Latest

แมมโมแกรมไม่มีประโยชน์จริงหรือ

เรียนคุณหมอสันต์ที่เคารพ
ดิฉันอายุ 45 ปี กำลังเป็นทุกข์กับการทำหรือไม่ทำแมมโมแกรม ปกติทำทุกปี บางช่วงหมอให้ทำทุก 6 เดือน ที่กลุ้มใจเพราะเพื่อนเอาลิงค์มาให้บอกว่าแมมโมแกรมไม่มีประโยชน์ แถมการบีบเต้านมทำให้เป็นมะเร็งมากขึ้นและทำให้มะเร็งแพร่กระจายมากขึ้น รังสีเอ็กซเรย์ก็ทำให้เป็นมะเร็งมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นความจริงหรือเปล่าคะ ถ้าแมมโมแกรมไม่มีประโยชน์ แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้เป็นมะเร็งเต้านม
เคารพรักคุณหมอค่ะ

………………………………………………..

ตอบครับ

     1. ถามว่าแมมโมแกรมไม่มีประโยชน์จริงหรือไม่ ตอบว่าหากนับว่าประโยชน์ของแมมโมแกรมคือการลดการตายจากมะเร็งเต้านม คำตอบก็คือ “จริงครับ” ผมหมายถึงว่าหากเชื่อตามหลักฐานล่าสุดซึ่งทำวิจัยมาดีมาก แมมโมแกรมไม่มีประโยชน์ในการลดอัตราตายจากมะเร็งเต้านม ส่วนประโยชน์ในแง่อื่น เช่นการวินิจฉัยได้เร็วนั้น ไม่พูดถึงนะ งานวิจัยที่ผมใช้อ้างในการตอบคำถามข้อนี้เป็นงานวิจัยขนาดใหญ่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์อังกฤษ (BMJ) เมื่อสามปีก่อน เขาทำโดยสุ่มตัวอย่างเอาผู้หญิงจำนวนราว 90,000 คน สุ่มแบ่งออกมาแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ทำแมมโมแกรมทุกปี อีกกลุ่มหนึ่งไม่ให้ทำ แล้วตามดูผู้หญิงเหล่านี้ไปจนครบ 25 ปี เพื่อจะลุ้นดูว่าใครจะตายจากมะเร็งเต้านมมากกว่ากัน ผลปรากฎว่า แถ่น..แทน..แท้น..น.. ตายเท่ากัน หิ หิ

     ทำไมละ ทั้งๆที่แมมโมแกรมตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกได้มากกว่าแต่ทำไมท้ายที่สุดแล้วอัตราตายกลับไม่ลดลง ตอบว่าเพราะการวินิจฉัยและรักษามะเร็งนี้มันมีความซับซ้อนลึกซึ้ง แมมโมแกรมมีดีที่ขยันตรวจพบก้อนเล็กก้อนน้อยที่วงการแพทย์เรียกว่ามะเร็งท่อน้ำนมชนิดเจี๋ยมเจี้ยมอยู่ในที่ตั้ง (DCIS) ซึ่งผมมีความเห็นว่าไม่ควรเรียกว่ามะเร็งด้วยซ้ำ เพราะม้นยังไม่ออกฤทธิออกเดชแบบมะเร็งเลย มะเร็งชนิดนี้ไม่ต้องขยันไปยุ่งกับเขาก็ได้ เพราะมันเป็นมะเร็งชนิดไม่ก้าวร้าว และหากตามไปดูแบบไม่ผ่าตัดก็จะพบว่าที่จะกลายเป็นมะเร็งจริงๆมีเพียง 18% เท่านั้นเองหรือน้อยยิ่งกว่านั้นคือแค่ 11% ในประเทศที่ผู้คนกินพืชเป็นอาหารหลัก ส่วนมะเร็งชนิดก้าวร้าวตัวจริงเสียงจริงนั้นแมมโมแกรมตรวจพบไม่ทันดอกครับ เพราะแค่หกเดือนมันก็ไปไหนต่อไหนแล้ว

     2. ถามว่าการบีบนมที่เกิดขึ้นขณะทำแมมโมแกรมจะทำให้เป็นมะเร็งเต้านมหรือทำให้มะเร็งแพร่กระจายจริงไหม ตอบว่าไม่มีใครทราบ ทราบแต่ว่าการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อทุกชนิดทำให้เนื้อเยื่อนั้นมีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น แต่เรายังไม่ทราบหรอกว่าการบาดเจ็บจากการบีบนมขณะทำแมมโมแกรมจะทำให้คนไข้เป็นมะเร็งมากขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์หรือเป็นแล้วแพร่กระจายกี่เปอร์เซ็นต์ มีแต่งานวิจัยในหนูว่าบีบนมหนูที่เป็นมะเร็ง หนูจี๊ดๆนะ แล้วจะทำให้มะเร็งแพร่กระจายมากขึ้น แต่หนูก็คือหนู ไม่เกี่ยวอะไรกับคน งานวิจัยในหนูไม่มีใครเอามาใช้ในคนหรอกครับ ต้องรอการวิจัยในคนก่อน

     3. ถามว่ารังสีเอ็กซเรย์ที่ใช้ทำแมมโมแกรมทำให้เป็นมะเร็งเต้านมได้จริงหรือเปล่า ตอบว่าได้จริงสิครับ ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร ขึ้นชื่อว่าเป็นเอ็กซเรย์แล้วก็ทำให้เป็นมะเร็งได้ทั้งนั้นแหละ เพราะรังสีเอ็กซเรย์เป็นสารก่อมะเร็ง โอกาสที่จะเป็นมีมากหรือน้อยนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นสำคัญก็คือการประเมินอุบัติการของมะเร็งเต้านมเพราะรังสีส่วนใหญ่ทำกันในช่วงเวลาไม่เกิน 15 ปีหลังทำแมมโมแกรม แต่ว่าโอกาสที่รังสีเอ็กซเรย์จะทำให้เป็นมะเร็งได้จากการศึกษาพวกได้รับรังสีด้วยเหตุอื่นนั้นพบว่าใช้เวลายาวนานถึง 20 ปีขึ้นไป ปัจจุบันนี้เรายังไม่มีข้อมูลสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบผลของรังสีต่อเต้านมที่ยาวถึงระดับยี่สิบปีขึ้นไป จึงยังบอกไม่ได้ว่ารังสีเอ็กซเรย์ที่ใช้ในการทำแมมโมแกรมทำให้หญิงเป็นมะเร็งมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึงขั้นจำเป็นต้องเลิกทำแมมโมแกรมหรือเปล่า

     4. ถามว่าถ้าแมมโมแกรมไม่ดี แล้วจะป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งเต้านมได้อย่างไร ตอบว่า อ้าว.. ผมถามคุณกลับหน่อยสิ ทุกวันนี้คุณขับรถ คุณป้องกันอุบัติเหตุบนถนนอย่างไรบ้าง คุณก็ต้องนอนให้เต็ม ไม่ให้ง่วงนอน เรียนรู้ทักษะการขับรถให้คล่อง ดูแลรถให้ดี คาดเข็มขัด ทำตามกฎจราจร ขับรถอย่างมีสติคอยระแวดวะวังสังเกตสังกาไม่ใจลอยหรือมัวแต่จิ้มไอโฟน คุณทำแค่นี้แล้วก็ไม่ต้องไปวอรี่ว่าจะชนใครตายบนถนนได้แล้ว ถูกแมะ แต่ว่ามีใครประกันได้ไหมว่าคุณจะไม่มีวันชนใครตายบนถนนเลย..ไม่มีหรอก แต่คุณไม่วอรี่ เพราะคุณได้ทำดีที่สุดเท่าที่คุณจะป้องกันได้แล้ว แล้วคุณก็ใช้ชีวิตไปได้อย่างมีความสุข อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด

     ฉันใดก็ฉันเพล คุณกล้วเป็นมะเร็งเต้านม คุณก็ใช้ชีวิตให้ดีตามที่ข้อมูลทางการแพทย์มีอยู่แล้วสิ เช่น
(1) คุณจะต้องไม่ปล่อยตัวให้อ้วน ถ้าอ้วน ต้องลดน้ำหนักลง ด้วยการออกกำลังกายและกินอาหารแคลอรี่ให้น้อยลง เพราะยิ่งอ้วนยิ่งเป็นมะเร็งเต้านมมาก
(2) คุณต้องไม่กินเนื้อส้ตว์มาก โดยเฉพาะพวกไส้กรอก เบคอน แฮม และรองลงมาก็พวกเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพราะวงการแพทย์รู้อยู่แล้วว่ามันสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งหลายชนิดรวมทั้งมะเร็งเต้านม
(3) คุณต้องกินอาหารเส้นใยให้แยะๆ ก็คืออาหารพวกผักผลไม้ถั่วและธัญพืชไม่ขัดสี เพราะใครๆก็รู้อยู่แล้วว่าอาหารแบบนี้ทำให้เป็นมะเร็งน้อยลง
(4) คุณจะต้องลดละเลิกแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพราะมันสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งเต้านม
(5) คุณต้องเลิกฮอร์โมนเพศที่ใช้คุมกำเนิดหรือใช้เป็นฮอร์โมนทดแทน

     ทำทั้งหมดนี้แล้วคุณก็ใช้ชีวิตปกติสุขของคุณไปโดยไม่ต้องวอรี่ว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่เป็น ถ้ามันจะเป็นมันก็เป็น ก็ทำไงได้ละ ได้แต่เออ..เป็นก็เป็น นี่คือวิธีใช้ชีวิตที่ดี อย่าไปหวังลมๆแล้งๆว่าวิธีการตรวจทางการแพทย์จะช่วยไม่ให้คุณเป็นมะเร็ง เพราะมันช่วยได้น้อยมาก ตัวคุณนั่นแหละจะช่วยได้ตัวเองได้มาก แต่ถ้าทำทั้งหมดนี้แล้วก็ยังวอรี่อีก ก็ไปทำแมมโมแกรมเหอะ คุ้มแน่นอน เพราะได้รักษาโรคประสาทด้วย

     5. ตรงนี้คุณไม่ได้ถามแต่ผมตอบแถมให้ คุณอายุยังไม่ถึง 50 ปีเลย แล้วไปขยันทำแมมโมแกรมทำไมละครับ มาตรฐานของการทำแมมโมแกรมทุกวันนี้ซึ่งกำหนดโดยคณะทำงานป้องกันโรคของรัฐบาลสหรัฐ (USPSTF) แนะนำว่าให้ทำแมมโมแกรมเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป และให้ทำแค่ปีเว้นปีไม่ใช่ทุกปี ทำไปจนถึงอายุ 75 ปีก็หยุดทำ ทั้งหมดนี้เป็นคำแนะนำที่ได้จากการวิเคราะห์หลักฐานวิทยาศาสตร์มาอย่างรอบคอบพอควรแล้ว คุณยังไม่เข้าเกณฑ์นี้เลยจะไปทำทำไมละครับ

     พูดถึง USPSTF เมื่อไม่นานมานี้ USPSTF ออกมาให้ข่าวว่าถ้าให้หญิงอายุ 40-49 ปีจำนวน 10,000 คนทำแมมโมแกรมทุกปีนาน 10 ปี จะมีคนรอดตายจากมะเร็งเต้านมได้ 4 คน ไม่แยะนะครับ สี่ในหมื่น หรือ 0.04% เมื่อทำแมมโมแกรมทุกปีนานสิบปี นี่คือประโยชน์ของแมมโมแกรม และเมื่อทำแมมโมแกรมแล้วถูกวินิจฉัยว่าได้ผลบวกต้องตัดชิ้นเนื้อ พบว่าผู้หญิงที่อายุ 40-49 ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งและตัดชิ้นเนื้อทุกๆ 100 คน ผลชิ้นเนื้อขั้นสุดท้ายจะเป็นมะเร็งเต้านมจริงๆเพียง 1 คน แปลว่าอัตราสูญเปล่าของการตัดชิ้นเนื้อเต้านมนี้มีถึง 99% โห..จะมีธุรกิจอื่นใดดีกว่าธุรกิจการแพทย์อีกไหมเนี่ย ที่อัตราความสูญเปล่าสูงถึง 99% แต่ก็ยังเป็นธุรกิจอยู่ได้ (หิ หิ พูดเล่น)

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Olsen O, Gøtzsche PC. Cochrane review on screening for breast cancer with mammography. The Lancet 2001:358 (9290);1340-1342.
2. Welch HG, Passow HJ. Quantifying the benefits and harms of screening mammography.
JAMA Intern Med. 2014 Mar;174(3):448-54. doi: 10.1001/jamainternmed.2013.13635.
3. Miller, AB; Wall, C; Baines, CJ; Sun, P; To, T; Narod, SA (11 February 2014). “Twenty five year follow-up for breast cancer incidence and mortality of the Canadian National Breast Screening Study: randomised screening trial”. BMJ (Clinical research ed.)2014. 348: g366. doi:10.1136/