Latest

หนูไม่เข้าใจโจทย์การใช้ชีวิต

(หมอสันต์คุยกับ fc ท่านหนึ่งใน spiritual Retreat)

Q: หนูไม่เข้าใจโจทย์การใช้ชีวิต

หมอสันต์: ชีวิตเป็นของง่าย สนุก สร้างสรรค์ และมีความเป็นอัตโนมัติอยู่ในที คุณแค่ปล่อยให้ทุกอย่างมันเวอร์คของมันเองแทนที่จะไปพยายามทำให้มันเวอร์ค แล้วคุณก็จะพบว่าชีวิตนี้น่ารื่นรมย์

Q: จากจุดที่หนูเป็นอยู่นี้ จะเริ่มต้นได้อย่างไรละคะ

หมอสันต์: ก็เริ่มกับอะไรก็ตามที่ถูกจริตคุณนั่นแหละ เริ่มที่ตรงนั้น ทิ้งอารมณ์ลบใดๆไปเสีย ทำสิ่งที่ชอบ ให้ชีวิตมีแต่ความตื่นเต้น ความรักเมตตา การสร้างสรรค์

Q: หนูก็อยากจะทิ้งความคิดลบมาคิดแต่บวกนะคะ แต่ก็เห็นอยู่ว่าบางคนกำลังทิ่มแทงเราอยู่อย่างจงใจ

หมอสันต์: คนอื่นจะมีพฤติการต่อคุณอย่างไรไม่สำคัญ แต่คุณรับรู้แล้วตีความและสนองตอบอย่างไรนั่นแหละสำคัญ สถานะการณ์ข้างนอกไม่สำคัญ แต่สถานะของใจของคุณต่างหากที่สำคัญ อย่าลืมว่าสถานะการณ์ทุกสถานะการณ์ที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นแบบไม่มีความหมายนะ มันเกิดขึ้นแบบเป็นกลางๆ แต่ใจของเราไปให้ค่าให้ความหมายแก่มันเอง ให้คุณเรียนรู้ที่จะมองให้เห็นทุกอย่างจากมุมมองที่โปร่งใส มองเห็นด้วย clarity มองให้เห็นตามที่มันเป็น see it as it is และสนองตอบออกไปอย่างสร้างสรรค์ การสนองตอบต่อสิ่งเร้าของคุณจะเป็นตัวกำหนดความเป็นไปในชีวิตของคุณ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเกิดขึ้น “เพราะ” คุณ ไม่ใช่เกิดขึ้น “ต่อ” คุณ

Q: แม้ว่าคนอื่นเขาจะร้ายต่อเราอย่างไรก็ตามหรือคะ

หมอสันต์: อย่าไปคิดถึงคนอื่น ตัวคุณเป็นคนเดียวที่คุณจะต้องคิดถึง ชีวิตมีแค่เดี๋ยวนี้ซึ่งดำรงอยู่แค่แป๊บเดียวเอง ถ้ามัวไปคิดถึงคนอื่นคุณก็หมดโอกาสได้ใช้ชีวิตของคุณเสียแล้ว การที่คุณคิดจะเผื่อแผ่สิ่งดีๆให้คนอื่นก็ดี หรือคิดแก้ไขคนอื่นก็ดี มองผิวเผินเป็นเจตนาที่ดี แต่ขอให้มันแผ่ออกไปจากการที่คุณประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตของคุณเองให้มีความสุขแล้วคนอื่นเขามาเรียนรู้จากคุณเอาเองดีกว่า ไม่ใช่คุณไปยัดเยียดให้เขาทั้งๆที่คุณเองก็ยังเอาตัวไม่รอด 

    การที่คุณบีบให้คนอื่นเชื่อความเชื่อหรือไอเดียของคุณ แสดงว่าคุณไม่เชื่อในความเชื่อหรือไอเดียของคุณเอง การบังคับคนอื่นเป็นการแสดงออกถึงความเชื่อว่าคุณกำลังจะร่วงลงหลุมจึงต้องลากคนอื่นร่วงลงไปด้วยเพราะคุณไม่กล้าร่วงไปคนเดียว ตราบใดที่คุณยังรู้สึกว่าคุณถูกโดดเดี่ยว นั่นคือความไม่เชื่อว่าคุณเป็นหนี่งเดียวกับจักรวาลนี้ ถ้าคุณไม่ไว้ใจจักรวาลนี้ คุณก็ไม่กล้าปล่อยวางทุกอย่างจากการควบคุมและการปกป้องตนเองของคุณ ตราบใดที่คุณไม่ปล่อยวาง ตราบนั้นคุณก็ยังไม่เป็นอิสระ

Q: หนูเคยลองปล่อยวางแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความล้มเหลวเละตุ้มเป๊ะ

หมอสันต์: ชีวิตไม่มีล้มเหลว ความกลัวล้มเหลวมีจุดกำเนิดที่เราตั้งเอาอะไรเป็นเป้าหมายของชีวิต ถ้าคุณไปเอาเหตุการณ์เล็กๆเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเป็นเป้าหมายของชีวิต คุณก็ต้องอยู่กับความกลัวล้มเหลวไปตลอดชีวิต เพราะเหตุการณ์ใดๆก็ตามในชีวิตของคนเรานี้เราควบคุมมันได้ซะที่ไหนละ แต่ถ้าคุณวางเป้าหมายไว้ว่าจะหลุดพ้นจากกรงความคิดของคุณไปสู่ศักยภาพอันไร้ขีดจำกัด ทุกเหตุการณ์ในชีวิตก็จะกลายเป็นแบบฝึกหัดพัฒนาคุณไปสู่เป้าหมาย คุณไม่มีวันล้มเหลว มีแต่เรียนรู้และพัฒนาใกล้เป้าหมายเข้าไปทุกวัน

Q: ยังไงเสีย ใจมันก็ยังกลัว

หมอสันต์: สิ่งที่ควรกลัวมีแต่ความกลัวเท่านั้น เพราะในชีวิตนี้ไม่มีอะไรที่จะสร้างเหตุการณ์ลบขึ้นมาได้นอกจาก (1) ความกลัว (2) ความสงสัย และ (3) ความเชื่อว่าคุณขาดนั่นขาดนี่

     ผมจะบอกเคล็ดลับของชีวิตให้นะ ความจริงคือเหตุการณ์นอกตัวไม่ได้สร้างความเชื่อ แต่ความเชื่อภายในเป็นตัวสร้างเหตุการณ์ในชีวิตขึ้นมาก่อน แล้วเหตุการณ์นั้นก็จะไปจะตอกย้ำความเชื่อให้หนักแน่นยิ่งขึ้น วนเวียนเป็นวงจรชั่วร้ายอยู่อย่างนี้ เมื่อใดก็ตามที่คุณเปลี่ยนความเชื่อของคุณได้..คือเลิกกลัวซะ ประสบการณ์จริงกับสิ่งนอกตัวของคุณก็จะเปลี่ยนไป ผมรับประกันกับคุณได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้เสมอ

Q: คุณหมอกำลังจะบอกว่า..เรากลัวอะไรเราจะได้สิ่งนั้น

หมอสันต์: ใช่ แล้วกลไกการเกิดมันก็ไม่ได้ซับซ้อน มันเป็นฟิสิกส์ง่ายๆตรงไปตรงมาแบบว่ากริยาทำให้เกิดปฏิกริยา ผมอธิบายตรงนี้หน่อยนะ สิ่งที่คุณเรียกว่าความเป็นจริงทางกายภาพหรือความเป็นจริงนอกตัว แท้จริงก็คือภาพฉายหรือ projection ของใจของคุณ ที่ฉายออกไปข้างนอกรอบตัวสามร้อยหกสิบองศา ออกไปปรากฎเป็นความหลอนอยู่ที่ข้างนอก แล้วอายตนะของคุณก็รับเอาความหลอนนั้นกลับมาสร้างเป็นบุคลิกหรือความเป็นบุคคล (persona) ของคุณขึ้นมา แต่ละความเชื่อแต่ละเพอร์โซน่าจึงเป็นเหมือนแท่งแก้วปริซึม ซึ่งจะเปลี่ยนสีขาวของจักรวาลนี้ให้เป็นสีรุ้งของสิ่งที่คุณเรียกว่า “ความเป็นจริงนอกตัว” ที่คุณจับต้องมองเห็นได้ ถ้าความเชื่อของคุณเปลี่ยนไป ก็เหมือนคุณสร้างปริซึมแบบใหม่ที่เปลี่ยนมุมตกกระทบของจักรวาลให้สะท้อนออกเป็น “ความเป็นจริงนอกตัว” ในสีอื่นๆแบบอื่นๆได้อีกหลายแบบ ดังนั้น ที่คุณหลงคิดว่าความเป็นจริงเหล่านั้นมันอยู่นอกตัวคุณ แท้จริงแล้วมันออกไปจากข้างในตัวคุณ คือมันฉายออกไปจากใจของคุณ

Q: มันจะออกไปจากใจเราได้ยังไงละคะ ในเมื่อเราไม่เคยควบคุมสิ่งภายนอกได้เลย

หมอสันต์: มันก็ฉายผ่านความกลัวหรือความเชื่อของคุณออกไปไง ถ้าคุณเชื่อว่าสิ่งที่ปรากฎขึ้นนั้นคุณไม่ได้ทำให้เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็จะดูเหมือนเป็นไปตามกฎของโอกาสเป็นไปตามยถากรรม คุณก็จะไปเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่ถ้าคุณเห็นทะลุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณส่วนใหญ่เป็นผลจากใจของคุณสร้างมันขึ้นมาเอง คุณก็จะเปลี่ยนแปลงมันได้

Q: อาจารย์ชอบพูดถึงจักรวาล ฟังแล้วไม่รู้เรื่อง

หมอสันต์: ผมต้องขอโทษด้วย มันเป็นสิ่งที่อยู่พ้นภาษาผมจึงไม่มีศัพท์ให้เลือกใช้ คุณจะให้ผมเรียกมันว่าอะไรละ เต๋า สุญญตา นิพพาน ปัญญาญาณส่วนลึก ความรู้ตัว พระเจ้า จักรวาล จะเรียกมันว่าอะไรก็ได้ สิ่งที่คุณรู้ว่ามันมีอยู่ แม้จะมองไม่เห็น ฟังไม่ได้ยิน จับต้องไม่ได้ แต่คุณรู้ว่ามันมีอยู่ อย่างเช่นความคิดงี้ มันมีอยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างหากต่อยย่อยละเอียดลงไปจนถึงที่สุดแล้วมันล้วนไปอยู่ในสถานะเดียวกันสถานะหนึ่งซึ่งไม่มีชื่อเรียก ผมจึงเรียกมันง่ายๆว่าจักรวาล ซึ่งทุกชีวิตแชร์หรือใช้ร่วมกัน การที่เรามองให้เห็นว่าทุกชีวิตมีรากมาจากที่เดียวกัน ทำให้เราเลิกหลงเชื่อว่าความเป็นบุคคลของเรานี้แยกส่วนออกมาต่างหากจากจักรวาล ทำให้เราไม่รู้สึกว่าโดดเดี่ยวเพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมดไม่ได้แยกส่วน ทำให้เราเปิดรับและไว้ใจจักรวาลนี้โดยไม่ต้องมาเคร่งเครียดระมัดระวังว่าคนอื่นสิ่งอื่นจะมาคอยทิ่มแทงทำลายตัวเราที่แยกส่วนออกมา ทำให้เรามีความรักความเมตตาต่อชีวิตอื่นโดยอัตโนมัติเพราะเขากับเราล้วนมีรากเป็นอันเดียวกัน

Q: เรื่องการอยู่กับปัจจุบัน หนูก็ไม่เข้าใจ

หมอสันต์: เวลาเป็นมุมมองที่ขึ้นอยู่กับจุดที่คุณใช้มองมัน อุปมาเหมือนการดูภาพยนตร์ สมัยผมเป็นเด็กอยู่บ้านนอก น้าเขยผมทำโรงหนัง ผมชอบไปดูหนังทั้งแบบนั่งดูแบบผู้ชมทั่วไป ทั้งแบบเข้าไปเกะกะในห้องฉาย ถ้าผมนั่งดูหนังแบบผู้ชม ผมจดจ่ออยู่กับภาพบนจอ ผมเห็นแต่เดี๋ยวนั้นของภาพยนต์เรื่องนั้น ซึ่งเป็นภาพหลอนที่เกิดจากการร่อนเฟรมทีละเฟรมในฟิลม์ผ่านหน้าหลอดฉายภาพให้ดูเหมือนเหตุการณ์กำลังเกิดขึ้นต่อเนื่องกัน แต่พอผมเข้าไปคลุกอยู่ในห้องถ่าย สมัยนั้นเครื่องฉายชอบติด คนคุมต้องคอยเอามือลากฟิลม์ออกมาคลี่แล้วป้อนเข้าไปหาหลอดภาพ หากมองภาพยนต์จากมุมนี้ ผมเห็นฟิลม์หนังทีละหลายๆเฟรมพร้อมกันในมือของคนฉาย ทำให้ผมเห็นเหตุการณ์ที่ต่อคิวเกิดขึ้นตามลำดับก่อนหลังได้พร้อมกันเดี๋ยวนั้น จัดว่าเป็นมุมองต่อเวลาในแบบที่กว้างขึ้น คือเห็นทั้งปัจจุบันและอนาคตพร้อมกัน แต่ถ้าหนังติดตุงนัง คนฉายจะหยุดฉายชั่วคราวแล้วลากฟิลม์หนังทั้งม้วนออกมาวางเกลื่อนอยู่บนโต๊ะเพื่อค่อยๆม้วนกลับเข้ารีลใหม่ ตอนนี้ผมจะเห็นทุกเฟรมของหนังเรื่องนั้น เห็นเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบว่ามีอยู่แล้วพร้อมหน้ากัน ณ ที่นั่น เดี๋ยวนั้น เหลือแต่ว่าผมจะเลือกมองเลือกเอาตรงไหนเป็น “ปัจจุบัน” ของหนังเรื่องนั้นเท่านั้น

     เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตคนเราก็เป็นอย่างนี้ คือทุกเหตุการณ์มีอยู่แล้ว ดำรงอยู่แล้วตรงหน้าคุณพร้อมกันอยู่แล้วที่เดี๋ยวนี้ ถ้าคุณมีขีดความสามารถที่จะมองได้แคบแค่วงที่ขีดโดยความจำในอดีตของคุณ คุณก็จะเห็นแต่ฉากที่อยู่ตรงหน้าอย่างที่คุณเห็นโลกในวันนี้ เปรียบได้กับผมเห็นภาพยนต์ที่กำลังฉายอยู่บนจอ แต่ถ้าคุณมีขีดความสามารถที่จะมองได้กว้างขึ้น คุณก็จะเห็นเหตุการณ์หลายๆเหตุการณ์ที่คุณจะเลือกหยิบอันไหนมาเป็นปัจจุบันของคุณก็ได้ เปรียบได้กับตอนที่ผมมองม้วนหนังทั้งเรื่องคลี่เกลื่อนอยู่บนโต๊ะ

     เปรียบอีกอย่างหนึ่งความเป็นจริงที่อายตนะของคุณรับรู้ได้นี้ก็เหมือนการที่คุณฟังวิทยุ สถานีวิทยุนับร้อยที่ต่างก็มีรายการของตัวเองและแข่งกันออกอากาศตลอดเวลา แต่คุณได้ยินเฉพาะสถานีที่คุณจูนเข้าไปฟังเท่านั้น ทุกสถานีเขาออกอากาศของเขาอยู่แล้ว คุณจูนไปที่หนึ่งก็ได้ยินคลื่นหนึ่ง มันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะจูนไปฟังคลื่นไหน แต่ทุกคลื่นออกอากาศอยู่แล้วที่นี่เดี๋ยวนี้พร้อมกัน

Q: ถ้างั้นส่วนที่เรามองไม่เห็น รับรู้ไม่ได้ หรือไม่ได้จูนคลื่นฟ้ง มันไปอยู่เสียที่ไหนละ

     มันก็อยู่ในใจคุณนี่แหละ ใจส่วนที่เรียกกันว่า “จิตใต้สำนึก” หรือ “ความจำ” นั่นไง ส่วนนี้มันเหมือนห้องที่จัดทำขึ้นเพื่อเก็บข้อมูลไว้รอคิวให้จิตสำนึกกลั่นกรองและหยิบขึ้นมาใช้ทีละอย่าง แบบว่า one thing at the time ดังนั้นจิตใต้สำนึกจึงเป็นผลจากการมีชีวิตอยู่ในสมมุติของเวลา เมื่อใดก็ตามที่คุณเริ่มรู้ว่าคุณเป็นความรู้ตัวเพียงอันเดียวที่ขยายการรับรู้ออกไปได้ไม่สิ้นสุด เส้นแบ่งระหว่างจิตใต้สำนึกและจิตสำนึกก็จะหายไป เวลาก็จะไม่มี เหลือแต่ปัจจุบันที่นี่เดี๋ยวนี้ คุณอยากรู้อะไรก็รู้ได้ทันทีทั้งหมด

     การที่ความสนใจของคุณอยู่ที่ปัจจุบัน อยู่ที่เดี๋ยวนี้ เป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้กลไกเลือกหยิบปัจจุบันของคุณนี้ดำเนินไปได้ ถ้าคุณไปอยู่ในอดีตหรือในอนาคต หมายถึงว่าคุณไปอยู่ในความคิด คุณก็หมดโอกาสจะเลือกเอาปรากฎการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่แล้วที่ตรงหน้ามาเป็นชีวิตของคุณ เพราะปัจจุบันเป็นโมเมนต์เดียวที่คุณดำรงอยู่และเลือกได้ แต่ถ้าคุณไม่อยู่ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่ามีโอกาสอะไรมาถึงคุณให้คุณหยิบฉวยใช้ประโยชน์ได้บ้าง ผู้ที่จะทำหน้าที่เลือกแทนคุณก็คือจิตใต้สำนึกหรือความจำของคุณนั่นแหละ ซึ่งแน่นอนมันก็จะเลือกจากความกลัวหรือจากความเชื่อที่คุณฝังหัวตัวเองเอาไว้ ความกลัวก็คือความเชื่อว่าสิ่งร้ายๆจะเกิดขึ้นกับคุณในอนาคต หมายความว่าถ้าคุณไม่อยู่ที่ปัจจุบันเพื่อทำหน้าที่เลือก ความกลัวนั่นแหละจะเป็นผู้กำหนดชีวิตจริงให้คุณ

Q: แล้วที่อาจารย์บอกให้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ในชีวิตจริงจะรู้ได้อย่างไรว่าเราชอบอะไร

หมอสันต์: ให้คุณหมั่นสังเกตจดจำว่าอะไรที่ถูกจริตหรือทำให้คุณตื่นเต้นยินดีหรือลิงโลด (excite) มากที่สุดในชีวิต คุณมี passion กับอะไร ความตื่นเต้นหรือดีใจจนเนื้อเต้นกับสิ่งใดเป็นสัญญาณบอกว่าสิ่งนั้นแหละเป็นสิ่งที่คุณจะทำสำเร็จได้ง่ายและฉลุยที่สุดในชีวิต คลื่นความถี่นั้นหรือการสั่นสะเทือน (vibration) ระดับนั้นแหละเป็นสัญญาณบ่งบอกมาทางร่างกายว่าสิ่งนั้นเป็นวิถีที่ชีวิตคุณเลือกที่จะมาทำจะมาเป็น ดังนั้นเมื่อคุณตามความตื่นเต้นนี้ไป ก็เท่ากับคุณได้เลือกวิถีที่เป็นหนึ่งเดียวกับคลื่นความสั่นสะเทือนของคุณ ให้คุณทำสิ่งนั้น ตามความตื่นเต้นหรือความชอบหรือความถูกจริตนี้ไป จดจ่ออยู่กับการทำสิ่งที่ชอบนี้ โดยไม่ต้องไปหวังว่าผลลัพท์มันจะเป็นอย่างไร หรือถ้าจะหวังก็หวังว่าผลลัพท์มันจะเป็นศูนย์ไว้ก่อน focus on process, zero result เหมือนคนทำงานอดิเรก ทำแค่เอาสนุก ไม่สนใจผลลัพท์ แล้วชีวิตคุณก็จะมีความสุข คุณไม่ต้องห่วงเรื่องผลลัพท์ แล้วผลลัพท์มันจะออกมาดีเอง ถ้าคุณอยากจะหลุดพ้นจากความคิดของคุณเองไปสู่อิสรภาพ คุณไม่ต้องไปตั้งเป้าแล้วคอยประเมินว่าคุณจะหลุดหรือยัง จะหลุดเมื่อไหร่ อย่างนี้คุณไม่มีวันหลุด เพราะการคาดหวังก็คือการทิ้งปัจจุบันไปอยู่ในอนาคต คุณมีแต่จะห่างเป้าออกไปทุกที แต่ถ้าคุณโฟกัสที่การวางความคิด ถอยออกมาเป็นผู้สังเกต โฟกัสที่ตรงนี้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เมื่อเงื่อนไขสุกงอม คุณก็หลุดพ้น

Q: ทำไมอาจารย์ชอบพูดถึง vibration

หมอสันต์: ก็เมื่อเราพูดถึงสิ่งที่ไม่ได้เป็นสสารที่จับต้องได้ มันก็เป็นพลังงานถูกแมะ เมื่อเราพูดถึงสสารเราจำแนกตามรูปทรง น้ำหนัก และขนาด แต่เมื่อพูดถึงพลังงานเราจำแนกกันตามคลื่นความถี่ของการสั่นสะเทือนหรือ vibration คือทุกอย่างที่จับต้องไม่ได้เป็นคลื่นหมด รวมทั้งแสง เสียง หรือถ้าจะว่าตามหลักวิทยาศาสตร์จริงๆแล้วแม้สิ่งที่แข็งโป๊กจนจับต้องได้เช่นก้อนหินและต้นไม้ก็ประกอบขึ้นมาจากคลื่น คือคลื่นในโครงสร้างขนาดเล็กอย่างอะตอมซึ่งเกิน 99.9% เป็นช่องว่างที่มีแต่คลื่นความสั่นสะเทือนอยู่ ทุกชีวิตก็คือคลื่นความสั่นสะเทือนที่มีชีวิต หมายความว่ามีจิตหรือความสามารถรับรู้ ข้อมูลความรู้ก็เป็นคลื่นความสั่นสะเทือนซึ่งดำรงอยู่เป็นคลังสากลที่เข้าถึงได้โดยทุกชีวิตและส่งไปมาหากันได้ในรูปของคอนเซ็พท์และภาษา ภาษาคือสิ่งที่ถูกแปลงมาจากคลื่นเสียง ซึ่งภาษานี้แหละที่ถูกแปลงต่อมาเป็นความเป็นบุคคลหรืออีโก้ของแต่ละคน ดังนั้นความเป็นบุคคลของคุณ เป็นเพียงความเชื่อหรือเจตคติ-ทัศนคติของคุณที่คุณสร้างเป็นจินตนภาพขึ้นมาว่านี่คือ “ฉัน” สาระของความเป็นคุณมีอยู่แค่นี้เอง คือเป็นแค่ความคิดไม่ได้มีสารัตถะอะไรมากกว่านี้เลยจริงๆ..เชื่อผม

Q: แล้วเราจะเอาเรื่อง vibration นี้ไปใช้ประโยชน์อะไรได้

หมอสันต์: อ๊าว..ว ก็ใช้ได้ในแง่ที่ว่าความเป็นบุคคลของคุณนี้มันไม่ใช่ของจริงไง้ มันเป็นเพียงจินตภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาในใจคุณโดยอาศัยตรรกะของคอนเซ็พท์และภาษา ดังนั้นคุณจึงไม่ควรหลงยึดติดหรือปกป้องความเป็นบุคคลของคุณจนชีวิตมีแต่ความกลัว..กลัวจนไม่เป็นอันใช้ชีวิต ชีวิตของจริงมันเป็นคลื่นความสั่นสะเทือนที่ไล่ลึกลงไปแล้วล้วนมีรากมาจากสิ่งเดียวกันและเชื่อมโยงถึงกันหมดในรูปของคลื่นพื้นฐานของจักรวาล ให้คุณเปลี่ยนมุมมองชีวิตเสียใหม่ว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลนี้โดยแยกไม่ออกจากชีวิตอื่นๆทุกชีวิต เข้าใจอย่างนี้แล้วเมตตาธรรมก็จะเกิดขึ้นในใจโดยอัตโนมัติ เมื่อจิตมีเมตตา ความตื่นเต้นยินดีที่จะช่วยเหลือและความโอนอ่อนผ่อนปรนก็จะตามมา นี่คือมุมมองชีวิตที่จะตอบโจทย์การใช้ชีวิตให้คุณพ้นทุกข์จากความกลัวหรือความพยายามจะปกป้องความเป็นบุคคลของคุณได้

Q: แล้วชีวิตมีแค่เนี้ยเหรอ เกิดมาแล้วตายไป

หมอสันต์: คุณเป็นคนจำพวกไหนละ ถ้าคุณเป็นคนจำพวกที่มองชีวิตว่าเหตุการณ์เล็กๆเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งในชีวิตนี้คือเป้าหมายของชีวิต ชีวิตก็มีแค่นี้แหละ เกิดมา กิน นอน ขับถ่าย สืบพันธ์ แล้วก็ตายไป

     แต่ถ้าคุณเป็นจำพวกที่มองว่าแต่ละโมเมนต์ในชีวิตนี้เป็นเพียงบันไดที่ใช้เหยียบขึ้นไปสู่ความหลุดพ้นจากกรงความคิดของตัวเอง ไปสู่ความมีศักยภาพไม่จำกัด ชีวิตก็คือการเติบโตจากลูกนกตัวโล้นๆไปเป็นนกที่มีขนเต็มตัว full-fledged แล้วบินได้ มันเป็นชีวิตที่สนุกสนานและมีความหมายกว้างไกลไร้ขอบเขต

     ถ้าคุณมองนก คุณพอจะบอกได้ใช่ไหมว่าการจะไปถึงมีขนเต็มตัวแล้วบินได้มันเป็นอย่างไร แต่กับการเป็นคน คุณบอกได้หรือเปล่าว่าการจะไปให้สุดศักยภาพของความเป็นคนนี้มันไปได้ไกลแค่ไหน นี่ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหา คือมนุษย์เราส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าความเป็นมนุษย์นี้มีศักยภาพแค่ไหน เปรียบเหมือนถ้านกตัวหนึ่งเกิดมาแล้วมันไม่รู้ว่าปีกนี้ใช้บินได้ มันก็เลยคลานไปบนดินเอาปีกแทนไม้ค้ำยันกะเผลกๆไปมาแล้วก็แก่ตายไป คุณว่าการเกิดมามีชีวิตของนกตัวนั้นมันทุเรศไหมละ ชีวิตของมนุษย์ส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนกตัวนั้น คือไปติดอยู่ในกรงของความเชื่อที่ตัวเองสร้างเป็นจินตนภาพขึ้นมาว่านี่คือความเป็นบุคคลของตน จึงหมดโอกาสที่จะหลุดพ้นจากกรงนี้ออกไปสู่อิสรภาพที่ไร้ความกลัวและมีศักยภาพที่จะทำอะไรสร้างสรรค์ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด

Q: ขอถามคำถามโง่ๆเป็นคำถามสุดท้ายนะคะ แล้วจะหลุดพ้นได้อย่างไร

หมอสันต์: 

    วิธีที่หนึ่ง ทิ้งความคิดไปให้หมด ซึ่งนั่นก็คือการฝึกมีสมาธิ แล้วมองทุกอย่างออกมาจากมุมที่ไม่มีความคิด เป็นมุมที่โปร่งใส clarity หรือเป็นมุมมองจากปัญญาญาณ (intuition) เห็นทุกอย่างตามที่มันเป็นโดยไม่มีความเป็นบุคคลของคุณเข้าไปยุ่ง คุณก็จะหลุดพ้น นี่เรียกว่าเส้นทางหลุดพ้นผ่านสมาธิ หรือเจโตวิมุตติ

     วิธีที่สอง เปิดใจยอมรับเต็มที่ว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลนี้ ยอมรับทุกอย่างที่คุณมีอยู่ ที่คุณเป็นอยู่ หรือที่คุณได้รับอยู่ ณ ที่นี่เดี๋ยวนี้ได้ 100% อย่างไม่มีเงื่อนไข ยอมรับยอมแพ้ทุกอย่าง ให้อภัย เมตตา ไม่ต้องหนีอะไร ไม่ต้องวิ่งหาอะไรอีก คุณก็หลุดพ้นเลยทันที เส้นทางนี้เรียกว่าหลุดพ้นด้วยการไว้วางใจ หรือสัทธาวิมุตติ

     วิธีที่สาม ใช้ตรรกะทางภาษาและเชาว์ปัญญาของคุณเองดึงความสนใจของคุณเองออกจากความคิดมาอยู่กับความรู้ตัว เช่นด้วยการตั้งคำถามต่อความคิดของตัวเองกับตัวเองแล้วตอบคำถามนั้นไปทีละความคิดๆ ถามตอบเพื่อดึงให้ความสนใจของคุณถอยออกมาจากความคิดนั้นกลับเข้ามาอยู่กับความรู้ตัวอันเป็นบ้านของมัน ตั้งคำถามกับทุกความคิด จนความสนใจของคุณผละออกมาจากทุกความคิดได้หมดเกลี้ยง ไม่เหลือความคิดไหนอยู่เลย คุณก็หลุดพ้นได้ เส้นทางนี้เรียกว่าหลุดพ้นด้วยการคิดไตร่ตรองหรือ ปัญญาวิมุตติ

    ทั้งสามวิธีนี้ใช้ผสมปนเปกันไปได้ รายละเอียดของทั้งสามวิธีนี้ คุณรอไปฝึกมีประสบการณ์จริงในห้องเรียนก็แล้วกัน

   นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์