Latest

ชีวิตใน “ห้องรวม” ของผู้สูงอายุกลุ่มต้องพึ่งพา (dependent living)

เรียนคุณหมอสันต์
                สวัสดีค่ะ หนูเป็นนักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรม ปี5 มหาวิทยาลัย … หนูได้อ่านบทความของคุณหมอ ที่เขียนตอบในBlog เรื่องการออกแบบคอนโดคนแก่ ที่คุณหมอได้เขียนตอบนักศึกษาสถาปัตยกรรมไว้ หนูพบว่าลักษณะโครงการที่ คุณหมออธิบายมีลักษณะตรงกับโครงการที่หนูเลือกเป็นหัวข้อในการทำวิทยานิพนธ์ ปัจจุบันหนูกำลังศึกษาในหัวข้อ กลุ่มผู้สูงอายุที่จะมาอยู่ภายในโครงการ ศึกษาลักณะทางกายภาพ ของผู้สูงอายุจากตอนแรกในโครงการวิทยานิพนธ์ของหนูนั้น มุ่งเน้นไปการแบ่งผู้สูงอายุตามช่วงวัยที่เป็นตัวเลข แต่พบว่าการแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุในลักษณะนั้นไม่สามารถออกแบบสภาพแวดล้อมได้ที่เหมาะสมได้ เลยศึกษารูปแบบการให้บริการการจัดการที่พักอาศัยเพื่อผู้สูงอายุ ทำให้พบว่าการแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อออกแบบที่จะมีประสิทธิ์ภาพคือการแบ่งตามลักษณะทางกายภาพของผู้สูงอายุ โดยลักษณะโครงการของหนูจะเน้นรับผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียว (อาจมีญาติ มาเยี่ยมเป็นครั้งคราว )
แบ่งกลุ่มผู้สูงอายุเป็น 3 กลุ่มคือ
กลุ่มไม่ต้องการพึ่งพา
กลุ่มกึ่งพึ่งพา
กลุ่มต้องการพึ่งพา(Bedridden)
โดยอยากขออนุญาติให้คุณหมอช่วยชี้แนะ และแนะนำข้อมูลการทำวิทยาพิพนธ์ในประเด็น 2 ประเด็นค่ะ
1. ในกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งสามกลุ่มที่แยกลักษณะตามกายภาพนั้น หนูอยากให้รูปแบบของโครงการเกิดความเป็น “ชุมชน” ในโครงการ คือการให้ผู้สูงอายุได้อยู่ร่วมกัน แต่ด้วยลักษณะทางร่างกายของผู้สุงอายุทั้งสามกลุ่ม ที่มีความแตกต่างกัน จะสามารถมีกิจกรรมไหนที่จะให้ผู้สูงอายุทั้งสามกลุ่มสามารถมาใช้เวลาด้วยกัน หรือผูกสัมพันธ์กันได้บ้างคะ
2. ลักษณะของผู้สูงอายุที่ติดเตียง ทำให้ความต้องการด้านการรักษาทางการแพทย์ของกลุ่มนี้แตกต่างจากกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มอื่นหนูเลยอยากทราบเบื้องต้นค่ะ ว่าในโครงการของหนูจะมีส่วนที่เป็นบริการด้านสุขภาพเบื้องต้น ควรจะมีการบริการด้านใดบ้างคะ  เบื้องต้นในส่วนบริการต่างๆในโครงการหนูได้แนบข้อมูลมาด้วย
จึงอยากขออนุญาตรบกวนอาจารย์หมอช่วยพิจารณา ให้ความรู้หนูในการดูแล หรือการจัดกิจกรรม และส่วนบริการด้านพยาบาล ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยติดเตียงเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการทำวิทยานิพนธ์

…………………………………………….

ตอบครับ

    มาอีกละ เด็กทำการบ้านแล้วเขียนจดหมายมาให้หมอสันต์ช่วย มีตั้งแต่เด็กชั้นมัธยมทำวิชาเคมีไม่ได้ ผมต้องสาระภาพว่าผมทิ้งจดหมายเหล่านั้นหมดเพราะไม่มีเวลาและบล็อกของผมก็ไม่ใช่บล็อกติวเตอร์เด็กนักเรียน แต่ฉบับนี้ถามการบ้านเรื่องการออกแบบสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งผมเห็นว่าผู้อ่านท่านอื่นๆจะได้ประโยชน์ จึงหยิบมาตอบ

     ก่อนที่จะตอบคำถาม ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ท่านผู้อ่านทั่วไปก่อน ว่า

     ประเด็นแรก เส้นแบ่งผู้สูงอายุระหว่างกลุ่มไม่ต้องการพึ่งพา (independent living) กับกลุ่มกึ่งพึ่งพา (assisted living) คือถ้าทำกิจกรรมสำคัญ 7 อย่างต่อไปนี้ (IADL) เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ก็ถือว่าต้องไปเข้ากลุ่มกึ่งพึ่งพา คือ

     (1) อยู่คนเดียวไม่ได้ คือเหงาแล้วจะมีอันเป็นไป รวมไปถึงการสื่อสารกับโลกภายนอกไม่ได้ โทรศัพท์ไม่ได้ เป็นต้น

     (2) ไปไหนมาไหนเองไม่ได้

     (3) ทำอาหารกินเองไม่ได้

     (4) ไปจ่ายตลาดช้อปปิ้งเองไม่ได้

     (5) ดูแลที่อยู่ของตัวเองไม่ได้ หมายถึงปัดกวาดเช็ดถูทิ้งขยะ

     (6) บริหารยาตัวเองไม่ได้ หมอให้กินยาอะไรบ้างไม่รู้ ทำไมถึงต้องกินยาแต่ละตัวไม่รู้ กินอย่างไรไม่รู้ ขนาดเท่าไหร่ไม่รู้ มีผลข้างเคียงอย่างไร..ไม่รู้

     (7) บริหารเงินของตัวเองไม่ได้ ไม่รู้ว่าเงินตัวเองมีเท่าไหร่ ติดลบไปแล้วหรือยัง จ่ายบิลต่างๆเช่นประปา ไฟฟ้า อินเตอร์เน็ท รับเงิน (ถ้ายังมีรายรับ) โอนเงิน ฝากเงิน ทำไมได้ทั้งนั้น

     ประเด็นที่ 2 เส้นแบ่งระหว่างกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มกึ่งพึ่งพา (assisted living) กับกลุ่มต้องการพึ่งพา (dependent living) คือเมื่อใดก็ตามที่ทำกิจจำเป็นห้าอย่างต่อไปนี้ (ADL) ไม่ได้แม้เพียงอย่างเดียวก็จะถูกจัดไปเข้ากลุ่มต้องพึ่งพา คือ

     (1) ทำความสะอาดตัวเองไม่ได้ เช่น อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ตัดเล็บ หวีผม

     (2) ใส่เสื้อผ้าเองไม่ได้

     (3) กินเองไม่ได้ ต้องป้อนหรือใช้สายยาง

     (4) ควบคุมการอึฉี่ไม่ได้ หรือเข้าห้องสุขาเองไม่ได้

     (5) เคลื่อนไหวไม่ได้ ลุกจากเตียงเองไม่ได้ เดินหรือขึ้นรถเข็นเองไม่ได้ เข็นตัวเองไม่ได้

     เอาละ คราวนี้มาตอบคำถาม

     1. ถามว่าหากอยากออกแบบโครงการให้มีความเป็นชุมชน จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุที่แตกต่างกันตามดีกรีของความเดี้ยงทั้งสามกลุ่มมาร่วมกิจกรรมกันได้ ตอบว่าก่อนอื่น คุณจะต้องแยกผู้สูงอายุกลุ่มต้องพึ่งพาออกเป็นสองกลุ่มย่อย คือ

     (1) กลุ่มที่มีเงินจ้างผู้ดูแลประจำตัว (private caregiver)
     (2) กลุ่มที่ไม่มีเงินจ้างผู้ดูแลประจำตัว

     ในการออกแบบกิจกรรมทุกชนิด ผู้สูงอายุกลุ่มไม่ต้องการพึ่งพา กลุ่มกึ่งพึ่งพา และกลุ่มต้องการพึ่งพาแต่มีผู้ดูแลประจำตัว สามารถเข้าร่วมกิจกรรมกันได้หมดทุกกิจกรรมไม่จำเป็นต้องแยกแยะ เพียงแต่การออกแบบกิจกรรมต้องออกแบบให้รองรับผู้ร่วมกิจกรรมที่มาพร้อมกับผู้ดูแลส่วนตัวด้วย

     ส่วนผู้สูงอายุกลุ่มต้องการพึ่งพาที่ไม่มีเงินจ้างผู้ดูแลส่วนตัวนั้น ต้องแยกไปออกแบบชีวิตให้ต่างหาก ซึ่งผมจะรวบไปตอบในคำถามที่ 2.

     2. ถามว่าผู้สูงอายุที่ต้องการพึ่งพา (ติดเตียง) ต้องออกแบบอะไรให้บ้าง ตอบว่า ผมจะโฟกัสเป็นพิเศษสำหรับผู้ติดเตียงที่ไม่มีผู้ดูแลส่วนตัวนะ เพราะผู้สูงอายุที่มีเงินจ้างผู้ดูแลส่วนตัวสามารถไปอยู่ห้องพิเศษซึ่งมีลักษณะการใช้ชีวิตเหมือนกลุ่มกึ่งพึ่งพาได้ การออกแบบส่วนกิจกรรมต่างๆที่คุณส่งมาให้ดูนั้นก็โอเค.อยู่ ถ้ามองจากมุมของการจะทำให้สถาบันนั้นฉาบฉวยดูดี แต่ในชีวิตจริงผู้สูงอายุกลุ่มต้องพึ่งพาที่อยู่ใน “ห้องรวม” จะไม่ได้ใช้สิ่งเหล่านั้นเลย สิ่งที่ผู้สูงอายุที่ติดเตียงที่ไม่มีเงินจ้างผู้ดูแลส่วนตัวต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการออกแบบเหมาโหลใช้ประโยชน์ได้กับทุกคน คือ

     2.1 ต้องมีกลไกหรือหุ่นยนต์ที่ช่วยพลิกตัวเปลี่ยนท่านอนให้ทุกเตียง ซึ่งบางเตียงต้องเปลี่ยนท่านอนทุกหนึ่งชั่วโมง กลไกนี้ต้องแขวนลงมาจากเพดานหรือจากหุ่นยนตที่เลื่อนไประหว่างเตียง และมีสวิสต์รีโมตคุมง่าย หากไม่มีกลไกนี้ ผู้สูงอายุจะถูกปล่อยให้นอนแช่ในท่าเดิมแล้วเกิดแผลกดทับ ทั้งนี้คุณต้องเข้าใจว่าชั่วโมงการทำงานของผู้ดูแล (รวม) ที่จะมีให้แก่ผู้สูงอายุแต่ละรายนั้นจำกัดมาก ไม่มีเสียหรอกที่จะมาประดิดประดอยพลิกตัวให้ด้วยมือนิ่มๆทุกชั่วโมง

     2.2 ที่นอนและห้องนอนต้องมีลักษณะการถ่ายเทอากาศและระบายกลิ่นและความชื้นได้มากเป็นพิเศษ อย่างน้อยให้มากระดับคอกวัวนม คุณไปดูงานคอกวัวนมแถวมวกเหล็กก็ได้ เพราะห้องนอนของผู้สูงอายุติดเตียงที่เป็นห้องนอนรวมกันนั้น หากระบบระบายกลิ่นและความชื้นไม่ดี กลิ่นจะแรงกว่าคอกวัวนม ผมไม่ได้พูดเล่นนะ เพราะผมตระเวณดูงานสถานดูแลผู้สูงอายุหลายแห่งในอเมริกาจึงสรุปว่านี่เป็นประเด็นสำคัญ ต้องไม่ติดแอร์เด็ดขาด ยกเว้นห้องส่วนตัวที่มีผู้ดูแลส่วนตัว เพราะติดแอร์เมื่อไหร่เป็นอบอวลไปด้วยกลิ่นฉี่กลิ่นอึเมื่อนั้น

     2.3 จะต้องมีห้องอาบน้ำรวม ที่มีหุ่นยนต์หรือกลไกยกตัวผู้สูงอายุให้สูงลอยเท้งเต้งขึ้นไปกลางอากาศ แล้วมีกลไกระดมฉีดน้ำล้างเหมือนเราล้างแม่วัวก่อนจะรีดนม และเมื่อวางผู้สูงอายุลงและเข็นออกมาเช็ดตัวแล้วก็ต้องมีกลไกอัตโนมัติฉีดน้ำล้างห้องนั้นแบบบำบัดสิ่งโสโครกทันที เหมือนกับโรงล้างรถยนต์ตามคาร์แคร์ ระบบนี้มีใช้ในสถาบันผู้สูงอายุของฝรั่งทั่วไป การออกแบบที่ขาดตรงนี้ไปจะทำให้ผู้สูงอายุถูก “ซักแห้ง” ด้วยความจำเป็น เพราะเป็นไปไม่ได้ที่สถาบันจะมีเงินจ้างผู้ดูแลมากพอที่จะอาบน้ำเช็ดตัวให้ผู้สูงอายุแต่ละคนอย่างทั่วถึงได้ ยกเว้นครอบครัวจะจ้างผู้ดูแลส่วนตัวให้ ซึ่งราคาเฉพาะผู้ดูแลส่วนตัวปัจจุบันตกเดือนละ 22,000 บาทเป็นอย่างต่ำต่อการทำงานสปด.ละเจ็ดวัน ไม่นับค่าห้องพิเศษและค่าเข้าอยู่ในสถาบันอีกต่างหาก แถมในอนาคตมีแต่จะแพงขึ้นๆ จึงมีครอบครัวน้อยมากที่จะสู้ราคาผู้ดูแลส่วนตัวได้

     2.4 จะต้องมีห้องพบกับครอบครัว (Family meeting room) หมายถึงว่าเมื่อมีลูกหลานมาเยี่ยม ผู้สูงอายุจะถูกเข็นมาพบกับลูกหลานในห้องนี้ จะไม่อนุญาตให้ลูกหลานเข้าไปเยี่ยมในห้องที่ผู้สูงอายุนอนรวมกันเด็ดขาด เพราะหากให้ลูกหลานเข้าไปเยี่ยมห้องที่ผู้สูงอายุนอนอยู่จริงๆก็จะพากันอาเจียนโอ๊กอ้ากเนื่องจากไม่คุ้นกับกลิ่นของห้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสถาปนิกบ้องตื้นไม่ได้ออกแบบห้องให้ระบายอากาศอย่างถึงขนาด ห้องพบกับครอบครัวนี้ต้องออกแบบให้ถูกใจลูกหลานที่มาเยี่ยมเป็นสำคัญ ไม่ใช่ออกแบบเอาใจผู้สูงอายุ เพราะตัวผู้สูงอายุระดับต้องพึ่งพานี้ ตัวท่านเองบรรลุธรรมไม่ยินดียินร้ายอะไรแล้ว มีแต่ลูกหลานเท่านั้นแหละที่เรื่องมากตำหนิโน่นตำหนินี่

     2.5 ต้องออกแบบให้มีพื้นที่ที่จะอาศัยแสงแดดและต้นไม้ธรรมชาติให้มีบทบาทช่วยดูแลผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพา เพราะผู้สูงอายุในกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งยังลงวีลแชร์ได้ หากออกแบบให้มีสถานที่ไว้ พอตกสายผู้ดูแลของสถาบันก็จะเอาผู้สูงอายุลงวีลแชร์ คาดเข็มขัดกันหล่น แล้วเข็นไปจอดนั่งเอกเขนกน้ำลายยืดกระจายกันตากแดดรำไรอยู่ใต้ต้นไม้ พอตกเย็นก็มาเก็บกลับ ถือเป็นธรรมชาติบำบัดที่ดีมาก ทั้งได้วิตามินดีและช่วยดับกลิ่นอับที่ชอบจับอยู่ตามผิวกายและเครื่องนุ่งห่มของผู้สูงอายุในกลุ่มนี้   

     หิ..หิ แฟนบล็อกหมอสันต์ที่เป็นผู้สูงอายุอ่านบทความนี้แล้วอาจจะสยอง แต่ว่านี่คือชีวิตจริง หากท่านไม่ตั้งใจเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตตัวเองดูแลตัวเองให้ช่วยเหลือตัวเองไปให้ได้นานที่สุดจนใกล้วันสุดท้าย และหากท่านไม่มีเงินจ้างผู้ดูแลส่วนตัว ท่านจะชีวิตตามแบบที่งานวิจัยของรัฐบาลแคนาดารายงานไว้ คือ 50% ของผู้สูงวัย จะใช้ชีวิตใน 10 ปีสุดท้ายอย่างสะง็อกสะแง็กและไม่มีคุณภาพ ซึ่งแน่นอนย่อมจะต้องรวมถึงชีวิตใน “ห้องรวม” สำหรับผู้สูงอายุกลุ่มต้องพึ่งพาด้วย ดังนั้น ขยันดูแลตัวเองซะแต่เดี๋ยวนี้ อย่าปล่อยให้ตัวเองตกลงไปในหลุมโรคสะง็อกสะแง็ก (Frailty Syndrome) อันเป็นหลุมที่เมื่อตกลงไปแล้วยากที่จะปีนกลับขึ้นมาได้ ลางบอกเหตุว่าท่านจะตกลงไปในหลุมนี้แล้วก็คือ

(1) น้ำหนักลด (ลดเกิน 5% ในหนึ่งปี)
(2) ขาดพลัง ซึมเศร้า หมดเรี่ยวแรง จากเดิมพลังงานเต็มสิบ ลดลงเหลือน้อยกว่าสาม
(3) มีกิจกรรมน้อยลง
(4) เชื่องช้าลง เดินห้าเมตร ใช้เวลานานเกินห้าวินาที
(5) กล้ามเนื้อหมดแรง หยิบอะไรก็หล่น มือบีบอะไรไม่ลง แรงบีบมือลดเหลือต่ำกว่า 20%

     เมื่อมีลางบอกเหตุอันใดอันหนึ่งในห้าอันนี้เกิดขึ้นกับตัวท่าน ให้รีบแก้ไขทันที ด้วยการออกกำลังกายขยันปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นมาใช้ชีวิต เคลื่อนไหวให้กระฉับกระเฉงรวดเร็วชุบชับ เล่นกล้ามอย่างเอาเป็นเอาตาย แล้วท่านจะปีนขึ้นมาจากหลุมได้ มิฉะนั้นท่านจะต้องไปใช้ชีวิตอยู่ใน “ห้องรวม” อีกนาน..น…น กว่าวันนั้นจะมาถึง

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์