Latest

คุณแพ้เพ็นซิลลินจริงหรือเปล่า

กราบเรียนคุณหมอสันต์
หนูอายุ 28 เป็นโรคไฟลามทุ่ง หมอต้องนัดไปฉีดยาที่โรงพยาบาลทุกวันหมอบอกว่าที่ต้องมาฉีดยาทุกวันเพราะหนูแพ้เพนนิซิลลินจึงใช้ยากินไม่ได้ ต้องใช้ยาฉีดแทน ตอนอายุ 18 ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยหนูได้ยาเพนนิซิลลินแล้วเกิดแพ้เวียนหัวตาลายอาเจียน ตั้งแต่นั้นมาหนูจะบอกหมอทุกครั้งว่าแพ้เพนนิซิลลิน แต่ถ้าต้องมาฉีดยาอื่นแทนที่จะรักษาด้วยยากินได้อย่างนี้ หนูควรจะลองใช้ยาเพนนิซิลลินใหม่ได้ไหมคะ จะมีอันตรายถึงตายหรือเปล่า
ขอบพระคุณคุณหมอมากค่ะ

……………………………………………

ตอบครับ

     เป็นธรรมดาครับ เมื่อผู้ป่วยคนไหนถูกติดป้ายแพ้เพนนิซิลลินแล้วทั้งหมอทั้งคนไข้ก็จะเกิดอาการอึขึ้นสมองคือกล้วยาเพนนิซิลลินมาก มาดูหลักฐานวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้กันหน่อยดีไหม เรากลัวอะไร หรือเราแค่กลัวผีที่ไม่มีอยู่จริง

     เอาในกรณีของคุณก่อนนะ ผมวินิจฉัยทางอากาศตามข้อมูลที่คุณให้มาได้เลยว่าคุณไม่ได้แพ้ยาเพนนิซิลลินดอก เพราะอาการที่คุณเล่ามาหลังการได้ยาเพนนิซิลลินที่ว่า เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน นั้นเป็นอาการผลข้างเคียง (side effect) ของยา ไม่ใช่ปฏิกริยาการแพ้ (allergic reaction) อาการที่คุณเล่ามานั้นเป็นอาการของระบบทางเดินอาหาร ไม่ใช่อาการของระบบภูมิคุ้มกัน

     ในกรณีผู้ป่วยอื่นๆที่ถูกติดป้ายแพ้เพ็นนิซิลลิน งานวิจัยพบว่าหากตั้งใจซักประวัติเป็นขั้นตอนจริงจังก็จะพบว่า 20% ไม่ได้แพ้เพนนิซิลลินดอก ปลดป้ายแพ้ยาออกได้เลย การซักประวัติเป็นขั้นตอนจริงจังนี้หากพยาบาลที่โรงพยาบาลไม่มีเวลาซักจริงจังคุณซักตัวเองก็ได้ ดังนี้

     1. ตอนแพ้อายุเท่าไหร่ (ถ้าแพ้ตอนอายุน้อยหรือนานมาแล้วก็มีแนวโน้มจะเชื่อไม่ได้)

     2. แพ้ยาอะไร ชื่อจริงชื่ออะไร ชื่อการค้าชื่ออะไร ยากิน หรือยาฉีด (เพราะยาบางตัวเอ่ยชื่อมาก็รู้แล้วว่าไม่ใช่เพนนิซิลลิน ยาบางตัวเช่นเบต้าแลคแตมไม่ได้ชื่อเพนนิซิลลินแต่เป็นเพนนิซิลลิน)

     3. ได้ยานานแล้วกี่ชั่วโมงกี่วันจึงมีอาการแพ้ (ตรงนี้เพื่อแยกว่าเป็นแพ้แบบเฉียบพลันหรือไม่เฉียบพลัน)

     4. อาการที่แพ้เป็นอย่างไร หอบไหม หายใจเสียงวี้ดไหม ปากบวมเจ่อหรือหน้าและคอบวมไหม มีผื่นผิวหนังหรือเปล่า ผื่นเป็นแบบลมพิษหรือแบบหนังไหม้แล้วหลุดลอก มีอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือเปล่า (ตรงนี้เพื่อแยกว่าอาการเป็นการแพ้จริง หรือเป็นผลข้างเคียงของยา ถ้าคลื่นไส้อาเจียนก็เป็นผลข้างเคียงของยา)

     5. หลังแพ้เพนนิซิลลินแล้วเคยได้ยาเบต้าแลคแตม (betalactam) หรือเปล่า เคยได้ยาเซฟาโลสปอริน (cephalosporine) หรือเปล่า (เพราะหากแพ้เพ็นนิซิลลินก็มักแพ้สองกลุ่มนี้ด้วย ถ้าไม่แพ้สองกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มว่าอาจไม่ได้แพ้เพนนิซิลลินจริง)

     ถ้าซักประวัติได้ว่าแพ้เพนนิซิลลินจริง ขั้นต่อมาก็มาแยกแยะว่าแพ้แบบเฉียบพลัน (ช็อก) หรือแบบรุนแรง (ผื่นหนังไหม้และลอก) หรือแพ้แบบเบาะๆ หากแพ้แบบเบาะๆผมแนะนำให้ทดลองกินยาเพนนิซิลลินดูใหม่ เพราะงานวิจัยพบว่าคนที่เคยแพ้เพนนิซิลลินจริงๆจะๆแน่นอนแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะเปลี่ยนแปลงกลายเป็นหายแพ้ไปเอง กล่าวคืองานวิจัยติดตามดูคนแพ้เพนนิซิลลินไปห้าปีแล้วลองให้กินยาใหม่ พบว่าครึ่งหนึ่งหายแพ้ไปแล้ว และเมื่อติดตามดูไปสิบปีแล้วลองให้กินยาเพนนิซิลลินใหม่ ก็พบว่า 80% หายแพ้ไปแล้ว ฉนั้นการแพ้ยาเช่นแพ้เพนนิซิลลินนี้มันไม่ใช่อะไรที่ถาวร มันหายแพ้ได้ คนที่ไม่รู้ความจริงตรงนี้ก็จะกลัวยาเพนนิซิลลินชนิดอึขึ้นสมองไปตลอดชีวิต

     ถึงแม้ว่าหากซักประวัติได้ว่าแพ้แบบเฉียบพลันหรือรุนแรง ผมก็ยังยืนยันแนะนำให้ทำการตรวจภูมิแพ้ด้วยวิธีฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง (penicillin allergy skin testing – PAST) ในโรงพยาบาล เพราะงานวิจัยพบว่าใน 100 คนที่มีประวัติว่าแพ้เพนนิซิลลินที่เข้าทำการตรวจ PAST นั้น 98 คนได้ผลตรวจว่าไม่ได้แพ้ยาเลย มีที่แพ้จริงๆแค่ 2 คนหรือ 2% เท่านั้น ส่วนอีก 98% ปลดป้ายแพ้เพนนิซิลลินทิ้งได้เลย

     สรุปว่าผมเดาแอ็กว่าคุณไม่ได้แพ้เพนนิซิลลิน ให้คุณไปให้ประวัติหมอใหม่ว่าตอนนั้นคุณกินเพนนิซิลลินแล้วคลื่นไส้อาเจียน ขอให้เอาประวัติแพ้เพนนิซิลลินของคุณออกเสีย ถ้าหมอเขากลัวก็ขอทำทดสอบ PAST ถ้าหมอก็ไม่กลัว คุณก็ไม่กลัว ก็กลับไปกินยาเพนนิซิลลินใหม่ได้เมื่อใดก็ตามที่มีข้อบ่งชี้ว่าต้องกิน

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. University of Georgia. “Think you’re allergic to penicillin? You are probably wrong, study suggests.” ScienceDaily. ScienceDaily, 29 October 2019.