Latest

หลักฐานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับแกงกะทิ มะพร้าว และน้ำมันมะพร้าว

คุณหมอสันต์ที่เคารพครับ
ผมได้อ่านคุณหมอตอบคำถามเรื่องอาหารคีโตวีแกน https://visitdrsant.blogspot.com/2019/12/keto-vegan.html ขอบคุณคุณหมอมากที่ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์กับผมมากซึ่งผมเอาคำแนะนำไปใช้ได้ทันที ผมมีคำถามเพิ่มเติมนิดเดียวว่าถ้าผมจะกินคีโตวีแกนแบบหนักแกงกะทิ เช่นแกงเขียวหวาน หรือกินเนื้อมะพร้าวด้วยจะได้ไหมครับ และหากใช้น้ำมันมะพร้าวทำอาหารคีโตวีแกนจะดีไหมครับ และผมดื่มน้ำมะพร้าว ดื่มทุกวันได้ไหมครับ
เคารพนับถือมานานครับ

…………………………………………………..

ตอบครับ

     เรื่องมะพร้าวนี้มีคนได้เสียแยะ และ ม. ของผมก็ห้ามไม่ให้ผมพูดอะไรที่จะทำให้ตัวเองเจ็บตัว ผมจึงจะตอบคุณแบบจำกัดคำตอบอยู่เฉพาะในขอบเขตของหลักฐานวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่มีอยู่นับถึงวันนี้เท่านั้นนะ

     หลักฐานที่ดีที่สุดในเรื่องผลของน้ำมันมะพร้าวต่อสุขภาพคืองานวิจัยแบบเมตาอานาไลซีสที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition Review เมื่อสองปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ยำรวมงานวิจัยน้ำมันมะพร้าวทั่วโลก เป็นงานวิจัยแบบแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) 8 งาน และเป็นงานวิจัยติดตามดูกลุ่มคน (cohort) อีก 13 งาน ได้ผลสรุปว่า

     (1) หลักฐานวิจัยเชิงระบาดวิทยาทั้งหมดที่มีอยู่สรุปได้ว่าการกินมะพร้าวในลักษณะเนื้อมะพร้าวและของเหลวที่บีบออกมาจากเนื้อมะพร้าว (น้ำกะทิ) แบบที่เป็นอาหารตามวัฒนธรรมของคนหลายชาติหลายภาษานั้น ไม่ได้เพิ่มอุบัติการณ์โรคหลอดเลือดหัวใจของคนชาตินั้นภาษานั้นแต่อย่างใด ดังนั้นการเหมาเข่งว่าการกินเนื้อมะพร้าวและกะทิรวมทั้งแกงกะทิว่าจะมีผลร้ายต่อระบบหัวใจหลอดเลือดจึงเป็นความเข้าใจที่ผิด
     ในแง่ของการเป็นอาหารให้พลังงาน กะทิก็ให้พลังงานแค่ 205 แคล/100กรัม ซึ่งน้อยกว่าน้ำมันมะพร้าวที่ให้ถึง 884 แคล/100กรัม กะทิมีทั้งโปรตีน (1 กรัม/100 กรัม)และมีกาก (0.6 กรัม/100 กรัม) ขณะที่น้ำมันมะพร้าวไม่มีเลย ดังนั้นจึงไม่ควรเหมาเข่งรวมกะทิเข้าเป็นพวกเดียวกับน้ำมัน เพราะกะทิมีคุณค่าทางโภชนาการต่อหน่วยแคลอรี่มากกว่าและให้แคลอรี่ต่ำกว่ามาก

    (2) น้ำม้นมะพร้าวมีผลเพิ่มไขมันเลว (LDL) ได้ไม่มากเท่าไขมันอิ่มตัวจากเนื้อสัตว์เช่นเนยจากนมวัว ดังนั้นการเหมาเข่งเอาน้ำมันมะพร้าวไปเข้ากลุ่มไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ว่าเลวเสมอกันนั้นเป็นการสรุปที่ไม่ตรงกับหลักฐานความเป็นจริง

     (3) เมื่อเทียบกับน้ำมันพืชด้วยกันที่เป็นไขมันไม่อิ่มตัว (เช่นน้ำมันดอกทานตะวัน) น้ำมันมะพร้าวเพิ่ม LDL ได้มากกว่าน้ำมันพืชอื่นที่เป็นไขมันไม่อิ่มตัว

     ดังนั้นบนหลักฐานชิ้นนี้ซึ่งผมถือว่าเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดที่วงการแพทย์มีเกี่ยวกับผลของน้ำมันมะพร้าวต่อสุขภาพนับถืงปัจจุบัน ผมแนะนำคุณว่าหากคุณจะเป็นคีโตวีแกนประเภทชอบมะพร้าว คุณควรทำดังนี้

     กรณีที่ 1. การกินเนื้อมะพร้าวและแกงกะทิ หากคุณไม่ได้เป็นโรคไขมันในเลือดสูง คุณจะกินเนื้อมะพร้าว หรือกินแกงกะทิ หรือแกงเขียวหวาน คุณก็กินไปเถอะ เพราะงานวิจัยนี้บ่งชี้ว่ามันไม่ได้ทำให้คุณเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดมากขึ้นดอก

     ในกรณีที่ไขมันในเลือด (LDL) ของคุณสูง คุณก็ต้องไปลดไขมันอิ่มตัวจากอาหารอื่นๆ รวมทั้งไขมันอิ่มตัวรุ่นใหม่ (fully hydrogenated fat) ที่อุตสาหกรรมอาหารผลิตมาแทนไขมันทรานส์ลง ไขมันพวกนั้นใช้ทำเนยเทียม ครีมเทียมใส่กาแฟ และใช้ทำเค้ก คุ้กกี้ ขนมกรุบกรอบต่างๆ แต่หากคุณลดไขมันพวกนั้นไปหมดแล้ว LDL ของคุณก็ยังสูงอยู่อีก คราวนี้ก็จำเป็นว่าคุณก็ต้องทดลองลดมะพร้าวและแกงกะทิลงดู ถ้าลดแล้ว LDL ของคุณต่ำลงคุณก็คงต้องจำกัดการกิน เพราะวงการแพทย์ยังถือว่าการปล่อยให้ LDL สูงโดยไม่หาสาเหตุแล้วแก้ไข มีผลเสียต่อสุขภาพ

     กรณีที่ 2. น้ำมะพร้าว ส่วนนี้ก็คือ “น้ำ” ไม่เกี่ยวกับไขมัน ไม่ได้เป็นญาติกันด้วย คุณอยากดื่มน้ำมะพร้าวเท่าไหร่ก็ดื่มได้ถ้าคุณมีเงินซื้อ อย่าไปกังวงเรื่องน้ำตาลในน้ำมะพร้าวเพราะมันมีน้อยมาก น้อยกว่าในเครื่องดื่มเกลือแร่ที่นักกีฬาใช้ดื่มแทนน้ำเสียอีก ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยเปรียบเทียบน้ำมะพร้าวก้บเครื่องดื่มเกลือแร่ Gatorade พบว่าออนซ์ต่อออนซ์ น้ำมะพร้าวมีน้ำตาล 1.3 กรัม (ให้ 5.45 แคลอรี) มีเกลือโซเดียม 5.45 มก. มีเกลือโปตัสเซียม 61 มก. ขณะที่ Gatorade มีน้ำตาล 1.75 กรัม (ให้ 6.25 แคลอรี) มีเกลือโซเดียม 13.75 มก. มีเกลือโปตัสเซียม 3.75 มก. โปรดสังเกตว่าการที่น้ำมะพร้าวมีเกลือชนิดโปตัสเซียมสูงมากแต่มีโซเดียมต่ำนี้เป็นข้อดีสำหรับผู้ที่มีความดันเลือดสูง เพราะโปตัสเซียมเป็นเกลือที่ลดความดันเลือดได้ ขณะที่โซเดียมเป็นเกลือที่เพิ่มความดันเลือด

    กรณีที่ 3. การจะใช้น้ำมันมะพร้าวทำอาหาร ผมแนะนำว่าคุณควรจะหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันมะพร้าวทำอาหาร ควรใช้น้ำมันพืชชนิดไม่อิ่มตัวเช่นน้ำมันมะกอกหรือใช้วิธีกินพืชที่ให้น้ำมันมากเช่นถั่วต่างๆ นัท อะโวกาโด แทนดีกว่า เพราะงานวิจัยนี้บ่งชี้ว่าน้ำมันมะพร้าวเพิ่มไขมัน LDL ได้มากกว่าน้ำมันพืชอย่างอื่นที่เป็นไขมันไม่อิ่มตัว

     อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คุณจำเป็นต้องเลือกระหว่างน้ำมันมะพร้าวกับไขมันอิ่มตัวจากสัตว์ (เช่นเนยจากนมวัว) ผมแนะนำว่าให้คุณเลือกน้ำมันมะพร้าวดีกว่าเพราะข้อมูลจากงานวิจัยนี้ชัดแล้วว่าน้ำมันมะพร้าวเพิ่ม LDL ในเลือดได้น้อยกว่าไขมันอิ่มตัวจากสัตว์

     คำแนะนำนี้เป็นคำแนะนำของตัวหมอสันต์เองทั้งดุ้น ไม่ใช่คำแนะนำเวชปฏิบัติสากลหรือ guideline ทางการแพทย์ และไม่เหมือนคำแนะนำของแพทย์ส่วนใหญ่ทั่วโลกที่ยังแนะนำให้สาปส่งทั้งเนื้อมะพร้าว น้ำกะทิ และน้ำมันมะพร้าว ว่าเลวเสมอกับไขมันอิ่มตัวจากสัตว์แบบประนามรวมกันรูดมหาราช ท่านผู้อ่านอ่านคำแนะนำนี้แล้วจะชอบหรือไม่ชอบ จะเห็นควรหรือไม่เห็นควร ก็สุดแต่จะโปรด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Eyres L, Eyres MF, Chisholm A, and Brown RC. Coconut oil consumption and cardiovascular risk factors in humans. Nutr Rev. 2016 Apr; 74(4): 267–280. doi: 10.1093/nutrit/nuw002
2. DiBello JR, McGarvey ST, Kraft P, Goldberg R, Campos H, Quested C, Laumoli TS, Baylin A. Dietary patterns are associated with metabolic syndrome in adult Samoans. J Nutr. 2009 Oct; 139(10):1933-43.
3. Prior IA, Davidson F, Salmond CE, Czochanska Z. Cholesterol, coconuts, and diet on Polynesian atolls: a natural experiment: the Pukapuka and Tokelau island studies. Am J Clin Nutr. 1981 Aug; 34(8):1552-61.