่สิบปี คือเธอจะไปตลาดบ้านนอกทุกเช้าแล้วซื้อผักทุกอย่างที่ชาวบ้านเขาทานกันมาทานสดบ้างต้มบ้างอย่างละนิดอย่างละหน่อยๆ เธอบอกว่ารุ่นเดียวกันที่นั่งรอหมออยู่ที่คลินิกที่สวนดอกไปกันหมดแล้ว เหลือเธอคนเดียว

     1.3 ทานธัญพืชไม่ขัดสี (เช่นข้าวกล้องหรือขนมปังโฮลวีท) แทนธัญพืชขัดสี

     1.4 ทานอาหารในปริมาณพอดีไม่ทำให้อ้วน ถือหลักผอมไว้เป็นดี แต่อย่าผอมจนผิดปกติ (อย่าให้ดัชนีมวลกายต่ำกว่า 18.5) เพราะขณะที่ความอ้วนสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งมากขึ้น แต่ถ้าผอมเกินไปก็จะอ่อนแอสะง็อกสะแงก ทำกิจกรรมประจำวันลำบาก ชีวิตไม่มีคุณภาพ

     1.5 ถ้าดื่มแอลกอฮอล์อยู่ให้จำกัดไม่เกินวันละ 1-2 ดริ๊งค์

     1.6 ให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอด้วย คือออกกำลังกายถึงระดับหนักพอควร (หอบแฮ่กๆร้องเพลงไม่ได้) สัปดาห์ละ 150 นาที หรือหนักมาก (พูดไม่ได้) สัปดาห์ละ 75 นาที โดยทะยอยออกแบบกระจายตลอดสัปดาห์ ร่วมกับหาโอกาสทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากกว่าชีวิตประจำวันปกติบ่อยๆ

     2. ถามว่าถ้าเป็นมะเร็งแถมทานอาหารไม่ค่อยได้จะทำอย่างไร ตอบว่าควรหันไปใช้วิธีเลือกเอาอาหารอุดมคุณค่ามาปั่นรวมกันด้วยเครื่องปั่นความเร็วสูงโดยไม่ทิ้งกากหรือส่วนดีๆใดๆเลยดื่ม เพราะงานวิจัยในเนอร์ซิ่งโฮมได้ผลสรุปว่าเป็นวิธีช่วยให้ผู้ป่วยได้อาหารครบถ้วนพอเพียงมากขึ้น มีโอกาสขาดอาหารน้อยลง ประเด็นสำคัญคือเครื่องปั่นต้องเป็นเครื่องปั่นความเร็วสูงเกิน 30,000 รอบต่อวินาที จะได้ปั่นทุกอย่างให้เหลวเป็นฝุ่นหรือเป็นน้ำได้หมดโดยไม่ต้องทิ้งกากหรือไม่ต้องมีเม็ดกากเหลือให้ต้องเคี้ยวอีก

     3. ถามว่าในกรณีที่ดื่มน้ำผักผลไม้ปั่นแล้วดื่มไม่ได้ เพราะชอบไอ ชอบสำลัก ควรทำอย่างไร ตอบว่าให้หาทางทำอาหารไม่ให้แข็งจนเคี้ยวยาก ไม่ให้เหลวจนเป็นน้ำ คือทำให้มันหนืดๆนุ่มๆไม่ต้องใช้ฟันเคี้ยวและกลืนง่ายดีด้วย วิธีทำก็คือต้องไปหาซื้อแป้งชนิดหนึ่งมา (ผมเห็นขายในญี่ปุ่นและอเมริกา แต่ผมไม่เคยเห็นในเมืองไทย แต่น่าจะมีขาย คุณไปหาเอาเองนะ) แล้วปั่นอาหารผักผลไม้ให้เหลวเป็นน้ำแล้วเอาแป้งแบบนี้ปริมาณนิดหน่อยคลุกๆๆกับอาหารปั่นนั้นแล้วคนๆๆจนมันหนืดๆนุ่มๆแล้วก็ตักกิน จะลื่นคอดีมากและกลืนได้ง่ายไม่สำลักเลย

     เรื่องที่หมอและลูกๆแนะนำให้ใส่สายยางให้อาหารนั้น คุณจะเชื่อใครก็แล้วแต่คุณนะครับ แต่หมอสันต์แนะนำว่าอย่าใส่สายนี้เป็นอันขาดตราบใดที่คุณยังกลืนอาหารได้เองแม้จะกลืนได้แบบลุ่มๆดอนๆก็อย่ายอมใส่สายนี้ เคี้ยวไม่ไหวไม่เป็นไร ปั่นเอาได้ แต่ที่คนเราจะกลืนไม่ได้เลยนี้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เฉพาะคนไข้หลังอัมพาตแบบหนักๆเหน่งๆเท่านั้นที่จะกลืนไม่ได้ แค่คุณยังกลืนได้อยู่ ดังนั้นอย่าใส่สายนี้นะ

     ไหนๆก็พูดถึงเรื่องนี้แล้วขอถือโอกาสสั่งเสียเรื่องตัวเองหน่อยนะ เป็นการบอกให้ลูกเมียรู้เจตนาด้วย คือถ้าหมอสันต์ป่วยเป็นอะไรแล้วออกอาการกินน้อยหรือกินไม่ได้ ถ้าตัวหมอสันต์เองไม่ได้สั่ง ห้ามลูกเมียยอมให้ใครใส่สายให้อาหารทางจมูกตรงเข้ากระเพาะอาหารผมเป็นอันขาดนะ ผมกลัวเจ้าสายนี้มากเลย เพราะถ้าผมจะกินผมจะกินของผมเอง ไม่ต้องมายัดเยียด ถ้าผมหยุดกินก็หมายความว่าผมเตรียมตัวตายแล้ว เพราะธรรมชาติของสัตว์ทุกขนิดเวลาใกล้ตายเขาจะหยุดรับอาหารก่อนนานหลายวัน งานวิจัยบอกว่าการอดอาหารจะทำให้การตายราบเรียบเงียบสบายยิ่งขึ้นเพราะมีสารเอ็นดอร์ฟินออกมาช่วย พร้อมที่จะตายเมื่อไหร่ผมก็จะบอกลาทุกๆคนแล้วเลิกกินน้ำกินอาหาร ผมต้องการแบบนี้ ผมไม่ต้องการให้ผู้หวังดีมาใส่อาหารแบบบายพาสให้โดยที่ผมไม่ได้ตั้งใจจะกิน เพราะทำแบบนั้นหากผมอยากจะตายก็ตายไม่ได้สักที ชีวิตฉากสุดท้ายที่ผมควรจะกำกับได้ด้วยตัวเองก็จะมีอันป่นปี้เสียหายหมด แบบน้้นผมไม่เอา

     4. ถามว่าจะรับมือกับอาการปวดจากมะเร็งได้อย่างไร ตอบว่าให้ใช้วิธีถอยออกมาเป็นผู้สังเกตอย่างไม่ยึดถือเกี่ยวพัน (detached awareness) ซึ่งมีวิธีฝึกปฏิบัติเป็นขั้นตอน คือ

     ขั้นที่ 1. ตั้งต้นที่มุมมองปัจจุบันก่อน ให้คุณมองสิ่งทั้งหลายรอบตัว ฟัง สัมผัส มองให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายรอบตัวนอกร่างกายคุณนั้นมันไม่ใช่คุณ มันเป็นสิ่งที่ถูกคุณเฝ้ามอง (the observed) โดยตัวคุณหรือ “ฉัน” เป็นผู้เฝ้ามอง (the observer) แล้วให้คุณมองให้เห็นนะว่าสิ่งนอกตัวคุณนั้นมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่คุณยังอยู่ที่นี่ ในร่างกายนี้ อยู่มาตั้งเกิดแล้ว สิ่งที่อยู่ในตัวฉันนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ดังนั้นสิ่งที่อยู่นอกร่างกายไม่ใช่ฉัน แต่สิ่งที่อยู่ในร่างกายนี้เป็น “ฉัน”

     ขั้นที่ 2. คราวนี้ให้คุณถอยความสนใจจากสิ่งแวดล้อมภายนอกมาสนใจเฉพาะที่ร่างกายของคุณ โดยเฉพาะอวัยวะรับรู้ของคุณเองอันประกอบด้วย ตา หู ผิวหนัง เป็นต้น คุณมองดูอวัยวะรับรู้ของคุณนะ มองดูนี่ผมหมายความว่าให้รับรู้ว่ามีมันอยู่ มันกำลังทำงานอยู่ ไม่จำเป็นต้องเอาตาไปมองจริงๆหรอก ให้คุณมองให้เห็นว่าตาก็ดี หูก็ดี มันไม่ใช่ผู้ดูหรือผู้ฟังหรือผู้สังเกตปรากฎการณ์ภายนอกที่แท้จริงนะ ผู้สังเกตที่แท้จริงคือใจของคุณ ซึ่งอาจจะอยู่ที่ไหนสักแห่งในร่างกายนี้แหละ สมมุติว่าอยู่ในหัวสมองหรืออยู่ในหน้าอกก็ได้ตามถนัด ใจคือผู้สังเกตที่แท้จริง แค่อาศัยตาและหูและผิวหนังเป็นเครื่องมือในการสังเกตเท่านั้น มองให้เห็นว่าอวัยวะรับรู้และร่างกายนี้ไม่ใช่ “ฉัน” หรือผู้สังเกตตัวจริงนะ ใจของคุณต่างหากที่เป็น “ฉัน” หรือเป็นผู้สังเกตตัวจริง ให้คุณลงมือทำจริงๆ จนเห็นจริงตามนี้นะ

     การสังเกตร่างกายนี้ หมายความรวมถึงการสังเกตอาการปวดบนร่างกายด้วย สังเกต รับรู้ แต่ไม่เข้าไปมีหุ้นหรือมีส่วนร่วม (detachment) ปวดก็รู้ว่าปวด รับรู้ตั้งแต่มันเกิดขึ้น มันยังอยู่ แล้วมันหายไป เอาความสนใจไปลาดตระเวณรอบๆที่ปวด แล้วก็ชะแว้บเจาะเข้าไปอยู่ในใจกลางของความปวด แบบอยู่ด้วยอะ ขอทำความรู้จักหน่อยนะ เป็นเพื่อนกันนะ ไม่ขับไล่ มาแอบดูเฉยๆ ขยันพูดกับตัวเองดังๆว่า

     “ฉันไม่ใช่ร่างกาย”

     “I am not the body”

     ขั้นที่ 3. คราวนี้คุณถอยความสนใจของคุณถอยร่นจากตา จากหู จากผิวหนังหรือจากร่างกายที่กำลังปวด ไม่ต้องสนใจร่างกายแล้ว ถอยเข้ามาสู่ภายในยิ่งขึ้น มาสนใจสิ่งที่คุณเรียกว่า “ใจ” เพียงอย่างเดียว สิ่งที่เราเรียกว่าใจนี้ก็คือความคิด (thought) ซึ่งหากจะแยกย่อยออกไปมันก็อาจมาในรูปแบบของอารมณ์ (emotion) และความรู้สึก (feeling) แต่ทั้งหมดนั้นก็คือความคิดนั่นแหละ ให้คุณลองจับเอาตรงที่ใดที่หนึ่งมาเป็นตัวอย่างนะ เอาที่ความรู้สึกหงุดหงิดก็แล้วกัน คุณมีความหงุดหงิดเพราะไม่สบอารมณ์กับอาการปวดที่ไม่หาย แต่คุณหงุดหงิดเรื่องอะไรไม่สำคัญนะ สาระของความคิดที่ทำให้คุณหงุดหงิดหรือโกรธไม่สำคัญ แต่ประเด็นอยู่ที่..ความโกรธหรือความหงุดหงิดเป็นเพียงปรากฎการณ์ที่คุณสังเกตดูมันได้

          ตัวความโกรธเป็นความคิด มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มันไม่ใช่คุณ ตั้งใจมองให้ดีนะ ความโกรธเป็นความคิด มันเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสังเกต ตัวมันสังเกตตัวมันไม่ได้หรอก มันไม่ใช่ “ฉัน” ตัวจริง เพราะตัวมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่มีผู้สังเกตอีกผู้หนึ่งแอบสังเกตมันอยู่ ผู้สังเกตผู้นั้นนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง ผู้สังเกตผู้นั้นแหละเป็น “ฉัน” ตัวจริง คุณเคยแต่จมอยู่ในความคิด (thinking a thought) แต่ผมกำลังสอนให้คุณสังเกตความคิดของคุณ (aware of a thought) โดยอาศัยความสนใจเป็นเครื่องมือ ให้คุณขยันพูดกับตัวเองดังๆว่า

     “ฉันไม่ใช่ความคิด”

     “I am not the mind”

     ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญนะคุณ คุณใจเย็นๆลองทำแล้วลองทำอีก จนคุณเห็นความแตกต่างระหว่างความคิด กับการสังเกตความคิด มองให้ออกว่าร่างกายที่เจ็บปวดไม่ใช่คุณ ความคิดไม่ใช่คุณ ความกลัวไม่ใช่คุณ หากคุณมาถึงขั้นนี้ได้ ไม่จมหรือกอดอยู่ในความคิด แต่ถอยออกมาสังเกตอยู่ข้างนอก ความคิดของคุณ ไม่ว่าจะมาในรูปความคาดหวัง (expectation) หรือความกลัว (fear) จะแผ่วหรือหมดพลังทันที เพราะความคิดโดยตัวมันเองมันไม่มีพลังดอก มันได้พลังจากความสนใจ (attention) ของคุณ

      การที่คุณถอยจากสิ่งภายนอก จากร่างกาย จากความคิด เข้ามาเป็นผู้สังเกตอยู่ที่ส่วนลึกสุดในความเป็นคุณนี้ คือคุณตื่นแล้วจากการจมอยู่ในความคิด หรือคุณกลายเป็นความตื่น ผมบอกคุณว่าตรงความตื่นที่ไม่มีความคิดนี้แหละคือความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย เป็นที่ที่คุณจะได้พบกับความสงบเย็น ที่นี่ เดี๋ยวนี้ โดยไม่อยู่ในมิติของเวลา เรื่องราวภายนอกที่คุณสังเกตรวมทั้งร่างกายและความคิดด้วยไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป เป็นเพียงสิ่งที่คุณสังเกตรับรู้ว่ามันกำลังเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของมัน แต่คุณในฐานะความตื่นยังอยู่ แบบตื่น รู้ สบายๆ เป็นนิรันดร ไม่เปลี่ยนแปลง

     คุณอย่าแค่ฟังผมพูดแล้วคิดตามแล้วพยักหน้าหงึกๆเหมือนเมื่อได้ยินได้ฟังคอนเซ็พท์ใหม่ๆทั้งหลาย แค่นั้นมันไร้ประโยชน์ ถ้าคุณจะให้ได้ประโยชน์ คุณต้องลงมือทำตามที่ผมบอก ทำไป พยายามไป แล้วคุณก็จะทำได้ มันไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการหลุดพ้นหรือความตื่นนี้มันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของเราที่อยู่กับเรามาตั้งแต่ก่อนที่เราจะมารู้จักความคิดเสียอีก ทั้งหมดนี้เป็นแค่การกลับบ้านเก่า ไม่ใช่การแสวงหาหรือค้นพบอะไรใหม่ ขอให้ลองทำดูก่อน อย่าเอาแต่คิดตาม ย้ำ..ลงมือทำ อย่าเอาแต่คิดตาม

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1.  Kushi LH1, Doyle C, McCullough M, Rock CL, Demark-Wahnefried W, Bandera EV, Gapstur S, Patel AV, Andrews K, Gansler T. American Cancer Society Guidelines on nutrition and physical activity for cancer prevention: reducing the risk of cancer with healthy food choices and physical activity. CA Cancer J Clin. 2012 Jan-Feb;62(1):30-67. doi: 10.3322/caac.20140.