Latest

วิธีเคลื่อนไหวนั่นแหละที่เป็นตัวกำหนดอารมณ์

กราบเรียนอาจารย์นพ.สันต์

ผมอายุ 71 ปี ภรรยาอายุ 62 ปี ปัญหาที่ต้องรบกวนคุณหมอคือภรรยาเปรยให้ผมได้ยินสองครั้งแล้วว่ามีเสียงพูดให้เธอได้ยินโดยไม่เห็นตัวคนพูด ว่าชีวิตที่ไม่มีประโยชน์อะไรแล้วอย่างนี้จะอยู่ไปทำไม ไปเสียดีกว่าไหม ครั้งแรกผมคิดว่าเธอเรียกร้องความสนใจจากผมซึ่งมัวแต่ไปทำอะไรของตัวเองเพลินอยู่ แต่ครั้งที่สองผมเอะใจ ผมแอบสังเกตดูเธอก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไรผิดปกติยกเว้นเธอเดินเหินช้าลง ก้าวสั้นกว่าเดิน และหลังค่อมเล็กน้อย ไม่ยิ้มไม่หัวเราะไม่ยุ่งกับใคร ซึ่งก็เป็นเอกลักษณ์ของเธอมาหลายปีแล้ว ผมอยากถามคุณหมอสันต์ว่าเสียงในหัวมาจากไหน อย่างเธอนี้เป็นโรคจิตไหม หรือว่าเป็นโรคซึมเศร้าไหม การรักษาต้องเริ่มอย่างไร แต่ถ้าผมชวนไปหาจิตแพทย์ผมเดาว่าเธอคงไม่ไป เพราะเธอไม่ชอบให้ใครมายุ่งกับเรื่องราวในชีวิตของเธอเพราะเธอมีเรื่องเยอะ

ด้วยความเคารพครับ
…………………………………………………………
ฮั่นแน่ อายุ 71 แล้วยังพูดคำทันสมัยเสียด้วย ก็คือคำว่า “เยอะ” นั่นไง หิ หิ
     1. ถามว่าคนได้ยินเสียงพูดในหัวเป็นบ้า (psychosis) หรือเปล่า ตอบว่าขึ้นอยู่กับว่ามากหรือน้อยครับ เพราะคนธรรมดาก็มีเสียงพูดในหัวทุกคน บางครั้งเป็นเสียงที่ไม่มีเสียง ซึ่งก็คือความคิดที่อยู่ๆก็ป๊อกขึ้นมานั่นแหละ บางครั้งเป็นภาพซึ่งมักเกิดเวลาเราเคลิ้มหรือปลอดความคิด บางครั้งก็เป็นเสียงที่ต้องเหลียวหาต้นกำเนิดแต่หาไม่พบ นี่เป็นธรรมดา แต่ความเป็นบ้าเริ่มเมื่อเสียงนั้นทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเปลี่ยนไปจากชาวบ้านเขา เพราะความบ้านิยามกันที่การทำอะไรไม่เหมือนชาวบ้านและการใช้ชีวิตแบบปกติเสียไป ตราบใดที่ยังทำอะไรเหมือนชาวบ้านก็ยังไม่นิยามว่าเป็นบ้า
     2. ถามว่าโรคซึมเศร้าเป็นอย่างไร ตอบว่าโรคซึมเศร้า หรือ Major depression (เรียกอีกชื่อว่า unipolar depression) ในทางการแพทย์มีเกณฑ์วินิจฉัยว่าต้องมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อยห้าอย่างภายในระยะ 2 สัปดาห์เดียวกัน โดยในห้าอย่างนั้นต้องมีอย่างที่ 1 และ 2 อยู่ด้วย คือ
2.1 มีอารมณ์ซึมเศร้า 
2.2 ไม่สนใจเรื่องใดๆ หรือสิ่งบันเทิงใดๆ 
2.3 น้ำหนักลด หรือน้ำหนักเพิ่มผิดตา 
2.4 นอนไม่หลับ หรือเอาแต่นอนหลับทั้งวัน 
2.5 การเคลื่อนไหวลนลาน หรือเชื่องช้าผิดจากเดิม 
2.6 เปลี้ยล้าหรือหมดพลัง 
2.7 รู้สึกตัวเองไร้ค่า 
2.8 ตั้งสติไม่ได้ คิดอะไรไม่ตก ตัดสินใจอะไรไม่ได้ 
2.9 คิดวนเวียนเรื่องความตาย อยากตาย การฆ่าตัวตาย 
     โดยที่อาการเป็นมากถึงขั้นทำให้การทำงานปกติเสียไป อาการต้องไม่เกิดจากโรคทางกายหรือการใช้ยาหรือสาร ต้องไม่ใช่ความเศร้าจากการสูญเสียญาติหรือคนสนิท (bereavement) 
    ดังนั้นหากใช้เกณฑ์ข้างบนนี้ก็วินิจฉัยแบบเดาร่วมด้วยได้ว่าภรรยาของคุณก็อยู่ในข่ายที่จะเป็นโรคซึมเศร้าจริงๆแล้วละครับ 
     3. ถามว่าการรักษาโรคซึมเศร้าต้องทำอย่างไร ตอบว่าในภาวะที่ไม่มีใครมีพลังมากพอที่จะมาเป็นกัลยาณมิตรอุ้มชูใครอย่างทุกวันนี้ จิตแพทย์เป็นเพื่อนที่แสนดีที่สุดครับ ดังนั้นชอบไม่ชอบผมก็ยังแนะนำให้ไปหาจิตแพทย์อยู่ดี 
     ในระหว่างนี้ก็ทำอะไรที่เราทำเองได้ไปก่อน ก่อนอื่นดูซะหน่อยว่ากินยาอะไรบ้าง เพราะภาวะซึมเศร้าในคนสูงอายุทุกวันนี้มีไม่น้อยที่เกิดจากสาระพัดยาที่กิน เช่นยาลดความดัน (ยากั้นเบต้า ยาต้านแคลเซียม) ยาสะเตียรอยด์ ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร (เช่นยาระงับการหลั่งกรด) ยากล่อมประสาท ยาคลายกล้ามเนื้อ ยากดความอยากอาหาร ยาเคมีบำบัด ฮอร์โมนเพศ พวกสารเสพติดก็เป็นตัวก่อภาวะซึมเศร้าได้ เช่น แอลกอฮอล์ ยาบ้า กัญชา เป็นต้น พวกนี้ถ้ากินถ้าเสพย์อยู่ต้องเลิกก่อน
     แล้วก็มาถึงการดูแลตัวเอง ด้วยการ (1) จัดตารางการใช้ชีวิตประจำวันให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนพอเพียง (2) ออกกำลังกายให้ได้ถึงระดับมาตรฐาน คือหนักพอควร (เหนื่อยจนร้องเพลงไม่ได้) ต่อเนื่องกันวันละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 5 วัน ควบกับการออกกำลังกายแบบสร้างความแข็งแร็งให้กล้ามเนื้ออีกสัปดาห์ละอย่างน้อย 2 ครั้ง (3) ฝึกสมาธิ ตามสังเกตความคิดตัวเองให้ทัน เพื่อดับวงจรความคิดซ้ำซาก เปลี่ยนวิธีคิดใหม่เป็นคิดบวก ทางการแพทย์เรียกการรักษาแบบนี้ว่า cognitive therapy (4) เปิดรับการสนับสนุนจากสังคมรอบตัว เช่นไปหาเพื่อน หาญาติ โทรศัพท์ปรับทุกข์กับคนที่สนิท ไม่ตัดขาดจากคนรอบข้าง (5) ใช้สิ่งแวดล้อมช่วยรักษา เช่น ออกไปถูกแสงแดด (phototherapy) สัมผัสธรรมชาติ 
     4. ถามว่าเสียงในหัวมันมาจากไหน ตอบว่ามันก็คือความคิดนั่นแหละ มันเป็นความจำที่นอนเนื่องอยู่ในกุดังอดีตของเรา แล้วก็โผล่ป๊อกขึ้นมาโดยไม่ได้รับเชิญ เสียงพวกนี้บางทีมันก็บอกสิ่งดีๆ ขึ้นกับว่าในกุดังของเราเก็บสิ่งดีหรือสิ่งสั่วๆไว้มากกว่ากัน ในทางจิตวิญญาณแบบฝรั่งเขาเรียกว่ามันเป็นพลังงานลบในตัวเรา โยคีอินเดียบางนิกายเรียกว่ามันว่าพลังงู ประเด็นสำคัญไม่ใช่อยู่ที่มีเสียงในหัวหรือไม่มี แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่เราไม่เผลอไปสำคัญผิด (identify) ว่าความคิดหรือเสียงในหัวนั้นเป็นเรา เราต้องทิ้งระยะห่างนิดหนึ่ง นี่เรากำลังสังเกตอยู่ นั่นความคิดหรือเสียงในหัวซึ่งไม่ใช่เรา ตราบใดที่ทำได้อย่างนี้ เสียงในหัวจะไม่ส่งผลร้ายให้เราเด็ดขาด มันจะเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งในหลายๆทางเลือกที่เปิดให้เราใช้ความรู้ตัวแยกแยะเลือกเอา เราก็จะได้แต่สิ่งดีๆในชีวิตจากเสียงในหัว

     5. ไหนๆคุณเขียนมาถามโรคซึมเศร้า เมื่อสองวันก่อนผมอ่านวารสารสมาคมชราวิทยาอเมริกัน (AGS) ได้พบงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งพิสูจน์ได้ว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างท่าร่างการเคลื่อนไหวที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนเราว่าสัมพันธ์กับการเป็นโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินช้าและการก้าวสั้นนั้นมีความสัมพันธ์แนบแน่นมากกับโรคซึมเศร้า ส่วนท่าร่างอื่นก็มีความสัมพันธ์ลดหลั่นลงไปเช่น หลังค่อม ก้มหน้า พูดเสียงค่อย ไม่ยิ้ม งานวิจัยนี้เป็นหลักฐานวิทยาศาสตร์ชิ้นแรกที่ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างท่าร่างการเคลื่อนไหวกับโรคซึมเศร้า
     หลายสิบปีมาแล้วผมเคยฟังนักพูดคนหนึ่งชื่อโทนี รอบบินส์ ซึ่งสมัยโน้นเขายังไม่ดังเท่าตอนนี้ เขาพูดว่า
     “ท่าร่างการเคลื่อนไหว เป็นตัวกำหนดอารมณ์”

     “Motion creates emotions”
     ซึ่งผมเห็นด้วยกับเขา 100% แล้วเมื่อวิเคราะห์ท่าร่างยอดนิยมของผู้สูงอายุ ก็จะดูเหมือนว่าผู้สูงอายุจะมีอารมณ์ซึมเศร้าเป็นธรรมชาติ เพราะชื่อว่าผู้สูงอายุแล้วก็ต้องเคลื่อนไหวน้อย ต้องทำท่าหลังค่อมๆ เดินช้าๆ ก้าวสั้นๆ เวลาผมทำแค้มป์ให้ผู้สูงอายุทีไรผมต้องจับมายืดหลังให้ตรง ผายหน้าอกขึ้น ที่ใช้ไม้เท้าอยู่ผมก็จะยึดไม้เท้าไม่ให้ใช้ ทำตัวให้ตรงๆ เอาถ้วยกาแฟที่มีน้ำใส่ไว้ทูนไว้บนศรีษะ แล้วเดินไปซิ เดินลงบันไดก็เดินแบบตัวตรง เป็นการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาไปด้วย ฝึกกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องไปด้วย พูดจาให้ชัดถ้อยชัดคำ ยิ้มนิดๆ ไม่รู้จะยิ้มให้กับอะไรก็ยิ้มให้กับความโชคดีของตัวเองที่อยู่ยงคงกระพันมาได้จนถึงวันนี้ เพื่อนรุ่นเดียวกันที่เส็งไปแล้วมีตั้งเท่าไหร่ ไม่แน่จริงไม่อยู่มาถึงวันนี้หรอกนะโว้ย..ย ประมาณนั้น
    ดังนั้น สำหรับผู้สูงอายุที่เป็นแฟนบล็อกของหมอสันต์ทุกคน กรุณานั่งหรือยืนแบบยืดหลังขึ้น ถ้านั่งก็ไม่พิงพนัก แขม่วพุงไว้เสมอ ยืดหน้าอกขึ้น ผายไหล่ออก เงยหน้าขึ้น มองไปตรงๆอย่าเอาแต่ก้มมองพื้น ลาดตระเวณสิ่งแวดล้อมด้วยการกรอกตาเหมือนนายพลตรวจแถว ยิ้มไว้นิดๆ เดินอย่างกระฉับกระเฉง ก้าวยาวๆแต่มั่นคง เดินฮัมเพลงและก้าวเป็นจังหวะเต้นรำได้ยิ่งดี นี่ แฟนบล็อกหมอสันต์ต้องให้ได้อย่างนี้นะ แล้วโรคซึมเศร้าจะไม่ถามหา 
ปล. ถ้าเปลี่ยนท่าร่างก็แล้ว ไปหาจิตแพทย์ก็แล้ว หากแฟนคุณยังมีปัญหากับเสียงในหัว ลองชวนเธอมาเข้า Spiritual Retreat ดู
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
บรรณานุกรม 

1. Briggs R, CarDey , Claffey P, McNicholas T, Donoghue O, Kennelly SP, Kenny RA. Do differences in spatiotemporal gait parameters predict the risk of developing depression in later life? Journal of the American Geriatrics Society, 2019; DOI: 10.1111/jgs.15783