Latest

การแก้ไขขาโก่ง (genu varum) ด้วยท่าร่างและการฝึกกล้ามเนื้อ

(ซ้าย) เส้นรับน้ำหนักที่ลากจากหัวกระดูกขา
ไปยังกระดูกข้อเท้าไม่ผ่านร่องกลางข้อเข่า

สวัสดีค่ะคุณหมอสันต์
ดิฉัน … ที่ไปพบคุณหมอสันต์เมื่อสองเดือนก่อนที่เวลเนส แล้วคุณหมอสัญญาว่าจะตอบเรื่องการแก้ไขขาโก่งให้ดิฉันหัดทำในระหว่างหกเดือนที่รอผ่าตัดอยู่นี้ ตอนนี้ผ่านมาสองเดือนแล้ว ดิฉันกลัวคุณหมอลืมจึงขออนุญาตเขียนมารบกวน
ขอบพระคุณค่ะ

…………………………………………

ตอบครับ

     ขออำไพครับ ลืมไปแล้ว..เป็นลืม แต่ก็ยังไม่สาย เพราะอีกตั้งหลายเดือนกว่าจะถึงกำหนดผ่าตัด จะเขียนแบบเผื่อท่านผู้อ่านท่านอื่นด้วยนะ

     ขาโก่ง หรือ bowlegged มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า genu varum การวินิจฉัยโรคนี้ทำโดยเอ็กซเรย์ในท่ายืนรับน้ำหนัก จะพบว่าเส้นถ่ายน้ำหนัก (mechanical axis) ที่ลากจากหัวกระดูกขาไปยังกระดูกข้อเท้าไม่ได้วิ่งผ่านร่องกลางข้อเข่าพอดีตามปกติเพราะหัวเข่าโก่งออกนอกแนวเส้นนี้ไปทางข้าง ภาวะขาโก่งนี้มักเกิดปัญหาเจ็บข้อต่างๆตั้งแต่หัวเข่า ข้อเท้า สะโพก และกระดูกสันหลังได้ง่าย ปัญหาที่หัวเข่าที่พบบ่อยในคนขาโก่งคือกลุ่มอาการเจ็บเอ็นข้างหัวเข่า (iliotibial band syndrome) และหากฝืนใช้ข้อในการออกกำลังกายเช่นวิ่งหรือปั่นจักรยานมากๆต่อไปก็อาจนำไปสู่ปัญหาการปวดหรือเกิดความเสียหายแก่โครงสร้างของเข่าเช่นเอ็นไขว้และแผ่นกระดูกอ่อนของข้อบาดเจ็บหรือกลายเป็นข้ออักเสบเรื้อรังได้

ตัวอย่างผู้ป่วยขาโก่งก่อนและหลังแก้

     ในเชิงสรีรวิทยา ขาโก่งมีปัจจัยทำให้เกิดสามอย่างคือ

(1) การที่ข้อสะโพกแบะออก (external hip rotation) อยู่เป็นอาจิณ ซึ่งมีปัจจัยเกื้อหนุนคือ
1.1 กล้ามเนื้อก้น (gluteus) หดตัวหรือไม่ยืดหยุ่น ไม่ให้ตัว
1.2 กล้ามเนื้อหลังขา (hamstring) และกล้ามเนื้อขาหนีบ (adductors) อ่อนแอ ไม่ค่อยได้ใช้งาน

(2) กระดูกหน้าแข้งหมุนแบะออก (tibia external rotation) ซึ่งมีปัจจัยเกื้อหนุนคือ

ท่าฝึกกล้ามเนื้อหลังขา foam roller toe touch

2.1 กล้ามเนื้อหน้าแข้ง (tibialis anterior) หดเกร็งเป็นอาจิณ
2.2 กล้ามเนื้อน่อง (gastrocnemius) อ่อนแอ

(3) การที่เอ็นของข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้าหย่อนยาน

     โดยหากขาโก่งในวัยเด็ก เหตุทั้งสามมักมีการผิดรูปของข้อตั้งแต่เกิดหรือเป็นโรคกระดูกอ่อนในวัยเด็ก หากเป็นขาโก่งในวัยผู้ใหญ่มักเกิดจากการมีท่าร่างที่ไม่เหมาะสมจนเป็นนิสัย เช่นนั่งแบะขาทำงาน เดินแบบเอาปลายเท้าชี้ออกนอก ชอบเผลอยืนขาโก่ง เป็นต้น

ท่าตะแคงงอเข่าเตะอากาศ

     การแก้ไขขาโก่งด้วยตนเอง

1. ปรับท่าร่าง 

     เลิกนั่งแบะขา ยืนโก่งขา ยืนเอาปลายเท้าชี้ออกนอก เดินเอาปลายเท้าชี้ออกนอก ในทางตรงกันข้าม ควรตั้งใจนั่งให้ขา เข่า และปลายเท้าชี้ไปข้างหน้า และเอาปลายเท้าชี้ไปข้างหน้าแล้วพยายามขยันตั้งใจบิดขาเข้าในเพื่อให้สะบ้าหัวเข่ามาอยู่ในเส้นตรงระหว่างสะโพกและข้อเท้า อย่ายืนโดยปล่อยให้ขาโก่งตามสบาย

ท่าเขย่งเท้า calf raises

2. ออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อทุกวัน 

     ในภาพรวมการออกกำลังกายที่ดีที่สุดในการแก้ไขขาโก่งคือโยคะและเต้นรำ จึงควรฝึกโยคะหรือเต้นรำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายแบบเจาะจงฝึกกล้ามเนื้อบางมัดในขั้นละเอียดดังนี้

2.1 ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังขา (hamstrings) และกล้ามเนื้อขาหนีบ (adductors) เช่น
2.1.1 ท่าเอาเข่าหนีบเสื่อแรงๆนิ่งๆขณะก้มเอามือแตะเท้า (foam roller toe touch )
2.1.2 ท่านั่งยองแบบหัวแม่เท้าชิดกันส้นเท้าห่างกัน (toe-in squat) คอยเอามือจับดูให้แน่ใจว่ากล้ามเนื้อหลังขาถูกใช้งานขณะทำ
2.1.3 ท่านอนตะแคงงอเข่าเตะอากาศ (internal hip rotation)

ท่ายืดกล้ามเนื้อก้น gluteus stretches

2.2 ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อน่อง เช่นท่าเขย่งเท้า (calf raise) ท่านี้เป็นท่าสำคัญที่สุดในการรักษาขาโก่ง ต้องทำให้ได้ทุกวัน วันละหลายๆครั้ง

2.3  ฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อก้น (gluteus) เช่น gluteus stretches

2.4 ฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อหน้าแข้ง (tibialis anterior stretches) ด้วยวิธีนั่งเหยียดเท้าแล้วกระดกเท้าสลับกับเหยียดเท้า
   
     การปรับท่าร่างและการออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อนี้หากตั้งใจทำจริงจัง ทำทุกวันติดต่อกันจนเป็นนิสัย จะสามารถแก้ปัญหาขาโก่งได้ในเวลาไม่เกินสามเดือน เป็นการตัดปัญหาภาวะแทรกซ้อนของขาโก่งที่จะตามมาเช่นเกิดกลุ่มอาการเอ็นข้างเข่าอักเสบ เอ็นไขว้บาดเจ็บฉีกขาด เป็นโรคข้อเข่าอักเสบเรื้อรังเป็นต้น ถึงแม้ผู้สูงอายุที่แพทย์แนะนำให้ผ่าตัดแล้วก็ยังสามารถแก้ปัญหาขาโก่งด้วยการปรับท่าร่างและฝึกกล้ามเนื้อได้ โดยขณะที่รอแพทย์นัดทำผ่าตัดก็ให้ขยันทำ หลายท่านทำแบบนี้แล้วอาการเกี่ยวกับหัวเข่าดีขึ้นจนสามารถยกเลิกการผ่าตัดได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์